โลกสองใบของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 'วัชรินทร์ อันเวช' ชีวิตเป็นวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เกิดจนตาย - Decode
Reading Time: 2 minutes

Space for Thai

นิศาชล คำลือ

นอกจากนักวิทยาศาสตร์แล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่จะขาดไปไม่ได้เลยในเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือ “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” ผู้ทำหน้าที่แปลงสาส์นจากนักวิทยาศาสตร์สู่คนทั่วไป แต่บุคคลที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้ไม่เพียงแต่ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ยังทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกขึ้นอีกด้วย พบกับเรื่องราวของน็อต-วัชรินทร์ อันเวช หรือ “ครูพี่น็อต” ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักสื่อสารวิทยาศาสตร์และติวเตอร์

ก่อนหน้านี้เขาเป็นนักวิจัยให้กับ Space Zab Company (สตาร์ทอัพวิจัยด้านอวกาศสัญชาติไทย) และเคยได้รับตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานด้านอวกาศ ให้กับสภาที่ปรึกษาการสร้างอวกาศในการสนับสนุนโครงการสหประชาชาติ (Space Generation Advisory Council หรือ SGAC) นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มทีม KEETA ทีมวิจัยด้านอาหารอวกาศที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกของนาซา (NASA)

ปัจจุบันเขาเป็นติวเตอร์วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ The Planer Education , ผู้จัดรายการพอดแคสท์ที่ The Science Shot Podcast และเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการและนักเขียนให้เพจ The Principia

ไม่แปลกใจเลยที่ปัจจุบันเขากลายมาเป็นติวเตอร์ เพราะเมื่อครั้งที่ยังเป็นนักวิจัยแบบเต็มตัว และได้รับเชิญให้ไปบรรยายในที่ไหน ๆ ร่วมกับนักวิจัยท่านอื่น เขามักจะสร้างบรรยายกาศในห้องที่ต่างออกไปเสมอ นอกจากจะตรึงสมาธิของผู้ฟังไว้ได้อย่างอยู่หมัด เขายังสร้างเสียงหัวเราะได้อีกต่างหาก

ความต่างระหว่างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์กับติวเตอร์

ครูพี่น็อตของเราเล่าว่านิยามของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์นั้นค่อนข้างกว้าง ซึ่งก็คือคนที่รวบรวมเรื่องราวการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์มาเล่าให้ประชาชนคนทั่วไปได้เข้าใจ โดยมีรูปแบบการสื่อสารขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้สื่อสารเอง เช่น การพูด การเขียน การวาด และอื่น ๆ 

ในขณะที่การเป็นติวเตอร์ก็เป็นหนึ่งในการสื่อสารวิทยาศาสตร์เช่นกัน โดยสื่อสารผ่านการสอนให้ผู้เรียนเข้าใจวิทยาศาสตร์ แต่การเป็นติวเตอร์นั้นมากกว่าการแค่สื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ผู้เรียนเข้าใจเพียงอย่างเดียว เพราะผู้เรียนบางคนมาด้วยปัญหาอื่น เช่น ผู้เรียนเข้าใจเรื่องนี้ แต่ว่าต้องไปสอบ แล้วไม่มั่นใจว่าตนเองสามารถทำได้ไหม ติวเตอร์จึงต้องให้ความเชื่อกับผู้เรียนนั่นเอง

“เวลาเราสอน เราให้ 3 อย่าง นอกจากเรื่องของความรู้แล้ว เราต้องให้ความรักและความเชื่อกับเด็กที่เราสอนด้วย” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงที่น่าเชื่อถือ สื่อให้เห็นว่าตัวเขาเองก็เชื่อในสิ่งที่เขาทำอย่างสุดหัวใจ

ประโยคข้างต้นที่เขากล่าวมามิใช่เรื่องไกลเกินจริงเลย ในฐานะคนรู้จัก ผู้เขียนเคยเห็นครูพี่น็อตจดสีที่เด็ก ๆ ชอบ, จดรายละเอียดเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ ลงบนกระดาษ และเตรียมเนื้อหาการสอนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนอย่างตั้งใจ จึงทำให้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ตัวเขาเองมักจะได้รับความรักจากเด็ก ๆ กลับไปเช่นกัน

แม้ว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ของเขาจะเป็นเด็กช่วงมัธยมถึงมหาวิทยาลัย แต่ก็มีผู้เรียนบางส่วนที่เป็นผู้ใหญ่ และบางคนก็มีอายุมากกว่าเขาเสียอีก ซึ่งการสอนผู้ใหญ่ บางครั้งก็ยากกว่าการสอนเด็ก ผู้ใหญ่บางคนมากับอคติ หรือไม่ก็มากับความกลัว ทำให้ผู้สอนอย่างครูพี่น็อตต้องรับบทหมอผีหาทางปัดเป่าอคติหรือความกลัวที่ฝังใจผู้เรียนมานานกว่า 10 ปี

อีกทั้ง เขายังไม่ใช่ติวเตอร์แบบท่องจำ ที่หวังผลเพียงให้ผู้เรียนสอบผ่านก็พอ “เราไม่ได้สอนแค่เนื้อหา เราสอนกระบวนการคิด กระบวนการตั้งคำถาม” เขากล่าวเสริม

และอย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่าเขาไม่ได้เป็นเพียงติวเตอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้จัดรายการพอดแคสท์และนักเขียน ซึ่งเป็นงานด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เจาะกลุ่มประชาชนคนทั่วไปโดยเฉพาะ ให้สามารถเข้าถึงเนื้อหาวิทยาศาสตร์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

วิทยาศาสตร์อยู่กับเราตั้งแต่เกิดจนตาย

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว ไม่จำเป็นต้องรู้ และสำหรับบางคนคำว่าวิทยาศาสตร์นับเป็นฝันร้ายด้วยซ้ำ เพราะถูกสอนมาแบบผิดวิธีในวัยเด็ก จนกลายเป็นปมฝังใจ 

แต่แท้จริงแล้ว ความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์คือเกราะป้องกันชีวิตชั้นดีเยี่ยม ท่ามกลางสังคมที่วิทยาศาสตร์เทียมแพร่หลายอย่างรวดเร็วราวกับโรคระบาด โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเพิ่มความเร็วในการส่งต่อข้อมูล

“ชีวิตของเราเป็นวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เราเกิด แก่ เจ็บ ตายแล้ว” ประโยคนี้ทำให้ผู้เขียนพยักหน้าเห็นด้วยกับเขาในทันที แม้ว่าเราจะกำลังคุยกันผ่านเสียงแบบไม่เห็นหน้าก็ตาม

วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของสูตร, ทฤษฎี และกฎเท่านั้น แต่ใจความของมันคือกระบวนการ ซึ่งได้แก่ การสังเกต การตั้งสมมุติฐาน การทดลอง แล้วนำไปสู่การสรุปผล ผู้ที่มีความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์จึงมีมุมมองต่อโลกแตกต่างกับคนทั่วไป คนกลุ่มนี้จะสังเกต ตั้งสมมุติฐาน ทดลอง สรุปผล แล้วจึงค่อยเชื่อหรือปฎิบัติตาม ทำให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกลวงโดยวิทยาศาสตร์เทียมได้ง่าย ๆ

ยกตัวอย่างเช่น นายเอเสนอขายยารักษาทุกโรคตั้งแต่โรคหวัดไปจนถึงความตายแก่นายบีและนายซี นายบีตัดสินใจซื้อตามโฆษณาชวนเชื่อของนายเอทันที เพราะนายเออ้างว่าผลิตโดยหมอ 

ในขณะที่นายซีเก็บคำโฆษณาชวนเชื่อนั้นไปคิดไตร่ตรอง สืบหางานวิจัยอ้างอิงของตัวยา สืบหาใบประกอบวิชาชีพของหมอผู้ผลิต เมื่อได้ข้อสรุปเรื่องความน่าเชื่อถือ นายซีจึงค่อยตัดสินใจทีหลังว่าจะซื้อหรือไม่

คุณผู้อ่านที่รัก วิทยาศาสตร์เทียมก็เหมือนกับยารักษาทุกโรคแม้กระทั่งความตายนี่แหละ เมื่อไหร่ที่ขาดความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์แล้วหลงเชื่อคำโฆษณาที่เกินจริง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ แล้วนำวิทยาศาสตร์เทียมที่ว่ามากิน มาใช้ มาปฎิบัติต่อตนเอง แถมยังหยิบยื่นให้ผู้อื่น ก็เหมือนการนำภัยมาสู่ตนเองและคนใกล้ตัวอย่างขาดความรู้ และความไม่รู้มักจะมีราคาแพงกว่าความรู้เสมอ

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยังน้อยไปในสังคมไทย

“อยากฝากอะไรถึงนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ด้วยกันไหม”

“เราอยากเป็นกำลังใจให้ และชื่นชมเขาในขณะเดียวกัน เพราะ ณ ตอนนี้นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยังมีน้อยในประเทศไทย แล้วเรายังต้องการคนกลุ่มนี้อีกเยอะ เพื่อช่วยถ่ายทอดเรื่องราววิทยาศาสตร์ให้คนเข้าใจจริง ๆ”

หากคุณผู้อ่านยังนึกภาพไม่ออกว่าโลก หรือสังคมที่ขาดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์จะหน้าตาเป็นอย่างไร ให้นึกภาพสายไหมอยุธยาที่ขาดแป้ง สายไหมก็เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ แผ่นแป้งก็เหมือนกับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และประชาชนคนทั่วไปอย่างเราก็เหมือนกับผู้บริโภค เมื่อไหร่ที่ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป เราก็ยังสามารถกินมันได้ แต่มันก็ไม่ใช่สายไหมอยุธยาอย่างที่เราอยากจะกิน

ขอบคุณภาพโดย: วัชรินทร์ อันเวช


Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565