สุญญากาศ 'กัญ' ช่องโหว่ที่ถดถอยหรือช่องรวยที่เติบโต - Decode
Reading Time: 4 minutes

หลังจากที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิ.ย. 2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (tetrahydrocannabinol – THC) เกิน 0.2 % ที่ยังเป็นยาเสพติด

เพียงชั่วข้ามคืน ต้นกัญชาในประเทศไทย ต่างผลิดอกออกช่อกันอย่างน่าสงสัย ทว่าสิ่งที่น่าคิดมากกว่านั้น การผลิดอกออกผลของต้นกัญชา สร้างผลประโยชน์หรือเป็นผลร้ายให้กับสังคมไทยมากกว่ากัน และกัญชาที่ว่า จะให้คุณหรือให้โทษกับสังคมกันแน่

De/code พูดคุยกับ 2 ผู้ประกอบการในธุรกิจกัญชา กับ โอลาน โอสถานนท์ จาก Highgreen Farm Co., Ltd. ตำแหน่ง Business Development และผู้จัดการร้าน Buds Right Here และ คิตตี้-ช่อขวัญ ช่อผกา เจ้าของร้าน ช่อผกา โดยเฉพาะในช่วงสุญญากาศกฎหมายกัญชานี้ สังคมไทยและอุตสาหกรรมกัญชา จะเติบโตไปพร้อม ๆ กัญ ได้หรือไม่

ปลดล็อกกัญชา แต่ยังไม่ปลดล็อกสังคม

“การที่กัญชาปลดล็อกออกมาในครั้งนี้ จริง ๆ มันมีผลกระทบอย่างมาก แต่ถ้าถามว่าในแง่ดีหรือแง่ลบเนี่ย อันนี้ต้องแยกออกมาทีละประเด็น” โอลานกล่าวถึงผลกระทบหลังจากที่ได้มีประกาศนำกัญชาออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5

กลุ่มแรกที่ได้รับโอกาส คือกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ได้รับผลดีเป็นอย่างมาก หลังจากที่กัญชาปลดล็อก ทั้งในแง่ของการขายและการใช้เอง เรียกได้ว่าการปลดล็อกนี้คือการเปิดโอกาสทางธุรกิจอีกสิ่งหนึ่ง นั่นก็คือกัญชา

ในปัจจุบัน ตลาดกัญชาสามารถเรียกได้ว่าเป็นตลาดเสรี เนื่องจากในปัจจุบันที่มีแต่ประกาศปลดล็อกออกมาเท่านั้น แต่ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับเงื่อนไขต่าง ๆ โอลานกล่าวว่า ทุกวันนี้คือการแข่งขันอย่างเสรีจริง ๆ ใครก็สามารถที่จะเข้ามาตลาดนี้ได้ อยากขายของที่มีคุณภาพแค่ไหน พันธุ์ไหน ก็สามารถขายได้ เช่นเดียวกัน ของที่ไม่มีคุณภาพก็มีผู้คนนำออกมาขายด้วยเหมือนกัน และนั่นเป็นหนึ่งในผลกระทบต่อกลุ่มที่ 2 ก็คือกลุ่มผู้บริโภค ได้รับ

โอลานกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับกัญชาในตอนนี้สำหรับผู้บริโภค คือการที่เราไม่สามารถรับรู้ได้โดยทันที หรือมีหน่วยงานที่มารับรองความปลอดภัยนี้

“กลายเป็นว่าตอนนี้แต่ละเจ้าก็ต้องออกมาการันตีเองว่า ของตนปลอดภัย ปลอดสารพิษ สิ่งที่น่ากลัวคือการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ที่อาจจะเสี่ยงสารตกค้างอย่างยาฆ่าแมลง หรือโลหะหนัก ที่ตกค้างมากับกัญชา”

กลุ่มที่ 3 ที่โอลานจำแนกออกมา คือกลุ่มผู้ป่วย ที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม สาเหตุที่ต้องแยกกลุ่มผู้ป่วยออกจากผู้บริโภคเป็นเพราะสาเหตุการใช้มีความแตกต่างกัน หลังจากที่ปลดล็อกกัญชาแล้ว กลุ่มผู้ป่วยสามารถเข้าถึงกัญชาในฐานะยาได้สะดวกขึ้นมาก ทั้งในคลินิกและโรงพยาบาลใกล้บ้าน ในฐานะแพทย์ทางเลือก

โอลานกล่าวถึงกรณีในอดีต ที่เรามักจะเห็นตายาย หรือคนอื่น ๆ ปลูกต้นกัญชาไว้เพื่อต้มหรือประกอบเป็นยาประเภทต่าง ๆ การปลดล็อกกัญชาในรอบนี้ ทำให้คดีประเภทนี้ ถูกนิรโทษกรรม ข้อนี้จึงนับได้ว่าเป็นผลดีมากในการปลดล็อก

และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้กัญชา โอลานกล่าวว่า คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบในด้านที่แย่ที่สุดในทุกกลุ่ม จากการที่ปลดล็อกกัญชาแต่ไม่มีมาตรการมารองรับ การไม่มีมาตรการมารองรับในระยะที่ผ่านมาหรือออกมาช้านั้น ทำให้ความเสี่ยงต่อผู้ที่ไม่ได้สูบกัญชาเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งในควันมือ 2 หรือ 3 จากการสูบกัญชาที่ลอยไปในอากาศและติดอยู่ที่เสื้อ รวมไปถึงกระแสที่นำกัญชาไปผสมกับอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ กลายเป็นว่า พอไม่มีมาตรการมารองรับหลังการปลดล็อกครั้งนี้ ทำให้ภาระทั้งหมดต้องตกไปอยู่ที่ผู้บริโภค ทั้งในส่วนของการต้องคอยหลบควันจากกัญชา ไปจนถึงการบริโภคอาหารต่าง ๆ

กัญชาไทยปลดล็อกแล้ว แต่สิ่งสำคัญมีมากกว่านั้น ในเมื่อยังมีประชาชนอีกหลายส่วน ที่ยังไม่ไว้วางใจถึงการปลดล็อกครั้งนี้ ทั้งการไร้มาตรการรองรับและผลกระทบด้านอื่น ๆ ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมกัญชาไทยเติบโต และไม่ทำให้สังคมแย่ลง

จรรยาบรรณกัญชา

ในปัจจุบัน การไม่มีมาตรการมารองรับ รวมถึงประกาศที่ออกมาอย่างคลุมเครือ ว่าสิ่งใดทำได้บ้างและสิ่งใดทำไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก ต้องร่วมมือกันในการสร้างกฎออกมา เรียกได้ว่าเป็นกฎที่คล้ายกับจรรยาบรรณวิชาชีพ เพราะปลายทางของผู้ประกอบการหรือผู้ใช้เหล่านี้ ไม่ได้ต้องการแค่กัญชาที่สามารถใช้ได้อย่างเสรีเพียงอย่างเดียว

แต่ต้องการทำให้กัญชา เติบโตไปอย่างยั่งยืนพร้อม ๆ กับสังคม และการสร้างวิธีการอยู่ร่วมกันในวันที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมออกมาชัดเจน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ในสายตาพวกเขา

“อย่างที่ร้านคือขายกัมมี่เป็นหลัก เราขายดอกไม้ (ดอกกัญชา) แค่บางเวลา แต่ก็มีลูกค้าบางคนที่เขาต้องการแล้วมายัดเงินให้กับพนักงาน ลูกน้องโทรมาแจ้งหลายครั้ง ดีที่ว่าเราไม่อยู่ตรงนั้น (หัวเราะ) ” คิตตี้เล่าเสริมถึงสถานการณ์ที่เคยพบเจอในร้านช่อผกา นอกจากลูกค้าบางคนที่ต้องการจะซื้อนอกเวลาขายดอกไม้นั้น หลาย ๆ ครั้ง ลูกค้าหลายคน เดินเข้ามาในร้านด้วยเจตนาไม่ดี

“บางคนเดินเข้ามาบอกเราว่าขอของที่แรงที่สุด แต่เราก็ไม่ขาย เราดูลูกค้าแต่ละคนว่าต้องการจะเอากัญชาเหล่านี้ไปทำอะไร เขาต้องการแค่จะสนุกและลองภูมิ แต่อันตรายมันมีมากกว่านั้นสำหรับคนที่พึ่งใช้ครั้งแรก ๆ ทั้ง ๆ ที่กัญชามันสามารถใช้ได้หลายรูปแบบ อย่างการพักผ่อน อย่างการใช้เพื่อทำงานสร้างสรรค์ เราถือว่านี่ก็เป็นหน้าที่ของเราเหมือนกัน ที่ต้องให้ความรู้ลูกค้าและผู้คนที่เข้ามาหาเรา”

คิตตี้ยังกล่าวว่า ในปัจจุบันที่รัฐยังไร้มาตรการมาควบคุมการขายกัญชา ถึงแม้จะมีการออกมาตรการมาบางส่วน อย่างการห้ามเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเกี่ยวข้องกับกัญชา ทว่านั่นเป็นการออกกฎหมายที่หละหลวม ทำให้คนในวงการพยายามสร้างกฎขึ้นมาเอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำตาม

“อย่างลูกเราอย่างเนี้ย เข้าร้านไม่ได้เลยนะ ก็ต้องยืนรอหน้าร้าน เราถือว่าอายุยังไม่ถึง 20 ปี นั่นทำให้คุณเข้าไม่ได้ มาตรฐานนี้ต้องใช้เหมือนกันหมด จะคนใกล้ตัวหรือลูกค้าคนสำคัญ ถ้าอายุไม่ถึงเราก็ไม่ให้เข้า”

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการไม่มีจรรยาบรรณในการขายสำหรับโอลาน คือในเมื่อปัจจุบัน รัฐยังไม่ได้ออกกฎหมายมาควบคุม ว่าต้องขายอย่างไร ที่ไหน โอลานยกกรณีอย่างการไปขายตามรถเข็นหน้าโรงเรียน ด้วยตัวกฎหมายในปัจจุบันก็ถือว่าสามารถทำได้ เพราะว่าไม่ได้มีระบุไว้ ถึงแม้จะมีข้อห้ามเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามยุ่งเกี่ยว แต่ถ้าหากผู้ขายไม่มีจรรยาบรรณ แม้แต่เด็กนักเรียนก็สามารถเข้าถึงกัญชาได้เช่นกัน และผู้ขายก็จะไม่มีกฎหมายเอาผิดเช่นกัน

รวมไปถึงการที่ยังไม่มีการตรวจสอบหรือรับรองกัญชาแต่ละประเภทในการที่จะนำออกมาขาย อย่างที่ร้านของโอลาน ก็มีใบรับรองจากหลายสถาบัน ที่มายืนยันถึงคุณภาพและความสะอาดของกัญชา

กลับกัน ราคาดอกกัญชาของโอลาน มีราคาที่สูง ตกอยู่ที่ 400-500 บาทต่อกรัมเป็นขั้นต่ำ นั่นหมายถึงกลุ่มผู้ซื้อจะต้องเป็นผู้มีฐานะในระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่มีรายได้ไม่สูง เท่ากับว่าพวกเขาจะต้องไปเสี่ยงกับผู้ขายรายอื่น ที่กัญชาอาจจะมีสารตกค้างและโลหะหนักปนเปื้อนหรือไม่ ซึ่งนั่นถือเป็นสิ่งที่อันตรายต่อร่างกายผู้ใช้ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

จรรยาบรรณวิชาชีพเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ว่าจะประกอบอาชีพไหนก็ตาม โดยเฉพาะท่ามกลางช่วงสุญญากาศกัญชาแบบนี้ คำถามที่ควรถามกว่าเรื่องใด หรือจริง ๆ รัฐจงใจให้สุญญากาศกฎหมายนี้เกิดขึ้นโดยมีอะไรแอบแฝงกันแน่

Agenda ที่ไม่ Hidden

“จริง ๆ มันไม่หลบซ่อนหรือแอบแฝงกันหรอก เราก็เห็นกันอยู่ชัดเจนว่าการปลดล็อกในช่วงเวลาแบบนี้ มันก็น่าคิดอยู่แล้ว” คิตตี้กล่าวถึงสิ่งที่หลายคนได้ตั้งข้อสงสัย ว่าการปลดล็อกกัญชาในช่วงระยะเวลานี้ มีความหมายหรือนัยทางการเมืองอะไรแอบแฝงหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 รวมไปถึงสารสกัดจากดอกกัญชา ที่มีสาร THC สูงกว่า 0.2 % การยังคงละเว้นไว้ มีปัจจัยอะไรมากไปกว่านั้นหรือไม่

ทว่า การคาดเดาในจุดนั้น สำหรับทั้งคิตตี้และโอลาน ในเวลานี้ยังคงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับกัญชาไทยต่อไปในระดับภาครัฐ สิ่งที่ทำได้ในปัจจุบันคือการตั้งหลักและสร้างเป้าหมายต่ออุตสาหกรรมกัญชาของไทย

ด้านคิตตี้เอง ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วม จากการร่างกฎหมายฉบับประชาชน และได้ร่วมมือกับพรรคก้าวไกล ในร่างกฎหมายที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุข ได้ยื่นเข้าไปในสภาแล้วนั้น คิตตี้กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดคือได้มีทิศทางที่ควรจะออกมาในอย่างที่ควรจะเป็น ทว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นนั้น หรือกฎหมายที่ออกมาจะเปลี่ยนไป นั่นคือสิ่งที่ยังคาดเดาไม่ได้ พร้อมทิ้งท้ายว่า ที่นี่ประเทศไทย อย่าลืมว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้

หากวันดีคืนดี มีการปรับยกเลิกไม่ให้ขายดอกกัญชา ซึ่งเป็นสินค้าหลักของหลายร้านที่พยายามปั้นแบรนด์และนำมาขาย เรียกได้ว่าอาจจะทำให้ธุรกิจกัญชาของอีกหลายเจ้าอาจจะต้องล้มลงไป ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด คือการผลักดันกัญชาให้งอกเงยบนดินรอบนี้อาจไม่เป็นผล เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ควรหมุนเวียนในประเทศต้องกลับลงสู่ใต้ดินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนั่นจะให้ผลดีกับคนเพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น ทั้งที่รายได้เหล่านี้สามารถกระจายได้ในหลายภาคส่วนของประเทศไทย

ซึ่งจริง ๆ รัฐควรจะสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ คิตตี้เล่าว่า หากไทยอยากที่จะส่งออกกัญชาจริง ๆ กลุ่มคนที่สร้างสรรค์ทั้งนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เหล่านี้แหละ ที่รัฐจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือ ถึงแม้ทุนใหญ่จะมีกำลังในการผลิตที่มากกว่า ทว่า ในอดีตกลุ่มคนเหล่านี้ก็คือกลุ่มคนที่รัฐเคยรังแก มันจึงเป็นเรื่องยากในการจะไปขอความร่วมมืออีกครั้ง

ถึงความกังวลในด้านของกฎหมายในปัจจุบันไม่ชัดเจนนัก แต่ตลาดของกัญชาในอนาคต อีก 2-3 เดือนหลังจากนี้ ในช่วงที่ต้นกัญชาของแต่ละคนที่ทยอยเริ่มปลูกกัญชา จนกลายเป็นอาชีพใหม่ โอลานมองว่า อาจจะถึงโอกาสที่ของจะล้นตลาด และราคาแต่ละอย่างจะร่วงตกลงอย่างเห็นได้ชัด

“อย่างที่เราเห็นว่าก่อนหน้านี้ ราคาผักชีขึ้นไปสูงมากและก็ร่วงลงมาหนักมากเช่นกัน ยังไม่รวมถึงสินค้าทางการเกษตรอื่น หรือที่เราเห็นได้ชัดเจนคือกระท่อม ใบสวย ๆ อยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 40 บาท อาจจะไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้น แต่ต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ กับกัญชาในบ้านเรา”

โอลานยกตัวอย่างพันธุ์กัญชาที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงในประเทศไทยอย่าง พันธุ์หางกระรอก ในปัจจุบันที่คนแห่กันปลูกพันธุ์นี้ ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เมื่อผลผลิตทางเกษตรอย่างกัญชา ของคนที่หันไปปลูกโตพร้อมกันหมด ในช่วงเวลานั้น สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือต้องมีผู้ประกอบการหน้าใหม่หลายคน ต้องเจ็บหนัก จากการขาดทุนในการลงแรงตรงนี้ไป

ในวันที่กัญชาไทย ไม่จำเป็นที่จะต้องเติบโตแค่ในใต้ดินอย่างเก่า การมีพื้นที่บนดินมากพอที่จะให้กัญชา สามารถเป็นทั้งประโยชน์ต่อผู้ป่วย ผู้ใช้ และสามารถทำเม็ดงานเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้กับหลายภาคส่วนแล้วนั้น คือการที่ภาครัฐ จำเป็นจะต้องลงมือ ทั้งการออกมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้กัญชาไม่กลับกลายเป็นผู้ร้ายอย่างเก่า ไปจนถึงการคุ้มครองผู้บริโภคหรือผู้ผลิตอีกหลายราย ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

และที่สำคัญ คือการจับตามองกฎหมายที่จะมารองรับกับการปลดล็อกกัญชาในครั้งนี้ ว่าจะมีจุดประสงค์แอบแฝงอะไรอีกหรือไม่ เม็ดเงินมหาศาลเหล่านี้จะกระจายสู่ประชาชนที่เกี่ยวข้อง หรือจะวนเข้าสู่กระเป๋าของคนไม่กี่หยิบมือ ไม่ต่างจากภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ และนั่นอาจทำให้กัญชาไทยไม่สามารถเติบโตได้อีกเลย

เสรีได้ แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากในปัจจุบัน ที่มีข่าวเผยแพร่ออกมาเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการที่มีผู้ใช้กัญชา ทั้งทำร้ายตนเองและทำร้ายผู้อื่น หลากหลายช่วงอายุ สิ่งที่คิตตี้และโอลานเห็นตรงกัน คือการที่บ้านเรา ยังไม่มีการบอกเล่าถึงการใช้กัญชาอย่างมีความรับผิดชอบ

“บ้านเราแทบจะมีน้อยมาก ที่คนจะออกมาพูดถึงการใช้กัญชาโดยมีความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเองและต่อสังคม เอาเข้าจริง ๆ ข่าวเกี่ยวกับกัญชาช่วงนี้มีทุกวัน แต่ทำไมคนกินเหล้า คนดูดบุหรี่ ถึงไม่มีข่าวลงบ้าง” คิตตี้ตั้งคำถามต่อการที่สื่อทำให้กัญชาเป็นผู้ร้ายอีกครั้ง ถึงแม้คิตตี้จะกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเรายังนับว่าน้อยกว่ากรณีที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ ทว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจมันมากขึ้น ไม่ใช่การสร้างความกลัว อย่างที่ผ่านมา

คิตตี้เล่าว่า ในฐานะที่ตนเป็นคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มานาน สิ่งที่อยากเห็นคือการที่สังคมไทยมีความเข้าใจกับเรื่องนี้มากขึ้น การใช้ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งการไม่ขับขี่ขณะยังมีอาการเมา หรือการใช้ให้เป็นกิจลักษณะโดยกำหนดในแต่ละพื้นที่ ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น และเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับการควบคุมเหล้าและบุหรี่เลย กัญชาก็เช่นกัน

เช่นเดียวกับโอลาน ในช่วงสุญญากาศกฎหมายกัญชาเสรีนี้ ตนยังไม่ได้เห็นภาพของหน่วยงานภาครัฐ ออกมาให้คำแนะนำว่าควรใช้อย่างไร ในการที่จะสร้างความเข้าใจในการใช้กัญชาที่ถูกต้อง

“เอาเข้าจริง ๆ นี่ไม่ใช่เสรีที่เราอยากเห็น เราอยากเห็นกัญชาเสรี คือคนใช้ก็สามารถใช้ได้ ผู้ป่วยเข้าถึงตัวยาง่ายขึ้น แต่ถ้าเสรีกัญชาและสังคมจะแย่ลง เราว่านั่นมันไม่คุ้ม” โอลานกล่าว

สิ่งที่น่าเป็นห่วง ที่เราสามารถมองเห็นได้ในช่วงสุญญากาศกฎหมายนี้ คือการต้องมีมาตรการมาควบคุมเพื่อที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยกับมัน

สารสกัดจากกัญชา ออกฤทธิ์กดประสาทให้มึนเมา โดยผ่านไปที่สมอง เช่นเดียวกัน เมื่อใช้มากเข้าย่อมทำให้เกิดอาการเสพติด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โอลานมองเห็นถึงของเสพติดประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ บุหรี่ หรือกระทั่งน้ำหวาน การเร่งให้ออกกฎควบคุมโดยเร็ว จะส่งผลดีต่อประชาชนทุกกลุ่มมากที่สุด

นอกจากนี้ คือการที่ต้องผลักดันด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันทางด้านกฎหมาย การทำผลิตภัณฑ์รักษ์โลก หรือการลดการใช้ packaging ที่เป็นพลาสติก ในวันที่กัญชาอาจจะสามารถสร้างขยะได้มากถึง 1 ล้านชิ้นใน 1 เดือน การคำนึงถึงสิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ไปจนถึงทำอย่างไรให้เม็ดงานมหาศาลเหล่านี้ ยังวนเวียนอยู่บนดินและในประเทศ ไม่ต้องวนออกสู่นอกประเทศและกลับลงสู่ใต้ดินเหมือนอย่างเคย

เพราะฉะนั้นแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชาไทย อย่างที่ผู้ประกอบการในวงการทั้ง 2 คนกล่าวถึง จึงไม่ใช่การพัฒนาเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมกัญชาในประเทศไทย มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

กัญชาไปกับสังคมไทยได้จริง?

“จริง ๆ บ้านเราไม่ได้ไม่คุ้นชินกับกัญชา เรียกว่าถูกทำให้ไม่คุ้นชินมากกว่า”

“อย่างเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว อเมริกายังต้องเอาสายพันธุ์จากบ้านเราไปพัฒนากับของที่บ้านเขาเลย จนช่วงหนึ่งมันเกิดสงครามยาเสพติดที่บ้านเขา บ้านเราก็ได้รับอิทธิพลจากตรงนั้นและทำให้กลายเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ขณะเดียวกัน ผู้ใช้กัญชาในบ้านเราไม่เคยหายไปไหนนะ ยังคงมีอย่างสม่ำเสมอ แค่ไม่ได้เปิดตัวเท่านั้นเอง” โอลานตอบคำถามที่ว่ากัญชาสามารถที่จะไปคู่กับสังคมไทยได้หรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการค้าประเวณี การขายเหล้า-บุหรี่ให้กับเยาวชน หรือกระทั่งสารเสพติดหนัก อย่างเฮโรอีน หรืออื่น ๆ ก็ยังคงวนเวียนในสังคมไทย คำถามถัดไปคือเราสามารถจำแนกได้หรือไม่ ว่าสิ่งใดที่ให้คุณหรือให้โทษ หรือในบางอย่างนั้นเราสามารถสร้างเม็ดงานมหาศาลที่จะไม่วนออกนอกประเทศ และสร้างเศรษฐกิจให้หลายภาคส่วนในบ้านเรา

โอลานกล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้เงินจากกัญชาในสมัยที่ยังผิดกฎหมาย เม็ดเงินเหล่านี้ ออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านหมด ซ้ำร้าย รัฐต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมาก ทั้งการจับกุมและการต่อต้านกัญชาเหล่านี้ หลังจากนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญ ที่จะทำอย่างไรให้เม็ดเงินเหล่านี้หมุนเวียนในประเทศให้ได้

ขณะเดียวกัน คิตตี้ยังคงเน้นย้ำถึงการใช้อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ใช้ แต่เป็นทุกระดับ ตั้งแต่ตัวบุคคล ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐ

“เราสูบได้เป็นที่เป็นทางหรือไม่ นั่นก็ประเด็นหนึ่ง ผู้ขาย รักษาจรรยาบรรณของตัวเองหรือไม่ การประเมินความเหมาะสมให้กับลูกค้า เพื่อที่พวกเขาจะสามารถไปทำกิจวัตรประจำวันอย่างอื่นต่อได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ หรือการห้ามให้มีการใช้ในสถานศึกษา โดยเฉพาะเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้มันต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือหลายฝ่าย”

คำถามที่ว่าสังคมไทยไปคู่กับกัญชาได้จริงหรือ อาจจะถามได้ไม่ตรงจุด สิ่งสำคัญคือ เราพร้อมที่จะเปิดโอกาส ทัศนคติ และมิติทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ แล้วหรือยังเสียมากกว่า

คำตอบคงไม่เกินไปกว่า นโยบายหรือกฎหมายจากภาครัฐ ที่จะออกมาเร็ว ๆ นี้ ถึงแม้ปัจจุบัน จะมีตัวร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาแล้ว ทว่า กฎหมายฉบับนั้น จะเป็นไปอย่างที่พวกเราคาดหวังหรือไม่ จะเป็นใบเบิกทางให้กับผู้ใช้ในประเทศไทย หรือมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงในรายละเอียด เรา ก็ยังไม่สามารถรู้ได้

สิ่งที่แน่ชัดในช่วงสุญญากาศกฎหมายกัญชาเสรีนี้ คือความต้องการที่จะให้มีการออกกฎหมายควบคุมเพื่อที่จะสร้างระเบียบให้กับสังคม และอยู่ร่วมกับมันได้อย่างสร้างสรรค์ และเพื่อไม่ให้ใคร ฉกฉวยโอกาสตรงนี้เพื่อทำผลเสียให้แก่สังคม การสร้างความรู้ ความมั่นใจ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทยนั้น รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับตรงนี้อย่างชัดเจน ที่จะพิสูจน์ให้เราได้เห็นว่าสังคมไทยอยู่คู่กัญชาได้ และกัญชาให้คุณมากกว่าให้โทษ

ในช่วงที่กฎหมายยังเป็นสุญญากาศ หรือเปรียบได้กับเป็นการปล่อยผีเช่นนี้ ความน่ากังวลคงไม่หยุดอยู่ที่เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร การจับตามองกฎหมายที่กำลังจะออกมารองรับยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลายภาคส่วน

ในเมื่อกัญชาสามารถสร้างเม็ดเงินได้จำนวนมหาศาล สิ่งที่หลายคนไม่อยากเห็นคงไม่พ้นการควบคุมศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ หรือสินค้าสร้างสรรค์ประเภทอื่น ๆ ที่ภาคประชาชนลงทุนลงแรงในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ และคำถามที่เราควรตั้งหลังจากนี้ เค้กก้อนใหญ่ที่หลายคนจ้องจะแบ่งกันตัด ขนมหวานสายเขียวก้อนโตชิ้นนี้ จะทำให้ใครอิ่มและใครอดกันแน่