กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ความสำเร็จของนักดาราศาสตร์ไทย - Decode
Reading Time: < 1 minute

Space for Thai

นิศาชล คำลือ

ย้อนไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ช่วงสายของวันนั้นผู้เขียนกำลังนั่งสัปหงกอยู่บนรถตู้ที่อัดแน่นไปด้วยเพื่อนร่วมงานที่ยังงัวเงีย จากตัวเมืองเชียงใหม่ที่วุ่นวาย สองข้างทางเริ่มถูกแทนที่ด้วยต้นไม้ ในตอนนั้นผู้เขียนไม่ทราบด้วยซ้ำว่าคนขับรถกำลังพาพวกเราไปที่ไหน รู้เพียงแต่ว่า “จะพาไปดูกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ”

ทันทีที่เห็นจานรูปทรงพาราโบลอยด์ขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 40 เมตร กำลังถูกช่างประกอบท่ามกลางแสงแดดจ้า ความง่วงก็ถูกกระชากหายไปแทนที่ด้วยความตื่นเต้น นั่นเพราะบุคลากรตั้งแต่วิศวกรที่คุมไซต์ก่อสร้างไปจนถึงคนงานล้วนเป็นคนไทยทั้งหมด ก่อนหน้านั้นผู้เขียนไม่ทราบเลยว่าคนไทยก็สามารถสร้างอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่ต้องอาศัยความละเอียดในการสร้างสูงและยังมีคุณสมบัติในการใช้งานเทียบเท่ากับของต่างชาติได้เอง

“นี่เป็นคณะแรกนะที่พี่ให้ขึ้นมาข้างบน แม้กระทั่งศาสตราจารย์จากหลาย ๆ ประเทศพี่ยังไม่ให้ขึ้นมาเลยเพราะอันตราย”-พี่วิศวกรคุมไซต์ก่อสร้างกล่าว

ในตอนนั้นผู้เขียนทราบเพียงแต่ว่าวิศวกรและนักดาราศาสตร์จะใช้ตัวรับสัญญาณแบบไหน เอียงจานอย่างไร มีวิธีอะไรในการลด Human Error (ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์) ขณะทำการก่อสร้าง แม้จะยืนอยู่ตรงนั้นผู้เขียนก็หารู้ไม่ว่ามันกำลังจะเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเชื่อมโยงเครือข่ายจานรับสัญญาณวิทยุในเอเชียตะวันออก ทำให้สามารถทำงานร่วมกับกล้องอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกได้เสมือนเป็นกล้องตัวเดียวกัน

2 ปีต่อมาในวันที่ 24 มีนาคม 2022 กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติสามารถรับภาพแรกขณะทำการทดสอบ First light ได้สำเร็จ

ในแง่ของด้านเทคนิคนี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรถึงแม้ผู้เขียนจะตื่นเต้นกับความชาญฉลาดในการสร้างแบบเผื่อไว้ให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ในอนาคตก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนตื่นเต้นมากที่สุดคือแง่ของงบประมาณและเศรษฐกิจ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Astronomical Research Institute of Thailand (NARIT) ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติไปราว ๆ 530 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินที่น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินต่อปี วิศวกรของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติทำการออกแบบและวางแผนการจัดซื้อกันเองเกือบทั้งหมด หลาย ๆ อย่างที่ทำเองช่วยประหยัดงบลงไปได้มาก เช่น สายอากาศที่ทาง NARIT พัฒนาขึ้นเอง

นี่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประหยัดงบแต่ยังดึงให้คนในองค์กรและนักศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่นี้ด้วย แม้แต่คนงานก่อสร้างก็ยังเป็นแรงงานไทย งบประมาณกว่า 530 ล้านที่ได้มาแทบไม่รั่วไหลไปไหนเลย

สำหรับผู้เขียนแล้วนี่ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติธรรมดา แต่มันคือการสร้างงานให้กับแรงงานไทยมาตลอดระยะเวลาที่ใช้ก่อสร้าง มันคือการพัฒนาบุคลากรหน้าใหม่ มันคือการดึงศักยภาพของบุคลากรหน้าเก่ามาใช้ มันคือการสร้างแรงบันดาลใจ “มันคือกลยุทธ์”

หากคุณเป็นบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาตินี้ในอีกสิบกว่าปีข้างหน้า คุณคงเล่าให้ลูกหลานฟังได้อย่างภาคภูมิว่า “พ่อ/แม่คือคนที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ”

ในเวลาเดียวกันนั้นผู้เขียนก็จะเล่าให้ลูกฟังเช่นกันว่า “แม่คือคนที่ไปวิ่งซนตรงไซต์ก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” และผู้เขียนก็จะภาคภูมิกับเรื่องเล่านั้นเช่นกัน