16 ชม./วัน 'มันไม่ปกติ' สวัสดิการบุคลากรสาธารณสุขดีกว่านี้ได้ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

“วันที่ 4 มีนาคม ปี 1984 Libby Zion นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัย Bennington ถูกนำเข้าโรงพยาบาลแห่งรัฐนิวยอร์ก แพทย์ประจำตัวของเธอได้มอบหมายให้ แพทย์ประจำบ้าน 2 ท่านดูแลต่อ (หากเทียบในบริบทไทยคือหมอใช้ทุนแล้วเรียนต่อเฉพาะทาง) หลังจากตรวจรักษาเบื้องต้น แพทย์ประจำบ้านได้สั่งยาให้การรักษา แต่ในห้องฉุกเฉินมีคนไข้จำนวนมาก แพทย์ประจำบ้านท่านที่ 1 รักษาคนไข้ฉุกเฉินรายอื่นต่อ อีกท่านหนึ่งไปงีบหลับจากความเหนื่อยอ่อนที่ห้องพักพนักงาน จากนั้นไม่นาน Libby ไข้ขึ้นสูง และเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน แม้แพทย์ประจำบ้านพยายามให้การรักษาผ่านโทรศัพท์แล้วก็ตาม”

Sidney Zion พ่อของเธอซึ่งเป็นทนายความพยายามต่อสู้เรื่องนี้ เขาพยายามยืนยันว่าต้นตอของปัญหาเรื่องนี้ไม่ควรจบที่เรื่องของความบกพร่องส่วนบุคคล แต่ควรมองไปที่ต้นตอของปัญหา จนในที่สุดสามารถนำเสนอ กฎกระทรวงให้รัฐนิวยอร์กมาตรา 405 หรือที่รู้จักกันในนามกฎหมาย Libby Zion โดยมีใจความสำคัญว่า

“บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง”

และเป็นจุดเริ่มต้นของการลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรการแพทย์ กฎหมายนี้รวมถึงระยะเวลาการพักที่เพียงพอของบุคลากรทางการแพทย์ เพราะการทำงานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยของแพทย์ขึ้นอยู่กับเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ เช่นเดียวกันกับการขับเครื่องบิน ขับรถโดยสารสาธารณะ การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เวลาพักที่ไม่เพียงพออาจสร้างผลเสียสู่สาธารณะ และตัวผู้ปฏิบัติงานได้

หลายประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา – แคนาดา พยายามผลักดันให้มาตรฐานการคุ้มครองแรงงาน อันหมายถึงสิทธิสวัสดิการ การดูแลชีวิตที่ทำงาน และแรงงานสัมพันธ์อันหมายถึงสิทธิในการรวมตัวของผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แม้ประเทศที่มีระบบการคุ้มครองแรงงานที่ดี ในกลุ่มประเทศรายได้สูงก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้เพราะบุคลากรสาธารณสุขเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 30 ที่ทำงานมากกว่า 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละ 8-9 ชั่วโมงซึ่งนับว่าสูงกว่ามาตรฐานแรงงานในยุโรป ที่โดยเฉลี่ยแล้ว ประมาณ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บ่อยครั้งผู้ปฏิบัติงานรุ่นใหม่ นักเรียนแพทย์ พยาบาล ฝึกหัดถูกกดดันให้ทำงานหนัก ชั่วโมงการทำงานเกินมาตรฐาน เส้นแบ่งระหว่างการฝึกงาน การเรียน การทำงาน การสอน และงานด้านมนุษยธรรม  ไม่มีความชัดเจนและเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เกิดการกดขี่ขูดรีดบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข

จากรายงานล่าสุด เชื่อว่าบุคลากรด้านการแพทย์ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ  ในไทยอาจทำงานสูงสุดถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน หรืออาจสูงถึง สัปดาห์ละ 100 ชั่วโมง วัฒนธรรมอำนาจนิยมและลำดับชั้นในองค์กรทำให้บุคลากรการแพทย์ไม่สามารถต่อรองสภาพการทำงาน ค่าตอบแทน และชั่วโมงการทำงานได้ นอกจากนี้ลักษณะการจ้างบุคลากรที่อิงกับระบบราชการทำให้ สภาพการทำงานแบบเดียวกันได้รับค่าจ้างแตกต่างกัน ตั้งแต่อัตราจ้าง พนักงานรัฐ  ข้าราชการ ที่แม้จะทำงานแบบเดียวกันแต่ค่าจ้าง สภาพการจ้างแตกต่างกัน ปัญหาการบรรจุเป็นพนักงานประจำเป็นปัญหาที่คาราคาซังมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุผลสำคัญว่างบประมาณไม่เพียงพอ

ความเข้าใจผิดสำคัญมักถูกสร้างขึ้นมาว่าหากประชาชนต้องการได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่ดี ย่อมต้องแลกกับการทำงานหนักของบุคลากรด้านสาธารณสุข และหากเพิ่มสวัสดิการสำหรับประชาชน แพทย์พยาบาลก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น จึงเสมือนว่าประชาชนต้องปะทะกับสวัสดิการของบุคลากรโดยตรง บนเบาะกันชนของคำว่า “มนุษยธรรม” และ “สิทธิคนทำงาน”

แต่นับว่า เป็นความเข้าใจที่ผิด หรือถูกทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิด ว่าสองทางนี้เป็นสิ่งตรงข้ามกัน โดยสามารถสรุปได้ตามประเด็นนี้

1.สวัสดิการ ค่าจ้าง อำนาจต่อรอง ของแพทย์ พยาบาล ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข มีผลโดยตรงต่อความเครียด ประสิทธิภาพการทำงานทางกาย การตัดสินใจ และปฏิสัมพันธ์กับประชาชนผู้รับบริการ ดังนั้นการยกระดับสวัสดิการสาธารณสุขของประชาชนจึงไม่ใช่การขูดรีดบุคลากร การเพิ่มสิทธิสวัสดิการผู้รับบริการ แต่ต้องพัฒนาสวัสดิภาพ สวัสดิการการทำงานของพนักงานผู้ให้บริการไปพร้อมกัน

2.หลายประเทศที่มี เวลาการทำงานที่เหมาะสม สวัสดิการที่ดี ค่าจ้างที่เป็นธรรมแก่บุคลากรการแพทย์ ก็สามารถสร้างระบบบริการสาธารณสุขถ้วนหน้าที่ดีมีคุณภาพได้ หรือหมายความว่า การดูแลคนไข้ที่ดี ระบบยาและเวชภัณฑ์ที่ดี ไม่ได้ตรงข้าม กับสวัสดิการ และชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์แต่อย่างใด

3.เคยมีบทสำรวจเรื่อง ช่องว่างของการรับรู้ เรื่องสำคัญที่มีการสำรวจคือเรื่อง “งบประมาณสาธารณสุข” ซึ่งพบว่าคนไทยส่วนมากเข้าใจว่าประเทศไทย ใช้งบประมาณสาธารณสุข ร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ( 1 ล้านล้านบาท) แต่ความจริงแล้วประเทศไทยใช้งบประมาณด้านสาธารณสุข ประมาณร้อยละ 9 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2.9 แสนล้านบาท  อันหมายความว่าเรายังสามารถเพิ่มงบประมาณเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขได้ในทุกระดับ เพื่อลดชั่วโมงการทำงาน

4.มีความเข้าใจว่า บุคลากรสาธารณสุขได้รับการยอมรับ และมีอภิสิทธิ์ โอกาสหลายอย่างในสังคม ดังนั้นเราไม่ควรต้องเห็นใจ ความเข้าใจด้านนี้คลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะมีความพยายามของชนชั้นนำอยู่เสมอในการแบ่งแยกผู้ปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ที่ใกล้ชิดประชาชน ออกจากขบวนการภาพใหญ่ของผู้ใช้แรงงาน สิ่งที่เราต้องยืนยันคือหลักการเบื้องต้นที่ว่า “เราทุกคนคือแรงงาน” และการรวมตัวเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่หลากหลาย เป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

ทั้งหมดนี้คือหลักการเบื้องต้นที่ยืนยันว่า สิทธิสวัสดิการ ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม ค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับอาชีพ สามารถไปด้วยกันได้กับสวัสดิการด้านสาธารณสุขของประชาชนในภาพรวมอย่างแยกกันไม่ได้


Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565