จวบจันทร์ แจ่มฟ้า จนกว่าจะก้าวข้าม Propaganda - Decode
Reading Time: 3 minutes

จากเหตุการณ์ที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) นำเจ้าหน้าที่เข้าไปขอรื้อถอนและเก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำนั้น สิ่งที่ผู้ติดตามข่าวรวมถึงประชาชนทั่วไป จดจำและกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์เป็นอันดับต้น ๆ ของเรื่องนี้ คือทัศนะที่มีต่อศิลปะ ของอาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังในประโยคที่ว่า

 “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร” 

คำพูดนี้ นอกจากหลายคนจะเปรียบเปรยเหมือนซีนหนัง ประโยคดังกล่าว ยังสะท้อนถึงการมีอยู่ของศิลปะในสังคมปัจจุบัน ที่ส่งเสริมความเป็นปัจเจกและสิทธิเสรีภาพ เท่าที่เราสามารถจะใส่ไว้ในศิลปะได้

ทว่า ศิลปะไม่เคยรับใช้ใครจริงหรือ? คงทั้งเป็นจริงและไม่เป็นจริง แต่ที่แน่ ๆ คงไม่ใช่ศิลปะในฐานะเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่

เพราะที่นี่ ศิลปะ คือเครื่องมืออีกชิ้นที่มีหลักฐานของการต่อสู้ ตั้งแต่ชนชั้นปกครองไปจนถึงชนชั้นแรงงาน ปรากฎอยู่บนศิลปะเหล่านั้น ดังที่ปรากฎอยู่ในหนังสือ จวบจันทร์ แจ่มฟ้า นภาผ่อง ของธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  หนังสือรวมบทความวิชาการและงานวิจัย ที่ว่าด้วยศิลปะและศิลปินแห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 9

เปิดหู

คำว่า Propaganda เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว คงเป็นคำที่ดูมีความหมายร้ายแรง แต่ในปี 2561 เป็นต้นมา ประเทศไทยเราคุ้นชินกับคำนี้มากขึ้น ทั้งจากกระแสม็อบ หรือจากสื่อต่าง ๆ ถึงแม้จะเป็นของต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสื่อประเภทอนิเมะ อย่างเรื่อง Attack on Titan หรือ Onepiece

Propaganda มีความหมายในภาษาไทยว่า โฆษณาชวนเชื่อ แท้จริงแล้วมันคือรูปแบบการสื่อสารแบบหนึ่ง ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อโน้มน้าวจูงใจผู้รับข่าวสาร จุดเริ่มต้นถูกนำมาใช้เพื่อการเผยแพร่ทางศาสนาของคาทอลิก และหลังจากสงครามโลกก็ถูกนำมาใช้เพื่อการโน้มน้าวทางการเมือง

หนังสือเล่มนี้ พยายามอธิบายปรากฎการณ์ของศิลปะ ตั้งแต่ต้นรัชสมัย ไปจนถึงปลายรัชสมัย เมื่อนำมาแผ่กางและสวมแว่นของการวิพากษ์ศิลปะ งาน Art หลากหลายประเภทเหล่านี้ ทำงานอย่างไรกับผู้ชม

ภาคที่ 1 ของเล่ม พาเราย้อนกลับไปช่วงราว ๆ พ.ศ. 2510 หรือช่วงต้นรัชสมัย ถึงอย่างนั้นหนังสือไม่ได้กล่าวแค่เฉพาะประวัติศาสตร์ การหยิบยกศิลปะรูปแบบนูนสูง หรือรูปปั้น อนุสาวรีย์ ต่าง ๆ ไม่ใช่เพราะศิลปะเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ศิลปะแขนงนี้ถูกหยิบยกมาใช้เยอะ กับกลุ่มบุคคลหรือเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ อย่างที่เรามักเห็นอนุสาวรีย์ในไทยมักจะถูกใช้บ่อยในยุคดังกล่าว เปรียบเทียบกับยุคปัจจุบัน ที่การสร้างสิ่งเหล่านี้มีน้อยลง

ถึงแม้การสร้างอนุสาวรีย์จะไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้นำหรือบุคคลสำคัญ แต่รูปปั้นนูนสูงที่ความหมายของม้ายกขาหนึ่งข้างและยืน 4 ขา จะแตกต่างกัน ทว่า อนุสาวรีย์ในไทยมักจะถูกใช้เพื่อชนชั้นปกครองหรือชนชั้นใต้ปกครองที่ชนชั้นนำเห็นความสำคัญอีกทีหนึ่ง

ภาคแรกของหนังสือยังพยายามให้เราเข้าใจจากภาพที่เราเห็นบ่อยครั้ง จากจิตรกรรมฝาผนัง การหยิบยกพระพุทธศาสนากับสถาบันกษัตริย์ และปิดท้ายด้วยความยิ่งใหญ่ อย่างที่ปรากฎในศิลปะแบบ Land art ที่ใช้พื้นดินหรือพื้นที่ขนาดใหญ่ ในการสร้างศิลปะขึ้นมา

สิ่งที่น่าสนใจคือศิลปะเหล่านี้ คือคำนิยามความเป็นไทยในยุค 2530-2559 ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การหยิบยกความเป็นดิน ความเป็นน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความสามัคคี กลมเกลียว ไปจนถึงหลักทศพิธราชธรรม ที่ความสูงส่งของศาสนาพุทธในไทย ถูกหยิบยกให้เป็นศาสนาหลักประจำชาติและเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของชาติเช่นกัน

จึงเหมือนเป็นการเปิดหู เพื่อรับฟังและวิเคราะห์ ถึงแม้จะใช้สายตาในการอ่าน แต่ส่วนแรกของหนังสือเล่มนี้ กำลังบอกให้เราเห็นถึงการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบระเบียบ ทั้งที่ตั้งใจและบังเอิญก็ตาม

แต่ตามหลักพระพุทธศาสนาเห็นจะมีคติธรรมที่ว่า “ขึ้นชื่อว่าบังเอิญใด ๆ ย่อมไม่มีในโลก”

เปิดตา

ศิลปะจะสมบูรณ์ไม่ได้ เมื่อมีผู้สร้างสารแต่ไม่มีผู้รับสาร

ภาคที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ จึงพาเราไปดูว่า ศิลปะที่เกิดขึ้นอย่างไม่บังเอิญนั้น มันทำงานออกมาอย่างไรในสายตาของประชาชนในฐานะผู้รับสาร

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของศิลปะ และการหยิบยกงานศิลปะในหนังสือเล่มนี้ ก็ได้หยิบยกมาอย่างน่าสนใจและมีนัยสำคัญ

นิทรรศการ Who’s Afraid of the Red,the Yellow, and the Green? ของฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช ที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 การเปิดประเด็นทางการเมืองด้วยเรื่องของ ‘สี’ แต่สีที่ว่า แสดงออกผ่านแกงเผ็ด แกงเหลือง และแกงเขียวหวาน

นิทรรศการนี้ไม่ได้นำไปสู่การถกเถียงที่ว่าแกงชนิดไหนอร่อยกว่ากัน หรือแค่หยิบยกสีที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มทางการเมืองในเวลานั้น แต่มันนำไปสู่ การถกเถียงถึงความเป็นงานศิลปะ ว่างานแบบใดจะถูกนับว่าเป็นงานศิลปะได้บ้าง

ถึงอย่างนั้น สิ่งที่นิทรรศการนี้ทำกลับมีเพียงความผิวเผิน ไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ในฐานะของอดีตที่เราต้องเรียนรู้ กลับยกแค่เรื่องของสี หรือการให้ใครมาปรุงแกงก็ได้ คล้ายกับการ ‘กินข้าวหม้อเดียวกัน’

ถึงแม้เราจะไม่สามารถตัดสินได้ว่า แบบใดถึงจะถูกเรียกว่าศิลปะ แต่ศิลปะอย่างที่ธนาวิหยิบยกขึ้นมา อย่างน้อย คือมันต้องทำงานและกล้าพูดกับผู้คนมากกว่านี้

งานศิลปะที่หยิบยกมาในส่วนกลางของหนังสือ ไม่ได้จบอยู่แกง 3 สี ยังมีทั้งภาพถ่ายจากนิทรรศการ Rupture ในปี 2553 นิทรรศการภาพของเหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดงจาก 5 ศิลปิน ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนั้นศิลปะจะต้องมอบความหมายให้กับผู้ชม ทั้งในแง่ของการจรรโลงและการวิพากษ์ จึงจะถูกนับเป็นศิลปะแบบหนึ่ง

สิ่งสำคัญที่ธนาวิ ยืนยันในหนังสือเล่มนี้ คือกระดูกสันหลังของศิลปิน ในหนังสือเล่มนี้ธนาวิกล่าวไว้ว่า “ศิลปินพูดเรื่องอะไร ๆ ก็ได้หมด ยกเว้นเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมือง” ประโยคดังกล่าว ยังยึดโยงมาได้จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เหตุการณ์ม็อบ กปปส. จนถึงในปี 2557 ที่ศิลปินหลายคนเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นหรือ Ignorant จากสถานการณ์ม็อบในปี 2563

ถึงแม้ในหนังสือจะไม่ได้กล่าวถึงศิลปิน ที่หมายถึงนักร้อง นักแสดงมากนัก แต่พบการพูดถึงของผู้ที่มีกระบอกเสียงที่ใหญ่กว่า ผ่านผลงานของตน ในการนำเสนอศิลปะของตัวเอง จึงกลายเป็นหนึ่งในชื่อตอนของภาคที่สอง ที่ชื่อว่า ‘กลัวที่จะกล้า’

ท้ัง ๆ ที่ศิลปะหลายแบบ มีรากฐานจากการต่อสู้กับชนชั้นนำ แต่เมื่อถูกนำเข้ามาประเทศไทย รากฐานเดิมที่เป็นแก่นกลับหายไปอย่างสิ้นเชิง นี่จึงเป็นจุดที่ธนาวิ เขียนไว้ก่อนที่โลกโซเชี่ยลในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ต่างแสดงความคิดเห็นของการที่ใครสักคนโดยเฉพาะผู้มีชื่อเสียง เลือกที่จะ Ignore ต่อความอยุติธรรมในสังคม

นั่นนำมาสู่ ’ศิลปะ 112’ ที่ศิลปินหลายคนเลือกที่จะนำเสนอเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ว่าท้ายที่สุด ศิลปินไทยจะต้องมีจุดยืน ความเป็นกลางที่ว่า คือการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อความไม่เป็นธรรมในสังคมหรืออีกในนัยหนึ่ง คือการที่ศิลปินเห็นด้วยกับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น

เช่นนั้นแล้ว ศิลปะ จะสมบูรณ์ในฐานะอิสระเสรีภาพของปัจเจกชนได้อย่างไร ในเมื่อศิลปะยังถูกขังอยู่ในกรง

เปิดรับความเห็นต่าง

ภาคที่ 3 หรือช่วงท้ายของหนังสือ ธนาวินำเสนอเรื่องราวของนาฎกรรมในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย บางส่วนคือเหตุการณ์ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และบางส่วนคือสิ่งที่เราคุ้นหูคุ้นตากันตั้งแต่วัยเด็ก แต่เรากลับไม่รู้เลยว่า สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Propaganda

ฝูงนกสีขาวบินผ่านพระเมรุมาศ หมอกธุมเกตุลงหนักรอบกรุงเก่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ปรากฎการณ์เหนือจริงที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ธนาวิเขียนไว้ว่า เรื่องราวเหล่านี้คือหนึ่งในพิธีกรรมที่จะสร้างความรู้สึกร่วมกับประชาชน โดยใช้หลักการของความเชื่อแบบไทย ๆ ไปจนถึงการออกแบบ อย่างพื้นที่งานพระราชพิธีโดยรอบ ที่มีการออกแบบที่สะท้อนถึงความเป็นพุทธแบบไทย ๆ คือพุทธและพราหมณ์ ซึ่งจะสอดคล้องกับความเป็นสมมติเทพ ในระบอบสมบูรญาณาสิทธิราชย์

และอีกกรณีศึกษาที่หยิบยกมาได้อย่างน่าสนใจคือ ‘รูปที่มีทุกบ้าน’ คือตัวอย่างของความสำเร็จ ในวันที่ สภาวะจริง ประชาชนไม่อาจเข้าถึงได้โดยสมบูรณ์ จึงทำให้ ภาพที่มีทุกบ้านนี้ เป็นทั้งภาพลักษณ์และภาพตัวแทน ที่สามารถสร้างจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ต่อพระองค์

นอกจากนี้ยังปรากฎให้เห็นถึงภาพที่ถูกพลวัตไปในรูปแบบต่าง ๆ จากภาพจริง ไปสู่ภาพเสมือน ภาพวาด สติ๊กเกอร์ทรงพระเจริญ/เรารักในหลวง ไปจนถึงรอยสักในฐานะภาพที่สลักบนตัว อย่าง ‘ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9’ ศิลปะเหล่านี้ ธนาวิเรียกว่า ภาพต่อเนื่อง คือการที่เกิดแรงกระเพื่อมของศิลปะและเกิดการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น

หรืออย่างในละครเวทีที่ถูกนำมาสร้างใหม่หลายหลายครั้งอย่าง 4 แผ่นดิน แม่พลอยใน สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ฉบับหลังการสวรรคต ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของภาพต่อเนื่องของศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นมาเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น อย่างในฉากที่แม่พลอยได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่วิญญานของแม่พลอยได้ปรากฎขึ้นมาและสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ถัด ๆ ไป

การปิดท้ายด้วยศิลปะที่ปรากฎในช่วงปลายรัชสมัย ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า เรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่การเกิดขึ้นอย่างพร้อมใจโดยบังเอิญ ศิลปะที่เกิดจากสีหลากหลายเฉดบนโลก ถูกนำมาจัดระบบ และนำมาสู่การจัดระเบียบของสังคม 

ถึงจะไม่ได้กล่าวถึงส่วนที่สำคัญอีกอย่างของศิลปะโดยตรง แต่ความสวยงามที่เป็นเกณฑ์ตัดสินศิลปะ การจัดระบบระเบียบให้เกิดขึ้นในสังคมไม่ว่าจะแง่มุมไหน คงเป็นนิยามหนึ่งของความสวยงาม ในศิลปะนี้

หนังสือเล่มนี้ นอกจากจะเป็นหนังสือเชิงวิชาการที่อ่านสนุก กรณีศึกษาที่ยกมาได้อย่างเห็นภาพชัด ถึงแม้จะผลิตเมื่อนานมาแล้ว แต่ยังหยิบยกมาเพื่อเปรียบเทียบ เพื่อศึกษาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันได้

จึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการที่เราจะมองเห็นมิติอื่น ซึ่งซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ใช่แค่การวิพากษ์วิจารณ์ความละเอียดอ่อนของสังคมไทย แต่ก่อนที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใด สังคมไทยยังขาดความเข้าใจ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้เติมเต็มในส่วนนั้น

“จวบจันทร์ แจ่มฟ้า นภาผ่อง เฝ้ามองให้เดือนชุบวิญญา สักวันบุญมา ชะตาคงดี” 

ท่อนหนึ่งในเพลงชะตาชีวิต บทเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 9 ทางทีมงานผู้จัดทำหนังสือ คงเลือกชื่อนี้มาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะให้เข้ากับชะตาชีวิตของคนที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้ 

ที่เราอาจจะยังต้องรอให้บุญมา เผื่อสักวัน ศิลปะ ในฐานะเครื่องยืนยันของความเป็นปัจเจกและอิสระเสรี คงนำพาให้ชะตาชีวิตเราดีกว่านี้

หนังสือ: จวบจันทร์ แจ่มฟ้า นภาผ่อง
นักเขียน : ธนาวิ โชติประดิษฐ
สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี