เมืองธรรมดากับผู้ว่า ฯ ของคนธรรมดา - Decode
Reading Time: 3 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

ผศ.ดร.บุญเลิศ  วิเศษปรีชา

 

น่าสังเกตว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม  ไม่ปรากฏมีผู้สมัครเสนอสโลแกนหรือคำขวัญเกี่ยวกับเมืองที่มักได้ยินจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือสถาบันวิจัยอย่างคำว่า Smart city ที่ใช้คำไทยว่า เมืองอัจฉริยะ กับอีกคำคือคำว่า เมืองยั่งยืน (Sustainable city)

ที่เริ่มต้นเช่นนี้ มิใช่เพราะผมหลงใหลกับคำเหล่านี้แต่อย่างใด ตรงกันข้ามผมรู้สึกว่าคำเหล่านี้ถูกใช้จนเฝือ ไร้พลัง ไร้ความหมาย เพราะเป็นการ ‘นำเข้า’ แนวคิดมาใช้ในสังคมไทยโดยไม่ได้ตรวจสอบมากพอว่าแนวคิดนั้นมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร และตอบสนองความต้องการของชาวเมืองเราได้จริงหรือไม่ อย่างไร  

ในแวดวงเมืองศึกษา มีข้อวิจารณ์อย่างสำคัญว่า ความรู้และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเมืองกระแสหลักนั้นถูกชี้นำโดยประสบการณ์ของเมืองในประเทศตะวันตก จึงมีลักษณะครอบงำหรือเป็นการสร้างอาณานิคมทางความรู้  หลายเมืองในโลกก็ถูกเรียกว่า เมืองที่กำลังพัฒนา (developing cities) หรือ เมืองในประเทศโลกที่สาม (third world cities) ที่ต้องยอมรับความรู้และเดินตามเมืองที่ ‘พัฒนาแล้ว’ ‘เมืองต้นแบบ’

เช่น แนวคิดมหานครของโลก จากหนังสือ The Global City พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1991 โดย ซัสเกีย ซัสเซน (Saskia Sassen) นักสังคมวิทยาที่วิเคราะห์ให้เห็นว่า นิวยอร์ค ลอนดอน และโตเกียว เป็นสามมหานครที่มีความสำคัญระดับโลกเพราะเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการผลิต การจำหน่าย สินค้าและบริการต่าง ๆ ในทุกมุมของโลก

แนวคิดมหานครของโลกของซัสเซนก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย เช่น ซัสเซนกล่าวถึงด้านที่ไม่พึงปรารถนาของมหานครทั้งสาม คือความเหลื่อมล้ำน้อยเกินไป และให้ความสำคัญกับเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มองข้ามเมืองโลกในมิติอื่น ๆ เช่น กรุงเมกกะที่มีความสำคัญในโลกของชาวมุสลิม

ไม่ว่าโลกวิชาการจะมีข้อวิพากษ์ต่อแนวคิดมหานครของโลกอย่างไร แต่ในทางนโยบาย เมืองทั่วโลก ต่างพยายามมุ่งมั่นที่จะเป็นมหานครระดับโลก เป็นเมืองที่มีชื่อปักหมุดอยู่บนแผนที่โลก หรือเป็นเป้าหมายของนักเดินทางทั่วโลก แต่ละเมืองจึงมักสร้างสัญลักษณ์ (icon) ของเมืองนั้น ๆ ให้เป็นแลนมาร์คดึงดูดผู้คน เช่น กรุงกัวลาลัมเปอร์มี ตึก Petronas Twin Towers ทำนองเดียวกับที่กรุงปารีสมีหอไอเฟล

เจนนิเฟอร์ โรบินสัน (Jennifer Robinson) นักภูมิศาสตร์เมือง ปัจจุบันสอนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน วิพากษ์ความรู้เมืองกระแสหลักด้วยกรอบแนวคิดหลังอาณานิคม (Post-colonial framework) ที่เมืองต่าง ๆ ต้อง ‘พัฒนา’ ต้อง ‘ทันสมัย’ หรือมากกว่านั้นก็คือ ทะยานอยากเป็นเมืองโลกตามบันไดวิวัฒนาการของเมือง

โรบินสัน เสนอแนวคิด ordinary cities[1] ที่อาจจะแปลง่าย ๆ ว่า เมืองธรรมดา เพราะเมืองต่าง ๆ ย่อมมีลักษณะของตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องมานำเมืองไหนมาเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ก้าวเดินตาม เมืองแต่ละเมืองต่างกำเนิดขึ้นในบริบทเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมของตัวเอง เช่น ที่พูดกันว่า การกลายเป็นเมืองมาพร้อมกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมก็เป็นประสบการณ์ของเมืองในตะวันตกเท่านั้น ในประเทศอื่น ๆ การกลายเป็นเมืองไม่ได้มาพร้อมกับอุตสาหกรรม (urbanization without industrialization) เราจึงเกิดภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและชุมชนแออัด จนโลกนี้กลายเป็นดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยชุมชนแออัด (planet of slums) ตามชื่อหนังสือของไมค์ เดวิส (Mike Davis) นักสังคมวิทยาเมืองแนววิพากษ์ที่สำคัญอีกคน  

นอกจากนี้ เมืองแต่ละเมืองก็ย่อมเชื่อมโยงกับโลกในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งไม่มากก็น้อย ไม่ได้มีเฉพาะเมืองศูนย์กลางทางการเงินเท่านั้น ผมมีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับเส้นทางของเสื้อผ้ามือสอง และพบว่า ตลาดนัดสวนจตุจักร และประเทศไทย เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของบรรดาเสื้อผ้ามือสองในระดับโลกทีเดียว ทำนองเดียวกับคนฟิลิปปินส์ ก็ภูมิใจว่า ประเทศเขามีแรงงานออกไปทำงานกระจายทั่วโลกทั้งงานบนเรือ (seaman) พยาบาล ครู แม่บ้าน คนดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ

มากกว่านั้น แนวคิดเมืองธรรมดาของ เจนนิเฟอร์ โรบินสัน ยังชี้อีกว่า เมืองทั่วโลกนอกจากมีความหลากหลายต่างกันแล้ว ภายในแต่ละเมืองเองก็มีความหลากหลาย การบริหารจัดการเมืองจึงต้องตอบสนองกับความหลากหลาย หรือพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือ รับมือหรือช่วยลดความเหลื่อมล้ำในเมืองด้วย ซึ่งเป็นมุมที่การพัฒนาเมืองกระแสหลักมักมองข้าม ดังเช่น เมืองที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้ค่าที่พัก ค่าครองชีพแพงขึ้น กระทั่งชาวเมืองในท้องถิ่นอยู่ไม่ไหว หรือการมุ่งไปสู่เมืองยั่งยืน อยากได้พื้นที่สีเขียว แต่อีกด้านหนึ่งก็ไปขับไล่ชุมชนแออัด เป็นต้น

มองในแง่นี้ ผมคิดว่า การได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั้นน่าสนใจ ในคืนที่ทราบผลการเลือกตั้ง อาจารย์ชัชชาติขอให้ข้าราชการช่วยศึกษานโยบายที่ประกาศไว้ 214 ข้อ[2] หากไปไล่ดูนโยบายเหล่านี้ จะพบว่า 214 ข้อนั้นเป็นการเตรียมนโยบายที่ตอบสนองกับปัญหาต่าง ๆ ของชีวิตคนธรรมดาในกรุงเทพฯ เช่น เดินทางดี เศรษฐกิจดี โครงสร้างดี เรียนดี หรือหากแบ่งตามหัวข้อก็จะมีพื้นที่สาธารณะ ขนส่งสาธารณะ หาบเร่แผงลอย ทางเท้า ทางระบายน้ำ ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย คนไร้บ้าน ฯลฯ

สะท้อนความต้องการของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการให้แก้ไขปัญหาของคนธรรมดา ๆ แบบนี้ ไม่ต้องไปพูดคำขวัญตามกระแสนิยม ไม่ต้องมาจัดวงสัมมนาบ่อย ๆ ว่า เมืองอัจฉริยะ ตามแนวคิดแบบตะวันตกแปลว่าอะไร เมืองยั่งยืนมีตัวชี้วัดอะไร แล้วเมืองในสังคมไทย จะเดินตามนั้นอย่างไร จนกลายเป็นการตอบสนองต้นแบบเชิงทฤษฎีมากกว่าตอบสนองความต้องการของผู้คนในบ้านเราเอง

ดังเช่น กรุงเทพมหานครมีปัญหาร่วมที่คนเมืองส่วนใหญ่เจอด้วยกัน คือ ปัญหาน้ำท่วม เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันในหน้าฝน กลไกต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่น ๆ จึงต้องทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ มาจนถึงปัญหาที่จุกจิกที่เรียกว่า ปัญหาเส้นเลือดฝอยในเมือง ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางเท้า ขยะ แสงสว่าง ฝาท่อชำรุด ท่อระบายน้ำ ฯลฯ เมื่อเปิดช่องทางร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์ม traffy fondue พบว่ามีผู้ร้องเรียนมากกว่าหนึ่งแสนเรื่องในระยะเวลาสองเดือน สะท้อนว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ชาวบ้านชาวช่องคนธรรมดาเผชิญอยู่จริง แต่ผู้บริหารที่ผ่านมากลับมองข้าม 

เรื่องถัดมาที่ผู้ว่า ฯ กทม. คนใหม่ หยิบยกเป็นเรื่องสำคัญคือก็คือ ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง ผมคิดว่า คนที่คับข้องใจเรื่องนี้ มีทั้งที่ขึ้นรถไฟฟ้าเป็นประจำ และคนที่อยากขึ้นแต่ต้องตัดใจเพราะค่ารถแพง ทั้ง ๆ ที่ในระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้า คนกรุงเทพฯ ถูกบอกให้อดทน เพราะรถไฟฟ้าจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ครั้นสร้างเสร็จรถยังติดเหมือนเดิม เพราะคนชั้นกลางก็ใช้รถยนต์ส่วนตัวต่อไปเพราะราคาตั๋วรถไฟฟ้าไม่ถูกและกระจายไม่ทั่ว ส่วนคนมีรายได้น้อยขึ้นไม่ได้ ก็ต้องมาเหนื่อยรอรถโดยสารสาธารณะนาน ๆ ต่อไป

ในด้านสันทนาการ ผมนั้นทำวิจัยกับคนจนเมืองมานาน ผมรู้สึกอึดอัดทุกครั้ง เวลาได้ยินคนพูดถึงพื้นที่สันทนาการของเมืองแล้วพูดถึง การมีหอศิลป์ มีพิพิธภัณฑ์ดี ๆ ให้คนเดินเยี่ยมชม เพราะผมคิดว่า เป็นพื้นที่ที่ไม่สอดคล้องกับรสนิยมของคนส่วนใหญ่นัก

ดังนั้น ผมคิดว่า เป็นความแหลมคมของทีมงานที่เพิ่มพื้นที่พักผ่อนง่าย ๆ อย่างดนตรีในสวน หรือเทศกาลหนังกลางแปลง ใน 10 สถานที่ กระจายทั้งสวนสาธารณะเบญจกิติ ในย่านสุขุมวิท ย่านเปิดอย่างสวนรถไฟ จนถึงในย่านชุมชนแออัดคลองเตย ทำให้หลากหลายกลุ่มเข้าถึงได้ง่าย แถมผมได้ฟังคำอภิปรายคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (หนุ่มมาก) ที่ว่า การจัดหนังกลางแปลง ยังอนุญาตให้บรรดารถเข็น หรือ ‘ซีไอเอ’ ตามภาษาของคนรุ่นใหม่ได้มาขายของเป็นการช่วยพวกเขาด้วย  

แน่นอนการบริหารเมืองกรุงเทพมหานคร คงปัญหาอีกมากมายที่รอทีมงานผู้ว่าฯ คนใหม่ได้สะสางและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า ผลประโยชน์ของคนกรุง ไม่ได้ตรงกันหมด บางประเด็น คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ แต่คนอีกกลุ่มเสียประโยชน์

ดังนั้นหัวใจสำคัญ ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนหลากหลายกลุ่มได้มีสิทธิ์มีเสียงที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดความเป็นไปของเมือง และผลจากการต่อรองของคนหลากหลายกลุ่ม เราจึงจะได้อยู่กับเมืองธรรมดา ที่ตอบสนองกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวบ้านชาวช่องคนธรรมดา.


[1] ในทางวิชาการ คำว่า The Ordinary City ถูกเสนอครั้งแรกในบทความชื่อดังกล่าว เขียนโดย Ash Amin และ Stephen Graham (1997) ที่ให้หวนมามองเมืองในฐานะพื้นที่ที่มีความซับซ้อนหลากหลายและเชื่อมต่อกับพื้นที่และเครือข่ายอื่นๆ แทนที่จะเน้นถึงความสำคัญของมหานครของโลกเป็นจุดเฉพาะ อย่างไรก็ดี เจนนิเฟอร์ โรบินสัน เป็นผู้นำปรับคำนี้มาใช้เป็น The Ordinaries Cities และทำให้แนวคิด เมืองธรรมดาได้รับความสนใจกว้างขวางขึ้น 

[2] ในเว็บไซต์ล่าสุดปรับเพิ่มเป็น 215 ข้อ แล้ว