“สื่อมืออาชีพ” สถานะที่ไร้เสน่ห์ - Decode
Reading Time: 1 minute

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

“สื่อมืออาชีพ” สถานะที่ไร้เสน่ห์

วลีหนึ่งที่หลายคนเคยใช้บรรยายสถานะของสื่อ แต่มาระยะหลังหายไป น่าจะเป็นคำที่ว่า สื่อคือตัวชี้นำสังคม

ในช่วงเวลาราวสามสิบกว่าปีที่แล้วสื่อยังมีบทบาทแทบจะเรียกได้ว่าเป็นประตูเปิดเข้าสู่ข่าวสารให้กับสังคม พวกเขาเป็นตัวกลางไปนำเอาข้อมูลจากแหล่งข่าวมาเผยแพร่โดยการกำหนดประเด็นที่เชื่อว่าเป็นผลประโยชน์ของสังคมแล้วเอามานำเสนอ และพวกเขาทำหน้าที่คุม “เวที” การนำเสนออีกด้วย ในช่วงเวลานั้นผู้เขียนจำได้ว่า สื่อมวลชนต่างพูดถึงคุณค่าของวิชาชีพตัวเองอย่างภาคภูมิใจ พวกเขาถือตัวเองว่าเป็นปากกระบอกเสียงให้ประชาชน เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เตือนภัยให้กับสังคม ฉายา “หมาแก่” ของสื่ออาวุโสอย่างดนัย เอกมหาสวัสดิ์ จึงไม่ใช่เรื่องหยอกล้อตัวเองแบบไม่มีที่มาที่ไป เราจะพบว่าถ้าย้อนเวลากลับไป สภาพการณ์ในเวลานั้นคือความเป็นมืออาชีพและความเป็นสื่อในยุคนั้นผูกติดอยู่กับความสามารถในการนำเสนอเรื่องราวเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สื่อจะยืดอกพูดอย่างแข็งขันว่าพวกเขาไม่อวยผู้มีอำนาจ และคำพูดที่ติดปากนักข่าวคือ “ข่าวดี” ไม่ใช่ข่าว

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่นาน ในยุคสมัยของการแสดงออกทางการเมืองกับการเคลื่อนไหวบนท้องถนนในกรุงเทพฯ ช่วง shut down Bangkok เราได้เห็นอาการของสื่อในฐานะผู้ทุบโต๊ะตัดสินความอย่างชัดเจนผ่านพาดหัวและเนื้อข่าว จำได้ว่ามีมิตรสหายรายหนึ่งถึงกับเรียกนสพ.ชั้นนำฉบับหนึ่งในเมืองไทยว่า “สิ่งที่ผมเคยเรียกมันว่าหนังสือพิมพ์”  หลายคนบอกว่า ความเป็นมืออาชีพได้ตายจากไปจากสื่อไทยเรียบร้อยแล้ว เพื่อความเป็นธรรมก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกรายและอาการเช่นนี้ผู้เขียนเชื่อว่ามีที่มาที่ไป แต่สิ่งที่น่าคิดคือ สภาพแบบนี้เกิดอยู่เนิ่นนานและเราไม่ค่อยได้เห็นสัญญาณการตรวจสอบตัวเองของคนในวงการสื่อเท่าไหร่ สิ่งที่ได้ประสบกับตัวเองคือคำพูดที่ผู้เขียนได้ยินจากปากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชั้นนำรายหนึ่งของเมืองไทยที่บ่นในวงคนทำงานสื่อกลุ่มใหญ่ว่า

“สังคมไม่ฟังเราแล้ว เราไม่เป็นผู้ชี้นำทางความคิดให้กับสังคมอีกต่อไปเพราะสิ่งที่เราทำกัน”

นั่นเป็นครั้งเดียวที่ผู้เขียนได้ยินวาทะการทบทวนตัวเองในวงคนทำสื่อหลัก 

เมื่อไปทำข่าวสามจังหวัดภาคใต้ช่วงแรก ๆ ผู้เขียนได้พบข้อเท็จจริงหลายอย่างในเรื่องการสื่อสารของคนในพื้นที่จนเกิดข้อสรุปในใจว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของคนในสามจังหวัดภาคใต้ คือการขาดวิธีการสื่อสารปัญหาของตัวเองอย่างได้ผล พวกเขาพึ่งพาคนอื่นในการสื่อสารประเด็นของตนเองและเมื่อมีปัญหาอย่างหนักก็พบว่าสื่อทั่วไปยากจะเข้าถึงประเด็นของพวกเขาและนำเสนอได้อย่างที่พวกเขาต้องการ ผู้เขียนในฐานะคนทำงานสื่อตีความว่าการใช้ความรุนแรงเป็นอาการแสดงถึงข้อจำกัดของพื้นที่ในการสื่อสารอันน่าจะเรียกได้ว่าเป็นช่องทางของการต่อรองอย่างสันติ ข้อจำกัดนั้นไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ภาษาไทยไม่คล่องเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่พื้นที่ทางการเมืองปิด เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าการส่งเสริมทักษะเรื่องการสื่อสารน่าจะเป็นวิธีการเพิ่ม voice หรือเสียงให้กับพื้นที่นี้ และมันอาจจะเป็นการสนับสนุนทางอ้อมให้กับการคลี่คลายความขัดแย้ง เพราะชุมชนอาจแสดงออกเพื่อสื่อสารปัญหาของพวกเขาให้นอกเหนือไปจากวิธีการใช้ภาษาแห่งความรุนแรงก็เป็นได้

ดังนั้นเมื่อได้รับการทาบทามให้ช่วยอบรมเรื่องการทำข่าว ผู้เขียนจึงไปเข้าร่วมในหลายเวที และจากการที่ได้สัมผัสรวมทั้งช่วยออกแบบในการอบรมหลายครั้งก็สามารถบอกได้ว่า งานอบรมทั้งหลายส่วนใหญ่ก็คือการย่นย่อองค์ความรู้จากอาชีพสื่อ เลือกสรรทักษะที่จำเป็นสำหรับงานเฉพาะหน้า ลดรูปแบบลงและทำให้ง่ายขึ้น เพื่อให้คนในพื้นที่นำไปใช้จะได้ตอบโจทย์ได้เร็ว เช่นเรื่องของการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล การทำงานวิดีโอสั้น ๆ การผลิตงานวิทยุและงานเขียนซึ่งถือเป็นพื้นฐานทุกอย่าง ในขณะที่สถาบันการศึกษาไม่อบรมสิ่งเหล่านี้เพราะถือว่าไม่ใช่ภารกิจของตนเองและเรื่องของทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องหาความรู้เอาเองและมันทำให้ต้องมีองค์กรอื่น ๆ ที่เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมนำเรื่องเช่นนี้เข้าสู่พื้นที่แทน แน่นอนว่าในการอบรมเรื่องวิธีคิดแบบคนทำข่าวก็ต้องคุยเรื่องจรรยาบรรณควบคู่กันไปด้วยเสมอเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ การก้าวเข้ามาทำงานข่าวจำเป็นต้องเรียนไม่ใช่เฉพาะทักษะทางเทคนิคแต่ต้องเข้าใจวิธีคิดบางอย่างของ “มืออาชีพ” ที่มีจรรยาบรรณเป็นตัวกำกับ อันที่จริงมีหลักการมากมายแต่สุดท้ายแล้วมันก็คือทำอย่างไรให้นักข่าวทำงานโดยไม่ไปละเมิดคนอื่นเสียเองและสิ่งที่เราทำยังประโยชน์ให้กับสังคมได้มีบทสนทนาไปต่อกันได้ สำหรับผู้เขียน คำว่ามืออาชีพไม่ได้หมายถึงว่าทำเรื่องนั้น ๆ เป็นอาชีพ แต่มันหมายถึงการทำงานที่รับผิดชอบต่องาน ต่อคนอื่นที่เกี่ยวข้อง ต่อผู้เสพงานนั้น ๆ ไม่ใช่เพียงการทำงานให้บรรลุแต่ต้องทำให้ดีและคนทำงานมีเส้นแบ่งชัดเจนว่าตนเองอยู่ในฐานะอะไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อเป็นนักข่าวไม่กระโดดไปเป็นข่าวเสียเอง แต่เรื่องเช่นนี้พูดง่ายกลับทำยาก ความมุ่งหวังของการอบรมคือคนทำสื่อหน้าใหม่อาจจะเริ่มต้นทำงานและเรียนรู้ไปพลางต่อยอดจากสิ่งที่ทำและเรียนรู้จากตัวอย่างของสื่ออื่น ๆ ซึ่งก็เป็นวิธีการเดียวกันกับสื่อที่มาก่อนหน้าพวกเขาใช้กัน

ในช่วงที่ไปอบรมการทำสื่อ มีเจ้าของโครงการรายหนึ่งที่กระซิบบอกผู้เขียนว่า ในการอบรมขอให้เพิ่มทักษะแต่พอประมาณ อย่าให้ถึงกับต้องเป็นแบบ “มืออาชีพ” ขนาดนั้น  ตอนนั้นผู้เขียนก็ไม่ค่อยแน่ใจนัยคำพูดนี้เท่าไหร่ เข้าใจไปว่า ผู้พูดกริ่งเกรงทัศนคติแบบ “ไม่ได้ก็ต้องได้” ของคนทำสื่อและเป็นห่วงว่าการถูกอบรมแบบเข้มข้นจะทำให้คนที่อยากเข้าสู่วงการเบื่อหน่ายไปเสียก่อนจนไม่ทันได้เริ่มก็ลาโรง การอบรมทำสื่อสำหรับคนที่ไม่เคยเป็นสื่อโดยส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยจะเข้มข้นมากเท่ากับการอบรมสื่อด้วยกันเอง ผู้อบรมรายหนึ่งที่ผู้เขียนเคยนำมาทำงานพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาจำต้องเข้มงวดกับคนที่เข้ารับการอบรมที่เป็นสื่อหนักมากกว่าคนอื่นเพราะเขาคาดหวังความเป็น “สื่อมืออาชีพ” จึงเรียกร้องเอาจากคนเหล่านั้น เราเคยคุยกันและตั้งความหวังว่า คนทำงานสื่อมืออาชีพเหล่านี้จะวางตัวอย่างให้กับคนที่ก้าวเข้ามาใหม่ ๆ

แล้วผู้เขียนก็พบว่า นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว คำว่ามืออาชีพในมุมมองของคนทั่วไปในพื้นที่สามจังหวัดใต้ยังเจือปนปัญหาอื่นที่เกิดจากผลกระทบของรายงานของสื่อ คนในพื้นที่หลายคนที่อยากจะก้าวเข้าสู่วงการสื่อสารบอกชัดเจนว่าพวกเขาต้องการทำงานสื่อสารในแบบของตนเอง ไม่ต้องการทำแบบ “มืออาชีพ” ในกรุงเทพฯ เมื่อถอดรหัสก็พบว่า หลายคนมองว่าสื่อกระแสหลักไม่ตอบโจทย์ชาวบ้านทั่วไป พวกเขาชี้ว่าสื่อหลักให้พื้นที่กับชาวบ้านน้อยไปและให้ทางการมากไป และในบรรดาพื้นที่ที่ให้น้อยไปนั้นยังเจือปนไปด้วยข้อมูลที่ผิดพลาด กลุ่มคนที่สนใจงานสื่อสารในภาคใต้หลายคนจึงตั้งเป้าหมายว่า พวกเขาจะทำในสิ่งที่สื่อหลักไม่ทำ เช่น เมื่อสื่อหลักนำเสนอแต่ข่าวสารด้านรัฐบาล สื่อใหม่ก็จึงจะนำเสนอแต่ด้านประชาชน เป็นต้น

ปรากฏการณ์นี้มันทำให้ในช่วงเวลาสิบหกสิบเจ็ดปีของความขัดแย้งภาคใต้ วงการวารสารศาสตร์เมืองไทยได้ศัพท์ใหม่มาเพิ่ม เช่นคำว่า peace journalism ซึ่งมีการอบรมกันมากมายเป็นที่นิยมในช่วงหนึ่งจนเชื่อได้ว่าสื่อที่ทำเรื่องภาคใต้ต่างเคยผ่านการอบรมสื่อสันติภาพมาบ้างแล้วอย่างน้อยก็คนละครั้งสองครั้ง แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับคนทำสื่อบางคนว่า อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องมี peace journalism ที่ว่านี้เลยหากว่าเรามีความเป็น “มืออาชีพ” มากพอ การรายงานข่าวสันติภาพสอนให้เรามองความเป็นมนุษย์ เคารพผู้คน ไม่ละเมิดแหล่งข่าวมากไปกว่าที่เขาโดนละเมิดไปแล้วและรายงานข่าวที่ไม่ถ่างความขัดแย้งจากที่มันปรากฎอยู่แล้ว หลักการการทำงานของสื่อมันก็คือสิ่งเดียวกัน

อาการเบื่อหน่ายสื่อของคนในสามจังหวัดใต้ในเวลานั้นมันทำให้ต้องตั้งคำถามว่า แล้วสื่ออย่างเรา ๆ เป็นตัวอย่างของ “มืออาชีพ” ได้จริงหรือ เราเป็นคนเบิกทางสร้างฐานให้คนที่จะก้าวเข้ามาทำสื่อรายใหม่ ๆ ได้หรือไม่ เรามีบทเรียนจริงจังให้พวกเขาหรือไม่

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ที่ผู้เขียนไปประสบมาในช่วงสิบกว่าปีที่แล้ว ก็เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคนทำงานสื่อในพื้นที่ส่วนกลางเช่นกรุงเทพฯ และที่อื่น ๆ ในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมานี้โดยปะทุขึ้นมากับประเด็นการทำข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมือง อาการเดียวกันและปฏิกิริยาสนองตอบก็แทบจะเรียกว่าถอดแบบกันมาตัวต่อตัว ที่เหมือนกันอีกอย่างคือผลข้างเคียงที่คล้ายคลึงกัน สื่อใหม่ที่เกิดขึ้นมาและที่พยายามหาเส้นทางของตนเองที่แตกต่างไปจากสื่อหลักกลุ่มเดิมต่างถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้เป็นสื่อจริง และประตูขององค์กรสื่อก็ไม่เปิดรับพวกเขา 

แต่ทั้งนี้เราพูดไม่ได้ว่าสื่อไทยไม่ให้พื้นที่ประชาชน เพราะพวกเขาอยู่กับความเชื่อเสมอมาว่า ตนเองคือกระจกเงาให้กับรัฐบาล ขณะที่เป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” ให้กับประชาชน

ในขณะที่ทัศนะแบบนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ทั้งตัวผู้เขียนเองก็ได้รับแรงดึงดูดให้อยู่กับอาชีพสื่อด้วยวาทกรรมนี้ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่อยากเห็นผู้ที่สนใจบทบาทสื่อร่วมกันถกก็คือผลข้างเคียง ในความเห็นของผู้เขียน ความคิดเช่นนี้ทำให้บางครั้งสื่อมองว่าตนเองคือฝ่ายของความถูกต้อง ซึ่งเป็นท่วงทำนองที่ทำให้เกิดการตัดสินและมีธงในตัว จึงไม่น่าแปลกใจหากจะมีสื่อที่พัฒนาท่าทีแบบนี้ไปสู่การทำหน้าที่พิพากษาผู้อื่นในที่สุดเพราะมีฐานความเชื่อว่าตนเองคือตัวแทนหรือต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นทุนเดิม ผู้เขียนมีข้อสังเกตด้วยว่า มาจนถึงวันนี้ ท่าทีเช่นนี้ก็ยังคงเป็นท่าทีที่ดำรงอยู่และร่วมกันของสื่อหลายรายไม่ว่าจะสื่อหลักหรือสื่อใหม่ใช่หรือไม่ เราต่างผูกติดตัวเองเข้ากับ “ความถูกต้อง” และต่อสู้เพื่อสิ่งนั้นอย่างแข็งขัน และบางครั้งยังมีคำถามด้วยว่า เพื่อให้เกิดความถูกต้อง เราใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องบ้างหรือไม่

ถ้าดูเรื่องประเด็นที่ทำให้สื่อหลักถูกวิจารณ์ค่อนข้างมาก มันคือประเด็นที่เป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานรัฐกับประชาชน ไม่ว่าจะเรื่องความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ การขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตยไปจนถึงเรื่องปัญหาการพัฒนาด้วยโครงการขนาดใหญ่  และในปัจจุบันคือภาวะที่ประชาชนแบ่งฝ่ายเลือกข้าง นั่นจะแปลว่าเรามีจุดอ่อนในการจัดการข่าวประเภทนี้หรือไม่ การอธิบายอย่างเข้าข้างตัวเองก็ยิ่งทำให้คนทำสื่อไทยมีความเป็นมืออาชีพแบบ “เฉพาะตัว”

ผู้เขียนคิดว่า ได้เห็นปรากฎการณ์ที่คนเสพสื่อบางกลุ่มยังหลงติดอยู่กับคุณค่าบางอย่างที่สะท้อนการเลือกข้าง ได้เห็นหลักการบางอย่างถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างตีกรอบให้กับสื่อ บางอย่างได้ประสบการณ์มาด้วยตัวเอง เช่นหลักการเรื่องการสร้างความสมดุลในข่าวความขัดแย้งที่เรียกร้องนักข่าวมืออาชีพให้ต้องให้พื้นที่แก่ “คู่ตรงข้าม” เสมอในแบบใดแบบหนึ่งและในเวลาใกล้เคียงกัน ผุ้เขียนเคยพบว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนไปเรียกร้องพื้นที่จากสื่อรายเล็กรายน้อยให้นำเสนอเรื่องราวของตนเอง ทั้งที่อันที่จริงมีสื่อของรัฐหลายสำนักที่จะช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเอง กลายเป็นว่า การนำเสนอเรื่องราวผลงานทางซีกจนท.ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขวัดว่าสื่อนั้น ๆ “ให้ความร่วมมือ” หรือไม่ อีกเรื่องหนึ่งปรากฎในช่วงของการระบาดรอบแรกของโควิด สื่อที่นำเสนอเรื่องราวความล้มเหลวของการทำงานของจนท.ถูกโจมตีว่ามีเจตนาทำลายขวัญและกำลังใจของคนที่ทำงานหนัก คำว่าขวัญกำลังใจของจนท.กลายมาเป็นอีกเพดานที่กำหนดกรอบการทำงานของสื่อ

ความเป็นกลไกของสาธารณะทำให้หน่วยงานและจนท.รัฐได้พื้นที่ในข่าว จนบางครั้งผู้เขียนยังเคยมีความรู้สึกว่า มันกลายเป็นว่าเรามีแนวโน้มจะเชื่อเจ้าหน้าที่อันเป็นเทคโนแครตว่าสิ่งที่เขาบอกเล่าคือสิ่งที่ถูกต้องเสมอ และผู้เขียนจำได้ว่าสื่อที่ตัวเองเคยทำงานด้วยนั้นต้องใช้เวลาพักใหญ่ในอันที่จะเปิดพื้นที่ให้กับเอ็นจีโอหรือกลุ่มคนที่ทำงานกิจกรรมเพื่อสังคมได้มีพื้นที่ในข่าว ในการจัดการกับแหล่งข้อมูลในปัจจุบัน กับกรณีที่ชาวบ้านกลายเป็นคู่กรณีกับเจ้าหน้าที่ สำหรับสื่อใหม่แล้ว เราจะพบว่า ชาวบ้านอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าแหล่งข่าวกลุ่มอื่นทุกกลุ่ม ในบางช่วงเวลาเราจะพบว่ามีข้อบกพร่องที่คล้ายกันคือ เกิดความผิดพลาดได้เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่างที่อาจทำให้จนท.ไม่บอกทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา ชาวบ้านก็เช่นกัน บางครั้งอาจเป็นเพราะความหวาดกลัว หรือรู้ไม่หมด ก็มีส่วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ เมื่อมีการตั้งคำถามกับคำว่าสื่อมืออาชีพ มันมีส่วนทำให้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นคุณค่าและหลักการทำสื่อถูกมองข้ามไปด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริงควรเป็นสิ่งที่เติมเต็มให้กับสังคมในยุคที่ทุกคนทำหน้าที่สื่อได้ คุณค่าสำคัญของการตรวจสอบข้อมูล การอ้างอิงแหล่งที่มาที่ไปของข้อมูลที่นำเสนอ เป็นตัวอย่างสองเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อก็ควรนำไปใช้ แต่ถ้าเป็นสื่อยิ่งต้องทำ ณ วันนี้เรากลับพบว่า ในยุคของข้อมูลข่าวสารดิจิทัล มีการคัดลอกงานผู้อื่นไปใช้แบบเนียน ๆ ด้วยการเขียนไว้เป็นตัวเล็ก ๆ ที่มุมเรื่องว่า cre หรือ cred ตามด้วยชื่อเจ้าของงาน และสิ่งนี้ได้กลายเป็นหลักปฏิบัติที่ยอมรับกันได้ของหลายคนไปแล้ว เพจดัง ๆ นำวิธีการนี้ไปใช้ และสำหรับคนเสพข้อมูลหลายคนอาจไม่สนใจเลยด้วยซ้ำว่าข้อมูลตั้งต้นนั้นมาจากไหน บางทีผู้เขียนยังงงว่าตกลงใครลอกใครกันแน่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า หากเมื่อใดเกิดความผิดพลาด จะเป็นเรื่องยากมากที่จะตรวจสอบ

ในขณะที่การผูกติดกับวิธีคิดแบบเลือกข้างยังปรากฎอย่างเหนียวแน่น ผู้เขียนเพิ่งอ่านเจอความเห็นของผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่งที่บอกว่า การที่สื่อเรียก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยใช้คำว่านาย เป็นการลดทอนหรือด้อยคุณค่า ส่วนในรัฐสภาเราจะเห็นความพยายามคัดค้านทุกครั้งที่มีส.ส.คนใดเรียกนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่านายประยุทธ์ พวกเขาจะถูกท้วงติงทันทีว่าเป็นการไม่ให้เกียรติผู้นำประเทศ ในทางสากล ตำแหน่งทางการทหารไม่ใช่เรื่องที่สื่อต้องผูกติดเสมอไปโดยเฉพาะกับผู้นำในระบอบประชาธิปไตย คำว่านายหรือนางล้วนเป็นคำเรียกขานในภาษาไทยที่สุภาพเป็นมาตรฐาน หากคิดว่าเป็นการด้อยค่านั่นก็ย่อมหมายความว่าเราล้วนด้อยค่าบุคคลทั่วไปที่ถูกเรียกว่านายหรือนางกันทั้งสิ้น  สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือเราควรจะเรียกร้องให้สื่อใช้ความสุภาพตามมาตรฐานอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกันมากกว่า แม้แต่การใช้คำว่า ดร. ก็น่าจะจำกัดไว้ในความหมายของคำในฐานะแพทย์ หรือการใช้คำว่า “ท่าน” ในข่าวก็ให้อารมณ์ของการยกย่องที่ไม่จำเป็น การเคารพแหล่งข่าวควรแสดงออกด้วยการให้พื้นที่กับเขาอย่างเป็นธรรม ไม่อ้างผิดบริบทผิดเจตนา มากกว่า การปลูกฝังความเกรงอกเกรงใจตัวบุคคลในพื้นที่ข่าวจะทำให้เกิดธรรมเนียมไม่กล้าแตะต้องและเปิดช่องให้ในที่สุดการนำเสนอข้อมูลใด ๆ ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ทำได้ยาก ในเวลานี้เราจะเห็นว่า ผู้เสพข่าวหลายคนตำหนิสื่อที่ไม่เข้าข้างฝ่ายตัวเอง นี่คือความคุ้นชินกับการเห็นสื่อเป็นกระบอกเสียง ในทางกลับกันมันทำให้ไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้กลไกสื่อได้ทำหน้าที่อย่างมืออาชีพอีกต่อไป 

ผู้เขียนเคยทำงานข่าวกับสื่อหลายรายและพบว่ามีน้อยรายมากที่จะลงทุนกับคนทำงานของตัวเอง ในภาพรวมก็ไม่ค่อยได้เห็นการทบทวนตัวเองเพราะทุกคนทำงานราวกับหนูถีบจักร สิ่งที่น่าเห็นใจก็คือการที่ต้องผลิตงานให้ได้ทำให้ต้องปรับตัวรับมือความท้าทายตลอดเวลาและพัวพันการทำงานแทบทุกย่างก้าวจนบางครั้งบอกไม่ได้ว่า ในแต่ละขั้นตอนใช้หลักการอันใดไปรับมือ ยิ่งไม่มีโอกาสตั้งวงสนทนายิ่งขาดโอกาสในอันที่จะมองตัวเอง บางครั้งเราเข้าใจว่า ตัวเองมีความแน่วแน่ในความเป็นมืออาชีพ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่แน่ว่าเราเข้าใจคำว่า มืออาชีพแค่ไหนและตรงกันหรือไม่