ภาษาอังกฤษกับความเป็นสากลที่เด็กไทยอยากไปให้ถึง - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในปี 2564 Education First ได้จัดทำดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ของประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ได้สำรวจ 112 ประเทศ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ Very high proficiency / High proficiency / Moderate proficiency / Low proficiency และ Very low proficiency ไทยอยู่ในลำดับที่ 100 ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Very low proficiency ไม่ใช่แค่เพียงปี 2564 แต่ประเทศไทยถูกจัดในกลุ่มนี้ตั้งแต่ปี 2554 มีเพียงปี 2560-2561 ที่ถูกจัดในกลุ่ม Low proficiency และในปีต่อมาไทยก็อันดับต่ำลงเรื่อย ๆ จากอันดับ 53 เป็นอันดับ 64 อันดับ 74 เป็นอันดับ 89 และมาสู่ปี 2564 ที่อันดับ 100 เลยได้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมผลการวัดระดับภาษาอังกฤษของเด็กไทยถึงต่ำลงเรื่อย ๆ มันเกิดจากหลักสูตรที่ไม่พัฒนา หรือรัฐยังลงทุนไม่พอกับการศึกษาภาษาอังกฤษของเด็กไทย 

De/code ได้ร่วมถอดรหัสกับอาจารย์กรกนก ฮัปเปิล อาจารย์ประจำสาขาการสอนภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่จะมาเล่าสาเหตุของทำไมภาษาอังกฤษของเด็กไทยถึงแย่ลง ท่ามกลางความเป็นภาษาสากลของภาษาอังกฤษ

เราได้ถามคำถามแรกเกี่ยวกับเรื่องรัฐลงทุนกับภาษาอังกฤษของเด็กไทยมากแค่ไหนในปัจจุบัน

“มีการลงทุน แต่มันเป็นการลงทุนที่ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน ไร้ทิศทาง ไม่มีแผนยุทธศาสตร์ ไม่มีเป้าหมายว่าเราจะพัฒนาภาษาอังกฤษให้เด็กเราเป็นอย่างไร”

อาจารย์กรกนกได้เล่าในมุมมองของครูว่า “เราเห็นโครงการมากมาย แต่เห็นแค่งบกลางที่ให้เอาไปใช้ทำโครงการ ไม่มีการบูรณาการ โครงการในตอนนี้เป็นแง่ปริมาณไม่ใช่แง่คุณภาพ จึงทำให้เกิดปัญหาครูสะสมชั่วโมงอบรม แต่ไม่สามารถนำไปพัฒนาเด็กได้จริง ซึ่งการพัฒนาครูเพื่อที่จะพัฒนานักเรียน ไม่ใช่เพียงแค่รัฐเอาเงินให้ครูไปอบรมแล้วจบ ควรมี PLC หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ที่พัฒนาและบูรณาการอยู่ตลอด

“ไม่ใช่แค่สำหรับครู แต่สำหรับโรงเรียนและนักเรียนด้วย ต้องมีการพูดคุยกันทุกภาคส่วน ถามผู้เรียน ผู้ปกครอง ครู ว่าปัญหามันคืออะไร แล้วคิดหาวิธีการแก้ไขด้วยกัน และเราต้องถามโรงเรียนว่า ตอนนี้มีโครงการอะไรอยู่ แล้วเข้าไปบูรณาการกับโครงการที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว ถ้าเราสร้างโครงการใหม่ขึ้นมา มันจะเป็นการเพิ่มภาระงานให้ครูมากขึ้น”

ต่อมาอาจารย์กรกนกได้เล่าในฝั่งของนักเรียนว่า “เราจะไม่เห็นเวทีที่มีการแข่งขันภาษาอังกฤษที่แบบว้าว เหมือนกับการแข่งขันด้านวิชาการ มันมีเวทีการแข่งขันภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้โชว์ให้เห็นศักยภาพของเด็กที่มันว้าว อย่างเช่น พวกฟิสิกส์โอลิมปิก หรือการประกวดอื่น ๆ เราไม่ได้มุ่งเน้นภาษาอังกฤษขนาดนั้น รัฐควรลงทุนมากกว่านี้ ทั้งในแง่ของงบที่มาลงกิจกรรมภาษาอังกฤษของเด็ก และเวทีการแข่งขันทางภาษาอังกฤษควรพัฒนาให้เด็กแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่หมดไปกับค่าจัดงาน

“เวทีในปัจจุบัน เช่น การแข่งขันศิลปหัตถกรรม มันมีส่วนน้อยที่จะได้เข้าร่วม แล้วก็มีแค่งานศิลปหัตถกรรมที่จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ มันต้องมีงานอื่น ๆ ที่มีความร่วมมือทั้งภาคเอกชน ภาคชุมชน ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะ แต่สร้างเวทีให้เด็กโชว์ศักยภาพของตัวเอง เพราะงานส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นเชิงวิชาการ เราต้องมีกิจกรรมบูรณาการ เช่น ละครเวทีภาษาอังกฤษ การจัดทำพอดแคสต์เป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น”

ด้วยความสงสัยต่อที่ว่า กระทรวงศึกษาได้งบเยอะกว่าทุกกระทรวง ดังนั้นรัฐก็ลงทุนกับการศึกษาค่อนข้างเยอะ แล้วในฝั่งของการเรียนภาษาอังกฤษรัฐลงทุนมากแค่ไหน

“งบประมาณเยอะจริง ลงทุนในตัวบุคลากรก็เยอะ แต่เรายังไม่เห็นแนวทางการพัฒนาครูและนักเรียนทางภาษาอังกฤษเท่าที่ควร มันยังไม่มีงบประมาณที่สนับสนุนให้เด็กพูดภาษาอังกฤษได้ เช่น สื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ ไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรม อาจารย์มองว่าการที่มีสื่อออนไลน์ที่เป็นการเรียนการสอนมันดีนะ มีวิดีโอ มีกิจกรรมให้เด็กทำที่เหมาะกับช่วงวัยเด็กจะพัฒนามากกว่านี้ เราผ่านยุคเทคโนโลยีมากี่ปีแล้ว ไม่มีที่สนับสนุนให้ภาษาอังกฤษตรงนี้ มีแค่อบรมครู เวทีต่าง ๆ ที่จะให้เด็กแสดงศักยภาพก็ไม่มี”

โดยหากดูในงบการศึกษาปี 2561 จะเห็นได้ว่า ร้อยละ 75 เป็นงบสำหรับจ้างครู-อาจารย์ การจัดการเรียนการสอน และการจัดสรรเพื่อลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ทำให้เหลืองบสำหรับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนกับการเรียนการสอนน้อยลงตามไปด้วย และภาคการศึกษามีบุคลากรเกือบ 7 แสนคน แต่มีครู-อาจารย์เพียง 3.7 แสนคน โดยที่เหลือเป็นบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถูกนับเป็นค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากรด้วย ทำให้ปริมาณงบส่วนใหญ่ยังไม่ได้ไปถึงครูที่สอนจริง ๆ อีกทั้งงบการศึกษายังให้ความสำคัญในการพัฒนาครูเพียง 0.44% และงบการพัฒนาการสอน หลักสูตรและสื่อยังมีเพียง 1.72%

 “ทำไมต้องพูดภาษาอังกฤษด้วย ในเมื่อเรามีล่าม”

ประโยคดังกล่าวเป็นคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการกล่าวช่วงหนึ่งในรายการ Government Weekly ช่วง PM Talk ทางเพจไทยคู่ฟ้า จากประเด็นที่ว่า ต่างประเทศไม่ยอมรับรัฐบาลจริงหรือไม่ โดยในประโยคดังกล่าว ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เราก็เลยถามในมุมมองของอาจารย์กรกนก หลังจากที่ได้ยินประโยคนี้ โดยอาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นว่า 

“ถ้าเปรียบเทียบการประชุมระดับชาติ ผู้นำหลาย ๆ ประเทศเขาก็มีล่าม ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดแต่ในแง่ของผู้นำควรเป็นบุคคลต้นแบบ หากฉันพูดไม่ได้แต่ฉันมีความพยายาม ฉันมีสคริปต์ที่เป็นภาษาอังกฤษที่ตรวจมาแล้วพยายามพูดออกไป แต่ไม่ใช่จะมาพูดว่าเราไม่ต้องรู้ภาษาอังกฤษ เพราะยิ่งจะไปส่งผลต่อความคิดของเด็ก ผู้นำบางท่านก็เป็นผลจากการศึกษาในรูปแบบเก่าที่ไม่เน้นการสื่อสาร มันก็เลยส่งผลที่บอกว่าใช้ล่ามได้ แล้วฉันจะเรียนภาษาอังกฤษทำไม เด็กก็จะไม่อยากตั้งใจเรียน ภาษาอังกฤษของเด็กไทยจะอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ”

โอกาสในปัจจุบันมากขึ้น แต่ภาษาอังกฤษของเด็กไทยกลับด้อยลง

จากผลการวัดระดับของ Education First ในปี 2564 สะท้อนให้เห็นว่า ภาษาอังกฤษของเด็กไทยด้อยลงมาก ซึ่งขัดแย้งกับจำนวนสื่อการเรียนการสอนที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน แล้วปัญหาของเรื่องนี้คืออะไร?

“ตอนนี้สังคมไทยมีช่องว่างคนรวยคนจนเยอะ โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ในช่วงโควิดเด็กดร็อปเยอะมาก โอกาสในการเข้าถึงสื่อลดลง ทำให้โอกาสที่จะเข้าถึงการพัฒนาตัวเองลดลง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดหรือเด็กด้อยโอกาส แต่สวนทางกันเลยถ้าดูคะแนนโรงเรียนใหญ่ระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ คะแนนไม่ลดเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ มันก็เลยเป็นความเหลื่อมล้ำ โอกาสที่จะเข้าถึงของเด็กแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน”

อาจารย์กรกนกได้ยกตัวอย่างว่า หากครอบครัวของเด็กคนหนึ่ง ได้ค่าจ้างเพียงวันละ 300 บาท เขาอาจมีเงินซื้อโทรศัพท์พอให้ลูก แต่ค่าอินเทอร์เน็ตที่ต้องคอยจ่าย ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะมีเงินจ่ายตลอดเวลา เพื่อที่จะให้เข้าถึงสื่อการเรียนรู้ในอินเทอร์เน็ต

ต่อมาอาจารย์ได้แยกเป็น 3 ปัจจัยที่ทำให้ภาษาอังกฤษของเด็กไทยด้อยลง

หนึ่ง การเรียนการสอนของครู เราจะเห็นว่าผู้นำในตอนนี้เป็นผลสะท้อนผลการเรียนแบบเก่า ใช้อังกฤษไม่ได้เพราะการเรียนภาษาอังกฤษของเราเน้นเพื่อสอบ ครูหลายท่านที่ไม่ได้เน้นการสอนเพื่อการสื่อสาร สิ่งที่ครูควรสอน เช่น ทำยังไงให้เขาสามารถซื้อของขายของออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษได้เป็นต้น ทำให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้จริง

สอง สภาพสังคมที่ไม่พัฒนา เราเน้นที่ใบปริญญาถึงได้รับงานที่ดี เราดูแค่เขาสอบผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ไม่ได้ดูว่า ศักยภาพเขาเพียงพอหรือเปล่า และระบบไม่ได้เอื้อให้เราพัฒนาภาษาอังกฤษ เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการ กลายเป็นว่าต้องทำอาชีพข้าราชการ ถึงจะมีบำนาญในตอนแก่ ทำให้คนก็ต้องได้ใบปริญญา ฉันต้องสอบเข้าทำงาน เพื่อที่จะได้งานข้าราชการมา ซึ่งต่างกับต่างประเทศ ฉันพูดภาษาอังกฤษได้ไม่แคร์หรอก ฉันทำงานอะไรก็ได้ เพราะเขาส่งเงินบำนาญของเขา ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมต่างประเทศเขาใช้ชีวิตอิสระ เช่น ฉันอยากจะเรียนภาษาฉันก็เรียน เพราะถ้าคุณไม่มีใบปริญญา ก็สามารถอยู่ได้ในตอนแก่ หากคุณทำงานเสียภาษีให้รัฐตลอด

สาม ตัวเด็กเอง เด็กในรุ่นนี้เป็น Gen ใหม่ เขามีความฝันของเขาที่ต่างจากคนยุคเก่า การศึกษาสำหรับเขาอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นทุกอย่าง เขามีความฝันสามารถทำเงินกับความฝันของเขาได้ ทำให้ความจำเป็นในการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กมันแตกต่างกัน ครูภาษาอังกฤษไม่จำเป็นต้องสอนเด็กเพื่อทำให้เก่งภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่ครูภาษาอังกฤษต้องพยายามสร้างแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจในการเรียนหรือความจำเป็นในการใช้ภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน

Teach for test หรือ Teach for use

อาจารย์กรกนกพูดถึงการวัดคะแนนผลที่ออกมาระดับภาษาอังกฤษของไทยอยู่ในระดับ Very low proficiency โดยการวัดทักษะของต่างประเทศ เป็นการวัดทักษะที่ใช้เพื่อการสื่อสารจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อการสอบ เนื้อหาการเรียนของไทย มีแค่หลักไวยากรณ์กับคำศัพท์ ถ้าจำไวยากรณ์และคำศัพท์ได้ เด็กจะทำข้อสอบได้ แต่การสอบเหล่านั้นก็ไม่ได้การันตีว่าเด็กที่ทำข้อสอบได้จะสามารถสื่อสารได้ 

“ครูไทยตอนนี้สอนเด็กเพื่อสอบหรือเพื่อใช้ ข้อสอบที่ออกในปัจจุบันของไทยมีแต่หลักไวยากรณ์ แต่หากเปรียบเทียบกับข้อสอบของที่เขาวัดทั้งโลก จะมีการวัดทักษะที่ใช้เพื่อการสื่อสาร ซึ่งแตกต่างจากไทยที่เรียนเพื่อสอบ คะแนนมันก็เลยออกมาเป็นแบบนั้น”

แล้วเราควรปรับเปลี่ยนรูปแบบของข้อสอบให้มีทักษะเพื่อการสื่อสารหรือเปล่า?

“ควรปรับนะ ถ้ามีพาร์ตการฟังที่ให้นักเรียนได้ฟังเสียงจริง ๆ หรือพาร์ตการพูดที่ให้นักเรียนได้พูดจริง ๆ มันจะทำให้ทิศทางการสอนภาษาอังกฤษเราเปลี่ยน สอนเพื่อการสื่อสารมากขึ้น เพราะตอนนี้อาจสอนและมีกิจกรรมให้เด็กได้ใช้ แต่พอข้อสอบกลับคนละเรื่องเลย เธอต้องจำข้อสอบ เธอต้องจำคำศัพท์ ถ้ารูปแบบการสอบเปลี่ยน ก็จะเปลี่ยนทิศทางการสอนภาษาอังกฤษได้เลย”

ต่อมาอาจารย์กรกนกได้ยกตัวอย่างโครงการที่อาจารย์เคยทำ เกี่ยวกับให้นักเรียนไทยกับนักเรียนต่างชาติ ส่งจดหมายออนไลน์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเป็นภาษาอังกฤษ หากทำแบบนี้นักเรียนก็จะรู้สึกว่า ตัวเองได้ใช้ภาษาจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อท่องจำเหมือนในห้องเรียน นอกจากนี้นักเรียนก็จะมีเพื่อนต่างชาติ ทำให้ภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับนักเรียนอีกต่อไป

ช่องทางพิเศษสำหรับบุคคล “ผู้มีเงิน”

เราจะเห็นว่าในปัจจุบันมีห้องเรียนพิเศษเกิดขึ้นมากมาย เช่น ห้องเรียน EP (English Program) สำหรับนักเรียนที่สนใจภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ แต่ความพิเศษเหล่านั้นต้องแลกมากับเงิน โดยอาจารย์กรกนกได้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “พิเศษทุกห้องไม่ได้เหรอ ทำไมต้องพิเศษห้องเดียว”

“ผู้ปกครองบางคนอยากให้ลูกติดตรงหน้าอก เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเวลาจะไปไหน จะได้อวดได้ว่า ลูกฉันเรียนโครงการภาษาอังกฤษ เพราะห้องเรียนพิเศษต้องเป็นเด็กเก่ง เด็กมีเงินถึงจะเรียนห้องเรียนพิเศษได้คือความเหลื่อมล้ำโดยที่โรงเรียนก็จัดมาเพื่อเอาใจผู้ปกครอง

“ทำไมต้องพิเศษเพียงห้องเดียว แล้วเก็บตังค์เพิ่ม แต่ก็เข้าใจในอีกแง่มุมก็เด็กชอบเรียนภาษาอังกฤษไง เป็นการสนับสนุนเขาได้มากขึ้น แต่ทำไมเราไม่สนับสนุนเด็กห้องอื่นด้วย ทำไมสนับสนุนเพียงกลุ่มเดียว ทำไมไม่ให้ครูต่างชาติสอนเด็กคนอื่นด้วย เด็กทุกคนควรได้เรียนกับครูต่างชาติ รัฐก็สนับสนุนเงินมาให้มาเก็บเงินเพิ่มมันไม่ควร เราควรจัดการศึกษาให้เหมือนกัน ไม่ใช่ถอดทิ้งห้องธรรมดาพัฒนาเพียงแต่ห้องเรียนพิเศษ

“อยากฝากภาครัฐให้ส่งเสริมช่องทางในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เด็กไทยมากขึ้น มีเวทีแสดงความสามารถที่แสดงศักยภาพของนักเรียนจริง ๆ ถ้ารัฐอยากให้เด็กเก่งภาษาอังกฤษ ก็ต้องมีพื้นที่ภาษาอังกฤษให้เขา และตอนนี้ภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นภาษาต่างประเทศแล้ว มันเป็นภาษากลาง ถ้าคุณอยากพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น ภาษาตอนนี้เป็นตัวที่ตัดสินอนาคต ทำให้เราสามารถก้าวข้ามความรู้เพียงแค่ในประเทศ และเราจำเป็นต้องติดต่อกับต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเราต้องการบุคลากรที่เก่งภาษา ไม่ใช่แค่เด็กที่มีโอกาส แต่เด็กทุกคนต้องเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ด้วย” อาจารย์กรกนกกล่าวทิ้งท้าย

ตัวผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในผลจากการศึกษาภาษาอังกฤษในรูปแบบเดิม ในวันที่เรามีความคิดที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ สิ่งที่ต้องมีคือผลการวัดระดับภาษาโดยเราจะยกตัวอย่าง IELTS Academic เพื่อใช้ยื่นสมัครเรียนหรือสมัครทุนการศึกษา มีค่าสอบอยู่ที่ราคา 6,900 บาท  ในประเทศที่รายได้ขั้นต่ำเฉลี่ยต่อวันที่ 325 บาท หรือ 9,750 บาทเฉลี่ยต่อเดือน ก็คงเป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ราคาการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษสูงกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน

โดยใน IELTS Academic จะมีการวัดระดับทั้ง 4 Part คือ การฟัง การอ่าน การเขียน และการพูด ทักษะเหล่านี้ล้วนได้ใช้จริงในชีวิตประจำ ซึ่งต่างจากรูปแบบการศึกษาภาษาอังกฤษของประเทศไทย ไม่สามารถเติมเต็มความสามารถของเด็กได้เต็มที่ ทำให้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายไม่ได้อยู่ที่ 6,900 เพราะนอกจากเราจะต้องซื้อหนังสือติวสอบสำหรับ IELTS Academic เราต้องจ่ายค่าเรียนทั้งพาร์ตการฟังและการพูดในราคาที่แสนแพง ทำให้เรากลับมานึกคิดว่า

หากประเทศเรามีระบบการเรียนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ มีการสอนทักษะที่ใช้ในชีวิตจริง ไม่ใช่ท่องจำเพื่อสอบ เรายังจำเป็นที่ต้องเสียทั้งค่าหนังสือมากมาย ค่าสอบที่ไม่รู้จะต้องจ่ายหลายรอบหรือเปล่า ค่าเรียนเพิ่มเติม หรือแม้แต่เวลาที่เราควรได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในวัยที่เรากำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กลับเลือนหายไปกับคุณภาพของการศึกษาภาษาอังกฤษของไทย