'สหภาพไม่ใช่ศัตรู' โลกคู่ขนานของขบวนการแรงงานไทย VS ศักดินา นายทุน - Decode
Reading Time: 3 minutes

คนส่วนใหญ่แทบทั้งหมดในประเทศนี้คือ “คนทำงาน” (หรือแรงงานตามแต่จะเรียก) ไม่ว่าคุณจะเป็นกรรมกรไซต์ก่อสร้าง ชาวนา วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาด พนักงานออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือข้าราชการ ฯลฯ ก็ต่างแลกกำลังกาย กำลังสมอง เพื่อค่าตอบแทนในการดำรงชีพทั้งสิ้น

อาจเรียกได้ว่าคน 99% ของประเทศ คือผู้ใช้แรงงานไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง มีคนเพียง 1% เท่านั้นที่ควบคุมปัจจัยการผลิตคือ ชนชั้นนำและนายจ้าง-นายทุน

แม้จะมีสัดส่วนต่างกันมากขนาดนี้ แต่ไฉนเมื่อถึงคราวที่ต้องชุมนุมเรียกร้องปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง รัฐและนายจ้าง-นายทุนมักไม่ค่อยรับฟัง เสียงของ “คนทำงาน” ไร้ราคา ไร้ความหมาย เป็นได้เพียงเสียงลมที่แผ่วเบายามกระทบถึงหูคนเหล่านี้

หรือเป็นเพราะว่าประเทศนี้ ไม่มีสหภาพที่เข้มแข็งมากเพียงพอ? ทั้ง ๆ ที่มีสหภาพเกิดขึ้นมาเนิ่นนานเกือบศตวรรษ หากเป็นเช่นนั้น ปัญหาเรื้อรังนี้จะแก้เช่นไร? 

De/code ชวนคนทำงาน 2 คนจากสหภาพคนทำงาน คือ เอ้ย ดวงสมพงษ์ กับป๊อป ธนภัทร มาร่วมชำแหละปัญหาของสหภาพแรงงานในไทย ซึ่งหลายปัญหาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่สั่งสมเรื้อรังมาตั้งแต่อดีตแล้ว

การต่อสู้ข้ามยุคสมัย ขบวนการแรงงานไทย VS ศักดินา-นายทุน

ขบวนการแรงงานไทยตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน มีขึ้นมีลงในแต่ละช่วงเวลาเช่นเดียวกับหลายสถาบัน หลายกลุ่มทางการเมือง ซึ่งประเด็นสำคัญที่เอ้ยชี้ให้เห็นคือ บริบททางการเมืองมีส่วนอย่างยิ่ง ในการกำหนดความเป็นไปของขบวนการแรงงาน

ในช่วงที่ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย ขบวนการแรงงานจะมีความเติบโต มีพื้นที่แสดงออกทางการเมือง รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆ มีแนวโน้มที่รัฐจะยอมทำตาม อย่างในช่วงหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา หรือสมัยคณะราษฎร (2475-2490) ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ในยุคนี้ได้เกิดสมาคมคนงานแห่งแรกของไทยคือสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จากนั้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีการก่อตั้งสมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย ที่รวมแรงงานทุกภาคส่วนเข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งได้รับการยอมรับจนสามารถจัดงาน ‘วันเมย์เดย์’ หรือ ‘วันกรรมกรสากล’ (May Day) ได้เป็นครั้งแรกในปี 2489 และ 2490

อีกช่วงคือ ปี 2536 ขบวนการแรงงานร่วมมือกับขบวนการภาคประชาชน ต่อสู้และเรียกร้องให้รัฐบาลตอบสนองต่อสิทธิแรงงานหญิง ในเรื่องสิทธิลาคลอด 90 วัน และยังได้รับค่าจ้างจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเอ้ยถือว่า “เป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในการต่อสู้ของแรงงานไทย”

ทว่าในปีเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม โดยนายจ้างพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับผิดชอบ จ่ายค่าชดเชยให้แก่คนงานที่เสียชีวิตและได้รับผลกระทบ ขบวนการแรงงานจึงร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนรณรงค์ และกดดันรัฐบาลกับนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยแก่แรงงาน เรียกร้องให้ปฏิรูประบบดูแลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

แม้ข้อเรียกร้องอย่างหลังจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ได้สร้างความตระหนักจนรัฐบาลยอมเสนอให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

แต่ในยุคที่รัฐบาลเป็นเผด็จการ ขบวนการแรงงานจะอ่อนแอลงอย่างมาก สัญญาณเริ่มขึ้นตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 ที่สมาคมสหอาชีวะกรรมกรฯ ต้องยุติบทบาทลง เพราะรัฐบาลไม่ยอมให้จดทะเบียนต่อ แม้ภายหลังในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ที่เกิดความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ และขบวนการแรงงานกลับมาได้อีกครั้งในนามสมาคมกรรมกร 16 หน่วย ซึ่งสามารถผลักดันกฎหมายแรงงานขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และจัดงานวันเมย์เดย์ได้อีกครั้งในปี 2499 และ 2500 แต่นั่นก็เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ

ต่อมาในยุคสงครามเย็นที่ความเป็นเผด็จการทหารพุ่งขึ้นถึงขีดสุด ขบวนการแรงงานยิ่งอ่อนแอลงไปอีก ผู้นำแรงงานที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลุ่มที่เคยอยู่ในสมาคมสหอาชีวะกรรมกรฯ และกลุ่มกรรมฝ่ายซ้ายที่มีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งหมดต่างถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ที่เสมือนดั่งอาญาสิทธิ์ชี้เป็นชี้ตายใครก็ได้ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หลัง 6 ตุลาฯ รัฐบาลเผด็จการบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งมีบทบัญญัติมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมตัวจัดตั้งของแรงงาน เปิดโอกาสให้รัฐเข้าแทรกแซงและควบคุม คนงานไม่สามารถใช้สหภาพแรงงาน เคลื่อนไหวในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานได้

ทั้งยังกำหนดให้มีสภาพแรงงานเพียง 2 แบบ คือ สหภาพแรงงานแบบสถานประกอบการและสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม ขณะที่สหภาพแรงงานช่างฝีมือ-วิชาชีพ และสหภาพแรงงานแบบเดิมที่เคยทำได้ ก็ไม่ได้รับการรับรองเอาไว้ มิหนำซ้ำแรงงานที่จะใช้สิทธิจัดตั้งและรวมตัวเจรจา จะต้องเป็นแรงงานในภาคเอกชนที่มีนายจ้างเท่านั้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ให้สหภาพแรงงานอยู่ในขอบเขตของที่ทำงานเท่านั้น คือคุณสามารถเรียกร้องได้แค่เรื่องค่าจ้าง การจ้างงาน ไม่สามารถไปแตะโครงสร้างทางการเมืองได้ และฝ่ายรัฐยังได้สร้างองค์กรไตรภาคีขึ้นอีกหลายองค์กร เพื่อให้ขบวนการแรงงานเข้าไปในเล่มในเกมที่เขาควบคุมได้ ทำให้เกิดความขัดแย้งในชนชั้นแรงงาน เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานเล็ก ๆ ย่อย ๆ อีกมาก เพื่อใช้เป็นฐานในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยระบบไตรภาคีที่รัฐออกแบบมา”

ภายหลังคณะ รสช. ยึดอำนาจในปี 2534 ขบวนการแรงงานต้องเผชิญหน้ากับการพยายามทำลายครั้งสำคัญก็คือ ยุบสหภาพแรงงานในภาครัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญของขบวนการแรงงาน เป็นการแยกแรงงานในรัฐวิสาหกิจไม่ให้รวมตัวกับภาคเอกชนได้

นอกจากนั้น รสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 54 ทำให้การนัดหยุดงานทำได้ยากขึ้น จากนั้นเมื่อประชาชนลุกขึ้นสู้กับ รสช. เมื่อปี 2535 ขบวนการแรงงานได้เข้าร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ ชัยชนะในการต่อสู้ครั้งนั้นทำให้เกิดบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เอื้อให้ขบวนการแรงงานสามารถเรียกร้องและต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่เป็นประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานไทยอย่างคร่าว ๆ ที่สุด ซึ่งพอจะเห็นภาพความแตกต่างของบริบททางการเมืองที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน ทีนี้แม้จะผ่านการต่อสู้มาหลายยุคหลายสมัย แต่ขบวนการแรงงานหรือสหภาพแรงงานไทยในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีกำลังมากพอต่อสู้และต่อรองกับรัฐ

ถ้ามองบริบททางการเมืองที่มีผลต่อสหภาพแรงงาน จะต้องมองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 จนถึงหลังรัฐประหาร 2557 ว่าเป็นเหตุการณ์ชุดเดียวที่มีความต่อเนื่องกัน ในมุมของเอ้ยนั้น ช่วงการเมืองเสื้อสีเหลือง-แดง ส่งผลกระทบให้เกิดความแตกแยกในขบวนการภาคประชาชน รวมทั้งขบวนการแรงงานด้วย

ส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงาน เข้าร่วมสนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลืองตั้งแต่ยังเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ จนถึง กปปส. เข้าใจได้ว่า พวกเขาต่อต้านทุนที่เป็นทุนสามานย์หรือทุนทักษิณ อันหมายถึงทุนแบบเสรีนิยม แต่ประเด็นก็คือกลุ่มเสื้อเหลืองก็เป็นทุนเหมือนกัน คือทุนเก่าแบบทุนศักดินา

นี่อาจเป็นการมองปัญหาความแตกแยกภายในขบวนการแรงงานในอีกแง่หนึ่ง ซึ่งสมควรจะต้องขบคิดกันอย่างจริงจังต่อไป

ปัญหาของขบวนการแรงงานไทยในขณะนี้ ยังต้องต่อสู้กับรัฐและนายทุนเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา ราวกับว่าตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พล็อตเรื่องขบวนการแรงงาน vs รัฐ-นายทุนยังคงดำเนินตามรอยเดิม แม้หลายภาคส่วนจะดูเจริญก้าวหน้าไปถึงไหน แต่สิทธิต่าง ๆ ของคนทำงานในไทยยังถูกลิดรอนไม่เปลี่ยนแปลง 

กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้สะท้อนภาพออกมาได้ชัด คนทำงานบริษัทบริลเลียนท์ฯ กว่า 1,388 คน ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า รวมทั้งไม่จ่ายเงินค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่พวกเขามีสิทธิ์ได้รับตามกฎหมาย ซึ่งทางกระทรวงแรงงานดูจะขยับต่อเรื่องนี้ค่อนข้างช้า แม้จะมีการชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ หน้าทำเนียบรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2564 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จนวันที่ 11 มีนาคม 2565 ครบรอบ 1 ปีที่ถูกเลิกจ้าง พวกเขาต้องเดินขบวนไปยังทำเนียบฯ อีกครั้ง เพื่อยื่นหนังสือไปยังรัฐบาล

“ยื่นหนังสือ” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยในยุครัฐบาลนี้ แต่การแก้ปัญหาหลังจาก “ยื่น” ไปแล้วนั้น ใช้เวลานานแค่ไหน เกิดขึ้นจริงหรือไม่นั่นก็ต้องลุ้นเอา

นอกจากนี้ในยุคปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทำให้เกิดการจ้างงานบนแพลตฟอร์มขึ้นมา แต่ตามที่เอ้ยเล่าให้ฟัง คนทำงานในกลุ่มนี้ก็ยังประสบปัญหาคล้ายกับกลุ่มอื่น ๆ ไม่มีสภาพการจ้างงานชัดเจน ไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย รวมทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก็ไม่ได้คุ้มครองคนทำงานเหล่านี้

การชุมนุมของเหล่าไรเดอร์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น อย่างเช่นเดือนมิถุนายน 2564 กลุ่มไรเดอร์สังกัดไลน์แมนจากอยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มารวมตัวยังอาคาร T-One สำนักงานใหญ่ของบริษัทไลน์แมนฯ หรือเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ กลุ่มไรเดอร์สังกัดเดียวกันในหลายจังหวัด เช่น มุกดาหาร สกลนคร พิจิตร ฯลฯ นัดรวมตัวประท้วงโดยการหยุดรับงาน และยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้ภาครัฐประสานไปยังบริษัทไลน์แมนฯ จุดร่วมของทั้ง 2 เหตุการณ์นี้คือ เรียกร้องค่าตอบแทนต่อรอบให้มีความเป็นธรรม

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การมีสหภาพที่เข้มแข็งถือเป็นสิ่งจำเป็น ทางสหภาพคนทำงานได้รวมตัวกับสหภาพแรงงานสร้างสรรค์และสหภาพไรเดอร์ ในนาม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เพื่อร่วมกันผลักดันประเด็นเกี่ยวกับคนทำงาน/แรงงานกันต่อไป

อำนาจต่อรองไร้ความเข้มแข็ง ข้อจำกัดที่ต้องข้ามผ่านไปให้ได้

สถานการณ์ขณะนี้ แรงงานไทยไร้อำนาจต่อรองกับนายจ้าง-นายทุน หรือรัฐอย่างเห็นได้ชัด เสียงความทุกข์ร้อนของเหล่าแรงงานมักไม่ค่อยถูกรับฟัง การเอารัดเอาเปรียบเวลาการทำงาน รวมถึงกดขี่ค่าแรงยังทำกันเป็นปกติ ยิ่งช่วงเวลาที่เกิดโรคโควิด-19 อย่างตอนนี้ ก็มักจะเห็นข่าวการลอยแพเลิกจ้างแรงงานกันอยู่เนือง ๆ

ป๊อปอธิบายถึงสาเหตุที่แรงงานหรือสหภาพแรงงานในไทย ไม่มีพลังมากพอจะต่อสู้-ต่อรองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากบรรดานายจ้าง-นายทุน หรือรัฐไว้ 6 ข้อ

ข้อแรก ข้อจำกัดทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมอุปถัมภ์ซึ่งตกทอดจากสังคมศักดินาไม่เชื่อเรื่องคนเท่ากัน มองว่ากลุ่มคน 1% มีสถานะที่สูงกว่าคน 99% อาจเป็นเพราะด้วยชาติกำเนิด สถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่แตกต่าง ทำให้คนต้องยอมรับในความไม่เสมอภาค และวัฒนธรรมเช่นนี้เป็นมูลเหตุสำคัญ ที่ทำให้ระบอบการเมืองการปกครองในประเทศไทยมีแนวโน้มเป็นเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสหภาพแรงงาน

ประเทศเผด็จการทั้งหลายจะมองว่าสหภาพเป็นศัตรู เพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะท้าทายต่อกรกับอำนาจของตน

“ในด้านแรงงานจะพบว่า เรายอมรับในความไม่เสมอภาคไม่เท่าเทียมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ด้วยการบัญญัติศัพท์เช่นนี้ ทำให้สถานภาพของนายจ้างถูกมองและคาดหวังว่ามีสถานภาพสูงกว่าลูกจ้าง”

ข้อสอง กฎหมายแรงงานในไทย มักออกมาบังคับใช้กับคนงานในลักษณะแบ่งแยกและปกครอง ซึ่งมาจากกรอบความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ที่พยายามจะแยกคนทำงานออกเป็นส่วน ๆ แยกคนทำงานเอกชนออกจากคนทำงานราชการและรัฐวิสาหกิจ และยังแยกแรงงานออกเป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไม่ให้สามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานได้

ส่วนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ได้จำกัดสิทธิการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ไว้เฉพาะคนทำงานที่มีสถานะเป็นลูกจ้างของนายจ้างในภาคเอกชน หรือเรียกว่าแรงงานในระบบ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ขณะที่คนทำงานกลุ่มอื่น ๆ กฎหมายแรงงานไทยไม่ได้รองรับสิทธิดังกล่าว ส่งผลให้คนทำงานในไทยเข้าเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานต่ำมาก ขบวนการแรงงานไทยก็อ่อนแอลง

ข้อสาม รัฐไทยมุ่งเอาใจแต่นายทุน แต่ควบคุมกดขี่คนทำงาน โดยรัฐมีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงสิทธิแรงงาน ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายได้ออกแบบให้เศรษฐกิจไทย ต้องพึ่งการลงทุนจากต่างชาติและพึ่งการส่งออกในอัตราที่สูงมาก ทำให้มีความพยายามเอาอกเอาใจกลุ่มทุนด้วยหลาย ๆ มาตรการ เช่น การให้สิทธิภาษีด้านศุลกากร การส่งเสริมการลงทุน การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ ด้วยข้ออ้างในการแข่งขัน

รัฐไทยพยายามช่วยผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้เกิดการกดขี่ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงต้นทุนด้านแรงงานอื่น ๆ เช่น ระบบสวัสดิการ

ข้อสี่ รัฐเข้าควบคุมและแทรกแซงกิจกรรมสหภาพแรงงาน ทำให้สหภาพแรงงานขาดอิสระในการดำเนินงานอย่างแท้จริง นับตั้งแต่ก่อตั้งที่ต้องไปจดทะเบียนขออนุญาต จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดรูปแบบให้เป็นได้เพียงแค่สหภาพประกอบการ หรือสหภาพอุตสาหกรรม จะตั้งสหภาพแบบฝีมือช่างหรือสหภาพทั่วไปไม่ได้ สหภาพแรงงานจะตั้งที่ปรึกษาโดยอิสระก็ทำไม่ได้ ต้องตั้งเฉพาะที่จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานเท่านั้น

ข้อห้า โครงสร้างอุตสาหกรรมและรูปแบบที่เปลี่ยนไป ทำให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นไปได้ยากขึ้น การผลิตสมัยใหม่ที่เป็นห่วงโซ่อุปทานจะกระจายการผลิตออกไป จึงเกิดสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กขึ้นมาจำนวนมาก อีกทั้งยังมีระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงและเหมาค่าแรงมากขึ้น ส่วนคนงานถูกผลักออกมาให้อยู่ในระบบเศรษฐกิจนอกระบบจำนวนมาก กฎหมายหลักของไทยก็ไม่ได้ให้ความคุ้มครองไปถึง

ข้อสุดท้าย การขาดความเป็นเอกภาพของสหภาพแรงงาน ซึ่งสหภาพแรงงานในไทยเรียกร้องเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ ปากท้อง สวัสดิการในที่ทำงาน ไม่สนใจการเมืองในภาพกว้าง โครงสร้างทางสังคม รวมทั้งสหภาพแรงงานจำกัดอยู่ในที่ทำงานของตนเท่านั้น ไม่ได้รวมกันเป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมแบบใหญ่ ๆ เลยเป็นที่มาของสหภาพคนทำงาน

“สหภาพคนทำงานที่จะเป็นสหภาพแรงงานรูปแบบใหม่คือ เป็นสหภาพแรงงานทางการเมือง เป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโครงสร้างสังคม การสร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และสหภาพการทำงานด้วย”

ความไม่เป็นธรรมของนายจ้าง ปัญหาเก่าที่ค้างคา

ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสหภาพคนทำงานคือ รับฟังปัญหาของพี่น้องแรงงานและช่วยเหลือหาทางออก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานมีมากมายเต็มไปหมด ป๊อปยกตัวอย่างปัญหาร้ายแรงที่พบเจอบ่อย มีตั้งแต่การทำงานเกินหน้าที่เกินตำแหน่งของแรงงานเอง เพิ่มงานเท่าตัวแต่ค่าจ้างเท่าเดิม กดค่าแรง การรับค่าจ้างที่ต่ำ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพื่อกลั่นแกล้งหรือเพื่อไม่ให้ปรับเงินเดือนหรือโบนัส สัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม

กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ลอยแพลูกจ้างหลาย ๆ พันคน เช่น พนักงานบริษัทบิลเลี่ยนที่เคยเรียกร้องตรงทำเนียบในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ส่วนบางบริษัทที่ต้องทำงานแบบมีความเสี่ยง กลับไม่มีสวัสดิการมารับรอง เช่น ประกันอุบัติเหตุ

“ถ้าเป็นอุบัติเหตุภายนอกจากการทำงาน เรามีแค่ประกันสังคมมารับรอง แต่ว่าประกันอุบัติเหตุที่คนทำงานควรจะได้ ไม่ได้ถูกมีให้ลูกจ้าง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของเรา”

เอ้ยกล่าวถึงปัญหาที่ใกล้ตัวทุกคนอย่างการเข้างานสายถูกหักเงิน แต่พอทำเกินเวลากลับไม่ได้โอที ซึ่งไทยมีวัฒนธรรมประหลาดคือ วัฒนธรรมทาสทางการเมืองและเศรษฐกิจที่แรงงานยอมถวายกายใจให้แก่นายจ้าง-นายทุน บางคนอาจมีมโนคติว่า ทำงานหนักจะรวย แต่ถ้าย้อนมาคิดดี ๆ การทำงานวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน 5-6 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ชีวิตรวยขึ้นจริง ๆ หรือพวกนายทุนต่างหากที่รวยขึ้นจากการกดขี่แรงงาน อย่างในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า มีวันหยุด วันลาพักร้อน มากกว่าไทย ทำไมคุณภาพชีวิตประชาชนของเขาดีกว่าไทยตั้งหลายเท่า

“ถ้าคุณตาสว่างเรื่องการเมือง คุณต้องตาสว่างเรื่องทุนด้วย มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราได้ประชาธิปไตยแล้วยังไปเจอเผด็จการในที่ทำงาน เจอกดขี่ขูดรีดอยู่เหมือนเดิม”

หลังจากสหภาพคนทำงานรับเรื่องและรับทราบปัญหาต่าง ๆ แล้วก็จะเข้าไปช่วยเหลือต่อ เอ้ยยกตัวอย่างกรณีคนที่โดนเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อรับเรื่องมาแล้วทางทนายและนักสิทธิแรงงานในสหภาพคนทำงาน ก็ช่วยลูกจ้างในการฟ้องนายจ้าง ดำเนินการต่อสู้ในทางชั้นศาล

ความเป็นเอกภาพคือเป้าหมายรูปธรรมในการต่อสู้กับรัฐ-นายทุน

การสร้างสหภาพแรงงานให้มีความเข้มแข็งมากพอจะต่อสู้กับรัฐและนายจ้าง-นายทุนได้ เอ้ยเน้นย้ำว่าจะต้องมีทั้งปริมาณและคุณภาพ ในส่วนของสหภาพคนทำงานก็ต้องขยายฐานสมาชิก หาแนวร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จูงใจให้คนทำงานเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก

ในขณะเดียวกันเมื่อสมัครสมาชิกเข้ามาแล้ว บรรดาสมาชิกต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน สหภาพต้องมีช่องทางให้สมาชิกได้ปรึกษา ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการจ้างงาน และต้องทำงานทางความคิดนั่นคือ การยกระดับความคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจให้เหล่าคนทำงานรู้ว่า ศัตรูที่แท้จริงคือคนที่คอยกดขี่เราอยู่ รวมถึงสร้างสำนึกร่วมทางชนชั้น

“เราทุกคนคือคนทำงาน คนทำงานคือเพื่อนกัน ไม่มีปัญหาฉัน-ปัญหาคุณ แต่เป็นปัญหาของเราที่เหล่าคนทำงานทุกคนต้องช่วยกันหาทางออก”

ป๊อปเสริมว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ของคนทำงานในสหภาพต้องอยู่แนวระนาบ ไม่มีลำดับชั้น โอบรับคนทำงานทุกภาคส่วน ให้สมาชิกรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและเข้ามามีส่วนกำหนดกิจกรรมร่วมกัน ทำให้สหภาพแรงงานมีอำนาจต่อรองให้แก่คนทำงานทั้งหลายได้จริง ๆ

“สิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้คือ ทำให้คนทำงานตระหนักว่า สิทธิในการรวมตัวคือสิทธิพื้นฐานที่จะให้ใครมาลิดรอนไม่ได้”

เพราะเราทุกคนคือคนทำงาน

May Day !