โลกสมรสกับจักรวาล สถานพำนักจิตวิญญาณจึงชุบชูชีวิต - Decode
Reading Time: 3 minutes

ถ้าพูดถึงคำว่า “การออกแบบ” ภาพแรกที่คุณนึกถึงคืออะไร?

บ้านในฝัน อาคารสวย ๆ เก้าอี้เก๋ ๆ หรือคาเฟ่น่ารัก ๆ ที่เหมาะกับการถ่ายรูป?

หนังสือ Places of the soul ‘สถานพำนักจิตวิญญาณ’ ของ คริสโตเฟอร์ เดย์ แปลไทยโดยอาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ ให้ภาพของคำว่า ‘ออกแบบ’ แตกต่างออกไป หัวใจของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีชีวิตนั้น คือ การฟังวิญญาณของสถานที่และความต้องการของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและจิตใจของเรา

“สถาปนิกจะออกแบบให้คนสุขภาพดีก็ได้ หรือจะออกแบบเพื่อฆ่าคนก็ได้”

ประโยคนี้ของเพื่อนสถาปนิกที่เอ่ยขึ้นกับเราในวันที่พูดถึงหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกินจริง เพราะ อาคาร วัสดุ รูปทรง สิ่งปลูกสร้างที่รายล้อมเราอยู่ ไม่ใช่แค่เพื่อมอง หรืออยู่อาศัย แต่เราหายใจมันเข้าไปตลอดเวลา เราหายใจสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เข้าไปด้วย

อาคารคือผิวหนังชั้นที่ 3 ของมนุษย์ ชั้นที่ 1 คือ ผิวหนัง ชั้นที่ 2 คือ เสื้อผ้า สิ่งที่ปกคลุมเราลำดับถัดมาคือ อาคาร/ที่อยู่อาศัย ดังนั้นหากหน้าที่ของผิวหนังคือ ปกปิดร่างกาย หายใจ ดูดซึม ระเหย ปรับสมดุล และเกิดการถ่ายเทความรู้สึกระหว่างภายนอกกับภายใน สภาพแวดล้อมและอาคารที่เป็นพิษก็ส่งผลถึงชีวิตเช่นกัน

คริสโตเฟอร์ กล่าวในหนังสือว่า ภายในอาคารสมัยใหม่หลายแห่งมีกัมมันตรังสีสูงกว่าสภาพแวดล้อมภายนอกถึง 25 เท่า และคอนกรีตมวลเบาบางชนิดปล่อยรังสีถึง 800 Bq/m^3 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคมะเร็ง

เช่นเดียวกับแก๊สเรดอน ที่ไร้สี ไร้กลิ่น และไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส ของเสียจากยูเรเนียม และแร่เรเดียมนี้ปนเปื้อนมากับ หิน ดิน ทราย จากนั้นมนุษย์เราก็นำเอามาทำเป็นวัสดุก่อสร้างอีกที และมหันตภัยนี้เป็นสาเหตุของการตายด้วยมะเร็งปอด (แก๊สเรดอนเป็นสาเหตุของมะเร็งปอด อันดับที่ 2 รองจากควันบุหรี่) และมันยังคงทำหน้าที่ดักจับฝุ่นได้ดีในบ้านของเรา ในขณะเดียวกับที่ปอดมนุษย์นั้นหายใจสูดอากาศเข้าออกวันละหลายพันแกลลอน

มันกำลังฆ่าเราอย่างเงียบ ๆ และยากเกินกว่าจะจินตนาการว่ามันจะก่ออาชญากรรมเมื่อไร และสิ่งที่ปรากฎอยู่ในหนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมสาเหตุการตายด้วยโรคของมนุษย์มากที่สุด คือ โรคมะเร็ง

ผู้เขียนไม่เพียงแค่เตือนถึงความอันตรายที่เราไม่เคยสังเกต แต่ยังบอกเราถึงการชุบชูชีวิต เกื้อหนุนสุขภาพด้วยพลังการออกแบบ

ในหนังสืออ้างอิงถึงผลการศึกษา (Lawson, B. (2002) Healing architecture) ในโรงพยาบาลหลายแห่งพบว่า การออกแบบและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล สามารถลดการใช้ยาแก้ปวดได้ 59 เปอร์เซ็นต์ ลดระยะเวลาการบำบัดรักษาได้ 21 เปอร์เซ็นต์ หรือการศึกษาอีกชิ้นที่บอกว่า การได้มองใบไม้จากหน้าต่างโรงพยาบาล นั้น ‘มีค่ายิ่งกว่าทอง’ และการมีบานหน้าต่างในโรงพยาบาลเพื่อให้มองเห็นวิวด้านนอกได้นั้น ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 500,000 ดอลลาร์ต่อพื้นที่เตียง การศึกษาเหล่านี้พิสูจน์ชัดเจนว่าการออกแบบไม่ได้แค่สามารถชุบชูอาการทางใจเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในมิติเศรษฐกิจด้วย

เมื่อสภาพแวดล้อมส่งผลต่อชีวิตที่มีความรู้สึกของเรา การออกแบบจึงไม่ใช่แค่เรื่องภาพลักษณ์ แต่ แสง สี เสียง และสัมผัสนั้นเกี่ยวข้องด้วย

“แต่ละคนมีสีที่ชอบ และสีที่ทนไม่ไหว”

คุณชอบสีอะไร? ไม่มีผิดถูกกับการที่จิตปฏิพัทธ์ ผูกรักกับสีไหน เพราะสีเป็นเรื่องส่วนตัวมาก แต่ในการออกแบบสีไม่อาจหยิบมาใช้อย่างส่งเดชได้

สีเขียว ทำให้เกิดความรู้สึกสงบ สันติ สมดุล

สีแดง เร่งการเผาผลาญในร่างกาย ทำให้ตื่นตัว ปลุกเร้า กระตุ้นต่อมเพศชาย

สีฟ้า ชะลอการเผาผลาญ ผ่อนคลาย กระตุ้นต่อมพิทูอิทารี

สีเหลือง กระตุ้นต่อมไทรอยด์

สีม่วง กระตุ้นต่อมเพศหญิง

สีเปรียบเสมือนพลังวิเศษที่สามารถควบคุมความรู้สึก และสะกดจิตเราได้ในเชิงปั่นหัวคน หรือในเชิงของการบำบัด ซึ่งเป็นของเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ได้พิสูจน์ไว้แล้ว

อะไรที่ส่งผลต่อจิตวิญญาณ สิ่งนั้นจะหล่อเลี้ยงร่างกายด้วยเช่นกัน สีก็เช่นกัน สีมีความสามารถให้การยัดเยียดความรู้สึกเช่นเดียวกันกับแสง มากกว่านั้นคือสีจะทำงานในที่ที่มีแสง ดังนั้นทุกอย่างจึงสัมพันธ์กันอย่างละเอียดอ่อนและเข้าใจได้ไม่ง่ายเช่นเดียวกับประโยคในหนังสือบอกว่า มนุษย์อยู่ในจุดที่โลกสมรสกับจักรวาล เพราะขาที่ติดอยู่บนผืนดิน และศีรษะขณะตื่นอยู่กลางอากาศ

ถ้าเราลองให้ทุกคนหลับตาแล้วนึกย้อนถึงประสบการณ์ของตัวเองเวลาที่เศร้า เหงา มีความสุข หรือฮึกเหิม แน่นอนว่าความสว่างของแสงที่เราจำได้นั้นแตกต่างกันตามอารมณ์

ในวันที่ฝนตกฟ้าครึมไร้แสงจากฟ้า อาจทำให้ใครหลายคนเหงาเป็นพิเศษ หรือในวันที่แสงแดดจ้ากลางฤดูร้อนก็อาจทำให้ใครบางคนสดใสร่าเริง ราวกับฤดูกาลและแสงแดดพาย้อนเวลากลับไปยังวัยเด็ก แสงแดดจึงมีผลมากต่อชีวิตที่หาสิ่งทดแทนได้ยาก ถึงแม้หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจะสร้างความสว่างทดแทนได้ ด้วยการค้นพบ ‘หลอดไฟ’แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของ ‘แสง’

“แสงเทียนที่วูบไหวอาจให้ความสว่างไม่เพียงพอ  แต่ก็ให้ชีวิตอย่างที่คลื่นแสงไฟฟ้า (โดยเฉพาะหลอดฟลูออเรสเซนต์) ไม่สามารถทำได้”

“เงามหึมาของมันขโมยแสงแดดไปจากเรา” การอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง จึงไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะแสงนั้นส่งผลโดยตรงต่อผิวหนังของเราและคืนชีวิต ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายถูกควบคุมด้วยต่อมพิทูอิทารี ไพเนียล และไฮโปทาลามัส ที่จะทำงานได้ดีเมื่อได้รับการกระตุ้นจากแสง

และแสงจากสิ่งที่ผู้เขียนมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมเพื่อสนองความสะดวกสบายของมนุษย์ อย่างหลอดไฟก็ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ แสงจากไฟฟ้าจึงไม่สามารถทดแทนแสงแดดได้

หลอดฟลูออเรสเซนต์ประหยัดพลังงาน นอกจากจะเพิ่มความร้อนให้แอร์ทำงานหนัก ส่งผลกระทบให้โลกร้อน การที่ให้แสงเรียบสม่ำเสมอ และสเปกตรัมของสีที่จำกัดของหลอดไฟ ทำให้เกิดอาการปวดหัว ฮอร์โมนความเครียดเพิ่มระดับ (คอร์ติซอล และ ACTH) และทำให้พัฒนาการในเด็กเบี่ยงเบน สิ่งเหล่านี้แทนที่ของขวัญธรรมชาติและสร้างความเสียหายให้กับพลังชีวิต

จริง ๆ หนังสือเล่มนี้ยังวิพากษ์อีกหลายแง่มุมที่ทำให้เราเข้าใกล้คำว่า การออกแบบเพื่อจิตวิญญาณ วิธีการทำงานที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดของการออกแบบเพื่อกอบโกยเพียงตัวเงิน โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ สิ่งแวดล้อม จิตวิญญาณของมนุษย์ และสถานที่ อย่างที่เราทั้งหมดมีโอกาสพบเจอบ่อย ๆ ในปัจจุบัน

เนื้อหากว่าครึ่งในเล่มเชื่อมโยงให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปของผู้คน และเมืองที่ส่งผลต่อกันและกันอย่างมีหลักการและแหล่งอ้างอิง สำหรับเราแล้วการเสพหนังสือเล่มนี้ ทำให้เราสังเกตภายนอก สิ่งรอบกาย และถะนุถนอมความต้องการภายในมากขึ้น

“ผู้อาศัยที่อยู่ตามอาคารต่าง ๆ ต่างปิดผ้าม่าน หรือฟิล์มกระจกทึบ เข้าใจได้ว่าพวกเขาไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่ข้างนอก” – จากวงเสวนา places of the soul งานสถาปนิก 65 CO-WITH CREATORS

เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสถานพำนักจิตวิญญาณในแบบฉบับของตัวเอง อย่างการจัดวางสิ่งต่าง ๆ ในห้องพักเล็ก ๆ ของเราใหม่ หรือ ปิดผ้าม่านในความกว้างที่ทำให้เราไม่ไร้ความเชื่อมโยงกับโลกภายนอกจนเกินไป ซึ่งแน่นอนสิ่งที่เราทำมันอาจแตกต่างจากของทุกคน

และกับหนังสือเล่มนี้ที่เต็มไปด้วยหลักการและข้อระมัดระวังในการออกแบบที่ผู้เขียนใส่ไว้อย่างจริงใจ และละเอียดอ่อน เราต้องยอมรับว่าไม่สามารถหยิบจับมาได้หมดทุกกระเบียดนิ้ว จึงหยิบยกมาเฉพาะบางท่อนที่คิดว่ามีประโยชน์กับทุกคน ในส่วนของมิติที่ลึกซึ้งและซับซ้อนกว่านี้นั้น ต้องอาศัยการตีความ และการเข้าถึงของทุกคน ซึ่งเป็นปัจเจกเอง และถ้าหากมีโอกาสเราอยากให้คุณได้ค่อย ๆ สัมผัสมัน ด้วยความรู้สึกเช่นเดียวกันกับที่เราได้พบเจอกับ Places  of the soul

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี

หนังสือ Places of the soul สถานพำนักจิตวิญญาณ
ผู้เขียน คริสโตเฟอร์ เดย์
ผู้แปล สดใส ขันติวรพงศ์
สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา