จบวงจรโศกนาฏกรรมวันเปิดเทอม ด้วยข้อเสนอเรียนฟรี(ตลอดชีวิต)มีเงินเดือน - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมได้สนทนากับ อ.ฮูก (ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล) อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเงียบที่ฝังรากลึกมาหลายสิบปีคือ กลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะเป็น “โศกนาฏกรรมวันเปิดเทอม” การเปิดเทอมปี พ.ศ. 2565 นี้มีความพิเศษคือ เป็นการเปิดเทอมสู่การเรียนในห้องเรียนแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกในระยะเวลากว่า 2 ปี ซึ่งประเทศไทยเผชิญปัญหา เศรษฐกิจถดถอย ว่างงาน เงินเฟ้อ บัณฑิตจบใหม่ตกงาน พ่อแม่ไม่มีเงินส่งลูกเรียน โรงรับจำนำแน่นขนัด สินเชื่อเอนกประสงค์ต่าง ๆ ขยายโปรโมชันดึงดูดลูกค้า โศกนาฏกรรมวันเปิดเทอม พรากความฝัน ที่มีหลายคนตกออกจากการศึกษา ความเศร้าและสิ้นหวังในหลายกรณีได้พรากชีวิตผู้คนไปจริง ๆ ผมได้ชวนอ.อรรถพล นักการศึกษาร่วมสนทนาในประเด็นนี้ว่าเราจะสามารถออกจากลูปของโศกนาฏกรรมนี้ได้อย่างไร

ประเด็นแรกมันมีปัญหาอะไรที่รัฐไทยไม่คิดที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผมตั้งประเด็นว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การศึกษาและโรงเรียน ต่างจากสวัสดิการประเภทอื่น โรงพยาบาลเราอาจไม่ได้ไปใช้ทุกวัน คนหนึ่งอาจไปโรงพยาบาลไม่กี่วันใน 1 ปี ถนนบางเส้นเราอาจไม่เคยใช้ หรือ หากจะว่าไป กระทรวงกลาโหมที่ใหญ่โตเราก็ไม่ได้รบทุกวัน แต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ลูกหลานหรือตัวเราใช้ตั้งแต่ อายุ 3 ขวบ ถึง 23 ปี ทุกวัน ถึงถูกปล่อยให้เละเทะเหลื่อมล้ำเพียงนี้ ? อ.อรรถพลให้ความเห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาไทยส่วนมากแล้วฐานความคิดอยู่บนกรอบเสรีนิยมใหม่ มองเรื่องกำไรขาดทุน จุดคุ้มทุนเป็นตัวตั้ง มองถึงเรื่องประสิทธิภาพ การตอบโจทย์รัฐและตลาดแรงงานมากกว่าเรื่องการพัฒนามนุษย์ เราจึงจะเห็น นโยบายต่าง ๆ ที่ผ่านการกดเครื่องคิดเลขว่าคุ้มหรือไม่คุ้มเช่น

“การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก”

สร้างโรงเรียนตัวอย่างสี่มุมเมืองขึ้นมาแทน ลักษณะนโยบายนี้ มันกลายเป็นต้นทุนอย่างมากสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคม ในประเทศที่พ่อแม่ต้องทำงานอย่างหนัก ไม่มีขนส่งสาธารณะ การที่ต้องไปส่งลูกตอนเช้าแม้จะระยะทางเพียงไม่กี่กิโลเมตร แต่ก็กลายเป็นความลำบากอย่างมากสำหรับครอบครัว เมื่อเด็กออกไปจากชุมชน พอย่างเข้าชั้นมัธยมพวกเขาก็เข้าไปในอำเภอ และพ่อแม่เช่าหอ หาที่พักกับญาติ แล้วก็ไม่ได้กลับมาในชุมชนอีก

“เรามักอธิบายว่าปัญหานี้เกิดขึ้นกับคนจนหรือชนบทห่างไกลแต่จริง ๆ แล้วมันมากกว่านั้น มันเป็นเรื่องของทุกคน” อ.อรรถพลอธิบายแก่ผม  เพราะอีกด้านหนึ่งหากเราพิจารณาค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของเด็กไทย มันสูงขึ้นมากเทียบกับรายได้ของผู้ปกครองตั้งแต่กลุ่มจนสุดถึงรวยสุด ค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษา เริ่มแพงกว่า ค่ารถ ค่าบ้าน ค่ากิน ค่ารักษาพยาบาล ราคามันสูงขึ้นจนดูน่ากลัว

“เรามีวิธีคิดที่น่ากลัวมากในสังคมไทย วิธีคิดที่ขวางกั้นไม่ให้เกิดรัฐสวัสดิการ เรามองว่าการศึกษาคือการลงทุน คือความคู่ควร ที่หากเราจ่ายมาก หรือพ่อแม่อุทิศตนเพื่อลูกมาก ลูกก็สมควรที่มาชีวิตที่ดีได้รับการศึกษาที่ดี มีอนาคตที่ดี แต่เราไม่เคยคิดว่า การศึกษาที่ดีที่สุดควรเป็นของทุกคน เรารู้ว่าการศึกษามีปัญหา แต่เราก็ไม่สามารถสั่นคลอนรากของมันได้ เราเลือกแก้ที่ปลายเหตุมากกว่า”

ผมคิดตามก็พบว่าจริงไม่ว่าพ่อแม่ชนชั้นกลางในเมือง พ่อแม่ในเขตเทศบาล พ่อแม่นอกเขตเทศบาล หรือแม้แต่ชนชั้นกลางระดับสูงค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของลูกปากเข้าไปเกินร้อยละ 50 ของรายได้เข้าไปแล้ว

ทางแก้ที่เราใช้มานับศตวรรษแต่ล้มเหลว

เราแก้ปัญหาการศึกษาคนจน ด้วยการให้พวกเขาพิสูจน์ความจน ประจานความจน หรือตั้งเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยคนที่จนจริง ๆ ในความรู้สึก แต่คนก็ตกหล่นจากช่องทางนี้มหาศาล

เรารู้สึกว่าการศึกษาที่รัฐจัดให้ไม่ดี โรงเรียนรัฐไม่มีคุณภาพ เราก็ไฟเขียวให้โรงเรียนรัฐจัดการศึกษาเยี่ยงเอกชน แบ่งลำดับหารายได้ตามใจชอบ

เรารู้สึกว่าอยากให้คนทำอาชีพใดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เราก็ตั้งโรงเรียนเฉพาะด้าน โรงเรียนช้างเผือกใช้ทรัพยากรมหาศาล โดยไม่สนใจว่า ทุกอาชีพล้วนมีคุณค่าที่ต้องได้รับการสนับสนุนเหมือนกัน

เรารู้สึกว่าระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนรัฐมีปัญหา เราก็รู้สึกว่าทางแก้คือจ่ายให้โรงเรียนทางเลือกราคาแพงสามารถเป็นทางออกได้

แต่สี่ข้อข้างต้นนี้กลับทำให้ระบบการศึกษาไทยที่เดินตามรอยสหรัฐอเมริกากลับ เน่าเฟะตั้งแต่รากถึงใบกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่เรายอมรับแบบไม่มีเงื่อนไข

ดังนั้นทางออกสำคัญคือเราต้องสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ไม่จบแค่ที่เรื่องการศึกษา แต่การขนส่งสาธารณะ สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตร เงินบำนาญ เงินเลี้ยงดูบุตร หรือแม้แต่เงินเดือนนักเรียนนักศึกษา ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องผลักควบคู่กันไป

คำถามสำคัญผมถามอาจารย์ อรรถพลไปว่า หากการศึกษาเสมอภาค นักเรียนมีเงินเดือน มหาวิทยาลัยฟรี ล้างหนี้ กยศ. จะมีใครต่อต้าน คำตอบของ อ.อรรถพลน่าสนใจมากว่า

“จริง ๆ เราทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ไม่มีปัญหา แต่ที่หายไปคือเราไม่มีจินตนาการ ไม่คิดว่าเราสามารถทำได้”

“หากเป็นนโยบายที่คนส่วนใหญ่ เห็นชอบแต่เหตุใดไม่มีพรรคการเมืองกระแสหลักในสภาจากขวาสู่ซ้ายพยายามผลักเรื่องนี้แบบจริงจัง มีคำถามหนึ่งจากผู้ฟังเข้ามา

สิ่งที่ผมและ อ.อรรถพลเห็นตรงกันคือ พรรคการเมืองไม่ก้าวหน้าโดยอัตโนมัติ เราต้องรวมตัวกันและส่งเสียงให้พวกเขาเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญและทำได้ เมื่อประชาชนยืนหยัดรวมตัวกัน พวกเขาก็จะจริงจังกับเรื่องนี้

 การส่งเสียงจะช่วยหยุด “โศกนาฏกรรมเปิดเทอม” ที่เกิดซ้ำมาทุก ๆ ปีนับศตวรรษในประเทศไทยได้

ชม บันทึกคลิปสนทนาย้อนหลัง ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ : https://fb.watch/do6xseQSbX/