สถานะอันเลือนรางของอาชีพไรเดอร์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 มีการโพสต์เหตุการณ์ที่ไรเดอร์ของบริษัท ลาล่ามูฟ ทำเอกสารมูลค่าหลักแสนบาทของลูกค้าหล่นหาย โดยต้นโพสต์ได้กล่าวว่า ทางบริษัทแพลตฟอร์มมีการชดเชยค่าเสียหายให้ 3,000 บาท ตามอัตราการประกันภัยที่แจ้งไว้สำหรับการส่งเอกสาร

“ในวันเกิดเหตุ ผมได้รับออเดอร์ให้ไปรับเอกสารตามปกติ แต่เมื่อไปถึงที่อยู่ที่ลูกค้าปักหมุดไว้ ปรากฏว่าที่อยู่ไม่ตรงกับที่ลูกค้าแจ้ง จึงมีการโทรศัพท์ไปคุยกับลูกค้าเพื่อสอบถามที่อยู่ที่ถูกต้อง โดยระหว่างทางมีการคุยโทรศัพท์และขี่มอเตอร์ไซต์ไปพร้อมกัน เอกสารได้หล่นหายในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น”

ไรเดอร์คนดังกล่าวได้เล่าให้เราฟังว่า ตอนนั้นเขารู้สึกเครียด เมื่อลูกค้าบอกว่าจะต้องจ่ายค่าปรับหากส่งเอกสารล่าช้าถึงวันละ 60,000 บาท และเขามองว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในความผิดพลาดจากการทำงานของเขา

ภาระความรับผิดชอบจึงมาตกอยู่ที่ไรเดอร์คนดังกล่าว โดยเขาจำเป็นต้องลางาน 3-4 วัน เพื่อนำเวลามาตามหาเอกสารนั้น โดยเขาเล่าเหตุการณ์ให้เราฟังว่า

แม้สุดท้ายเขาจะตามหาจนพบเอกสารดังกล่าว แต่ในช่วงเวลาระหว่างนั้น เขากลับไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทแพลตฟอร์มเลย เหตุการณ์นี้ทำให้ภาพจำที่เขามีต่อบริษัทแพลตฟอร์มนั้นแย่ลง

แต่ถึงอย่างไรเขาก็ไม่อาจปฏิเสธการทำอาชีพนี้ได้ เมื่ออาชีพไรเดอร์เป็นทางเลือกการประกอบอาชีพที่อิสระ สร้างรายได้ตามที่ต้องการหรือได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หลายคนจึงเลือกทำอาชีพนี้ต่อไป เพราะหาอาชีพอื่นที่ดีกว่านี้ทดแทนไม่ได้ แต่ในข้อดีที่ยกมานั้น ไรเดอร์ยังคงต้องแบกรับความเสี่ยงมากมาย ในวันที่สถานะการทำงานของเขากับบริษัทแพลตฟอร์มยังคงไม่ชัดเจน

De/code พูดคุยกับตัวแทนไรเดอร์ ที่มองว่าอาชีพนี้ยังไม่ควรค่าแก่การทำเป็นงานประจำเต็มเวลา หากรายได้และสวัสดิการต่าง ๆ ยังไม่แน่นอนอยู่แบบทุกวันนี้ ก่อนที่จะพูดคุยกับอาจารย์กิริยา กุลกลการ ถึงทางออกร่วมกันที่ทั้งบริษัทแพลตฟอร์ม และไรเดอร์จะอยู่ร่วมกันต่อไปอย่างสมดุล ภายในโลกเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ไรเดอร์ตัวเลือกอาชีพเสริม ที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบัน?

“งานประจำผมได้เงินเดือน 12,000 บาท ฐานเงินเดือนมันต่ำ เงินเดือนไม่พอใช้ คนเรามันมีภาระนู่นนี่นั่น ผ่อนรถ ส่งลูกเรียน ค่ากิน”

พจน์ ยศธร ยศเมฆ อายุ 33 ปี พนักงานประจำบริษัทขายเครื่องไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี เขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าออกจากงานประจำ เพื่อมาทำอาชีพไรเดอร์เต็มตัว แม้เขาจะบอกว่าไรเดอร์เป็นอาชีพที่ให้อิสระกับชีวิตเขาที่สุดก็ตามที

“เคยคิดเหมือนกันว่าจะลาออกจากงานประจำมาวิ่งไรเดอร์เต็มตัว แต่พอคิดไปคิดมามันดูไม่มั่นคง เพราะว่าค่าเที่ยวก็ขึ้นๆ ลงๆ”

โดยพจน์จะอาศัยเวลาหลังเลิกงานเวลาหนึ่งทุ่ม มาวิ่งไรเดอร์ถึงสามสี่ทุ่ม เฉลี่ยแล้วเขาจะมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพไรเดอร์ 1,200 – 1,300 บาทต่อสัปดาห์ เขาบอกว่าที่รายได้มันน้อย เพราะใช้เวลาทำงานไรเดอร์ต่อวันแค่ 2-3 ชั่วโมง

“การเป็นไรเดอร์มีข้อดีกว่างานประจำคืออิสระกว่า สามารถใช้ชีวิตนอกกรอบได้ ไม่ต้องมานั่งทำงานวันหนึ่งแปด-เก้าชั่วโมง เป็นงานที่เราเลือกได้ว่าจะวิ่งตอนไหน นานเท่าไหร่ วันไหนสะดวกทำงานก็ทำ วันไหนไม่สะดวกก็หยุด”

แต่ข้อเสียพจน์กล่าวว่า มันเป็นอาชีพที่ไม่มีหลักประกันอะไรให้กับไรเดอร์เลย ทั้งประกันสังคม สวัสดิการต่าง ๆ ที่เขาไม่ได้รับเหมือนที่ได้รับจากการทำงานประจำ สวัสดิการขั้นพื้นฐานยังคงจำเป็นสำหรับพจน์ และยังคงจำเป็นสำหรับไรเดอร์ทุกคน

“ความกังวลเวลาออกไปทำงานเป็นไรเดอร์ ส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องการเกิดอุบัติเหตุ โดยส่วนตัวไม่ได้ทำประกันอุบัติเหตุของตัวเอง ถ้าให้ผมเลือกแค่อาชีพเดียว ผมคงเลือกทำงานประจำต่อไป เพราะความมั่นคงมีมากกว่า”

แต่พจน์ก็มองว่าอาชีพไรเดอร์ เป็นอาชีพเสริมที่ดีที่สุดสำหรับเขาในตอนนี้ แม้จะมีหลายอย่างที่เขาไม่พอใจบริษัทแพลตฟอร์มอยู่บ้าง แต่เขาก็ยังไม่สามารถหาอาชีพเสริมที่ตอบโจทย์กับชีวิตเขาได้เท่าอาชีพนี้

“อาชีพไรเดอร์ อย่างน้อยทำให้เราได้มีรายได้เสริมขึ้นมา ถ้าวันหนึ่งไม่ได้ทำอาชีพนี้แล้วคงเสียดาย เพราะมันดีตรงที่ว่าเราทำงานนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ เราเติมแค่น้ำมันกับค่าโทรศัพท์ มอเตอร์ไซต์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เรามีอยู่แล้ว”

แม้พจน์จะยังไม่สามารถหาทางไปประกอบอาชีพเสริมได้ แต่เขาสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง โดยการรวมกลุ่มกันของไรเดอร์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเรียกร้องค่าออเดอร์ให้เพิ่มสูงขึ้น ไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมันที่ขึ้นมาเกือบหนึ่งเท่าตัว แต่ค่าออเดอร์ที่เขาได้รับกลับน้อยลงกว่าเดิม

“อย่างค่าออเดอร์ที่ได้รับต่อรอบ ผมอยู่แบช 4 สตาร์ทค่าเที่ยวอยู่ที่ 17 บาท มีการแยกระดับออกมาเป็นกลุ่ม ๆ ถ้าอยู่ในระดับสูงจะได้ค่าออเดอร์ต่อรอบมากกว่า”

จากการค้นหาข้อมูลพบว่าไรเดอร์ของ Foodpanda ที่พจน์ทำงานอยู่ในตอนนี้ มีการแบ่งระดับไรเดอร์ออกเป็น 6 แบช โดยแบชที่ 1 คือขั้นสูงสุดของไรเดอร์ ที่จะได้ค่ารอบสูงกว่าแบชอื่น ๆ โดยคนที่จะมาอยู่ในระดับนี้ได้ จะต้องมีคุณสมบัติที่ทางบริษัทกำหนดคือ

1.เข้ากะการทำงานตรงเวลา 2.ไม่ขอเบรคไม่ขอพัก 3.ไม่ปัดงาน 4.เก็บชั่วโมงการทำงานในช่วงเวลาพิเศษให้ได้มากที่สุด

โดยในส่วนแบชอื่น ๆ นั้น ก็จะได้ค่ารอบต่ำลงมาตามลำดับ พร้อมกับกฎระเบียบที่ทางบริษัทผ่อนปรนให้ ดังนั้นแล้วอาชีพไรเดอร์ที่พยายามโฆษณาว่าเป็นอาชีพที่อิสระ ก็แฝงด้วยกฎระเบียบและความพยายามของบริษัทแพลตฟอร์ม ที่จะควบคุมการทำงานของไรเดอร์ ไม่ต่างจากการจ้างงานพนักงานประจำ!

“Fair Work” ยังห่างไกลจากความเป็นจริง

“สังคมไทยเป็นสังคมที่แค่นี้ก็ดีแล้วสำหรับไรเดอร์ สมัยก่อนถ้าไม่มีเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เราก็ทำงานได้วันละ 300 บาท อยู่นอกระบบทำงานแบกหาม พอมีอาชีพไรเดอร์เข้ามา ก็ดีกว่าไปทำงานได้วันละ 300 บาท ดังนั้นทางเลือกที่มีอยู่ในตลาดแรงงานไทย ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างอาชีพ ที่มีสวัสดิการดี รายได้สูง ไว้ตั้งแต่แรก”

กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลกับ De/code ถึงสถานะและความเป็นไปในอนาคตของอาชีพไรเดอร์ บนบริบทตลาดแรงานไทยที่เธอมองว่า อาชีพไรเดอร์ ยังคงมีประโยชน์ต่อตัวแรงงาน

“เศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีประโยชน์ต่อตัวแรงงาน แต่ยังไม่ใช่อาชีพที่ดีในแง่ของความมั่นคงทางอาชีพ รายได้ก็ผันผวนขึ้นลง ถ้าเราเจ็บป่วยรายได้หายหมดเลย และไรเดอร์มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง ทั้งยังไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน”

กิริยากล่าวต่อว่า ตอนนี้มีคนพยายามที่จะระบุสถานะของไรเดอร์ให้ชัดเจน ว่าเขาควรเป็นแรงงานในระบบคือลูกจ้างของบริษัทแพลตฟอร์ม หรือนิยามว่าพวกเขาเป็นแรงงานอิสระนอกระบบไปเลย แต่ตามความเป็นจริงพบว่า ลักษณะการทำงานของไรเดอร์ก้ำกึ่งอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 สถานะนี้

ความท้าทายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว สถานะการทำงานของไรเดอร์ทั่วโลกก็ยังไม่มีความชัดเจน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจึงใช้กลไกศาลในการตัดสิน

กิริยายกตัวอย่างกรณีศึกษาจากต่างประเทศ อย่างในประเทศอังกฤษ ศาลตัดสินออกมาว่าไรเดอร์เป็นแรงงานอิสระ ในเนเธอร์แลนด์บอกว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้าง ถ้าในออสเตรเลียกับในฝรั่งเศส ปรากฏว่าแล้วแต่เคส บางเคสศาลบอกว่าเป็นลูกจ้าง บางเคสศาลบอกว่าเป็นแรงงานอิสระ

สรุปแล้วแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องการระบุสถานะของไรเดอร์อยู่

“อาจจะต้องมีทางเลือกที่ 3 ขึ้นมา เป็นทางเลือกใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่จำเป็นต้องผลักเขาไปอยู่ในสถานะลูกจ้าง ที่มีการทำงานที่มั่นคงแต่ว่าไม่มีอิสระ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราปล่อยเขาไปอยู่นอกระบบ คุณภาพชีวิตเขาก็แย่ เราอาจจะต้องหาทางเลือกตรงกลางมาช่วย”

ซึ่งทางเลือกที่ว่านี้ก็ยังไม่มีใครสามารถนิยามสถานะใหม่ให้กับตัวไรเดอร์ได้ จะมีก็เพียงกรอบความคิดใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization – ILO) ที่กำหนดกรอบ 5 ข้อ ในเรื่องของการทำงานที่เป็นธรรม “Fair Work” ไว้

ข้อแรกมองในเรื่องของค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (Fair Pay) กิริยากล่าวว่าต้องมาพิจารณาค่ารอบที่เหมาะสม และคุ้มกับค่าใช้จ่ายของไรเดอร์ ทั้งต้นทุนค่าสึกหรอรถจักรยานยนต์ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์

ในขณะเดียวกันกิริยากล่าวเสริมว่า ตัวไรเดอร์เองควรจะเรียนรู้เรื่องของการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อที่จะสามารถคำนวณได้ว่า การทำงานในแต่ละวันของพวกเขานั้นคุ้มค่าหรือไม่ กิริยาให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า

“ด้วยความที่ไรเดอร์เขามีรถพร้อมทำงาน และเขาก็ต้องการเงินวันต่อวัน บางคนบอกว่าถ้าเขาทำงานไม่คุ้ม แล้วจะออกไปขี่ทำไม คือจริง ๆ ด้วยความยากจนมันไม่มีทางเลือกเยอะ เขาเพียงต้องการให้มันผ่านแต่ละวันไป จึงต้องการเงินที่จะเข้ามา ซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่าสึกหรอ ค่าอุบัติเหตุ ที่เขาต้องเผชิญ”

ต่อมาข้อที่สองคือเรื่องของสภาพการทำงานและสวัสดิการ (Fair Condition) โดยกิริยาได้เคยทำการสำรวจความคิดเห็นของไรเดอร์พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้วต้องการสวัสดิการจำพวกประกันอุบัติเหตุ และการประกันรายได้ขั้นต่ำ รวมถึงเงินชดเชยเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องว่างงาน ซึ่งกิริยาได้กล่าวว่าการที่บริษัทแพลตฟอร์มไม่จัดสวัสดิการให้นั้น คือการผลักภาระดังกล่าวให้สังคมโดยรวม

“การที่บริษัทแพลตฟอร์มไม่จัดสวัสดิการ ไม่ได้เบียดเบียนเฉพาะตัวไรเดอร์เท่านั้น แต่คือการเบียดเบียนคนอื่นๆ ในสังคม เวลาที่แพลตฟอร์มไม่ดูแลไรเดอร์ถ้าเขาเกิดรถชน เขาก็ต้องไปเบิกจาก พ.ร.บ.ขนส่ง หรือการใช้บัตรทองในการรักษาพยาบาล กลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถูกผลักให้กับสังคมโดยการใช้เงินภาษี”

โดย ณ ปัจจุบันยังไปต้องไปถึงขั้นการให้สวัสดิการต่าง ๆ เพียงแค่ตัวสัญญาข้อตกลงที่เป็นธรรม (Fair Agreement) ซึ่งอยู่ในข้อที่สามของกรอบการทำงานที่เป็นธรรม “Fair Work” ระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มและไรเดอร์ ก็ยังหาความชัดเจนไม่ได้ ตามที่กิริยากล่าวว่า

“ที่เป็นปัญหาเยอะคือเรื่องของสัญญาการทำงาน สัญญาถูกเขียนออกมาตัวเล็ก ๆ ยาว ๆ และไรเดอร์ไม่เคยอ่านว่า มีรายละเอียดอย่างไร แพลตฟอร์มเองก็ชอบเปลี่ยนสัญญาอยู่บ่อย ๆ มันควรมีความถี่ในการเปลี่ยน และต้องมีการแจ้งเตือนก่อนบังคับใช้สัญญาฉบับใหม่”

ต่อมาข้อที่สี่คือเรื่องของการบริหารจัดการ (Fair Management) กิริยากล่าวถึงปัญหาปัจจุบันที่เหล่าไรเดอร์ต้องเผชิญว่า มีการปิดบัญชีไรเดอร์เพื่อเป็นการลงโทษ ซึ่งบางครั้งไรเดอร์รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะบางครั้งลูกค้าฟ้องมา แต่บริษัทแพลตฟอร์มไม่เปิดโอกาสให้มีการไกล่เกลี่ย หรือให้โอกาสไรเดอร์ได้ชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

และในข้อสุดท้ายที่ว่าด้วยเรื่องของการรวมกลุ่ม (Fair Representation) กิริยาให้ความคิดเห็นไว้ว่า

“ภาครัฐควรสนับสนุนไม่มองการรวมกลุ่มเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหา ควรจะส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันของไรเดอร์ ให้เขามีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งตอนนี้เขาก็ทำกัน เพียงแต่ยังไม่มีสถานะรับรองทางกฎหมาย”

สรุปแล้วกิริยากล่าวว่าหลักการสำคัญของกรอบการทำงานที่เป็นธรรม “Fair Work” ทั้ง 5 ข้อ กลไกสำคัญคือเรื่องของการพูดคุย แพลตฟอร์มต้องหาช่องทาง วิธีการพูดคุยกับตัวไรเดอร์ให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ลงมาพูดคุยเมื่อมีการประท้วง 

แต่ถึงอย่างไรอย่างที่พจน์ ตัวแทนไรเดอร์ที่คุยกับเรากล่าวไว้ในตอนต้นกล่าวว่า เขารู้สึกผูกพันกับนายจ้างที่ทำงานประจำด้วยมากกว่า เพราะมีการปฏิสัมพันธ์กันที่มากกว่าแค่การทำงานร่วมกัน กิริยากล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า

“ลักษณะการทำงานรูปแบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในรูปแบบพี่น้อง เพื่อน คนรู้จักเลย บริษัทแพลตฟอร์มเองก็คิดว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความสัมพันธ์ ความผูกพันธ์  มันจึงไม่เหมือนกับวิถีเก่าที่เราดูแลกัน แต่การจ้างงานของไรเดอร์คือการใช้ระบบของตลาดอย่างชัดเจน มีต้นทุน กำไรชัดเจน ตัดเรื่องความสัมพันธ์การดูแลซึ่งกันและกัน”

เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายลดบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างกันลงมา รัฐจึงเป็นตัวกลางสำคัญในการเข้ามาดูแล กิริยากล่าวถึงบทบาทของภาครัฐต่อเรื่องนี้ว่า

“รัฐควรเป็นตัวกลางเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดเสวนา เวทีพูดคุยระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มและ
ไรเดอร์ เพราะเมื่อกฎหมายต่าง ๆ ของรัฐไม่ชัดเจน รัฐต้องมาเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดความเป็นธรรม”

ซึ่งจริง ๆ แล้วในประเทศไทยก็มีหน่วยงานอิสระเช่น สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม  ที่ดำเนินการรวบรวมข้อมูล และศึกษาความเป็นไปของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอยู่แล้ว รัฐไม่จำเป็นต้องลงมาทำงานเองด้วยซ้ำ เพียงแค่ให้การสนับสนุนหน่วยงานเหล่านี้ ให้พวกเขามีทรัพยากรในการทำงานอย่างเพียงพอ

แต่ปัญหาที่พบเจอในปัจจุบันกิริยากล่าวว่า

“รัฐไม่มีวัฒนธรรมของการพูดคุย ไม่มีการให้คนตัวเล็กตัวน้อยขึ้นมานั่งโต๊ะคุยกับแพลตฟอร์ม แรงงานถูกรัฐบาลปล่อยทิ้งไว้ และก็คิดว่านายทุนจะดูแลแรงงานเองได้ เขาพูดมาโดยตลอดว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ไม่เห็นอะไรที่จับต้องได้ การจะพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม เรายังไม่เห็นที่เป็นรูปธรรม”

วันนี้ยังคงมีอีกหลายสิ่งที่ต้องผลักดันให้การจ้างงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเกิดความสมดุล เพื่อนายจ้างก็สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ ตัวแรงงานอย่างไรเดอร์ก็มีรายได้ที่เหมาะสม มีสวัสดิการที่เป็นหลักประกันให้กับชีวิตของพวกเขา สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องสร้างสมดุลร่วมกัน ดังที่กิริยากล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทความชิ้นนี้ว่า

“ต้องสร้างสมดุลของประโยชน์จากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น หากเราออกกฎอะไรไปมันอาจจะทำให้แพลตฟอร์มไม่โตในประเทศไทย ผู้บริโภคอย่างเราก็คงไม่ได้ประโยชน์ ทุกวันนี้ก็ต้องบอกว่าผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ จากการที่ชีวิตง่ายขึ้นจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม บริษัทก็ได้ประโยชน์ ไรเดอร์ก็ได้ประโยชน์ ปัญหาคือเราจะสร้างความสมดุลตัวนี้อย่างไร ให้มันมีความเป็นธรรมมากขึ้น มีเค้กอยู่ก้อนหนึ่ง เราจะแบ่งสันปันส่วนก้อนนี้มาให้ไรเดอร์มากขึ้นได้ไหม มาดูแลคุณภาพชีวิตของเขาให้ดีขึ้น”

อ้างอิงข้อมูลจาก
แรงงานแพลตฟอร์ม เปราะบางความหวัง
แบชคืออะไร? แต่ละแบชแตกต่างกันยังไง?