การเมืองไทย(หลัง)ปรากฏการณ์ชัชชาติ พ้นจากระบบสองพรรค - ขวาจัด(ไม่)นิยม - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นในบริบทที่ว่างเว้นไปนานถึง 9 ปี และเป็นการแข่งขันเลือกตั้งในห้วงยามที่อุณหภูมิทางการเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากความนิยมของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีอยู่ในช่วงถดถอยอันเนื่องมาจากปัญหาสารพัดรุมเร้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ พ่วงด้วยความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ และการเปิดสมัยประชุมสภาที่น่าจะตามมาด้วยการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ผลการเลือกตั้งที่สื่อมวลชนขนานนามว่าเป็นปรากฏการณ์ “ชัชชาติแลนสไลด์” จึงส่งผลไม่เพียงต่อการเมืองของกรุงเทพฯ แต่มีนัยต่อการเมืองระดับชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอเสนอแนวโน้ม 10 ประการของการเมืองไทยหลังจากนี้

1. ชัชชาติโมเดล

แน่นอนว่าคุณชัชชาติมีคุณสมบัติและบุคลิกส่วนตัวที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง จนยากที่จะเลียนแบบหรือหาคนที่คุณสมบัติในลักษณะคล้ายกันได้ ไม่ว่าจะในสนามการเมืองระดับชาติหรือท้องถิ่น แต่จากความสำเร็จในลักษณะชนะขาดทิ้งคู่แข่งอย่างถล่มทลายครั้งนี้ ทำให้หลายพรรคและหลายกลุ่มการเมืองคิดถึงการลอกเลียน “แนวทางการเมืองแบบชัชชาติ” ซึ่งเน้นการหาเสียงแบบสร้างสรรค์ ทันสมัย เป็นมิตร สุภาพอ่อนน้อม สร้างความหวัง แสวงหาแนวร่วมแบบกว้างขวาง (ในลักษณะ rainbow coalition คือแนวร่วมหลากหลายสีสันที่ดึงคนที่มีเฉดความคิดทางการเมืองต่างกันให้มาสนับสนุนผู้สมัครคนเดียวกันได้) ขายนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่มาจากการทำการบ้านในพื้นที่ นำเสนอวิสัยทัศน์ที่มาจากฐานความรู้แต่ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและจริงใจ จนทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในหมู่ผู้เลือกตั้งถึงความจริงจังและความมุ่งมั่นในการทำงาน

“ปรากฏการณ์ชัชชาติ” ทำให้ผู้เขียนนึกถึง “ปรากฏการณ์โจโกวี” ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินโดนีเซีย เขาโด่งดังเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองอินโดนีเซียขึ้นมาจากแนวทางหาเสียงและการทำงานสมัยที่เขาเป็นผู้ว่ากรุงจาการ์ตา  เขามักจะปรากฏตัวในสื่อด้วยภาพลักษณ์ที่ติดดิน ทำงานหนัก ดึงคนรุ่นใหม่มาเป็นอาสาสมัครในการทำงาน ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชุมชนด้วยตนเองเพื่อถามทุกข์สุขชาวบ้าน แต่ที่โดดเด่นและกลายเป็นที่กล่าวขวัญ คือ การลงพื้นที่ตรวจตราการทำงานของข้าราชการในสำนักงานเขตต่าง ๆ เพื่อกวดขันวินัยในการทำงาน (ซึ่งเรียกว่า “blusukan” แปลว่าการเยี่ยมเยียนโดยมิได้นัดหมาย) ซึ่งทำให้บรรดาข้าราชการต้องอกสั่นขวัญแขวน จนต้องเร่งทำงานหนักให้มีผลงาน เพราะไม่รู้ว่าเขตของตนจะถูกเยี่ยมเยือนจากผู้ว่าฯ โจโกวีเมื่อไหร่ แนวการทำงานเช่นนี้ได้กลายเป็นเครื่องหมายประจำตัวของเขาที่คนทั้งประเทศจำได้ นอกจากนั้น โจโกวียังมีชื่อเสียงจากการเป็นนักปฏิบัตินิยม (pragmatist) ที่เน้นการบรรลุผลลัพธ์ของการทำงาน เขาไม่ใช่นักพูดที่เก่งกาจหรือมุ่งปลุกใจคน แต่สุภาพอ่อนน้อมและมีทักษะสูงในการเจรจาประสานความร่วมมือระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขาเป็นนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ต่างจากนักการเมืองอินโดนีเซียทั่วไปที่เน้นการปราศรัยแบบทางการ มีภาพลักษณ์ของชนชั้นนำแบบราชการ และวางตนห่างเหินและอยู่เหนือประชาชน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือของผู้เขียนเรื่อง When We Vote)

แม้ว่าคุณสมบัติส่วนตัวจะเป็นสิ่งที่เลียนแบบกันไม่ได้ แต่เชื่อว่า แนวทางการหาเสียงและทำงานการเมืองแบบชัชชาติจะกลายเป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมทางการเมือง

2. เลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลง (vote for change): จากอัศวินสะเทือนถึงประยุทธ์

ความพ่ายแพ้ของคุณอัศวินและผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพฯ (สก.) ของทีมคุณอัศวินสะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ โหวตเพื่อต้องการความเปลี่ยนแปลง ก่อนหน้าที่จะปิดหีบ นักสังเกตการณ์จำนวนมากยังเชื่อว่าคุณอัศวินจะได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 2 หรือ 3 ฉะนั้นการพ่ายแพ้โดยได้คะแนนเสียงน้อยกว่าที่คาดการณ์อย่างมากและมาเป็นอันดับ 5 จึงส่งสัญญาณว่าหากนักการเมืองคนใดที่อยู่ในอำนาจยาวนานแต่มิได้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกพลังของประชาชนในคูหาเลือกตั้งโหวตให้ไม่ได้ไปต่อ แคมเปญที่ขอโอกาสในการสานงานต่อจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อผลงานในอดีตเข้าตาประชาชนเท่านั้น

ในแง่นี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องสะเทือนหรือรู้สึกหวั่นไหว เพราะประยุทธ์กับอัศวินมีความคล้ายกันในหลายมิติ คือ เป็นผู้นำแบบข้าราชการประจำที่เป็นชาย สูงอายุและอนุรักษ์นิยม อยู่ในอำนาจยาวนาน (5 ปีแรกของประยุทธ์มาจากการรัฐประหารเหมือนอัศวิน) แต่ผลงานขาดความโดดเด่น ความพ่ายแพ้ของอัศวินจึงส่งสัญญาณเตือนถึงประยุทธ์ว่าการหาเสียงว่าให้เลือกคนเดิมเพื่อมาสานงานต่อให้สำเร็จจะไม่ใช่แคมเปญที่สามารถนำมาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งได้  

3. พลังประชารัฐคือผู้พ่ายแพ้หนักที่สุด

พรรคพลังประชารัฐไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ ส่งเพียงสก. และได้ที่นั่งสก.มาเพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้ไม่มีอำนาจทั้งในทางบริหารและนิติบัญญัติในสนามกรุงเทพฯ หลายคนวิเคราะห์ว่าที่พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งสก. น้อยเพราะไม่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ ของพรรคมาช่วยดึงคะแนนเสียง อันนี้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พรรคการเมืองก็ต้องรู้ประเด็นนี้อยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่ลงแข่งขันในสนามผู้ว่าฯ ข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลและมีที่นั่งส.ส. ในกรุงเทพฯ มากที่สุดอย่างพลังประชารัฐ ไม่สามารถหาผู้สมัครที่เหมาะสมลงแข่งขันในนามพรรค ก็สะท้อนปัญหาความอ่อนแอในตัวเอง และจะส่งผลถึงขวัญกำลังใจและกระแสความนิยมของพรรคในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึง

4.โมเมนตัมของพรรคฝ่ายค้าน

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้อันที่จริงไม่ได้เปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินแต่ประการใด เพราะความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไป 2562 แล้ว คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นสองพรรคฝ่ายค้านรวมกันครองใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนกรุงเทพฯ เสียงข้างมาก ทั้งจำนวนที่นั่งส.ส.และคะแนนรวม (popular vote) มาครั้งนี้ผลการเลือกตั้งก็ออกมาคล้าย ๆ กัน โดยที่นั่งสก. 2 พรรครวมกันเท่ากับ 34 ที่นั่งจาก 50 ที่นั่งคิดเป็นร้อยละ 68 ของที่นั่งทั้งหมด ส่วนคะแนนเสียงของคุณชัชชาติกับคุณวิโรจน์รวมกันคิดเป็นร้อยละ 63

อย่างไรก็ตามทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีการบ้านให้ต้องขบคิด สำหรับพรรคเพื่อไทย เห็นชัดเจนว่าคะแนนของสก. นั้นน้อยกว่าคะแนนของคุณชัชชาติอย่างมาก ถ้าดูคะแนนรวมสก. เพื่อไทยได้เพียงร้อยละ 26 (คะแนนชัชชาติคือร้อยละ 54) ส่วนที่นั่งสก. 20 ที่นั่งก็คิดเป็นร้อยละ 40 ของที่นั่งทั้งหมด แลนด์สไลด์ครั้งนี้จึงเป็นแลนด์สไลด์ของชัชชาติไม่ใช่ของเพื่อไทย. ชัชชาติได้คะแนนถล่มทลายเพราะสามารถดึงคะแนนจากกลุ่มต่าง ๆ ที่ปรกติไม่ใช่ผู้สนับสนุนเพื่อไทยมาได้  ซึ่งนัยสำคัญตรงนี้ก็คือ พรรคเพื่อไทยเผชิญทางแพร่งในการเลือกตั้งระดับชาติที่จะมาถึง ในกรณีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคว่าจะนำเสนอคนแบบใด หากพรรคสามารถหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและบุคลิกทางการเมืองคล้ายแบบชัชชาติ (เทคโนแครตที่ติดดินแต่ก็มีความเป็นประชาธิปไตย เคยทำงานกับพรรคแต่ก็มีความเป็นอิสระจากพรรค)ได้ก็อาจจะสามารถดึงคะแนนเสียงจากคนหลากหลายกลุ่มที่นอกเหนือจากฐานเสียงหลักของพรรคได้ หรือจะส่งคนที่มี DNA เพื่อไทย/ชินวัตรแบบชัดเจนเพื่อรักษาแบรนด์และตรึงฐานเสียงแฟนพันธ์ุแท้ของพรรคไว้ ส่วนพรรคก้าวไกลนั้นทำผลงานได้ดีอยู่แล้วในพื้นที่เขตเมือง ดังที่เห็นชัดจากผลการเลือกตั้งปี 2562 คะแนนนิยมที่ดีในกทม.จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเพราะนี่คือสนามที่ก้าวไกลถนัด ความท้าทายในการเลือกตั้งระดับชาติจึงอยู่ที่การขยายฐานเสียงของพรรคไปยังพื้นที่ชนบทในจังหวัดต่าง ๆ    

ไม่ว่าผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลจะทะเลาะกันดุเดือดรุนแรงเช่นใดในโลกโซเชียล แต่ในสนามการเมืองที่เป็นจริง ผลการเลือกตั้งชี้ชัดว่าหากทั้งสองพรรคสามารถจับมือกันเป็นพันธมิตรได้ พวกเขาสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสนามกทม. และสนามใหญ่

5. ประชาธิปัตย์ไม่ตายแต่ก็ยังไม่ฟื้น

การประเมินผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณามุมไหน หากเทียบกับการเลือกตั้งปี 62 แน่นอนว่าประชาธิปัตย์ทำผลงานได้ดีขึ้น จากที่ไม่มีที่นั่งส.ส.เลย มาสู่การชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาเป็นอันดับสองและชนะสก. มาได้ 9 เขต แต่คะแนนรวมนั้นอยู่เท่า ๆ เดิมคือร้อยละ 15 และยิ่งถ้านำไปเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าครั้งก่อน ๆ ที่พรรคครองแชมป์ทั้งตำแหน่งผู้ว่าและเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภากทม. ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ประชาธิปัตย์จะเฉลิมฉลองได้ แต่มันกลับสะท้อนภูมิทัศน์การเมืองภาพใหญ่ที่พรรคควรจะกังวล คือ ในปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคการเมืองขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศอีกต่อไป แต่กลายเป็นพรรคขนาดกลางที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับชาติและท้องถิ่น

6. การเมืองไทยก้าวพ้นจากระบบสองพรรค

แนวโน้มนี้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่การเลือกตั้ง 2562 และมาถูกตอกย้ำในการเลือกตั้งกทม.ครั้งนี้ แม้ว่าการเมืองไทยจะยังแตกแยกแบ่งขั้วเป็น 2 ขั้ว แต่ว่ามีความหลากหลายและการแข่งขันในแต่ละขั้วด้วย ในฝั่งฝ่ายค้านหรือฝั่ง “ก้าวหน้า” มีพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล และไทยสร้างไทย ในฝั่งสนับสนุนรัฐบาลหรือฝั่ง “อนุรักษ์นิยม” มีพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ พรรคกล้า และในการเลือกตั้งใหญ่ก็จะมีอีกหลายพรรคไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย สร้างอนาคตไทย (ของคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) พรรคไทยภักดี พรรครวมพลัง (ของสุเทพ เทือกสุบรรณ และดร. เอนก) และยังต้องจับตาดูด้วยว่ากลุ่มคุณสกลธีและแกนนำกปปส. จะตั้งพรรคใหม่ของตนเองหรือไม่หลังจากเปิดตัวได้ไม่น่าเกลียดนักในสนามผู้ว่าฯ ครั้งนี้

7. ความแตกแยกในฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในครั้งนี้คือ พลังทางการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมส่งผู้สมัครแข่งกันเองหลายคน และในระหว่างการหาเสียง โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายพบว่ามีการโจมตีกันเองอย่างหนักหน่วงในฝั่งเดียวกัน โดยเฉพาะระหว่างคนที่สนับสนุนคุณสกลธีกับคนที่สนับสนุนคุณอัศวิน ทั้งยังมีการรณรงค์ให้โหวตเชิงยุทธศาสตร์เทคะแนนให้คนเดียวเด็ดขาดเพื่อไปสู้กับชัชชาติ โดยแต่ละทีมมีบรรดาคนดังในฝั่งอนุรักษ์นิยมออกมาเปิดตัวสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งชี้ชัดว่าโหวตเชิงยุทธศาสตร์ในฝั่งอนุรักษ์นิยมไม่มีอยู่จริง เพราะต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใคร เสียงจึงแตกกระจัดกระจาย อย่างไรก็ดี หากนำเสียงของผู้สมัครฝั่งอนุรักษ์นิยมทั้งหมดมารวมกันก็ยังไม่สามารถสู้กับผู้ชนะอย่างชัชชาติได้


ความท้าทายของฝั่งอนุรักษ์นิยมคือ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากมีการแตกพรรคกันมากขึ้น ในแต่ละเขตเลือกตั้งก็จะมีการแข่งขันระหว่างผู้สมัครฝั่งอนุรักษ์นิยม 4-5 คน แย่งคะแนนกันเอง (ในก้อนเค้กที่เล็กลง) เหมือนในครั้งนี้และมีโอกาสที่จะแพ้เลือกตั้งได้สูง

8. แนวทางขวาจัดสุดโต่งถูกปฏิเสธ

สิ่งที่ผิดคาดประการหนึ่งในการหาเสียงครั้งนี้คือ ผู้สมัครที่ดำเนินแนวทางหาเสียงแบบขวาจัดสุดโต่งมากที่สุดกลายเป็น รสนา โตสิตระกูล ทั้งการหาเสียงแบบไม่เลือกเราเขามาแน่ ปลุกผีทักษิณ ปลุกวาทกรรมโกงบ้านกินเมือง ทุนสามานย์ แอบอ้างความจงรักภักดีและสถาบันกษัตริย์มาโจมตีผู้อื่น แม้ว่าจะมีนโยบายบางอย่างที่น่าสนใจ แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาสะท้อนชัดเจนว่า ผู้เลือกตั้งปฏิเสธแนวทางการเมืองแบบขวาจัดสุดโต่ง หากเลือกแนวทางเช่นนี้ก็จะได้คะแนนจากคนกลุ่มที่แคบมาก ดังที่คุณรสนาได้คือ 3% เท่านั้น

9. กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย

สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ส่งผลสะเทือนต่อสนามการเมืองระดับชาติทั้งในเชิงโมเมนตัมและขวัญกำลังใจ แต่ผู้เขียนอยากจะเตือนว่าสนามการเมืองระดับชาตินั้นมีความซับซ้อนกว่าพื้นที่กรุงเทพฯ มาก แต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัดมีภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน พฤติกรรมและแบบแผนการเลือกตั้งก็ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สำหรับสนามการเลือกตั้งต่างจังหวัด อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ เครือข่ายหัวคะแนน ตระกูลการเมือง อิทธิพลมืดในรูปแบบต่าง ๆ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดผลการเลือกตั้ง

10. กกต. คือจุดอ่อนของการเลือกตั้งไทย

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการเลือกตั้งปี 2562 ถึงประสิทธิภาพและความเป็น กลางในการทำงาน มาในครั้งนี้กกต.ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างมีข้อกังขาในสายตาประชาชน ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างความแม่นยำในกฎระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การให้ความเห็นเรื่องสีปากกาที่สร้างความสับสนอย่างยิ่งให้กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยและประชาชนทั่วไปสะท้อนว่ากกต.ซึ่งถูกสรรหา แต่งตั้ง และรับรองมาโดยระบอบรัฐประหารของคสช. นั้นไม่ได้มีปัญหาเพียงในเรื่องของความเป็นกลางทางการเมือง แต่ยังขาดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการจัดการเลือกตั้ง

บทบาทของกกต. จึงยังคงเป็นจุดอ่อนและจุดที่น่ากังวลสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง