แรงงานแพลตฟอร์มหญิง: เจองานไม่ตรงปก ถูกคุกคาม ไร้อำนาจต่อรอง และข้อท้าทายในการรวมกลุ่ม - Decode
Reading Time: 2 minutes

เปิดชีวิตคนงานแพลตฟอร์มหญิง ค่าแรงลดเพราะตลาดแข่งขันสูง แถมไม่มี/ไม่รู้รายละเอียดสัญญาจ้างงาน และแบกต้นทุนการทำงานเองทุกอย่าง เจอลูกค้าไม่ตรงปก-คุกคามทางเพศ แต่เรียกร้องอะไรไม่ได้ ต้องพึ่งพากันเอง เชื่อการรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองสิทธิแรงงานได้ ไม่สู้เพียงลำพัง

ในวงเสวนา “คนงานแพลตฟอร์มหญิง ตัวตน อำนาจและการรวมกลุ่ม” ซึ่งจัดโดย สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจ (JELI) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ผ่านทางเพจ facebook ประชาไท เนื่องในวันกรรมกรสากล (1 พฤษภาคม) ตัวแทนคนงานแพลตฟอร์มผู้หญิงจากกลุ่มงานดูแล หรือ Care Work ได้แก่ ใหม่-วาสนา แม่บ้านบนแพลตฟอร์มในกรุงเทพ, สาว-นิตยา หมอนวดบนแพลตฟอร์มในกรุงเทพ และ ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ มูลนิธิ Empower เชียงใหม่ เล่าถึงประสบการณ์การทำงาน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การถูกคุกคาม ความเสี่ยงอุบัติเหตุในการเดินทางที่ต้องเร่งรีบไปให้ทัน รวมไปถึงความคิดเห็นต่อการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรอง และเรียกร้องสิทธิว่ามีข้อจำกัดเฉพาะด้านอย่างไรกับคนงานแพลตฟอร์ม ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ นอกจากต้องการทำให้เห็นความไม่เป็นธรรมในการจ้างคนงานผู้หญิงแล้ว ยังต้องการสื่อสารด้วยว่า การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มมีความหลากหลายอย่างมาก ไม่ได้มีเพียงแค่ไรเดอร์ที่สังคมรู้จักอยู่แล้ว แต่แรงงานหญิงกลุ่มนี้ก็มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

สภาพการจ้างงาน “ไม่ตรงปก” เสี่ยงอุบัติเหตุ/สุขภาพ/ทำงานไม่คุ้ม

ใหม่-วาสนา แม่บ้านบนแพลตฟอร์มในกรุงเทพฯ อดีตสาวโรงงานบริษัทอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง ทำงานทำความสะอาดผ่านแพลตฟอร์มมา 3 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการทำหลังเลิกงานก่อน เพื่อดูว่ามีการจ่ายเงินจริงหรือไม่ จากนั้นจึงมาทำอย่างเต็มตัว ด้วยเหตุผลของรายได้เป็นหลัก แต่ระหว่างที่ทำอยู่ปัญหาที่เจอมักเป็นเรื่องการตอบคำถามของลูกค้าที่ไม่ครบถ้วน หรือ ระบุสถานที่เป็นคอนโดมิเนียม แต่พอไปถึงกลับเป็นบ้าน ซึ่งระยะเวลาทำงานที่กำหนดกับคอนโด 2 ชั่วโมงไม่เพียงพอต่อการทำงาน และค่าจ้าง หรือบางคนไม่ระบุว่ามีสัตว์เลี้ยง เพราะมีแม่บ้านบางคนที่แพ้ขนสัตว์ นอกจากนี้ยังเคยเจออุบัติเหตุจากการเดินทางด้วย

ไม่แตกต่างไปจากเรื่องของ สาว-นิตยา หมอนวดบนแพลตฟอร์มในกรุงเทพ เธอเลือกมาทำงานบนแพลตฟอร์มโดยมีสาเหตุมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง คำว่า “อิสระ” ทำให้เธอสนใจเลือกเข้ามาทำงาน และเริ่มต้นปลายปี 2562 สิ่งที่รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคมากที่สุด คือ การเดินทาง เพราะทำให้ระยะเวลาในชั่วโมงทำงานนวดนั้นลดลงไปด้วย เพราะแพลตฟอร์มไม่ได้จ่ายเงินค่าเดินทางให้ ทำให้ 1 วันสามารถทำงานเฉลี่ย 4 ชั่วโมงเท่านั้น ต่างจากการประจำที่ร้านที่ทำได้วันละ 5-6 ชั่วโมง เสาร์อาทิตย์ 10-11 ชั่วโมง นอกจากเรื่องชั่วโมงการทำงานแล้ว รายได้ในช่วงหลังก็ลดลงไปด้วย แพลตฟอร์มแข่งขันกันออกโปรโมชันลดราคาให้ลูกค้า จึงไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องรับงาน เพราะไม่รู้ว่างานต่อไปจะมีหรือไม่ ส่วนคนงานบางทีต้องซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของแพลตฟอร์มไปใช้ในงานด้วย แล้วก็โดนหักเงิน

ด้าน ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ มูลนิธิ Empower เชียงใหม่ เล่าว่า บริบทที่เชียงใหม่แตกต่างจากในกรุงเทพมหานคร เพราะไม่ได้ที่ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นรูปแบบบริษัท แต่ใช้ social media ต่างๆ ทั้งส่วนบุคคล หรือเป็นกลุ่มๆ แล้วช่วยกันหาลูกค้า หรือส่งต่อๆ กัน ซึ่งงานก็เป็นทั้งงานนวดที่ร้าน และแบบหมอวิ่ง ซึ่งเชียงใหม่นั้นก่อนหน้านี้มีกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนเยอะ แต่พอโควิด-19 มาลูกค้าก็น้อยลง หมอนวดมีมาก ตอนนี้ก็เลยต้องแย่งลูกค้ากันบ้าง ส่วนลักษณะงานก็ต้องแบกต้นทุนการเดินทางถ้าอยู่ในพื้นที่ไม่ไกลมาก และสวัสดิการก็ต้องดูแลกันเองไม่แตกต่างกับคนงานแพลตฟอร์มในกรุงเทพฯ ถ้าเกิดอุบัติเหตุก็ต้องหยุดงาน และแม้ว่าหมอนวดจะมีประกันสังคม ม.40 แบบประกันตนเอง แต่หมอนวดก็คือมีความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะการต้องนวดทุกวัน เสี่ยงกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง ซึ่งตรงนี้ไม่มีอะไรรองรับเลย

เมื่อถูกคุกคามทางเพศ “ต้องจัดการกันเอง”

ในวงเสวนายังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใต้บรรยากาศของการถูกคุกคาม เมื่อต้องอยู่กับลูกค้าสองต่อสองด้วย ทั้งหมดใช้วิธี “เตือนภัยกันเอง” เพราะแจ้งไปยังแพลตฟอร์มแล้ว แม้แพลตฟอร์มจะระบุว่าสามารถออกจากงานได้เลยถ้าเจอเหตุการณ์เช่นนั้น หรือร้องเรียนได้ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ได้รับการตอบสนอง

อย่างกรณีของใหม่-วาสนา เล่าว่า เคยรับงานโดยมีลูกค้าผู้หญิงแจ้งขอบริการ แต่พอไปถึงกลับเป็นลูกค้าผู้ชาย ซึ่งระหว่างที่ทำงานลูกค้าเปิดหนังผู้ใหญ่ดู และหว่านล้อมให้เปลี่ยนกางเกงเป็นแบบรัดรูป ทำให้รู้สึกไม่ไม่สบายใจ ไม่ปลอดภัย เธอจึงเร่งทำงานให้เสร็จโดยเร็ว พยายามแจ้งแอดมินแล้วแต่ไม่ได้ผล จึงใช้วิธีเตือนภัยกันเอง ส่วน สาว-นิตยา เคยประสบในเชิงวาจา ซึ่งถ้าเจอก็ใช้วิธีพูดล้อเล่นกับลูกค้า เพื่อให้จบชั่วโมง แต่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่รับแต่ลูกค้าผู้หญิง และเลือกรับงานตามเพจที่ไว้ใจ

ขณะที่เชียงใหม่นั้น ตัวแทนจาก Empower เล่าว่าบริษัทที่เป็นตัวกลาง หรือกลุ่มบุคคลทุกที่โยนภาระการดูแลตัวเองให้คนงาน เช่น พูดจาลามก หยาบคาย เมา ร้านรับทราบ แพลตฟอร์มรับทราบ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้ ปัญหาการคุกคามที่เกิดขึ้นในงานนวดมี 2 มิติ คือ รับงานนวดเฉยๆ แต่ลูกค้ามือไว คนงานก็ต้องจัดการเอาเอง ส่วน sex worker มีขอบเขตชัดเจน แต่จะเจอกรณีซื้อ 100 จะเอาบริการ 1,000 บาท ก็จะมีการต่อรอง

“แพลตฟอร์มต้องดูแลมากกว่านี้ เห็นว่าเวลาทำงานลูกค้ายังมีสิทธิให้เรทติ้ง ให้ดาวคนทำงาน แต่คนทำงานไม่มีสิทธิ และบริษัทก็ไม่ได้เก็บสถิติตรงนี้ แต่เขากลับเก็บเป็นความลับของเขา บอกข้อมูลกันเอง ปัญหาจะคล้ายกัน ร้าน และเอเจนต์ไม่มีกระบวนการดูแลเรา ตรงนี้มันสำคัญคือเขาได้เงินหัวคิว นายหน้า ถือว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ไม่มารับผิดชอบใดๆ ร่วมกันเลย”

ด้าน ชนฐิตา ไกรศรีกุล เจ้าหน้าที่จัดการข้อมูล JELI ระบุว่า หากต้องการให้คนงานจัดการกันเอง ทั้งบริษัท และรัฐต้องการอบรมวิธีการจัดการให้เหมือนเป็นติดอาวุธ อย่างเช่น Sex worker ที่เขาจะมีทักษะในการต่อรองมากกว่า ขณะที่สิ่งที่เราทำได้คือการผลักภาระของการคัดกรองไปยังแพลตฟอร์มที่ต้องทำงานด้านข้อมูลกับลูกค้าด้วย ไม่ใช่แค่คนงานเท่านั้น และอีกอันที่สำคัญก็คือประเทศไทยยังมีระบบการป้องกันการถูกคุกคามทางเพศที่ต่ำมาก

การแบ่งงานตามเพศ ค่านิยมที่ผลิตซ้ำจำกัดพื้นที่ทำงานของคนทุกเพศ

อีกหนึ่งประเด็นคือเพศสภาพของแพลตฟอร์ม และการผลิตซ้ำค่านิยมทางเพศ เช่น ทำความสะอาด หรือหมอนวดต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ทำให้แพลตฟอร์มเองก็ไม่เปิดรับคนทำงานทุกเพศ

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ชัชลาวัณย์ มองว่า หากมองในมิติเรื่องความปลอดภัย งานทำความสะอาดต้องทำงานในพื้นที่ส่วนตัว คือ บ้าน ก็อาจมองว่าผู้หญิงทำสะอาดกว่า ละเอียดกว่า ส่วนผู้ชายมีความเสี่ยงเรื่องงัดแงะหรือไม่ ซึ่งจริงๆ มันน่าจะเป็นเรื่องเพศที่ชัดเจน ส่วนเรื่องนวดนั้น กลุ่มผู้ชายประสบปัญหาความรุนแรงเช่นกัน ถูกล่วงละเมิดทางวาจา กอด จับ แล้วจะบอกว่าไม่นับว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ นี่คือการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ชายยังประสบกับปัญการถูกลดทอนความสามารถว่าผู้หญิงทำได้ดีกว่าด้วย นอกจากนี้มันยังซับซ้อนมากไปอีก เช่น หากผู้ชายที่นวดเป็นชาวต่างชาติไปนวดผู้หญิงจะดูดี

ด้าน ชนฐิตา บอกว่า มันมีมิติความซับซ้อนทางด้านเพศ คือ ผู้หญิงต้องรับผิดชอบงานบ้านเป็นหลัก และอีกกลุ่มก็มีมิติทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง คือบางคนทำงานนอกบ้านเยอะมาก จนไม่มีเวลาทำงานในบ้าน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า มิติเรื่องการถูกขูดรีดทางเพศมันจะหายไป เพราะเราจะเห็นว่าบางบ้านทะเลาะกันด้วย เพราะผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และผู้ชายไม่พอใจเพราะเข้าใจว่าผู้หญิงต้องทำงานท้งในบ้านและนอกบ้าน

การรวมกลุ่ม = ทางออกต่อรองค่าแรง/สวัสดิการ แต่ติดกับดักกฎหมาย

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการจ้างงานนั้น นอกจากการเรียกร้องด้วยตัวเองแล้ว ทางออกที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองให้คนงานแพลตฟอร์มได้ หรือแรงงานคนอื่นๆ ก็คือ “การรวมตัวกัน” แต่สำหรับคนงานแพลตฟอร์มนั้นไม่ง่ายเลย ทั้งใหม่ และสาว ต่างบอกว่า แม้เห็นด้วยอย่างมากที่การรวมตัวกันจะมีพลังมากกว่าการต่อสู้คนเดียว แต่การต้องหยุดงานไป นั่นหมายถึง “รายได้ที่เสียไปด้วย” แต่คิดว่าถ้ามีแรงจูงใจที่ดี เช่น เรียกร้องไปแล้วจะได้ค่าจ้างมากขึ้น จะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น และอยากให้คนงานได้รู้จักกฎหมายว่ามีอะไรที่สามารถช่วยเหลือแรงงานได้บ้าง ก็คิดว่าจะช่วยได้ แต่มากกว่าไปกว่านั้น ยังมีความกลัวว่า หากออกมาต่อต้าน หรือพูดถึงบริษัทจะทำให้ถูกแบนออกจากระบบ นอกจากนี้ อีกข้อจำกัดหนึ่งก็คือ แรงงานแพลตฟอร์มจอกันยาก เพราะต่างคนต่างทำงานคนละที่ การจะรวมตัวกันจึงไม่ง่าย แต่หากมีกลุ่มที่สามารถเชื่อมให้มาเจอกันได้ก็จะดี

ในมุมมองของ ชัชลาวัณย์ เห็นด้วยอย่างมากกับการรวมกลุ่ม เพราะมันเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เห็นว่ารัฐนั้นสนับสนุน และยืนข้างคนงาน แต่รัฐไม่สนับสนุนการรวมกลุ่ม ต้องให้ความมั่นใจกับแรงงานว่า รวมกุล่มกันได้เพื่อต่อรองกับนายจ้าง แต่รัฐกลับยืนข้างนายจ้าง และนายจ้าง มากกว่านั้น ตอนนี้ยังกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน หรือ ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. … ที่สอดแทรกวาระของการห้ามไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างชัดเจน คิดว่าอันนี้เป็นปัจจัยแรกที่ต้องแก้เลย เพราะลำพังแค่แรงงานเองเขาต้องแก้เรื่องปากท้องก่อน แล้วมาเจออุปสรรคจากภาครัฐอีก ทั้งๆ ที่การรวมกลุ่มกันควรเป็นสิ่งแรกที่แรงงานต้องมี รัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมอง และทัศนคติ และมาหนุนอำนาจลูกจ้างให้เกิดการต่อรองมากขึ้น

ส่วนรูปแบบจะเป็นไปในรูปแบบไหนนั้น ชนฐิตา มองว่า เป็นแบบไหนก็ได้ อาจจะมีหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มไรเดอร์มีหลายหลุ่ม อย่างสหภาพไรเดอร์ หรือทำเป็นสมาคมก็ดีทำนเชิงกฎหมาย หรือบางกลุ่มก็ไม่เป็นไรก็เป็นกลุ่มกันเฉยๆ หรือที่ต่างประเทศ มีคนงานแพลตฟอร์มผู้หญิงในลักษณะสหกรณ์ให้คนงานมาร่วมหุ้นกันทำแพลตฟอร์มของตัวเอง จริงๆ ต้องโยนให้คนทำงานเป็นคนตอบว่าต้องการเป็นไปในทิศทางไหน แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือกลุ่มคนที่มาทำต้องมีความคิดและความเชื่อที่ว่าเราคือคนทำงาน เราคือคนหมู่มากของสังคม และสมควรได้รับสิทธิและสวัสดิการที่มันดีกว่านี้ ซึ่งมันจะเป็นสารตั้งต้นในการรวมตัวกัน ส่วนจะพัฒนาไปในทางไหนก็ให้เป็นเรื่องของแต่ละกลุ่มไป

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มสามารถปรับสภาพการจ้างงานให้เป็นธรรมได้ ตั้งแต่บริษัทต้องมีความโปร่งใสของสัญญาที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับรู้เข้าใจตรงกัน มีการรับรองค่าตอบแทนขั้นต่ำ และมีทางเลือกการเป็นพนักงานเต็มเวลา เพื่อรับสวัสดิการ ต้องมีการอบรมและพัฒนาทักษะของคนงานเสมอ ส่งเสริมให้คนงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมที่แพลตฟอร์มช่วยจ่าย ต้องส่งเสริมและเปิดเผยข้อมูลของลูกค้ากับคนงาน เช่น ชื่อ ที่อยู่ เพื่อให้คนงานมีสิทธิเลือกรับงาน ตลอดจนแพลตฟอร์มต้องรับสมัครงานโดยไม่แบ่งเพศ มีแนวทางป้องกันช่วยเหลือเกี่ยวกับกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน และการให้คนงานมีส่วนร่วมออกแบบนโยบาย เป็นต้น

ชมไลฟ์ย้อนหลัง