เล่าเรื่องเรา-รับฟังเรื่องเขา: Human Library ห้องสมุดมีชีวิตที่อาจเป็นพื้นที่เยียวยาหัวใจกันและกัน - Decode
Reading Time: 3 minutes

“แม้ว่าทุกคนล้วนเคยผ่านความยากลำบากในชีวิตมา แต่เราก็ยังอยากเรียนรู้ว่า เขาผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร นี่คือการเห็นความเชื่อมโยงของความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันนะ” – อ.เอเชีย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา

“ผ่านเรื่องนั้นมาได้อย่างไร?” 

คำถามคลาสสิกในวงสนทนาระหว่างเพื่อนพ้อง ระหว่างมื้ออาหารของออฟฟิศ หรือคำถามจากพิธีกรต่อนักแสดง ดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง “มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากมองหาการเรียนรู้ เป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เช่นกัน เมื่อเราฟังเรื่องอะไรก็อยากจะหาประเด็นการเรียนรู้ และอีกอย่าง เผื่อว่ามันเกิดขึ้นกับตัวเรา”

เช่นเดียวกันมันเป็นคำถามที่นักอ่านถามคนตรงหน้าในฐานะ “หนังสือมีชีวิต” ระหว่างกิจกรรม Human Library หรือห้องสมุดมนุษย์ ของโครงการธนาคารจิตอาสา และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) 

De/Code มีโอกาสได้เฝ้าสังเกตการณ์การอ่านหนังสือชีวิตครั้งนี้เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน มีหนังสือชีวิต 10 เล่ม ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 260 คน ด้วยเกณฑ์ว่าพวกเขาเหล่านี้มักถูกสังคมตัดสิน เหมารวมในทางใดทางหนึ่งเสมอ เช่น จากหน้าตา รูปลักษณ์ภายนอก มิติสุขภาพ การเจ็บป่วยทางจิต หรือร่างกาย รวมไปถึงอาชีพ ตั้งแต่ คนย้ำคิดทำ สาวซุปเปอร์ไซส์เกินร้อยโล ผู้หญิงที่มีรอยสักเต็มตัว แม่วัยใสและเลี้ยงเดี่ยว อดีตสาว CIA อดีตแรงงานสู้ชีวิตทีอเมริกาสไตล์โรบินฮู้ด ผู้ป่วยซึมเศร้า รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตาย นักแสดงละครใบ้ สาวที่มักถุกกล่าวหาว่าเป็นเมียเช่า และเจน Zที่ถูกหยาม

30 นาที ต่อ 1 รอบการเล่า “บางบท” ของชีวิต ผู้อ่านและผู้เล่านั่งเก้าอี้เผชิญหน้ากันและกัน เล่า และถาม-ตอบ ก่อนจบว่าคนอ่านรู้สึกอย่างไร

บทชีวิตของ “พี่จีน่า” ผู้หญิงที่มีรอยสักเต็มตัว

“อยากมาเล่าเพราะอยากมาบอกว่า เราไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น มิติในชีวิตเรามันขึ้นลงเยอะมาก บางทีเราย้อนกลับไปมอง เราผ่านตรงนั้นมาได้อย่างไร เราก็มาเจอเพราะรอยสักนี่แหละที่ทำให้เกิดเรื่องราว เราเจอคำถามมาตั้งแต่เด็กเพราะเราสัก แต่เราก็รอดมาได้เพราะรอยสัก เพราะทุกครั้งที่เราสัก หรือสักให้คนอื่น มันคือการปลดปล่อยของเรา”

เนื้อตัวพี่จีน่าเต็มไปด้วยรอยสัก หลากเรื่องราว และความหมายที่ถูกบันทึกลงผิว เริ่มมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น 16 ปี จากความต้องการที่จะแตกต่าง หาจุดเด่นให้ตัวเอง สุดท้ายมันพัฒนากลายเป็น “ความชื่นชอบ” ในรอยสัก และหวังที่จะทำเป็นอาชีพในอนาคต แต่ระหว่างวันที่ “ดื้อแพ่ง” เพื่อสัก พี่จีน่าต้องพบอุปสรรคมากมายที่ผู้คนทั้งภายในครอบครัว รั้วโรงเรียน เพื่อนฝูง และสังคม ตัดสินไปในเชิง “ผู้หญิงไม่ดี” มาตลอด 

“พ่อพี่เป็นปฏิปักษ์กับพี่ทุกเรื่อง พ่อคิดว่ารอยสักคนจะมองไม่ดี ก่อนหน้านี้การมีรอยสักของผู้หญิงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันต้องสุดโต่ง ไม่งั้นทำไม่ได้”

สิ่งที่ถูกกีดกั้นเพียงเพราะมีรอยสัก โดยเฉพาะทางความรู้สึก ทำให้พี่จีน่าดำเนินชีวิตอยู่บนการยังไม่ได้ยอมรับตัวเองอย่างเต็มที่เป็นเวลานานนับสิบปี การยอมรับตัวเองเกิดขึ้นเมื่อพี่จีน่าเปิดร้านสักเป็นของตัวเอง สามารถทำให้สิ่งที่ตัวเองชอบมาหาเลี้ยงตัวเองได้ และได้เห็นแล้วว่ายุคสมัยนี้คนยอมรับการสักมากกว่า เข้าใจงานศิลปะมากขึ้น 

“ทุกคนไม่ได้มีรอยสัก เพราะงั้นรอยสักไม่ใช่สำหรับทุกคน แค่บางคนเท่านั้น เพราะการเลือกมันมีกระบวนการนะตั้งแต่ว่าจะสักเป็นรูปอะไร มีความหมายอย่างไรกับเขา”

แต่ถึงอย่างนั้น พี่จีน่าก็ยังเหลือพื้นที่ “ลดการตัดสิน” ไว้ให้กับลูกเวลาไปงานประชุมผู้ปกครองของลูก ที่ต้องพยายามปกปิดส่วนที่สักเพื่อไม่ให้เพื่อนลูกหรือครูมองไม่ดี “แต่ลูกพี่มองว่า มันเจ๋งมาก” 

การได้เลือกมาเป็นหนังสือครั้งนี้ของพี่จีน่าเป็นอีกหนึ่งทางของการปลดปล่อยสิ่งที่พบเจอมาตลอดชีวิต และได้ตอบคำถามเกี่ยวกับรอยสักที่เมื่อก่อนแทบไม่มีใครอยากรู้ หรือถามมุมมองของเธอเท่ากับการตัดสินทุกอย่างไปแล้ว

แม่วัยใส เล่าเรื่องส่งพลัง รับฟังเพื่อเติมกำลังใจ

มิ้นต์ วัย 20 ต้นๆ กำลังดูแลลูกวัยขวบกว่าๆ เป็นอีกหนึ่งอาสาสมัครที่มาเป็น “หนังสือ” มิ้นต์บอกว่า แม้ตลอดชีวิตของตัวเองไม่ได้ราบรื่นตั้งแต่ยังเล็ก และสามารถผ่านพ้นความยากลำบากได้หลายๆ ครั้ง แต่ก็ยังต้องการกำลังใจ ซึ่งกำลังใจของเธอได้มาจากทั้งการได้เล่าเรื่องของตัวเอง และรับฟังเรื่องของคนอื่น

“ชีวิตเจออะไรมาเยอะมาก หนี้นอกระบบ ท้องก่อนวัย เรื่องรัก เรื่องเรียน เด็กอาชีวะ รอยสัก เราข้ามผ่านมันมาได้เหมือนบันไดทีละขั้น เลยอยากเป็นเรื่องราว และเป็นกำลังใจให้คนที่ฟัง ขนาดเราเจออะไรมาหลายอย่างและผ่านมาได้แล้วเรายังต้องการกำลังใจเลย ถ้าเราได้เล่าให้เขาฟังน่าจะมีกำลังใจ น่าจะฮึดสู้” 

ชีวิตที่มีแทบทุกมิติ รับฟังคำดูถูกมานับไม่ถ้วน แต่เรื่องที่หนักหนาที่สุดของมายมิ้นต์คือการมีลูกในช่วงเรียนจบ ซึ่งเป็นช่วงที่ชีวิตเริ่มต้นไม่เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ และยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อดี โดยเฉพาะการต้องรับผิดชอบสิ่งสำคัญอย่างชีวิตลูก เป็นช่วงที่มีความเครียดในชีวิตสูงสุด การได้มาเล่าของมายมิ้นต์จึงไม่ใช่แค่การให้กำลังคนฟัง แต่คือระบายสิ่งที่อยู่ในใจ ได้พูดในมุมที่คนอื่นอาจคิดตัดสินไปแล้วให้ได้เข้าใจมากขึ้น

“การได้เล่าให้ใครสักคนฟังมันรู้สึกดีเลย และเป็นคนที่เราไม่รู้จัก เขาไม่ได้ตัดสินเราเหมือนคนที่รู้จักเรา ตอนแรกเขาอาจตัดสินเรา แต่พอเขาฟังและเห็นมุมมองของเรา เขาก็อาจเข้าใจเรามากขึ้น ซึ่งมิ้นเล่าหมดว่าเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่ก่อนท้อง คลอด และหลังคลอด เหมือนเราได้ระบายและพรั่งพรู”

นอกจากการการได้เล่า มิ้นต์ยังได้ไปอ่านหนังสือด้วย โดยมิ้นต์มีคำถามหลักคือ เวลาแต่ละคนเจอเรื่องร้ายๆ เราผ่านมันมาได้อย่างไรกัน

“แต่ละคนมันจะมีช่วงที่ยาก เราใช้เครื่องมืออะไร บางคนใช้ความเบลอๆ ความดื้อ เราเคยใช้นะ แต่เราเบลอเอง แต่มันก็ทำให้เราเห็นว่าแต่ละคนมันใช้วิธีไม่เหมือนกัน เห็นความอ่อนโยน เห็นมุมใหม่ๆ ของคนอื่นมากกว่าที่เรามองเห็น เรื่องเล่าของคนมันมีพลัง เพราะมันมีความเรียล ไม่ปรุงแต่ง การฟังให้เข้าใจถึงอารมณ์ที่เขาอยากถ่ายทอดมันก็สิ่งที่เรามีติดตัว เพราะถ้าเราฟังถึงสิ่งที่เขาอยากเล่า มันจะทำงานกับเรา”

Human Library คือ รูปธรรมของการสร้างความเข้าอกเข้าใจซึ่งกัน

ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งในบริบทโลก และสังคมไทยที่มีความแบ่งแยกเยอะ โลกที่คนคุยกันน้อยลงเรื่อยๆ ติดต่อสัมพันธ์กันผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้เราเห็นแต่ข้อความและผู้คนที่คิดเหมือนเรา

“มีรูปแบบการกรองข้อมูลที่เราไม่เห็นด้วย และเห็นต่าง ซึ่งด้านหนึ่งมันคืออัลกอริทึมของพวกบริษัทเทคโนโลยีที่เขาอยากให้เราอยู่กับเขา มันเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างที่มันไม่เอื้อ แถมตอนนี้มีโควิดมาสองสามปี อีกอย่างคิดว่าระบบสื่อหลายสำนักยุหรือทำให้คนมาชนกัน สื่อควรทำให้คนเข้ามาใกล้กัน มากกว่าแยกห่างจากกัน ให้มาฟังกัน มารู้จักกันมากขึ้น ไม่ใช่มองว่าอีกฝ่ายไม่ดีอย่างเดียว”

อ.เอเชีย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา ในฐานะผู้ที่สนับสนุนโครงการห้องสมุดมนุษย์ บอกว่าหนึ่งในคำที่คิดว่าน่าจะเป็นทางออกได้ก็คือ ความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ที่น่าจะเป็นหนทางที่จะนำโลกในสู่ทางที่ดีกว่า มันจึงเป็นเหตุผลที่เกิดกิจกรรมนี้ขึ้น เพราะมันจะทำให้คนเข้าใจคำว่า empathy ได้ดี

“ไม่ใช่ท่องได้ว่าคืออะไร แต่ได้สัมผัสโดยตรง ก็เลยลองทำแบบนี้แทนที่จะอ่านหนังสือเปิดโลกทัศน์ แต่เรามาอ่านมนุษย์แทน ซึ่งการคัดเลือกทั้งคนอ่านและหนังสือ จะเลือกคนที่แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญ และสนใจกับการแบ่งปันและการฟัง ทั้งสองฝ่ายคือต้องมาเตรียมตัวมาทั้งคู่ในการเข้ากระบวนการที่มี สำหรับคนอ่านอยากให้เขาเท่าทันกับโลกทัศน์ มุมมอง อคติ ที่เขามีต่อคนอื่น ซึ่งสิ่งนี้มันโยงไปถึงการที่เขามีอคติต่อตัวเองด้วย”

การได้เล่า และได้รับฟังเรื่องราวของกันและกันนั้น อ.เอเชียอธิบายว่ามันมีประโยชน์อย่างมหาศาล งานนี้ตรงกับ 1 ในสิ่งที่ สสส.ส่งเสริม คือ สุขภาวะทางปัญญา (spiritual heath) คือการที่เราเข้าถึงความสุขจากการที่เราเข้าใจตัวเอง และยอมรับตัวเองอย่างเต็มที่ แล้วก็เห็นความเชื่อมโยงของเรา กับคนอื่น และกับธรรมชาติ

“เราจะเข้าถึงสุขภาวะทางปัญญาได้ มีความเข้าใจในตัวเอง เชื่อมโยงกับคนอื่นได้ได้อย่างไร มันมีสองทักษะที่มันจะช่วยให้เราทำได้ คือ self-awareness และ self-reflection การเท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกาย จิตใจ และความคิดของเรา อาจเรียกว่าความรู้สึกตัวก็ได้ อีกอันคือความสามารถในการสะท้อนตัวเอง ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมมันเป็นแบบนี้ กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ส่งเสริมเรื่องนี้มาก สำหรับทั้งหนังสือ และคนอ่านเลย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความเข้าใจ (understanding) อันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คนทำกระบวนการนี้ก็จะช่วยให้เข้าอกเข้าใจคนอื่นและตัวเอง” 

“เราเคยไปเที่ยวตัดสินชาวบ้านชาวช่องไว้อย่างไร เราตัดสินตัวเองยังไง กระบวนจะทำให้เราเห็น แล้วก็คนที่ได้เห็นก็อาจจะอึ้งกับการตัดสินของตัวเอง จากนั้นเขาอาจหาช่องทางพื้นที่อื่นๆ ได้ฝึกต่อ กิจกรรมนี้เป็นเหมือนน้ำจิ้มหรืออาหารเรียกน้ำย่อย คนอ่านก็ตระหนักว่า ฉันสามารถไปฟังคนอื่นโดยไม่ตัดสินได้ ส่วนหนังสือก็อาจพบว่าการที่ได้เล่าเรื่องราวโดยไม่มีคนตัดสินเรา มันดีแบบนี้นี่เอง เราเคยเจ็บปวดมาก่อน มีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน ก็ยังสามารถเป็นผู้ให้กับคนอื่นได้เหมือนกัน สำหรับธนาคารจิตอาสานั้นเรามีกิจกรรมหลายอย่างที่ผู้สนใจสามารถเข้ามาร่วมต่อเนื่องได้ ฟังสร้างสุข ที่จัดทุกเดือน”

พลังของเรื่องเล่า และการเล่าเรื่องของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องที่เจ็บปวดนั้น อ.เอเชียบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมีตัวเราเองเป็นคนไปบอกว่ามันดี หรือไม่ดี คือ ไปตีตรามันหรือให้ความหมายว่ามันเป็นเรื่องไม่ดี แต่เมื่อใดที่เรามีพื้นที่ที่ปลอดภัย บวกผ่อนคลายจนทำให้สามารถเล่าได้ การเล่าเรื่องจะทำให้คนเล่า “เห็นตัวเองในอีกมุม”

“คนเป็นหนังสือเล่ารอบ 1 ก็อย่างหนึ่ง แต่พอเล่ารอบ 2 อาจได้เห็นตัวเองในมิติหนึ่ง ยอมรับตัวเองมากขึ้น มันก็ชัดเจน พอเขาอยู่ในสภาพจิตใจเหมาะสมกำลังดี มันทำให้เขาเยียวยา สร้างความหมายใหม่ และสร้างชีวิตใหม่ให้กับตัวเองได้”

เล่าเรื่องเรา-รับฟังเรื่องเขา สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลาอยู่แล้ว ในขั้นทดลอง ทางเราดูแลกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมทุกคนตั้งแต่ก่อนคุย ไปจนถึงการสะท้อนหลังคุย อย่างไรก็ตามการฝึกทักษะการเท่าทันตนเองและการสะท้อนตนเอง เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนและพัฒนาไปเรื่อยๆ ต่างจากที่เราเรียนในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยที่เรียนแบบท่อง และเพื่อสอบผ่าน ดังนั้นทางธนาคารจิตอาสาเตรียมจัดกิจกรรม Human Library ต่อเนื่องในอนาคตเพื่อให้คนอื่นๆ ที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมได้อย่างหลากหลายมากขึ้น ทั้งในรูปแบบ และตัวหนังสือเอง 

“อยากเพิ่มโอกาสให้คนที่เดินทางไม่สะดวกมาเข้าร่วม อาจทำให้มีความหลากหลายในเชิงรูปแบบมากขึ้น ตอนนี้เป็นคุยแบบ 1 ต่อ 1 อาจทดลองมีคนอ่านสองคนเป็นอย่างไร หรือทำให้ยาวขึ้น คุยได้ลงลึกมากขึ้น ส่วนตัวหนังสืออยากทำให้ได้หลายๆ หมวด แม้ว่าทุกๆ คนเป็นหนังสือที่มีความน่าสนใจในตัวเองอยู่แล้ว แต่อาจจะมีหนังสือบางหมวดบางเล่มที่เราควรได้อ่าน แต่หายาก เช่น ผู้ลี้ภัย หรือเป็นกลุ่มคนที่เรามักเข้าใจผิด และถูกตัดสินเยอะ เขาอาจสมัครมาเป็นหนังสือได้ยาก ดังนั้นคณะทำงานอาจจะต้องเชิญมา หรือชวนมา”

ขอบคุณภาพจาก โครงการห้องสมุดมนุษย์