ทุกคนเป็นเจ้าของทุกอย่าง - Decode
Reading Time: 2 minutes

เพราะความสงสัยและความห่างไกลจากคำว่า ‘คอมมิวนิสม์’ ที่เคยผ่านหูมาแบบนับครั้งไม่ได้ นับครั้งไม่ได้ที่ไม่ใช่เพราะได้ยินบ่อยจนขี้เกียจจะนับ แต่เป็นเพราะแทบจำไม่ได้เลยว่า สังคม คนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งตัวเอง ถกเถียง แลกเปลี่ยนถึงสังคมและเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสม์ล่าสุดเมื่อไร 

หลายตำราอาจอธิบายให้เข้าใจคำว่า คอมมิวนิสม์ (Communist) ที่มีรากมาจาก Commun ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า กลุ่มคน ผู้คน การอยู่ร่วมกัน ว่ามีหลักการดังนี้ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไรทั้งสิ้น ทุกคนเป็นเจ้าของทุกอย่าง’

แต่สำหรับคำว่า คอมมิวนิสม์ (Communist) ในหนังสือ ‘คอมมิวนิสม์สำหรับสหายน้อย (Communist For Kids)’ เขียนโดย Bini Adamczak นักทฤษฎีสังคมและจิตรกรชาวเยอรมัน แปลเป็นไทยด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายโดย เกศกนก วงษาภักดี หนังสือบอกตั้งแต่บรรทัดแรกในบทที่หนึ่งว่า  

“คอมมิวนิสม์ คือชื่อของสังคมที่ถอนรากความชั่วร้ายทั้งปวงที่ผู้คน…ต้องทรมานแสนสาหัสภายใต้ระบอบทุนนิยม” 

จึงเป็นหนังสือที่ไม่ได้ propaganda ชวนให้เชื่อด้วยการโฆษณาความสวยงามของโลกคอมมิวนิสม์ แต่เป็นหนังสือที่วิพากษ์ระบบทุนได้อย่างเจ็บแสบ พร้อม ๆ กับบรรยายให้เห็นการล้มลุกคลุกคลานของคอมมิวนิสม์ บนสายธารประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 

และตรงกันข้ามกับชื่อหนังสือที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นหนังสือเด็ก ด้วยชื่อ ‘คอมมิวนิสม์สำหรับสหายน้อย’ ในฉบับภาษาไทย และ Communist For Kids ในฉบับอังกฤษ ที่ได้เพิ่ม For Kids เข้าไปเพราะเหตุผลทางการตลาดจากต้นฉบับภาษาเยอรมันที่ชื่อว่า Kommunismus  

ใครเป็นเจ้าของโลก? 

เป็นคำถามที่ใหญ่พอควร แต่ไม่ได้ยากเกินที่จะตอบได้ว่า “คงเป็นของเราทุกคน เป็นของสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลก หรือไม่ก็คงไม่มีเลย” หรือถ้าใครตอบต่างจากนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันได้ แต่ถ้าเราทุกคนเป็นเจ้าของโลกร่วมกัน เราจะไม่แปลกใจหน่อยเหรอ 

แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ อากาศ เป็นส่วนหนึ่งของโลก และจำเป็นต่อการมีอยู่ของทุกคน แต่ทำไมวันนี้กรรมสิทธิ์ถึงตกไปอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ โดยที่ผลักการเข้าถึงทรัพยากรบนโลกได้อย่างเท่าเทียมเป็นความผิด เป็นการบุกรุก หรือเป็นการลักขโมยได้อย่างไรกัน? 

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่าไปไกลกว่า 500 ร้อยปีที่ผ่านมา เพราะ “ระบบทุนนิยม” เพิ่งก่อร่างขึ้นเริ่มจากประเทศอังกฤษเมื่อ 500 ปีที่แล้ว และเชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินอยู่บ้าง ในวิชาสังคมเกี่ยวกับการปกครองระบอบฟิวดัล ระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์ ราชินี เจ้าชาย เจ้าหญิง ขุนนาง อัศวิน และไพร่ ความสัมพันธ์ของมนุษย์อยู่ในระดับเป็นที่เข้าใจกันว่า

“ข้าเจ้านาย แก่ผู้พึ่ง”

เป็นยุคที่ผู้คนธรรมดา ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ต้องทำงานหนักหลังขดหลังแข็ง เพื่อให้ถูกใจและมีสิทธิ์อาศัยอยู่บนที่ดินของชนชั้นที่ในหนังสือเรียกว่า ‘ชนชั้นปกครอง’

จนวันที่โลกรู้จักคำว่า ‘การค้า’ และ ‘พ่อค้า’ เมื่อสิ่งประกอบสร้างที่เรียกว่าเรือ เดินทางจากอังกฤษไปยังดินแดนโพ้นทะเลได้ สิ่งที่ไม่เคยมีก็เกิดขึ้นให้ได้เห็น การขโมยเพชรในอเมริกาส่งขายให้กับยุโรป หรือการขโมยมนุษย์ในแอฟริกาเพื่อส่งขายให้กับชาวอเมริกัน ความร่ำรวยมหาศาลจากการหาสินค้ามาค้า 

ความมั่งคั่งที่เคยเป็นของชั้นชนกษัตริย์ ถูกสั่นคลอนด้วยความอิจฉาพ่อค้าที่ร่ำรวย ไพร่ทั้งหลายจึงต้องเปลี่ยนวิถี ผลิตแต่สิ่งที่ขายได้ราคาดีเพื่อส่งส่วย

“เหล่าเจ้าหญิงจึงออกคำสั่งให้ไพร่เลิกปลูกผักกาดเทอร์ทิป และหันมาเลี้ยงแกะแทน…การเลี้ยงแกะใช้คนน้อยกว่า…และเมื่อมีแกะอยู่เต็มไปหมด ผู้คนจึงแร้นแค้นจนแทบจะอยู่ไม่รอด และนั่นทำให้ไพร่ส่วนใหญ่กลายเป็นส่วนเกินที่ไร้ความจำเป็น”

ท้ายที่สุดเมื่อไม่มีที่ดินอดีตชาวนาชาวไร่ ก็ถูกขับไล่ด้วยชั้นชนทหาร จากเคยมีอยู่มีกินเป็นพื้นฐาน ต้องอพยพมาทำงานในเมืองใหญ่ ปลูกผักไม่ได้ จะลักขโมยก็ถูกจับ สิ่งเดียวที่รุ่งเรืองในตอนนั้นคือ ขายตัวเองให้กับโรงงาน เพื่อให้มีเงินซื้อของกินและมีชีวิตอยู่ต่อไป

มันเจ็บตรงที่ว่า มองมายังปัจจุบันมนุษยชาติก้าวหน้าขึ้นจริงเหรอ? เรายังคงต้องตรากตรำทำงานหนักทั้งชีวิต ในขณะเดียวกันต้องก้มหัวยอมรับชะตากรรมที่ไม่มีวันมั่นคง และหลักการ ‘ทำมากได้มาก’ อาจเป็นสิ่งที่ใช้งานได้ยากในระบอบทุนนิยม

ในหนังสือผู้เขียนอธิบายหลักการทำงานของทุนนิยมว่า เหมือน ‘ผีถ้วยแก้ว’ ที่การเคลื่อนที่ของแก้วอาจเป็นการเคลื่อนด้วยนิ้วที่สั่นกลัวของแต่ละคน แต่ที่สำคัญกว่าคือ ทุกคนเชื่อในสิ่งนั้น เชื่อว่ามีวิญญาณและสิ่งลี้ลับเคลื่อนแก้วนั้นไป และเชื่ออย่างสุดใจเมื่อแก้วเลื่อนผ่านไปทีละจุด 

การทำงานของระบอบทุนนิยมเป็นแบบนี้ มันเกิดจากการปรุงแต่งของคนเล่นผีถ้วยแก้ว เป็นระบอบที่ไม่ได้ทำงานคนเดียวโดดเดี่ยวจากผู้อื่น และยิ่งกว่านั้นคือ ทุกคนไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าอาจเกิดจากการกระทำของคนทั้งหมดร่วมกัน หรืออาจเกิดจากคนมีสติสักคนในวงที่ออกแรงเคลื่อน คล้ายกับเป็นมือที่มองไม่เห็น แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็ให้ค่ากับวัตถุ (แก้ว) 

ตอนเด็ก ๆ เราไม่เข้าใจหรอกว่า ความรู้สึกที่เราใส่รองเท้านักเรียนคนละยี่ห้อกับเพื่อนจะสร้างความอับอายและขุดความรู้สึกต่ำต้อยขึ้นมาให้ตัวใหญ่ขึ้น เราไม่รู้เลยว่าความรู้สึกกดทับเหล่านี้ ล้วนเกิดจากการที่สิ่งของมีอำนาจเหนือความสัมพันธ์ที่ยึดคุณค่าของมนุษย์ และเชื่อว่าคนมากกว่าครึ่งโลกอาจไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำว่าทุนนิยมคืออะไร

“ผู้คนโดยส่วนมากไม่ได้อยากทำงานหรอก พวกเขาอยากจะพักผ่อนต่ออีกสักหน่อย หรือไปกินอาหารเช้ากับเพื่อนฝูง แต่ผู้คนต้องเก็บเงียบเอาไว้ในใจ”         

เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าการทำงานเป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่เงินตราเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าความหลงใหลใฝ่ฝันและการใช้ชีวิต จากการปกครองระบอบฟิวดัล ที่ตอนนี้ชาวนาลอกคราบเป็นแรงงานและกรรมกรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การมีงานทำจึงเป็นสิ่งที่เลอค่า ในระบบที่ประกอบไปด้วยตลาด การแข่งขัน และจบลงที่วิกฤต 

ในหนังสือผู้เขียนเลือกที่จะเล่าเรื่องผ่านโรงงานเตารีด แต่ถึงแม้จะเปลี่ยนเป็นโรงงานเครื่องซักผ้า ปืน หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จุดจบคงไม่ต่างกัน เพราะท้ายที่สุดมันจะดิสรัปด้วยตัวเอง ด้วยการไปต่อไม่ไหว แข่งขันไม่ได้ ผลิตแล้วไม่มีใครซื้อ สู่การเจ๊งและปิดตัวลงของโรงงาน พร้อม ๆ กับสถานะคนตกงานที่มีอยู่เต็มเมือง

การจำลองเรื่องในหนังสือที่บอกเล่าความพังพินาศภายใต้ระบอบทุนนิยม ทำให้แรงงานและตัวละครเริ่มคิดหาระบอบใหม่หลังวิกฤต ระบอบแบบไหนที่แฟร์ ที่ใหม่และแตกต่างออกไป

ทุกคนนั่งอยู่รอบ ๆ เตารีด เพื่อครุ่นคิดพิจารณาระบอบทุนนิยม ตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่าความพินาศย่อยยับที่เกิดขึ้น เป็นความผิดของทุนนิยมหน้าเลือด
“เห้อออ ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย” ผู้คนครุ่นคิด
“เริ่มแรกทุนนิยมก็ทำให้เราไม่มีความสุขแล้วจากนั้นระบอบมันก็ห่วยไปเรื่อย ๆ ”
“และอีกอย่างนึงนะ” ใครบางคนตะโกนขึ้น
“เราอยู่ในระบอบทุนนิยมมาตั้ง 500 ปี นั่นมันนานเกินพอละนะ ถึงเวลาเปลี่ยนได้แล้วปะ?” 

…ทันใดนั้นเอง คำตอบก็ผุดขึ้นมา “คอมมิวนิสม์ไง ! ” 

การจินตนาการถึงโลกใบใหม่ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อตอบคำถามว่าที่ว่า “ไม่มีของเดิมแล้วจะเอาอะไรมาแทน?” เมื่อตัวละครในหนังสือเริ่มที่จะทดลอง ที่มีทั้งหมด 6 การทดลองด้วยกัน แต่ด้วยข้อจำกัดในพื้นที่แบบบทความ เราแนะนำให้ทุกคนได้สัมผัสความลึกซึ้งและความรู้สึกของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น ‘สังคมคอมมิวนิสม์’ ด้วยตัวเอง

เมื่อเราอ่านมาจนถึงท้ายเล่มจึงรู้ว่า ทำไมจากการทดลองทั้ง 6 ไม่สามารถตอบโจทย์สังคมได้ทั้งหมด ไม่ว่าการทดลองที่ 1 จะพยายามลงขันกันในหม้อที่เรียกว่ารัฐ แต่ก็ยังคงเกิดปัญหาหรือจุดแก้ไขตามมาเรื่อย ๆ

และทำไมการทดลองสุดท้ายในเล่ม (การทดลองครั้งที่ 6) กลับไม่ใช้ประโยคปิดท้ายว่า “ไม่ ไม่ ไม่ นี่ไม่ใช่คอมมิวนิสม์” แต่กลับเป็น “สวัสดีจ้า”

จากความเข้าใจของเรา นี่คงเป็นคำตอบจากผู้เขียนที่ต้องการสื่อว่า คำถามที่ว่าแล้วคอมมิวนิสม์คืออะไรนั้น แท้จริงแล้วไม่สามารถตอบได้ โลกสังคมคอมมิวนิสม์ควรเป็นแบบไหน เป็นสิ่งที่ไม่มีคำตอบหรือหลักการเบ็ดเสร็จ แต่เป็นการลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ บนฐานคิดที่คนเท่ากันและเป็นสังคมที่ทุกคนต้องร่วมกันสร้างมันขึ้นมา

สร้างระบอบที่นอกจากการเกิดมามีชีวิตที่สามารถหลงใหลใฝ่ฝันและเป็นชีวิตที่มีคุณภาพ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ผูกโยงกับเงินตรา เช่นเดียวกับการยิ้มให้ทักทายกันที่ไม่ได้หวังว่าจะได้ผลประโยชน์อะไรตอบแทน  หรือเป็นการยิ้มที่หวังว่าลูกค้าจะให้ Tips แบบที่เราเคยสัมผัสมาจาก American culture

แต่ทว่าบนความเป็นจริงของวันนี้…ระบอบที่ดำเนินไปในวันนี้ยังคงดำเนินต่อไปบนการจับกลุ่มของกลุ่มคนหนึ่งซึ่งน้อยนิดที่จับมือกันขูดรีด กดขี่ และสถาปนาตนเป็นชนชั้นต่าง ๆ เพื่อยึดสิทธิ์การเป็นเจ้าของโลกไปจากคนส่วนใหญ่ และทิ้งทางเลือกไว้ให้เราเพียงแค่ ซื้อ ไม่ซื้อ หรือขโมย 

หนังสือ: คอมมิวนิสม์สำหรับสหายน้อย (Communist For Kids)
นักเขียน: Bini Adamczak (บินี อดัมซัค)
นักแปล: เกศกนก วงษาภักดี
สำนักพิมพ์: นิสิตสามย่าน, สนพ.

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี