โอกาสที่ดีกว่าที่มีค่าผ่านทางเป็น “เงิน” - Decode
Reading Time: 3 minutes

การสอบเทียบถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับคนที่ไม่ต้องการเรียนต่อในระบบการศึกษา แต่ต้องแลกกับค่าผ่านทางที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากเช่นกัน โดยเราจะยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายในการสอบ GED หรือหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนในระดับ ม.ปลาย ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่าย ดังนี้

  • ค่าสอบ GED Ready 4 วิชา ราคา 27.96 USD หรือค่าเงินไทยโดยประมาณ 940 บาท
  • ค่าสอบจำนวน 4 วิชา ราคา 320 USD หรือค่าเงินไทยโดยประมาณ 10,800 บาท
  • รวมทั้งหมดเป็น 11,747 บาท
  • ค่าอื่น ๆ ราคา +++++

ค่าอื่น ๆ ที่กล่าวข้างต้นมีทั้งค่าเดินทาง ค่าหนังสือ ค่าเรียนพิเศษ ค่าการสอบซ่อม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต่างกันทั้งถิ่นที่อยู่ หรือความสามารถในการจ่าย เนื่องจากหากจ่ายค่าสอบในทีเดียวอาจจะประหยัดกว่า เช่น การสอบ GED Ready หากซื้อ 4 วิชาพร้อมกัน ก็จะราคา 22.99 USD หรือค่าเงินไทยโดยประมาณ 779 บาท ทำให้หากใครที่ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ในรอบเดียว จำนวนเงินที่จ่ายก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

อีกทั้งค่าใช้จ่ายในเรื่องของการเดินทางก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เนื่องจากศูนย์สอบ GED ในตอนนี้จะมีอยู่ที่กรุงเทพจำนวน 3 แห่ง และมีอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ 2 แห่ง จ.ภูเก็ต จ.ขอนแก่น จ.ตาก มีจังหวัดละ 1 แห่ง

ทำให้หากคนที่ต้องการไปสอบ แต่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่กล่าวไปข้างต้น เงินค่าเดินทางก็จะยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายให้พวกเขาด้วย มาถึงตรงนี้หลายคนคงมีคำถามว่า จำนวนเงินมากมายขนาดนี้ เด็กอายุ 16-18 ปีจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าสอบ และเส้นทางนี้สามารถเป็นเส้นทางของการหลีกหนีระบบการศึกษาไทยได้จริงหรือไม่ ?

De/code พาไปท่องเรื่องราวของ วริษา ธัญชัยวัฒน์ หรือข้าวตัง หญิงสาวในวัย 19 ปีกับความเชื่อใจในระบบการศึกษาไทย ทำให้เธอตัดสินใจผิดกับการเรียนในม.ปลาย เธอเลยเลือกเปลี่ยนเส้นทางการศึกษาของเธอใหม่ ที่เธอต้องพบเจอกับปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในค่าเดินทางที่เพิ่มเข้ามา เพราะเธออยู่ในจังหวัดที่ไม่มีศูนย์สอบ

และเจนจิรา ต้นกันยา หรือเอ๋ย หญิงสาวในวัย 15 ปี ผู้เบื่อหน่ายกับการเรียนออนไลน์ และมองไม่เห็นเส้นทางในอนาคตของระบบการศึกษาไทยที่ตอบโจทย์เธอ ทำให้เธอตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง แต่เธอก็ต้องคิดหนักกับเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามา เราจะพาทุกคนของไปดูเรื่องราวเส้นทางการวาดฝัน และอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่ายของทั้งสอง

ทำไมถึงเลือกที่จะสอบเทียบ?

“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ข้าวตังกล่าว

ข้าวตังได้เล่าให้เราฟังว่า เมื่อตอน ม.ต้น เธอเรียนห้องเรียนพิเศษที่ต้องจ่ายเงินมากกว่าห้องธรรมดา เพื่อแลกกับการเข้าถึงวิชาการ ภาษาอังกฤษ และการได้ไปทัศนศึกษาอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาทำให้เธอได้นึกคิดว่า จำนวนค่าเทอมของห้องธรรมดาก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ทำให้เมื่อ ม.ปลาย เธอได้ตัดสินใจย้ายไปอยู่ในห้องธรรมดา หลังจากนั้นทำให้เธอถึงได้เข้าใจคำว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อย่างแท้จริง

ต่อมาข้าวตังได้เปรียบเทียบเมื่อตอนเธออยู่ที่ห้องพิเศษกับห้องธรรมดาว่า มีความแตกต่างทั้งเนื้อหาที่เธอจะได้เรียนบางวิชาเป็นภาษาอังกฤษ จำนวนนักเรียนในห้องที่ห้องพิเศษอาจจะมีประมาณ 30 คนต่อห้อง แต่ห้องธรรมดามีประมาณ 50 คนต่อห้อง ทำให้คุณภาพการเรียนรู้ต่างกันมาก

แล้วทำไมเธอเลือกที่จะไม่เรียนต่อห้องพิเศษ ข้าวตังตอบว่า

“เพราะเราคิดว่ามันเหมือนกัน เงิน 5000 บาทมันคงไม่ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปขนาดนี้ เราคิดว่าห้องพิเศษกับห้องธรรมดาไม่ต่างกันมาก เราคิดว่าเราเชื่อระบบการศึกษาได้ เราคิดว่าเด็กทุกคนได้รับการศึกษาเหมือนกัน เพราะมันคือระบบการศึกษา แต่มันไม่เหมือนกันเลย” 

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้ข้าวตังมีชีวิตในแต่ละวันในการไปเรียนแบบไม่มี Passion มันทำให้เธอมีความรู้สึกหมดไฟไม่อยากจะเรียนแล้ว เธอรู้สึกเหนื่อยที่ต้องคอยตื่นเช้าเพื่อเดินทางไปโรงเรียน ทำให้เธอเริ่มอยากจะ Gap year

แต่ก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่เธอสอบเทียบ เธอเลือกเส้นทางในการสอบเทียบ เพราะเธอนำการสอบเทียบมาบอกแม่ว่า จะหยุดเรียนเพราะกำลังจะเตรียมตัวสอบเทียบ แต่ในความจริงเธอเพียงแค่อยากจะหยุดพัก อยากจะหลีกหนีจากระบบการศึกษาไทย เพราะสภาพการเรียน สิ่งแวดล้อม หรือครูผู้สอนต่าง ๆ ทำให้เธอต้องตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางจากการอยู่ในระบบการศึกษาไทยแบบเดิม

โดยในส่วนของเอ๋ยเธอบอกเหตุผลในการสอบเทียบว่า

“เบื่อการเรียนออนไลน์มาก เรียนไม่รู้เรื่อง ประเทศไทยอาจต้องเรียนออนไลน์ต่อไปจนถึงมหา’ลัย เราก็เลยตัดสินใจออกมาสอบเทียบดีกว่า”

เอ๋ยได้บอกกับเราว่า ทุกวันในการเรียนออนไลน์ของเธอ ทำให้เธอมีความรู้สึกเหมือนเรียนไปวัน ๆ ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เรียนรู้ เรียนไปแค่ทำงานตามที่ครูมอบหมายให้เสร็จไปในแต่ละวัน

และต่อมาด้านสุขภาพ ทุกวันเอ๋ยต้องใส่แว่นตากรองแสง เนื่องจากความเหนื่อยล้าจากการใช้สายตาในการต้องคอยมองมือถือหรือคอมพิวเตอร์นาน ๆ ซึ่งเธอต้องนั่งเรียนกับคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลากว่า 5 ชั่วโมง หรือกว่า 7 ชั่วโมงในบางวัน

ทำให้เธอได้กลับมานึกคิดว่า หากเธอยังเรียนอยู่ในระบบ เธออาจต้องเรียนออนไลน์จนกระทั่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยเลย และสุขภาพอาจจะเสียตามด้วย แต่หากเธอออกมาเตรียมสอบเทียบ อาจจะใช้เวลาอย่างมากแค่ 1 ปี อีกทั้งเธอก็มีความฝันในการไปเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้เธอสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้เร็วขึ้น

3 คำกับโอกาสจากการสอบเทียบ

ข้าวตัง : เปิด-โลก-กว้าง

“มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าต่างประเทศเขาศึกษาเรียนรู้ยังไง เราชอบอย่างหนึ่งในหลักสูตรเขา การจับใจความใน Passage มันเปิดให้เราได้ลองคิดดูว่า บทความนี้ให้อะไรกับเรา มันเป็นทักษะหนึ่งที่ดี เวลาเราไปอยู่กับคนข้างนอกเราก็ต้องฝึกจับใจความคนอื่นว่า เขารู้สึกยังไงเขาพูดแบบนี้เพราะอะไร แต่การศึกษาในไทยยากมากที่เราจะได้สิ่งเหล่านี้

“การที่เราออกมาสอบเทียบทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ได้ลองจัดการชีวิตในแต่ละวันด้วยตัวเอง ได้ลองผิดลองถูก ได้ลองทำในสิ่งที่โรงเรียนห้ามให้ทำ เพียงเพราะเขาบอกว่ามันผิดเท่านั้น ทั้งที่มันอาจจะถูกก็ได้”

เอ๋ย : อะ-นา-คต

“ตั้งแต่เราเลือกการสอบเทียบ เส้นทางอนาคตเราเปลี่ยนแล้ว มันไม่เหมือนกับตอนเราอยู่ในระบบการศึกษาไทย ภาพอนาคตมันเปลี่ยนไปเลย ตอนนี้เราวางแผนไว้ว่า ถ้าสอบ GED เสร็จ เราจะเตรียมสอบ IELTS เพราะมหา’ลัยอินเตอร์หรือหลักสูตรอินเตอร์จะใช้ค่อนข้างเยอะ หลังจากนั้นก็จะหามหาวิทยาลัยที่รับวุฒิ GED และหาทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อในชั้นปริญญาตรี

แล้วเราก็จะได้พบสังคมใหม่ได้เร็วขึ้น สามารถทำงานหาเงินได้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งเส้นทางที่เราบอกไปมันต่างกับการเรียนในระบบอย่างสิ้นเชิง และเราไม่ต้องเสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่อีกด้วย”

เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างเส้นทางในระบบกับนอกระบบ

เราได้ให้ทั้งสองลองเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาไทย กับเลือกที่จะออกมาสอบเทียบ ว่าค่าใช้จ่ายมีความแตกต่างกันมากหรือไม่

เอ๋ย : หากอยู่ในระบบการศึกษาไทยต่อในระดับชั้น ม.5 ถึง ม.6 

ค่าเทอม 4 เทอมประมาณ 20,000 บาท

เงินค่ามาโรงเรียนจำนวน 4 เทอมประมาณ 80,000 บาท (ถ้าได้ไปเรียนที่โรงเรียน)

ค่าใช้จ่ายในการทำงานตอนเรียนทั้ง 4 เทอม เช่น ค่ากระดาษ ค่าพรินต์งาน และอื่น ๆ

ประมาณ 4,000 บาท

รวมทั้งหมดประมาณ 104,000 บาท

ถ้าเลือกเปลี่ยนเส้นทางการสอบเทียบ

ค่าสอบ GED Ready 4 วิชาราคา 27.96 USD คิดเป็นค่าเงินไทยประมาณก็ 940 บาท 

ค่าสอบ GED 4 วิชาราคา 320 USD  คิดเป็นค่าเงินไทยประมาณ 11,004 บาท  

(ถ้าสอบภายใน 1 ครั้งผ่านทั้งหมด)

ค่าใบ Diploma ราคา 1,000 บาท

ค่าหนังสือ+ค่าเดินทางรวมประมาณ 2,000 บาท

รวมทั้งหมดประมาณ 14,944 บาท

ข้าวตัง: หากอยู่ในระบบการศึกษาไทยต่อในระดับชั้น ม.5 เทอม 2 ถึง ม.6 

ค่าเทอมเทอมละ 3,000 บาท รวม 3 เทอมเป็น 9,000 บาท

ค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน 3 เทอมประมาณ 36,000 บาท

รวมทั้งหมดประมาณ 45,000 บาท

ถ้าเลือกเปลี่ยนเส้นทางการสอบเทียบ

ค่าสอบ 4 วิชา 240 USD ค่าเงินไทยโดยประมาณ 11,004 บาท (ถ้าสอบภายใน 1 ครั้งผ่านทุกวิชา)

ค่าเดินทางต่อ 1 ครั้งไป-กลับ

หากไปด้วยรถครอบครัว

ค่าน้ำมัน 3,000 บาท

ค่าอาหาร 1,000 บาท

รวมค่าเดินทางหากไปกับครอบครัวทั้งหมดประมาณ 4,000 บาท

หากไปด้วยรถบขส.ด้วยตัวเอง

ค่ารถไป-กลับ 420 บาท

ค่า Taxi 400 บาท

ค่าอาหาร 300 บาท

รวมค่าเดินทางด้วยรถบขส.ด้วยตัวเองประมาณ 1,020 บาท

โดยหากรวมทั้งค่าเดินทางกับค่าสอบก็จะได้ประมาณก็จะมีทั้งสองราคา คือ 12,024 บาท หากเดินทางด้วยรถบขส.คนเดียว และ 15,004 บาท หากเดินทางด้วยรถของครอบครัว

ซึ่งราคาที่ได้กล่าวมา ก็ยังไม่ได้รวมถึงค่าสอบของอีกรอบหากไม่ผ่าน ค่าเตรียมสอบ ค่าสอบรอบ GED Ready และค่าเดินทางที่เกือบจะเท่ากับค่าสอบ

จากที่เราได้เห็นค่าใช้จ่ายทั้งสองคน ค่าใช้จ่ายที่แตกต่างมากที่สุดคือค่าเดินทาง ซึ่งหากดูแล้วศูนย์สอบ GED ในตอนนี้ก็ค่อนข้างน้อยหากเทียบกับอัตราจังหวัดของประเทศไทย อีกทั้งค่าเดินทางของประเทศไทยก็แพงมาก การเดินทางก็ลำบาก ความกดดันของคนต่างจังหวัดเลยเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าตัว

เนื่องจากพวกเขาต้องเลือกระหว่างต้องยอมสอบเยอะ จำเยอะ อ่านหลาย ๆ วิชาในครั้งเดียว ต้องยอมเสี่ยงในการจำหลายวิชา เพื่อยอมเสียเงินค่าเดินทางไปสอบเพียงครั้งเดียว หรือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งมันก็คงเป็นเรื่องยากมากกับเด็กที่เรียนหลักสูตรของไทยมาทั้งชีวิต แต่กลับต้องมาเริ่มจำหลักสูตรของอเมริกาเพียงไม่ถึงปี เพื่อแลกกับการหลีกหนีจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การศึกษาไทย”

ค่าใช้จ่ายในการสอบจากครอบครัวหรือจากตนเอง ?

“พอเราคิดจะสอบเทียบแล้ว แต่เราไม่มีเงินมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ครบตามจำนวน ทำให้เราต้องทำงานเพื่อหาเงินให้มันครบตามจำนวนที่ต้องใช้ แต่มันก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนในวัยเราเหมือนกัน” เอ๋ยบอกเล่าประสบการณ์ของตนเอง

ในขณะที่ข้าวตังกล่าวว่า

“เราทำทุกอย่างที่เราทำได้ ทำงานพาร์ตไทม์ ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่เราขาดความรู้เรื่องการเก็บเงิน เราใช้เงินตามอำเภอใจตัวเองจนลืมไปเลยว่าต้องเอาไปสอบ เราก็ไม่อยากเดือดร้อนเงินพ่อแม่เรื่องค่าสอบด้วย เพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราเลือกแล้ว และการที่พ่อแม่ให้เราลาออกจากโรงเรียน เราก็ไม่อยากได้อะไรอีกแล้ว แค่โอกาสกับความไว้ใจที่เขามีให้ก็พอใจแล้ว เพราะฐานะทางบ้านเราไม่ได้ดีขนาดนั้น และเราก็อยากหาเงินมาสอบเองด้วย”  

เรื่องราวของทั้งสอง มันก็ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า เราจำเป็นต้องจ่ายเพื่อหาทางหลีกหนีจากการศึกษามากขนาดนี้เลยหรือเปล่า ทำไมนักเรียนถึงต้องจ่ายเพื่อที่จะหลีกหนีออกจากเส้นทางการศึกษาไทย

“ไม่อยากให้คนข้างในหรือบุคลากรในระบบการศึกษาต้องมาพูดว่า ถ้าไม่พอใจก็ลาออกไปสอบเทียบสิ เพราะไม่มีใครอยากออกมาดิ้นรนเอง เพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายในการสอบเทียบที่มากขนาดนี้ หากทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาที่ดี” ข้าวตังกล่าวทิ้งท้าย