ส่องนโยบายคนจนเมือง เส้นเลือดฝอยของกทม. แค่รื้อ จ่าย (ไม่)จบ - Decode
Reading Time: 3 minutes

หลังจากฟังเสียงพี่ตี๋-เชาว์ เกิดอารีย์ และ ลุงอ๊อด-นาวี หลุ่มบางหล้า สองคนจนเมืองริมทางรถไฟไปแล้ว

มาถึงบทความนี้ De/code อยากจะชวนฟังเสียงสะท้อนและความตั้งใจของผู้ลงสมัครเลือกตั้ง กทม. จาก อ.ยุ้ย – เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หนึ่งในทีมงานคนสำคัญของผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในนามชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มองการแก้ไขปัญหาสำหรับคนจนเมืองว่า

“ต้องการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยมองให้ครอบคลุมคนทุกระดับ โดยต้องแก้ปัญหาที่เส้นเลือดฝอย”

และพูดคุยกับรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในนามอิสระ ที่มองปัญหาในเรื่องนี้ในอีกมุมว่า

“คนจนเมืองเป็นกลุ่มที่เราต้องให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในทุกมิติ ต้องให้ความสำคัญกับคนทุกคนที่อยู่ใน กทม. คนมีน้อยรัฐต้องให้มากมันอยู่ในภารกิจของ กทม. ที่จะต้องใส่ใจ”

ทั้ง 2 ทีมในฐานะผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ได้สะท้อนความตั้งใจว่าต้องการเปลี่ยนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการกลับมาเหลียวแลคนจนเมือง ก่อนที่วันเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 22 พฤษภาคม 2022 จะเข้ามาถึงในไม่ช้า

กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน

พูดถึงคำว่า “คนจนเมือง” อาจเข้าใจกันไปแตกต่างหลากหลาย เช่นนั้นเพื่อให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน อ.ยุ้ย จึงตั้งต้นบทสนทนาไปที่ความเข้าใจว่าด้วยว่าคนจนเมือง ก่อนเป็นลำดับแรก

 โดยระบุว่าคนจนเมือง เป็นคำค่อนข้างกว้าง ฉะนั้นจึงคิดว่าควรต้องแยกให้ชัด ซึ่งหลัก ๆ ก็ได้แก่คนไร้บ้าน คนมีบ้านแต่มีหนี้เยอะ และรวมถึงคนที่ต้องอยู่ในชุมชนแออัด 

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะนิยามคนจนเมืองแบบไหน แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่เขามีร่วมกันคือ ความยากจน มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย และเข้าถึงโอกาสในเรื่องต่าง ๆ คือถ้ามองปัญหาแบบภาพรวม คงพอสรุปได้ว่าปัญหาหลัก ๆ ที่คนจนเมืองเผชิญคือ หนึ่งมีปัญหาที่อยู่อาศัย สองมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย สามเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขที่ดี 

ปัญหาทั้งสามข้างต้น แน่นอนว่าจำเป็นต้องอาศัยผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพมาช่วยจัดการ ซึ่งในฐานะผู้ที่กระโดดมาร่วมอาสาพัฒนากรุงเทพฯ ในนามของพรรคคุณชัชชาติด้วย อ.ยุ้ย เสนอแนวทางว่า

“นโยบายของพรรคคุณชัชชาติคือต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ของคนทุกคน แต่การที่มียังคนกลุ่มหนึ่งเป็นคนจนเมือง ย่อมหมายถึงว่าพวกเขาไม่รู้สึกว่ากรุงเทพฯ น่าอยู่ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่เราเองต้องมาคิดแล้วแก้ไข

“เราคิดว่ามันเริ่มต้นจากตรงสโลแกนของเราก่อนเลย คือเราบอกว่า ‘ต้องการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ คำพูดนี้มีนัยมาก เราพยายามมองให้ครอบคลุมคนทุกระดับ เพราะว่าสำหรับคนบางชนชั้น กรุงเทพฯ นี่น่าอยู่มากแล้ว แต่มีคนอีกหลายกลุ่มที่รู้สึกว่ากรุงเทพฯ ยังไม่น่าอยู่ ความตั้งใจของเราจึงพุ่งพลังไปที่คนจนเมือง คนไร้บ้าน ที่พวกเขาอยู่ในกรุงเทพฯ แต่มีความท้าทายรายวัน” 

ความตั้งใจดีเช่นนี้ย่อมต้องเคียงคู่มาพร้อมกับนโยบายที่เป็นรูปธรรม เพราะนั่นจะทำให้คนจนเมืองมองเห็นความหวังที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น คำถามคือทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับคนจนเมืองที่ อ.ยุ้ยว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง 

แก้ปัญหาที่เส้นเลือดฝอย

“แก้ที่เส้นเลือดฝอย” อ.ยุ้ย พูดด้วยความมั่นใจ ก่อนขยายความต่อว่า

“เราจะใช้เวลาให้เร็วที่สุดเพื่อให้ส่งผลดีกับพี่น้องชาว กทม. การสร้างเมกะโพรเจกใช้เวลายาวนานและเงินเยอะมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว แก้ที่เส้นเลือดฝอยนี้ใช้เวลาไม่นาน และเราอยากใช้เงินของ กทม. ไปกับการพัฒนาคนจนเมือง ทำให้คนไร้บ้าน คนแออัด ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

“เรื่องแรกคือแก้ปัญหาเรื่องผู้มีรายได้น้อยและไม่มีที่อยู่อาศัย เรามองว่าหนทางที่น่าสนใจ คือการทำให้เขาได้เข้าสู่โครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นโครงการตัวอย่างที่ดีโครงการหนึ่ง เพราะทำมาค่อนข้างสำเร็จ ถ้าทีมของเราได้เข้ามาบริหารกรุงเทพฯ อยากส่งเสริมเรื่องนี้ให้ครอบคลุมและขยายวงกว้างมากขึ้น การทำเช่นนี้เป็นการต่อยอดของเดิมที่ดีอยู่แล้ว มาใช้ต่อให้เกิดประโยชน์กับคนมากที่สุด

“อย่างไรก็ดี โครงการในลักษณะดังกล่าวใช่ว่าจะปราศจากข้อกังวล เพราะที่ผ่านมาหลายครัวเรือนในชุมชนแออัดไม่สามารถ ขยับไปเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงได้ ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ดูว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อาจตอบไปได้หลายคำตอบตามแต่ปัญหาที่มองเห็น

“สำหรับเราแล้วคิดว่าสำคัญเลยคือพวกเขาไม่สามารถรวมตัวกันเองได้ เพราะการหาที่ดินที่จะไปตั้งบ้านเรือนประกอบกันเป็นชุมชนก็ยาก การที่จะได้ที่ดินใกล้ที่เดิมยิ่งยากมาก อย่างเช่นพญาไทที่ดินแพงมาก การจะหาที่ดินใกล้ ๆ แหล่งเดิมจึงเป็นเรื่องยากมาก” อ.ยุ้ยกล่าว

ปัญหาเรื่องที่ดินข้างต้นสอดคล้องกับเสียงคนจนเมือง เพราะทุกวันนี้ที่อาศัยอยู่บนที่ดินของภาครัฐ แทบจะไม่มีหลักประกันอะไรเลย จะถูกรื้อถูกไล่ที่ได้ทุกเมื่อ พวกเขาจึงพยายามต่อสู้เพื่อให้ภาครัฐ มองหามาตรการช่วยเหลือมากกว่าแค่ รื้อ จ่าย จบ แต่พวกเขาต้องการความมั่นคงมากกว่านั้น คืออยากมีบ้านอยากมีที่ดินแม้จะต้องเช่ารัฐก็ตาม 

ความต้องการเช่นว่าดูจะเป็นความพยายามของพรรคคุณ ชัชชาติที่จะตอบสนองและหาทางออกให้ได้ เช่นที่ อ.ยุ้ยระบุว่า

“เรามีนโยบายเรื่องจัดหาสถานที่เพื่อให้คนจนเมืองตั้งตัว หลับนอน และสามารถหารายได้ได้ เพราะวงจรแห่งการด้อยโอกาสหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนจนเมืองคือพอไม่มีที่อยู่ ที่นอน ที่อาบน้ำ ก็ส่งผลให้พวกเขาหางานทำได้ลำบาก เมื่อไปสมัครงานถ้าไม่มีที่อยู่ให้กรอก บริษัทโดยมากก็รู้สึกว่าไม่อยากรับ เราจึงคิดว่าต้องทำให้คนจนเมืองโดยเฉพาะที่ไร้บ้านได้มีที่อยู่ชั่วคราว อย่างน้อยที่สุดจะได้เป็นประโยชน์แก่พวกเขา ในการประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้

“ทางออกที่เป็นรูปธรรมคือเราจะพยายามทำให้เขาเข้าสู่ระบบ ด้วยการทำให้มีบัตรประชาชน การมีที่อยู่อาศัย เพราะถ้าไม่มีที่อยู่ก็ทำบัตรไม่ได้ พอทำบัตรไม่ได้ก็เข้าไม่ถึงสาธารณสุขที่ภาครัฐจัดให้ งั้นสิ่งที่เราจะดู คือกลับมาดูที่ต้นเหตุก่อนว่าเกิดจากอะไร เพราะเอาเข้าจริงมีหลายสาเหตุมาก บางคนไม่มีเงินไม่มีที่อยู่ไม่สามารถเริ่มต้นกับชีวิตได้

“ขณะเดียวกันเราอาจเจอกับคนอีกประเภทนึงที่อายุมาก และขาดทักษะที่เหมาะกับงาน จึงต้องพยายามทำให้เขาสามารถหางานที่เหมาะสม เพราะจริง ๆ แล้วเดี๋ยวนี้ผู้สูงอายุก็ทำงานได้ เราไปเจอแหล่งงานที่ต้องการผู้สูงอายุมากมาย อย่างเช่นเราเห็นมีอาชีพที่ให้ผู้สูงอายุแยกขยะรีไซเคิล และนำมาทำเป็นสิ่งของผลิตภัณฑ์” 

หนทางสร้างที่พักและสร้างงานให้ควบคู่กันไปเช่นที่ อ.ยุ้ย เสนอนั้นน่าสนใจและตอบโจทย์ความต้องการของคนจนเมืองไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะแม้ภาครัฐจะจัดสรรที่พักให้ แต่ถ้าอยู่ไกลแหล่งงานหรือคนเหล่านั้นยังขาดทักษะที่จะหางานให้เหมาะกับตัวเองได้ ภาวะว่างงานและยากจนยังคงมีอยู่ ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักความจนไปได้จริง

ไม่มีเมกะโพรเจก แต่มีสาธารณสุขที่ทุกคนเข้าถึงได้

นอกจากปัญหาเรื่องขาดไร้ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดี เป็นอีกปัญหาใหญ่ของคนจนเมืองที่ไม่อาจละเลยจะพูดถึงได้ อ.ยุ้ย เผยว่า

“เรื่องสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนกรุงเทพฯ ทุกคนควรเข้าถึงได้ ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพฯ มีจุดบริการสาธารณสุขอยู่ทุกเขต ทั้งยังมีศูนย์บริการชุมชนเอาไว้ดูแลให้คำปรึกษา สิ่งที่เราอยากต่อยอดไปให้ไกลกว่านี้มีสองอย่าง หนึ่งคือทำให้เขามีที่อยู่อาศัยเพื่อให้สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ เมื่อเขามีความพร้อมที่จะเข้าถึงระบบแล้ว

“ต่อมาเราต้องเตรียมพร้อมให้บริการสาธารณสุขสามารถเข้าถึงเขาได้ด้วย ออกแบบระบบให้มีเวลาทำการที่เหมาะสมกับคนจนเมืองจะเข้าถึง เพราะปัญหาหนึ่งที่เราพบคือการบริการสาธารณสุขนอกจากมีจำนวนไม่มากแล้ว บางครั้งหลาย ๆ ที่มีเวลาเปิดปิดค่อนข้างจำกัด คนจนเมืองซึ่งส่วนใหญ่ต้องทำงานรายวันจึงไม่มีเวลาที่จะไปรักษา พอเสาร์อาทิตย์ศูนย์บริการก็ไม่เปิดด้วย ตรงนี้จึงเป็นอีกโจทย์ที่ไม่อาจมองข้าม” 

ว่าด้วยการนำบริการสาธารณสุขเข้าถึงชุมชนคนจนเมือง อ.ยุ้ย ขยายความให้เห็นภาพชัดมากขึ้นว่า

“เราคิดจะทำนโยบาย mobile telemed เพื่อให้คนที่อยู่ในชุมชนซึ่งบางครั้งไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงโรงพยาบาลได้สามารถรักษาแบบนี้ได้ คนอย่างพวกเราอาจจะไม่รู้สึกว่า mobile telemed เป็นเรื่องยุ่งยากอะไร เปิดแอปพลิเคชันมาก็เจอ แต่คนจนเมืองเขาไม่มีโทรศัพท์ด้วยซ้ำ หรือแม้มีหลายคนก็ไม่เข้าใจวิธีการเข้าถึง

“อันนี้จึงเป็นอีกนโยบายเชิงรุก ซึ่งจะทำให้สาธารณสุขถูกยกไปให้ถึงที่ แล้วทำความเข้าใจแก่คนในชุมชนพร้อมกับจัดให้มีบริการที่ครอบคลุม ทำประชาสัมพันธ์ให้คนรู้ว่ามี และสำหรับบางโรคที่สำคัญอย่างมะเร็งเต้านม ก็ควรมีการให้คำแนะนำทั้งการรักษาและการป้องกัน โดยให้มีรถเข้าไปพร้อมกับพยาบาลไปด้วย” 

อ.ยุ้ย ทิ้งท้ายด้วยการเน้นย้ำว่าตนและพรรคของคุณชัชชาติเชื่อในการแก้ไขเส้นเลือดฝอย การแก้ไขสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

“ทีมเราไม่อยากไปทำเมกะโพรเจกอะไร เพราะอะไรหลาย ๆ อย่างมีอยู่แล้ว แค่ไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

“เราคิดว่าในร้อยวันแรกถ้าได้เลือกเป็นทีมบริหารกรุงเทพฯ เราจะแก้ไขเรื่องที่พูดมา หวังว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับคนกรุงเทพฯ อย่างทั่วถึงและไวที่สุด โดยเฉพาะกับคนจนเมืองซึ่งที่ผ่านมาเข้าถึงประโยชน์ด้านต่าง ๆ ได้ค่อนข้างยาก”

หยุดโกง หยุดเอื้อประโยชน์นายทุน จึงหยุดจน

หลังจากฟังทัศนะการแก้ไขปัญหาคนจนเมืองของอ.ยุ้ย ไปแล้ว ชวนมาฟังการแก้ไขปัญหาอีกมุมมองหนึ่ง ในทัศนะของรสนา โตสิตระกูล อีกหนึ่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ในนามอิสระ โดยเน้นแนวคิดสำคัญที่ว่า เมื่อไหร่ที่เราหยุดการโกงกินคอร์รัปชันได้ เมื่อนั้นความยากจนที่หมักหมม อยู่ในมหานครจะหมดไป

“ถ้าคุณไม่โกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำให้กรุงเทพฯ หยุดโกง จะสามารถเปลี่ยน

“เราจะสามารถมีทรัพยากร ในการที่จะจัดสรรสวัสดิการ ให้กับคนแต่ละกลุ่มที่มีความจำเป็นได้ ถ้าหยุดโกงได้ ไม่ใช่แค่คนจนที่จะได้รับประโยชน์ แต่เป็นทุกคนใน กทม.”

สำหรับนิยามคนจนเมืองของรสนานั้น เธอกล่าวว่าคือคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย หรือคนที่มีปัญหาในเรื่องของช่องทางทำมาหากินต่าง ๆ

โดยปัญหาที่สำคัญของคนจนเมือง 3 อันดับแรก รสนามองว่า
1.คือเรื่องของการมีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง
2.การไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีได้
3.คือการที่คนจนเมืองเหล่านี้ ไม่สามารถดูแลลูกหลาน จนทำให้หลุดออกจากระบบการศึกษา

ซึ่งสิ่งนี้เธอกล่าวว่าส่วนหนึ่งเกิดจาก การที่คนจากพื้นที่อื่นเข้ามาอาศัยทำมาหากินใน กทม. แต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จึงไม่มีโอกาส ในเรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐจะต้องจัดให้

“คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด จะต้องทำให้เขาได้รับสิทธิในฐานะของการเป็นมนุษย์ เขาควรจะได้เข้าถึงสิทธิของการรักษาพยาบาล

“คนที่เข้ามาทำงานใน กทม. ถึงแม้เขาจะไม่มีทะเบียนบ้าน แต่เขาเข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสของชีวิตในกรุงเทพฯ เพราะในบ้านของพวกเขาไม่มีงาน  ทำให้ทุกเส้นทางมุ่งมาสู่กรุงเทพ และคนเหล่านี้เขาได้ใช้แรงงานในการสร้างสรรค์เมือง กทม. แต่คนกลับถูกทอดทิ้ง”

ปัญหาคนจนเมืองที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือเรื่องที่อยู่อาศัย รสนาตระหนักถึงปัญหานี้ แต่ด้วยประสบการณ์การทำงานการเมืองภาคประชาชนมาอย่างยาวนาน เธอรู้ดีว่าการแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“การเติบโตของเมืองเป็นเพียงความต้องการดูดซับเอาแรงงานส่วนเกินของคนเหล่านี้ มาสร้างความเจริญให้กับบ้านเมือง แต่ว่าไม่ได้ให้สิทธิในการที่เขาจะมีชีวิตอยู่ ดิฉันคิดว่าในเมื่อรัฐมีพื้นที่ของตัวเองจำนวนมาก และสามารถจัดสรรให้กับกลุ่มทุนใหญ่ ๆ ในการที่เขาจะได้รับพื้นที่เป็นสัมปทานในการใช้พื้นที่ต่าง ๆ มากมาย 

“แต่ทำไมไม่มีรัฐบาลไหนเลย ที่จะจัดสรรพื้นที่แบบนี้ให้กับคนจนเมือง ที่เขามีส่วนในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจของมหานครแห่งนี้  ให้เขามีที่อยู่ที่เหมาะสม สามารถจะเลี้ยงดูลูกหลาน เพราะว่าในที่สุดแล้วลูกหลานทั้งหลายของเขา คืออนาคตของประเทศเหมือนกัน”

รสนายอมรับว่าผู้ว่า กทม. ไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนั้น เพราะเรื่องของที่ดิน บางพื้นที่อยู่นอกเหนืออำนาจของกทม. แต่สิ่งที่ผู้ว่ากทม. ทำได้ เธอบอกว่าคือการที่จะเข้าไปช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับคนเหล่านี้  เช่น การจัดสรรพื้นที่ว่างกับคนจนเมือง ให้สามารถทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ช่วยให้เขามีอาหาร

หรือโครงการการติดตั้งโซล่ารูฟเพื่อที่จะลดค่าไฟ เพราะในชุมชนแออัด คนเหล่านี้ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ แพงกว่าคนรวย เพราะว่าเขาต้องไปพ่วงสายจากคนอื่น

“คือการที่คนจนเมืองมีปัญหาเรื่องที่ดินนั้นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่คนควรจะเข้าถึง เป็นสิ่งที่ กทม. ควรจะต้องช่วยเหลือให้เขาเข้าถึง” 

รสนาเน้นย้ำว่า กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลเรื่องเหล่านี้ ก่อนที่เธอจะกล่าวต่อว่า

“มันขาดความเป็นธรรม เราสร้างเมืองสร้างเศรษฐกิจทำให้ทุนร่ำรวยขึ้น แต่ในขณะที่คนเหล่านี้ถูกทอดทิ้ง ค่าแรงขั้นต่ำไม่มีโอกาสที่จะได้ขยับ ขณะที่ค่าครองชีพขยับสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นความเหลื่อมล้ำ

“แล้วเราจะสร้างสรรค์สังคมไปเพื่ออะไร ในเมื่อคนต้องมีงาน ถึงจะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิ่งนี้มันเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมือง คุณจะทำให้เกิดความสมดุลได้อย่างไร ระหว่างการที่สังคมเราเป็น mass production แต่ถึงที่สุดแล้วคุณก็ต้องรักษาสมดุล ให้คนต้องมีงานทำ เพราะคนมีครอบครัวที่ต้องดูแล และการมีครอบครัวคือการสร้างสังคมของมนุษย์”

สำหรับรสนาการแก้ไขปัญหาโดยการจัดสรรที่ดิน ให้คนจนเมืองเหล่านี้ไปอยู่ในเขตปริมณฑล เป็นการแก้ไขปัญหาของความคิดแบบเก่า ๆ ที่ไม่เคยแก้ไขปัญหาได้ และเธอไม่เห็นด้วยกับนโยบายเช่นนี้

“เว้นซะแต่ว่าคุณจะสามารถสร้างงานในเขตปริมณฑล คนที่ไปอยู่ที่นั่นมีงานทำในพื้นที่ตรงนั้น ไม่ใช่ในที่สุด คุณผลักดันเขาออกไป และเขาก็กลับมาอยู่ที่เก่าเพราะงานของเขาอยู่ใจกลางเมือง

“มันคือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบแบบเก่า ถ้าที่ไหนเจริญขึ้นมาจะต้องมีแต่คนรวยเท่านั้น ดังนั้นตัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นตัวก่อปัญหากับผังเมืองของกรุงเทพฯ มาก เพราะตัวธุรกิจพวกนี้พยายามผลักดันให้คนออกไปจากเมือง เพราะใจกลางเมืองมีแต่ที่ดินราคาแพง ดังนั้นเลยมีแต่คนร่ำรวยเท่านั้นที่จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ใจกลางเมืองหลวงได้

“รัฐต้องเลิกคิดเรื่องกำไรบ้าง เพราะคนเหล่านี้เขาเป็นคนที่อยู่สร้างเศรษฐกิจให้กับกรุงเทพเหมือนกัน ต้องยอมรับก่อนว่าคนจนเมืองเหล่านี้เขาเป็นสมาชิกคือคนที่อยู่ในเมือง  คนที่สร้างความเจริญเติบโตให้แก่เมือง แต่ถ้าเรามองในแง่ของการเป็นภาระอย่างเดียว มันจะเป็นเรื่องที่เราเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่สิ่งอื่นที่เราต้องรับผิดชอบ เรากลับมองว่าเป็นภาระ”

รสนาชูนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนเมือง ในการลงเลือกตั้งสมัครผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ เธอเน้นย้ำถึงนโยบายเงินบำนาญ 3,000 บาท แม้จะยังไม่ใช่เงินบำนาญถ้วนหน้า แต่เธอเชื่อว่านโยบายนี้ จะยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มคนผู้สูงอายุในเมืองกรุง ที่ยังไม่มีหลักประกันใด ๆ รองรับ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

“ยังไม่ใช่เป็นบำนาญถ้วนหน้าแบบเดียวกับที่รัฐส่วนกลางจัดให้ แต่ว่าเป็นส่วนเสริม ที่จะให้กับคนที่ไม่มีหลักประกัน ทุกวันนี้เบี้ยคนชราเดือนละ 600 บาท ตกวันละ 20 บาท เขาจะอยู่ได้อย่างไรโดยเงิน 600 บาท

“แต่เงิน 3,000 บาทที่จะเอามาใช้ เราไม่ได้พูดลอย ๆ มันจะเป็นเงินที่เรารีดมาจากช่องทางต่าง ๆ เช่น  ถ้าเราทำให้ขยะที่ซึ่งมันควรจะเป็นรายได้ แต่ในเวลานี้ขยะเราใช้เงิน 7,000 พันล้านต่อปีในการจำกัด ทั้งที่เราบอกว่าขยะคือทรัพย์สินแต่คุณใช้เงิน 7,000 พันล้าน เราจะพยายามทำให้ขยะเป็นรายได้ให้ได้ซัก 700 ล้านบาท” 

ในตอนท้ายรสนา ได้เน้นย้ำว่าการจะแก้ไขปัญหาคนจนเมืองได้นั้น ตัวผู้ว่า กทม. ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่จะกำหนดทิศทางของนโยบาย และทำให้กรุงเทพฯ หลุดจากวงจรเก่า ๆ ในฐานะมหานครที่ยึดครองพื้นที่แห่งความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดมาอย่างยาวนาน

“คนจนเมืองเป็นกลุ่มคนที่เราต้องให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในทุกมิติ เราให้ความสำคัญกับคนทุกคนที่อยู่ใน กทม. คนที่มีน้อยรัฐต้องให้มาก เราเชื่ออย่างนั้น เพราะฉะนั้นคนที่ได้น้อย หรือคนที่ยากลำบาก กทม. มีหน้าที่ต้องดูแล มันอยู่ในภารกิจของ กทม. ที่จะต้องใส่ใจ

“ถ้าคุณให้โอกาสกับกลุ่มทุนทุกอย่าง แต่ในขณะที่คนตัวเล็กตัวน้อย ที่เขาเป็นฐานพีระมิดทั้งหมด คุณไม่ได้ดูแลเขาเลย คุณปล่อยให้คนเหล่านี้ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ยากแค้น มันเป็นสังคมที่ขาดความเป็นสมดุลของความเป็นมนุษย์”

การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. 2022 ใกล้เข้ามาถึง แม้คนจนเมืองจะไม่ใช่ผู้คนทั้งหมดในเมืองแห่งนี้ แต่พวกเขาคือกลุ่มคนที่แบกรับมหานครแห่งนี้ไว้ เชื่อเหลือเกินว่าหากคุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตโดยรวมของเมืองแห่งนี้ ของทุกคนย่อมดีขึ้นตามมา

และผู้ว่า กทม. คนใหม่ที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่อจากนี้ 4 ปี คงเป็นได้ทั้งคนที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจนเมือง หรือเป็นคนที่ผลักไสคนจนเมืองออกไปจากเมืองแห่งนี้ ดั่งที่เราเห็นจากนโยบายของกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

อ่านเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ว่า กทม. ต่อได้ที่:
ราคาความเหลื่อมล้ำที่คนธรรมดาต้องจ่าย โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 5 นโยบายพื้นฐานสำหรับคน 99%
มหานครประชาธิปไตย: กรุงเทพฯ ที่ประชาชน (ไม่ใช่ผู้ว่า) เป็นเจ้าของ
“ขอบ้าน-ขอค่าเจ็บป่วย“ เสียงคนจนริมรางถึงว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.
ย้อนดูนโยบายหาเสียง อดีต 6 ผู้ว่าฯ กทม.