“ไร้บ้าน” ไม่เท่ากับ คุณภาพชีวิตพื้นฐานย่ำแย่ ให้การ “อาบน้ำ-ซักผ้า” กิจวัตรสามัญเกิดขึ้นทุกวัน - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ห้องอาบน้ำ 4 ห้องเต็มตลอดเวลา ส่วนตู้ซักผ้า 4 ตู้ ตู้อบ 4 ตู้ ก็มีคนใช้เต็มตลอดเหมือนกัน ไม่ต้องไปทำข้อมูลอะไรเพิ่มแล้วว่าความต้องการคนไร้บ้านนั้นเป็นอย่างไร เขามีความต้องการกับเรื่องนี้มาตลอด มันเป็นสิ่งที่เขารู้สึกดี ดีใจที่ได้อาบน้ำ ซักผ้า และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ หรือซื้อเสื้อผ้าได้ราคาตัวละ 1 บาท เขาสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้โดยง่าย หลังห่างเหินมานาน มันตอบโจทย์ให้คนไร้บ้านจริง”

De/code คุยกับ เอ๋-สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หลังเพิ่งจบกิจกรรม “วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ”ในวันที่ 8 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา กิจกรรมซึ่งร่วมจัดกับบริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก) กิจกรรมที่มีเป้าหมายหลักให้เรื่องพื้นฐานของการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการอาบน้ำและซักผ้า เป็นเรื่องสามัญของคนทุกคน “ไม่ควรมีใครเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้”

ก่อนหน้านี้ เพจมูลนิธิกระจกเงา เล่าเรื่องราวของคนไร้บ้าน อาบน้ำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และซักผ้าอาทิตย์ละ 2 ครั้ง หลายคนใช้ห้องน้ำในปั๊มน้ำมันเพื่ออาบน้ำ ผ่านสายฉีดชำระ หรือบางครั้งก็ซักผ้าด้วย ส่วนการตากผ้าก็หอบเสื้อผ้าออกมาตากข้างนอกแทน บางครั้งก็สวมเสื้อเปียกๆ ทับบนตัว “ใช้ตัวเองเป็นไม้แขวนเสื้อ” ไปเลยก็มี

ค่าเฉลี่ยความพยายามเข้าถึงความสะอาดของ “คนไร้บ้าน” เป็นสถิติที่ไม่ใช่เพียงแค่การบอกให้เห็นถึงความพยายามของพวกเขาบนเงื่อนไขที่กรุงเทพฯ หาห้องน้ำสาธารณะ รวมถึงพื้นที่ซักล้างได้ยากเท่านั้น แต่มันยังบอกว่า พวกเขาเหมือนเราทุกๆ คนที่ต้องการเข้าถึง “ความสะอาด” และมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของสุขอนามัยที่ดี

“แม้ไร้บ้านเขาก็ต้องการการได้ใช้ชีวิตประจำวันที่ดี มันหมายถึงการมีสุขภาพกายและจิตที่ดี การมีคุณภาพชีวิตที่ดี การสามารถใช้ชีวิตประจำวันที่มีคุณภาพควรถูกนับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์” – เพจมูลนิธิกระจกเงา

เมื่อเนื้อตัวเสื้อผ้าไม่เหม็น ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกถึงสะอาด และรู้สึกดีกับตัวเองเท่านั้น แต่ความสะอาดนี่เองที่จะทำให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงการทำงาน การเดินทาง แบบที่ไม่ต้อง “ถูกไล่” ออกมาเพราะมีกลิ่น 

กิจกรรมนี้ สิทธิพล บอกว่า ได้รับเสียงตอบรับและคำชื่นชมที่ดีมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกิจกรรม เพราะหลายๆ ฝ่ายก็มองว่ามันสามารถยกระดับทั้งคุณภาพของกิจกรรม และชีวิตคนไร้บ้านได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในวันที่มีกิจกรรมนั้น ทั้งกรุงเทพมหานคร และกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ลงพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งส่วนนี้ยิ่งทำให้เขามองเห็นว่าไอเดียดีๆ นี้ “มันเป็นไปได้” และทำได้จริงบนงบประมาณที่ไม่มาก และเมื่อเห็นว่ามีคนไร้บ้านใช้บริการในกิจกรรมจำนวนมาก ก็ทำให้เห็นว่าความต้องการของพวกเขาเป็นอย่างไร ก็ทำให้เขา (หน่วยงานราชการ) ก็อยากสนับสนุนกิจกรรมนี้มากขึ้น 

แล้วรูปแบบกิจกรรม หรือการสนับสนุนแบบไหนที่จะช่วยให้คนไรบ้านสามารถอาบน้ำ-ซักผ้าได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์​ หรือกิจกรรมครอบคลุมคนไร้บ้านในหลายๆ พื้นที่นั้น สิทธิพลบอกว่า จำเป็นต้องกระจายบริการออกไปในพื้นที่อื่น ไม่อยู่ติดเพียงราชดำเนินเท่านั้น เช่น สุขุมวิท หรือสถานีรถไฟรังสิต พื้นที่ที่มีคนไร้บ้านมากเช่นกัน หรือทำให้ กทม. นึกถึงความเป็นสาธารณะ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ห้องน้ำ หรือการซักผ้า แต่หมายถึงตั้งแต่เรื่องอาหาร การงาน ความบันเทิง ทั้งหมดอยู่ใต้คำว่า “ชีวิตสาธารณะของคนในเมือง” ไม่ใช่แค่คนไร้บ้านที่ขาดการเข้าถึงโดยง่ายเท่านั้น 

“อย่างสำนักงานเขตสามารถที่จะจัดอะไรแบบนี้ได้ มันไม่ใช่แค่การรองรับคนไร้บ้าน แต่ยังหมายถึงคนจนเมืองด้วย เขาไม่ใช่แค่คนไร้บ้านก็จริง แต่วิถีคนจนเมืองหลายๆ คน มีวิถีเดียวกับคนไร้บ้าน แค่มีที่อยู่ แต่ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟ หรือต้องออกมาเอาข้าวฟรี ผมคิดว่า อันนี้จะสามารถเป็นภาพอนาคต” 

“เรามองว่าพื้นที่แบบนี้ถ้ามันสร้างได้ มันจะเป็นพื้นที่ระบบ มันดึงซับคนไร้บ้านที่เขาห่างจากระบบให้เข้ามาสู่ระบบ และใช้ระบบนั้นเพื่อแก้ปัญหาของเขา หรือเป็นช่วยเรื่องการเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตจากคนไร้บ้าน มาเป็นคนที่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงมากขึ้น”

หลังจากนี้ มูลนิธิกระจก กับบริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก) มีแผนว่าจะจัดกิจกรรม “อาบน้ำและซักผ้า” กระจายในแต่ละพื้นที่ เดือนละ 2 ครั้ง แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพฯ และหน่วยงานอื่นๆ ในเรื่องน้ำปะปา ไฟฟ้า และพื้นที่ เพราะรถที่ใช้จัดกิจกรรมคันใหญ่ และจำเป็นต้องได้ใช้พื้นที่กว้างด้วย

ภาพ: มูลนิธิกระจกเงา/เพจ Chumanee