เมื่อมนุษย์กำลังถูกแทนที่ 'วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ' - Decode
Reading Time: 2 minutes

ไม่นานมานี้ทาง Google ได้สั่งพักงาน เบลค  เลอมวน (Blake Lemore) วิศวกรคนหนึ่งของบริษัท เนื่องจากนำบทสนทนาระหว่างตน เพื่อนร่วมงาน และ AI chatbot ชื่อ LaMDA ซึ่งตัวเลอมวนได้อ้างว่า AI chatbot อย่าง LaMDRA ได้แสดงท่าทีถึงการมีอารมณ์ความรู้สึก

ไม่ว่าสิ่งที่เลอมวนอ้างมาจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ข่าวดังกล่าวคงจะสร้างความเห็นและความรู้สึกที่หลากหลายให้กับสังคม บางคนอาจจะรู้สึกทึ่งกับบทสนทนาที่ AI ที่สามารถพูดคุยตอบโต้กับประเด็นได้หลากหลาย รวมไปถึงประเด็นทางปรัชญาอย่างเรื่องเวลาหรือเรื่องตัวตน

หากหลายคนคงอดรู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะหลายคนคงคิดว่ายิ่งเครื่องจักรมีความสามารถเท่าไหร่มันก็มีแนวโน้มจะเป็นภัยของมนุษย์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะความเป็นภัยตามตัวอักษร แต่ยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์ในด้านอื่น อย่างเช่นภัยทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากคำกล่าวว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานคนในอนาคต ซึ่งสะท้อนได้ดีถึงความกลัวว่าสักวันเครื่องจักรจะมาแทนมนุษย์

ที่จริงความคิดเหล่านี้ มีมาโดยตลอด เห็นได้จากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายไซไฟ หรือภาพยนตร์ โดยเฉพาะโลกตะวันตก แน่นอนกรณีของไทยก็มีงานบันเทิงที่พูดถึงหุ่นยนต์ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ AI อยู่บ้าง หนึ่งในนั้นคือ “วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” นวนิยายสัญชาติไทยที่มีการพูดถึงประเด็นหลาย ๆประเด็นเกี่ยวกับหุ่นยนต์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้คือหนังสื่อที่ผมจะมาพูดถึงในสัปดาห์นี้

ทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงแตกต่าง

หนังสือเรื่อง “วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” เป็นนวนิยายที่เขียนโดย ร.เรือในมหาสมุทร ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์พะโล้ (Palo Publishing) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือประเภทที่เรียกว่า Light Novel เป็นหลัก นั่นหมายความว่าจริง ๆแล้วงานชิ้นนี้นั้นถูกเขียนขึ้นเพื่อที่จะเป็น Light Novel

หลาย ๆคนคงสงสัย เราจะอ่านงานเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่คนไทยเขียนไปทำไม ในเมื่อต่างประเทศได้สร้างงานที่พูดถึงประเด็นนี้ไว้เยอะแล้ว อะไรคือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ได้หยิบยื่นให้ โดยที่สื่อของประเทศอื่นไม่สามารถทำได้กันล่ะ

โดยคำตอบหลัก ๆที่บอกได้ว่าเป็นจุดที่ทำให้หนังสือเล่มนี้นับว่าแตกต่างมีด้วยกันอย่างน้อยสองข้อ โดยข้อแรกเป็นเพราะงานชิ้นนี้นั้นถูกสร้างขึ้นในบริบทของสังคมไทย

โดยตัว Light Novel นั่นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายต่อการนิยาม บางคนก็นิยามว่า Light Novel คือนิยายที่ภาษาอ่านง่าย มีรูปเล่มเล็ก และมีรูปภาพประกอบ หากแต่อีกมุมหนึ่ง Light Novel ก็นับว่ามีความเฉพาะเจาะจงเป็นประเภทงานเขียนหนึ่งด้วยเช่นกัน คือ เป็นงานที่ถูกสร้างขึ้นในกรอบของวัฒนธรรมโอตาคุ และส่วนใหญ่มีความเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่ในนั้น

ไม่เพียงแค่นั้นฉากหลังของเรื่องก็ถูกออกแบบมาเพื่อใส่ความเป็นญี่ปุ่นลงไป โดย “วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” นั้นได้เล่าถึงญี่ปุ่นในยุค ค.ศ.2100 ซึ่งมนุษย์ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ในการประกอบอาชีพทั้งหมด นิยายเรื่องนี้ได้เล่าผ่านสายตาของชายหนุ่มชื่อนาโอโตะ และคอมพิวเตอร์สามเครื่องของเขา

Light Novel จึงเป็นงานเขียนที่ผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อพยายามเขียนให้เป็น Light Novel “วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” จึงถูกออกแบบมาเพื่อใส่ความเป็นญี่ปุ่นลงไป เห็นได้ตั้งแต่ชื่อเรื่องซึ่งถูกตั้งให้ยาว ตามขนบการตั้งชื่อของ Light Novel

จะเห็นได้ว่างานชิ้นนี้ได้เลือกฉากหลังเป็นญี่ปุ่นเพื่อที่จะเพิ่มความรู้สึกให้เป็น Light Novel ลงไป แต่ในเมื่อเป็นแบบนี้ ก็กลับไปสู่คำถามที่ว่าทำไมเราถึงไม่อ่านงานของญี่ปุ่นไปเลย คำตอบก็คือ เพราะเป็นงานเขียนของคนไทยทำให้พยายามจะเป็นอย่างอื่นก็จะมีองค์ประกอบของความเป็นไทยออกมาอยู่ดี เราสามารถเห็นตัวอย่างนี้ได้จากหนังสือของสำนักพิมพ์เดียวกัน เช่น “เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ” ซึ่งตัวละครมีลักษณะของตัวการ์ตูนญี่ปุ่นสูง แต่มีฉากหลังเป็นโลกแฟนตาซีที่มีองค์ประกอบของความเป็นล้านนา ไม่รวมไปถึงวิธีคิดของตัวเอกที่มีความเป็นคนไทยอย่างเห็นได้ชัด

“วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” ก็มีลักษณะแบบนั้นเช่นกัน โดยจุดที่เห็นชัดที่สุดนั่นอาจจะเป็นมุมมองของหุ่นยนต์ที่นับว่าเป็นมิตรต่อมนุษย์และเป็นนับว่ามีส่วนช่วยต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันตัว ร.เรือในมหาสมุทร สะท้อนประเด็นที่น่าวิตกของการแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ โดยเฉพาะในประเด็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งจุดนี้จะแตกต่างจากภาพหุ่นยนต์ที่ปรากฏอยู่ตามสื่อวัฒนธรรมโอตาคุไม่ว่าจะเป็นมังงะหรืออนิเมะของญี่ปุ่น ซึ่งมักจะให้ภาพของหุ่นยนต์ในทางที่เป็นบวกมาก ๆขณะเดียวกันก็ต่างจากงานของตะวันตกในระดับที่บอกได้ว่ามีความแตกต่าง

งานชิ้นนี้จึงมีลักษณะเฉพาะของตัวเองอยู่ ไม่ใช่แค่เฉพาะเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมอื่น แต่ยังรวมไปถึงแม้แต่งานเขียน Light Novel ด้วยกัน เห็นได้จากการบรรยายซึ่งโดยทั่วไปแล้วงาน Light Novel จะใช้บทสนทนาของตัวละครในการดำเนินเรื่อง และการบรรยายจะนับว่าค่อนข้างน้อยมาก เพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้ง่าย และรู้สึกสนุกเพลิดเพลินไปกับตัวนวนิยาย แต่หนังสือเล่มนี้นั้นจะค่อนข้างใช้คำบรรยายเยอะกว่า Light Novel ทั่วไป และบทสนทนาหลาย ๆครั้งก็เป็นบทสนทนาที่นับว่าลึก ขณะที่ยังคงสร้างความบันเทิงไปได้พร้อมกัน ซึ่งบทสนทนาที่ลึกนี้มาพร้อมกับประเด็นที่นับว่าลึกตามไปด้วย และนี่คือจุดเด่นข้อที่สองของหนังสือเล่มนี้นั่นก็คือ ประเด็นในเรื่องนั่นเอง

เมื่อหุ่นยนต์มาแทนมนุษย์

“ไม่มีพื้นที่ให้มนุษย์ในการประกอบอาชีพใด ๆอีกแล้ว สิ่งเดียวที่มนุษยชาติทำได้คือเป็นผู้ครอบครองคอมพิวเตอร์ในการประกอบอาชีพต่างๆ”

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น“วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” เป็นหนังสือ

“การประกอบอาชีพใด ๆไม่ได้หมายถึงการเอาร่างกายไปทำงานชนิดนั้น แต่หมายถึงการมีหุ่นสมองกลที่ช่วยทำงานชนิดนั้นอยู่ในครอบครอง”

         สำหรับโลกในหนังสือเล่มนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ มนุษย์ยังคงมีอำนาจเหนือกว่า และหุ่นยนต์มีหน้าที่เพียงทำตามคำสั่งมนุษย์ และการมาแทนของหุ่นยนต์ในเรื่องก็ไม่ได้หมายความว่ามาแทนในแง่ของการแย่งงาน แต่เป็นการแบ่งเบาภาระ เพราะตัวมนุษย์ยังคงมีชื่อว่าประกอบอาชีพนั้นอยู่ เช่น ถ้ามนุษย์คนนั้นประกอบอาชีพเป็นพนักงานเสิร์ฟ สำหรับนิยายเล่มนี้ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์คนนั้นลงไปทำการเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้า แต่หมายความว่ามนุษย์คนนั้นครอบครองคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานเสิร์ฟอาหาร

ที่เล่าถึงโลกที่หุ่นยนต์ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ในการประกอบอาชีพเป็นที่เรียบร้อย โดยนิยายได้ทำการเล่าประเภทของเครื่องจักรภายในเรื่องซึ่งมีด้วยกันสามระดับ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งประเภทหลังสุดนั้นหมายถึงเครื่องจักรที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์และมี AI ซึ่งคอมพิวเตอร์นี่เองคือหุ่นยนต์ที่เข้ามาแทนที่มนุษย์ในมิติทางเศรษฐกิจ

การมาแทนที่ของหุ่นยนต์จึงเหมือนกับเป็นการลดงานของมนุษย์ลงและเพิ่มเวลาให้มากขึ้น ฟังดูแล้วก็เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ทว่าการมาแทนในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะกับอาชีพใช้แรง แต่ยังรวมไปถึงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ซึ่งตัวละครเอกของเรื่องก็ทำอาชีพนี้เช่นกัน

ตัวนาโอโตะตัวละครที่ดำเนินเรื่องในเล่มแรกก็คือคนที่ประกอบอาชีพนักเขียน ซึ่งหมายความว่าเขาเป็นผู้ครอบครองคอมพิวเตอร์ที่สามารถเขียนหนังสือได้ โดยคอมพิวเตอร์สามเครื่องของเขาได้แก่ 463AAC แอนแอนมาลิก้า และชิโยะ จะมีหน้าที่ในการเขียนหนังสือคนละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่าง โดย AAC กับแอนแอนมาลิก้ามีหน้าที่เขียนนิยายอีโรติกกับนิยายรักหวานแหววเพื่อสร้างรายได้ ส่วนชิโยะมีหน้าที่เขียนนิยายชิงรางวัล เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่นาโอโตะ

การมาแทนที่ของมนุษย์โดยหุ่นยนต์ในมิติทางเศรษฐกิจจึงแทบจะสมบูรณ์ ที่ว่างของมนุษย์นั้นมีแค่ทำงานเกี่ยวกับการสร้างและซ่อมหุ่นยนต์ ทว่าการที่หุ่นยนต์สามารถมาแทนที่มนุษย์ได้เกือบทุกอย่างก็นำมาสู่ปัญหา เพราะอาชีพไหนที่หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ ย่อมหมายถึงมนุษย์ที่ไม่มีหุ่นยนต์จะถูกเขี่ยทิ้งโดยทันที

ซึ่งก็คือประเด็นสำคัญของนิยายเรื่องนี้ คือ หากหุ่นยนต์มาแทนที่มนุษย์ในฐานะนักเขียนจะเกิดอะไรขึ้น สำหรับนวนิยายเรื่องนี้ก็เลือกที่จะตอบว่างานของนักเขียนมนุษย์จะไม่มีคนอ่านอีกต่อไป เพราะว่าไม่สามารถสู้กับงานที่มีมาตรฐานมากกว่า และผลิตอย่างสมํ่าเสมอกว่าของเครื่องจักรได้

แต่ตัวนิยายเรื่องนี้นั้นไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ร.เรือในมหาสมุทร ได้ทำการผลักประเด็นต่อไปอีกว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์นั้นด้อยกว่าเครื่องจักรจริงหรือ ซึ่งถูกเล่าผ่านการที่ตัวนาโอโตะนั้นอยากได้รางวัล A Literature ซึ่งนับเป็นรางวัลสูงสุดของวงการวรรณกรรม หากแต่ระหว่างที่กำลังเขียนต้นฉบับ ชิโยะคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อคว้ารางวัลนี้กลับถูกขโมยผลงานไปเสียก่อน ด้วยระยะเวลาที่จำกัดเกินกว่าที่ชิโยะจะสามารถสร้างงานคุณภาพระดับรางวัลได้ ทำให้สุดท้ายชิโยะได้ทำการอัดเสียงชายชราข้างบ้านที่เคยประกอบอาชีพเป็นนักเขียน และส่งเข้าประกวด แล้วสามารถคว้รางวัลมาได้

หลายคนคงจะตั้งคำถามว่าถ้านักเขียนมนุษย์นั้นสามารถคว้ารางวัลได้แล้วทำไมไม่ส่งประกวด ที่เป็นเช่นนี้เพราะการมาแทนของเครื่องจักร ทำให้ไม่มีใครคิดว่าจะมีมนุษย์ที่ยังเขียนหนังสืออยู่ และทำให้เงื่อนไขการประกวดเพื่อชิงรางวัลถูกจำกัดเฉพาะคอมพิวเตอร์เท่านั้น

การให้ตัวละครเอกมีอาชีพเป็นนักเขียน เพราะหลายครั้งงานเขียนมีความเกี่ยวพันกับเรื่องอารมณ์ ซึ่งทั่วไปเครื่องจักรมักจะถูกให้ภาพที่เป็นสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล และไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง เมื่อ AI ซึ่งมีภาพจำแบบนั้นมาเขียนหนังสือ จึงง่ายที่จะนำมาสู่คำถามว่าหุ่นยนต์มีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์จริงขนาดที่มาแทนมนุษย์ในส่วนนี้ได้หรือ

“เขาควรเป็นคนส่งประกวดเหรอคะ” คอมพิวเตอร์ถามกลับ “แต่เงื่อนไขการประกวดกำหนดไว้นะคะ ว่าคอมพิวเตอร์ที่จะส่งผลงานต้องมีแรมอย่างน้อยเท่าไหร่ เขาไม่มีแม้แต่กิโลไบต์เดียว”

เมื่อองค์ประกอบทั้งหมดรวมกันทำให้ประเด็นว่ามนุษย์ด้อยกว่าเครื่องจักรจริงหรือถูกขยายมากยิ่งขึ้น

“ในอดีต สังคมปฏิเสธนักเขียนมนุษย์ พวกเขาเป็นคนผลักนักเขียนในยุคก่อนเองให้กลายเป็น ‘อาทิตย์สิ้นแสง’ แต่ตอนนี้ก็มาทำเป็นสงสารเห็นใจ ทำเหมือนลืมไปแล้วว่าเคยคิดยังไงกับนักเขียนที่เป็นคนจริงๆ”

ในแง่หนึ่งนิยายเล่มนี้จึงดูจะมีน้ำเสียงที่โน้มเอียงไปทางว่าเครื่องจักรไม่สามารถแทนมนุษย์ได้ทุกอย่าง หากแต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีน้ำเสียงที่บอกว่าชัยชนะจากการประกวดรางวัลจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง เพราะสุดท้ายการที่งานที่ถูกสร้างโดยมนุษย์สามารถชนะรางวัลประกวดได้ก็เป็นเพียงประเด็นทางสังคมที่ไม่นานก็ถูกลืมเลือนไป

ในแง่นี้ประเด็นในเรื่องจึงนับว่ามีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย และนับว่ามีลักษณะเฉพาะด้วย

สิทธิหุ่นยนต์ สิทธิมนุษยชน

การมาแทนของหุ่นยนต์ใน “วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” ไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบคำถามเฉพาะเรื่องความด้อยกว่าหรือเหนือกว่าของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนำมาสู่คำถามอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อเครื่องจักรมาแทนมนุษย์และมีรูปร่างเหมือนกัน

นำมาสู่คำถามว่าหุ่นยนต์ควรจะมีสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิหุ่นยนต์ไหม ไม่ว่าจะเป็นสามารถให้หุ่นยนต์ประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง หุ่นยนต์สามารถเป็นวัตถุทางเพศได้หรือไม่ในเมื่อไม่ใช่มนุษย์ ทั้งหมดกลายเป็นคำถามที่ตามมา เมื่อหุ่นยนต์พัฒนาไปจนถึงจุดหนึ่งแล้ว เรื่องของ LaMDRA ก็อาจจะเป็นแบบนั้น ไม่ว่า AI ตัวนี้จะสามารถพัฒนาจนมีอารมณ์ความรู้สึกได้จริงหรือไม่ แต่ดูแล้วในอนาคต หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องหุ่นยนต์ต่อไปเรื่อย ๆประเด็นเหล่านี้จะไม่ได้อยู่แค่ในนิยาย แต่จะกลายเป็นข้อถกเถียงในโลกจริงด้วยเช่นกัน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี

หนังสือ: วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ
นักเขียน: ร เรือในมหาสมุท
สำนักพิมพ์: พะโล้ (Palo Publishing)