“คนเท่ากัน” ในทางเศรษฐกิจ เริ่มที่ “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน” - ฉัตรชัย พุ่มพวง - Decode
Reading Time: 4 minutes

ระหว่างเส้นทาง และโมงยามแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบของคนรุ่นใหม่หลากหลายกลุ่มช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ แทบทุกประเด็น ทุกมุมมองถูกนำมาเสนอให้เห็นความเหลื่อมล้ำ-การถูกกดขี่ ใต้บริบทที่แตกต่างกัน

แต่สำหรับประเด็นอย่าง “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน” ไม่ได้ถูกนำมาพูดในวงกว้าง หรือถกเถียงมากนัก น้อยลงไปอีกหากพูดถึงการ “รวมตัวกัน” ให้มากพอเพื่อมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างยกระดับคุณภาพการทำงานที่พร้อมด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี จากเงินค่าตอบแทนที่เพียงพอ ค่าโอทีที่คุ้มค่า มีวันพักผ่อน วันลาที่เหมาะสม และมีสวัสดิการที่ทำให้ทุกคนรอดไปพร้อมกัน

เมื่อโลกการทำงานที่ ไม่มีงานไหนที่ใช้แต่แรง ไม่มีงานไหนที่ใช้แต่สมอง เราทุกคนคือแรงงาน แต่นั่นไม่ง่ายเลยกับการรวมแรงงานในวันนี้ เมื่อทั้งมายาคติ  วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ภายใต้คำว่า “การทำงานในโลกทุนนิยม” ยังคงเกาะแน่น และรัดรึงเราให้ห่างจากการมองเห็น “พลัง” ของการรวมตัวในฐานะแรงงาน ผู้ซึ่งคือ “คนสำคัญ” และเป็นฐานความสำเร็จของนายทุนขนาดใหญ่

De/Code คุยกับ แชมป์-ฉัตรชัย พุ่มพ่วง จากสหภาพคนทำงาน และอีกหนึ่งบทบาทในฐานะ ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ PUD (พูด) ทั้ง 2 บทบาท แชมป์ต้องการขยับ และดันเรื่อง “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน” ให้เกิดขึ้น ทุกคนได้รับ “กำไร” จากการทำงานอย่างเท่าเทียม ได้สัดส่วน ไม่มีใครต้องทำงานหนัก เพื่อให้คนเพียงหยิบมือเอาผลประโยชน์ตรงนั้น

กว่าจะไปถึงตรงนั้น แชมป์มองว่า “สหภาพแรงงาน” คือสะพานที่จะพาเข้าใกล้เส้นอุดมคตินั้นที่สุด มากไปกว่านั้น มันคือทางรอด ไม่ว่าเทรนด์การทำงานจะเป็นแบบไหนก็ตาม หากคนทำงานเข้าใจตรงกันว่า “เราทุกคนคือแรงงาน” เหมือนกัน

จากทำงานไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน สู่การทำงานแบ่งกำไรแบบสหกรณ์

ก่อนก่อร่างสร้างเพจ PUD แชมป์เคยเป็นแรงงานในสายงานครีเอทีฟ ทำงานหลายที่ทั้งในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ บริษัทข้ามชาติ ไปจนถึงออฟฟิศเล็ก ๆ มีหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่ตัดต่อ ทำกราฟิก และคิดเนื้อหา จะทำตำแหน่งเดียว หรือควบอย่างอื่นด้วยก็แล้วแต่บริษัท ประสบการณ์ทั้ง 3 แห่งทำให้แชมป์เห็นโครงสร้างบริษัทชัดเจนว่าธรรมชาติของมันคือ “บนลงล่าง” การประชุมที่ควรเป็นพื้นที่ระดมความเห็นและไอเดีย กลับกลายเป็นพื้นที่เพื่อยืนยันว่า “ใคร” คือคนที่มีอำนาจมากที่สุด

ช่วงนั้นแชมป์ทำงานแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่ไม่ได้โอที วันหยุดยังต้องมาทำงาน แถมออกค่ารถไปทำงานฟรี ข้าวไม่มีให้กิน ทั้ง ๆ ที่ตามกฎหมายแรงงานหากทำงานล่วงเวลามากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันจะต้องได้ค่าแรงเพิ่ม 1.5 เท่า และได้ 3 เท่าหากทำงานในวันหยุด

“มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรได้ แต่เขาขโมยเรา”

จนวันหนึ่งเพื่อนชื่อ “ภาณุ นาครทรรพ” ที่ทำเพจ PUD ด้วยกัน สะกิดให้เขาคิดเห็นคำว่า “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน” แรกเริ่ม แชมป์เองยังเชื่อมโยงสิ่งนี้ไม่ได้ แม้ตัวเองก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านโซตัสในมหาวิทยาลัย หรือติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีจุดยืนฝั่งประชาธิปไตยมาตลอดตั้งแต่พี่น้องเสื้อแดง แต่สำหรับในวงการทำงาน แชมป์ไม่ได้คิดแบบนั้น

“ได้มากได้น้อยก็ความสามารถเปล่าวะ เราไม่ได้มีวิธีคิดที่เข้าไปแตะเรื่องเศรษฐกิจ เราโปรประชาธิปไตยด้วยเงื่อนไข และใต้ทุนนิยม เรารับได้ที่จะมีคนกดขี่ในบริษัท เรารับได้ที่จะมีคนได้ค่าแรงที่มันไม่โอเค พอเอาเข้าจริงเรารับไม่ได้หรอก แต่เรายังเชื่อมโยงมันไม่ได้”

แชมป์ยกตัวอย่างที่ทำงานแห่งหนึ่ง มีกันอยู่ 4 คน ตัดต่อ เขียนบทความ กราฟิก อีกคนคือนายจ้าง คน 3 คน เป็นคนที่มีเงินเดือนรวมกันประมาณ 60,000 บาท สมมตินายจ้างเอางานไปขายได้ 1 แสนบาท อาจจะได้ 2 ชิ้นต่อเดือน รวมแล้วได้เงิน 2 แสนบาท แต่เงินเดือนแต่ละคนเฉลี่ยคนละ 20,000 บาท ผลตอบแทนมันต่างกันถึง 10 เท่า ทั้ง ๆ ที่ แชมป์และเพื่อนช่วยกันทำ แต่ได้เพียงแค่ 10% เท่านั้น

“ยังเคยคิดเลยว่าอยากเป็นเจ้าของบริษัท มันสบาย จ้างคนอื่นทำแทน ค่อย ๆ ขยายงานไป ได้กำไรมากขึ้น ส่วนเราทำเท่าเดิมหรือทำน้อยกว่าเดิม”

สุดท้ายผลจากการทำงานหนัก และได้ครุ่นคิดกับสิ่งที่เพื่อนสะกิดเตือน แชมป์ค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์ได้ว่า อะไรคือประชาธิปไตยในที่ทำงาน และมันทาบทับกับโครงสร้างใหญ่อย่างไร

“ไม่มีทางที่คน 1 คน จะทำได้เท่าคน 3 คน”

ทำไมเราแบ่งผลประโยชน์อย่างเท่ากันไม่ได้
ทำไมเราเห็นคนเท่ากันในที่ทำงานไม่ได้

คือคำถามที่แชมป์ครุ่นคิด

ย้อนอดีตขบวนการแรงงานเพื่อสิทธิคนทำงาน

แชมป์เลือกลาออกมาทำเพจ PUD กับเพื่อน ที่ตอนนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก เพจเรื่องเล่าประเด็นทางสังคม ไขความสงสัย ผ่านภาษาที่ง่าย มีกราฟิก การตัดต่อสวยงาม ประเด็นแหลมคม หนึ่งในเรื่องเล่าในเพจพูด คือ การเป็นกระบอกเสียงเรื่องสิทธิแรงงาน

“เราตั้งใจทำซีรีส์ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานทั่วโลก ทำให้คนเข้าใจมากขึ้น อยากให้คนที่ออกมาชุมนุม ได้เห็นว่า ยุคนี้ขบวนการแรงงาน และสหภาพแรงงาน มันคือวิธีการจัดการ และสำนึกแบบนี้เท่านี้ที่จะนำความเจริญมาสู่ประเทศ แบบที่ตะวันตกเป็น เราเห็นความเจริญของตะวันตก เช่น การลาคลอดเป็นปี ลาพักร้อนได้เป็นเดือน แต่ยังได้รับเงินเดือน และค่าแรงสูงมากหรือเรียกว่าเป็นธรรมมากกว่า รวมถึงรัฐสวัสดิการเองก็ตาม ทั้งหมดเป็นผลลัพธ์ของขบวนการสหภาพแรงงานทั่วโลก ที่เขาประท้วงหยุดงานให้มันได้มา ทำให้มันเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของคน”

แชมป์ยกตัวอย่างขบวนการแรงงาน 3 แห่ง

1.สเปน 1919 ขบวนการแรงงานของสเปนเข้มแข็งมาก ต่างคนต่างช่วยกันเรียกร้องสิทธิให้แก่กัน แม้ไม่ได้ทำงานที่เดียวกัน และมีแนวคิดสังคมนิยม ครั้งหนึ่งพนักงานโรงงานน้ำถูกหักเงินเดือน จึงมีการนัดหยุดงาน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่บริษัที่ถูกหักเงินเดือนเท่านั้น แต่เขามีสิ่งที่เรียกว่า General Union หรือ National Union

“เขาเห็นว่า เอ้ยเพื่อนเรากำลังแย่ โดนตัดเงินเดือน เลยนัดหยุดงานด้วยพร้อมกับคนในบริษัท มันเลยเกิดการนัดหยุดงานทั่วไป ตอนนั้นเป็นแสนคน ทำให้บาร์เซโลนาเป็นอัมพาต ทุกอย่างชะงัก เขาหยุดกันรวม 44 วัน จนรัฐบาลสเปนตอนนั้น ต้องออกมาบอกไกลเกลี่ย และให้เรื่องนี้มันจบ”

นอกจากจะไม่มีการตัดเงินเดือนแล้ว รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายกำหนดชั่วโมงการทำงาน ให้แรงงานทุกคนทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นครั้งแรกของโลก

“ถามว่าเรื่องนี้บอกอะไรเรา มันบอกเราว่า ตกลงในสังคมนี้ ใครสำคัญ ใครกันแน่ที่เป็นคนขับเคลื่อนบริษัท ใน 44 วันนั้น มันยืนยันว่า แรงงานพนักงานทุกคนสำคัญที่สุด เพราะทำให้ทุกอย่างมันขับเคลื่อนไปได้”

2.อังกฤษ-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1936 ช่วงนั้นขบวนการแรงงานทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส ประท้วงนัดหยุดงานกันเยอะมาก ที่ฝรั่งเศสมีความพีกกว่าสเปน ถือเป็น general Strike ขนาด 3 ล้านคน แรงงานนัดหยุดนานมาก จนรัฐบาลยอมให้มีวันลาได้หลายวัน และนายจ้างจ่ายเงินให้ไปเที่ยว เรียกว่า paid vacation

3.ไทย ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา คนที่นำการต่อสู้คือนักศึกษา แต่ยังมีกลุ่มชาวนา และกรรมกรด้วยที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง ครั้งนั้นขบวนการแรงงานมีความแข็งแรง เพราะเป็นการทำงานประสานกันระหว่าง 3 กลุ่มนี้ ความแข็งแรงสะท้อนมาจาก “พลังนัดหยุดงาน” ขนาดที่ว่า 1 ปี มี 365 วัน เกิดการนัดหยุดงานเฉพาะกลุ่ม 376 ครั้ง มีทั้งแพ้-ชนะ สลับกันไป “แค่ข้าวสารแพงก็นัดกันสไตรค์แล้ว” จากนั้นมันเริ่มอ่อนแรงลงเมื่อมีการล้อมปราบที่ธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม จนไม่เคยกลับมาเข้มแข็งได้อีกเลย

แชมป์บอกว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2519 ไทยเคยมี General Union มีการออก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ แต่มันมีการแบ่งแยก ให้เหลือเฉพาะสถานประกอบการเท่านั้น จะรวมตัวกันได้ต้องทำงานที่เดียวกัน ประเภทเดียวกันด้วย มันเลยติดกับกฎหมายนี้

“ถ้าหยุดกันแค่นั้นไม่ชนะหรอก ต้องหยุดให้ได้มากกว่านั้น มันเป็นอุปสรรคของการรวมตัวกันมากเลย ทำให้เราไม่มีสหภาพแรงงานแห่งชาติอีก ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำเรื่องสหภาพแรงงานแห่งชาติ ตอนนี้เลยจะเห็นการเรียกร้องกันแค่เรียกร้องของแต่ละบริษัทกับค่าแรง และโบนัสปลายปี รัฐวิสาหกิจเหมือนกัน กลายเป็นสหภาพที่ไม่ได้รับใช้สังคม แต่เป็นแค่เรื่องของส่วนบริษัทตัวเองเท่านั้น”

ประเด็นเหล่านี้แหละที่แชมป์มองว่า เพจ PUD จำเป็นต้องเล่า และพาคนดูให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เพราะลำพังการรอระบบการเมืองแค่การเลือกตั้งทุก ๆ 4 ปี ยังไม่มีผลมากพอ เพราะประชาชนมีอำนาจเพียงแค่ “วินาทีหย่อนบัตร” หลังจากนั้น รับบทเป็นผู้ชมนักการเมือง และรัฐบาลนำพาประเทศไปเท่านั้น ยิ่งในประเทศที่มีรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างไทย การเลือกตั้งทุก ๆ 4 ปี แบบสมบูรณ์ก็ยังเกิดขึ้นได้น้อยอยู่

สิ่งที่แชมป์ต้องการไฮไลต์ให้สว่างมากที่สุด คือ ไม่รอรัฐ ไม่รอใคร แต่สามารถเริ่มได้เลยหรือไม่ ไม่สนว่าเป็นฝ่ายขวา หรือซ้าย

“ในไทยการประท้วงมักเกิดจากอีกฝ่ายขึ้นมา อีกฝ่ายประท้วงไล่ แต่ที่ต่างประเทศเน้นประเด็น (Issue based) อย่างม็อบเสื้อกั๊กที่ฝรั่งเศส เกี่ยวกับราคาน้ำมันคือการต่อสู้เชิงประเด็น กดดันให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการให้ได้ โดยไม่รอให้ครบ 4 ปี ซึ่งของเรามันหนักกว่านั้น ที่ไมได้มีการเลือกตั้งทุก 4 ปี แต่มีรัฐประหารแทน”

“อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ถ้าอยากใหเกิดความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ การชุมนุมไปเรื่อย ๆ อาจไม่ได้ทำให้เขาระคายผิวอะไร เราเข้าใจว่ามันประโยชน์และคิดว่าเราชนะแล้วในเชิงวัฒนรรม อีกฝ่ายเป็นศพแล้ว เราอาจต้องผ่อนแรงในการต่อสู้เรื่องนั้น แต่มาต่อสู้ในเชิงอำนาจ เพราะนี่คืสิ่งที่เรายังไม่ชนะ ซึ่งมีไม่กี่ทาง หนึ่งในนั้น คือ การจัดการสหภาพแรงงานแห่งชาติ

ต้องทำให้คน 1% พวกอีลีทรู้ว่าใครสำคัญ รู้ว่าใครเป็นคนทำให้สังคมมันขับเคลื่อนไปได้ รู้ว่าใครที่สร้างกำไรให้บริษัท คนนั้น คือ พวกเราทุกคน 99%”

รวมกันไม่ง่าย ยังติด BUG ที่ต้องแก้

เล่ามาถึงตรงนี้ ภาพอุดมคติดูสวยงาม เป็นไปได้ เพราะการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นต่างพุ่งเป้า และเรียนรู้ เพื่อไปสังคม “คนเท่ากัน” กันทั้งนั้น แต่แชมป์ยังมองเห็นว่ามันยังมีจุดที่ต้องไปอุดเพิ่ม

แชมป์วิเคราะห์ว่า มันมีอุดมการณ์อยู่ 2 แบบ คือ เชื่อว่า คนเท่ากัน กับ คนไม่เท่ากัน แม้ว่าแต่ละแบบจะมีเฉดของตัวเอง แต่จากผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยที่แชมป์เคยพบเจอ ยังเชื่อว่า “คนเท่ากัน ยกเว้นที่ทำงาน” มันคือบัค (Bug) ที่ทำให้คำว่าคนเท่ากัน ถูกเลือนรางลงไปมาก และยากมากที่จะพาไปสู่สังคมที่ต้องการจริง ๆ

“ความเหลื่อมล้ำ-การผูกขาด ฝ่ายประชาธิปไตยเข้าใจสิ่งนี้มาก ทุกคนเข้าใจในภาพใหญ่ แต่ไม่ใช่ในที่ทำงาน ถ้าอยากแก้จริง ๆ ต้องแก้ที่ทำงาน ต้องแก้ที่ค่าตอบแทน และการแบ่งกำไรที่มันเป็นธรรม”

ไม่ใช่แค่พูดเพื่อเท่เท่านั้น ดูแชมป์จะเข้าใจสิ่งที่กำลังสื่อจริง ๆ เพราะเคยขัดแย้งกับตัวเองในประเด็นนี้มาแล้วเช่นกัน ด้วยการมองว่าอาชีพสอนวาดรูปของตัวเองก็สมควรได้เงินเยอะกว่าตำแหน่งแม่บ้าน

“เรารู้สึกว่า เราได้เยอะกว่าเขาก็ถูกแล้ว เราเรียนมา เรามีต้นทุน ตอนนี้เราคิดอีกแบบ มันไม่ใช่เลย ถ้าเราเชื่อว่าคนเท่ากันจริง ๆ เราต้องแบ่งผลประโยชน์ตามส่วนของงานที่มีในองค์กร แปลว่าองค์กรนี้ มีโพรเจกอะไรก็ตาม เราก็ต้องแบ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นแม่บ้าน เขาคือส่วนหนึ่งของที่ทำงานเหมือนกัน

ส่วนนี้ไม่ได้ด้อยค่าไม่กว่าตำแหน่งอื่น ๆ ดังนั้นการแบ่งส่วนมันไม่ควรเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ห่าง 10-20 เท่า แม้ถึงจะไปไม่ถึงอุดมคติ แต่เราเราลดช่องว่างอันนี้ได้ไหม?” 

โมเดลธุรกิจ “แบ่งกำไรเป็นธรรม” เพื่อให้ทุกคนตั้งตัวได้

ถ้าทำงานด้วยกัน การแบ่งกำไรก็ควรเป็นธรรม ไม่ว่าคุณจะอยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม บนโจทย์นี้ นอกจากเป็นวิธีการทำงานของเพจ PUD ที่ทุกคนทำงานแบ่งรายได้กันแบบนี้แล้ว แชมป์ยกตัวอย่างบริษัทที่ขนาดใหญ่กว่าทีมของเขา โดยเริ่มจาก โพรเจกที่กำลังทำอยู่ มีใครอยู่บ้าง ใช้เวลาทำเท่าไหร่ กำไรที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนแล้ว เช่น ค่าสถานที่ ค่าน้ำค่าไฟ ก็นำมาแบ่งกัน จะแบ่งออกเป็นกี่ประเภท ใครมีส่วนได้จากประเภทไหนก็ว่ากันไป ไม่ว่าคุณจะเป็น รปภ. หรือแม่บ้าน

“คำถามคือ ทำไมคนที่เป็นแม่บ้าน เป็นรปภ. ถึงไม่สามารถเก็บเงินซื้อบ้าน 2-3 ล้านบาทได้อย่างชนชั้นกลางอย่างเรา ที่เรานิยมว่าเราเป็นชนชั้นกลางเพราะเราได้เงินเดือน 2-3 หมื่น ทำไมเขาถึงทำไม่ได้แบบเรา แล้วคนจะเท่ากันได้อย่างไร อันนี้คือผลลัพธ์ จะเท่ากันได้ยังไง ถ้าเราสร้างตัวได้ไม่เท่ากัน”

“คุณทำงานคุณสร้างมูลค่าให้ทีม และองค์กร คุณก็ควรได้ไปเท่ากัน แต่เราจะติดตรงที่ว่า มันจะใช่ได้ยังไง แต่ทุนนิยมต่างหากที่บอกว่า ใครทำมากได้มาก ใครทำน้อยได้น้อย ไม่ใช่ครับ แต่ทุนนิยมนี่แหละที่บอกว่า คนที่ทำน้อยได้มาก หรือบางคนไม่ทำเลยก็ได้มากที่สุด มันจะเป็นแบบนี้”

ขยับขึ้นมาสเกลใหญ่กว่านี้ แชมป์เลือกเล่าจากบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งประเทศ มีพนักงานราว 30,000 คน ที่แน่นอนว่า คน 1 คน ไม่สามารถทำได้เท่าคน 3 คน บริษัทใหญ่ก็ไม่สามารถทำได้เท่าคน 30,000 คนเช่นกัน

แชมป์เล่าว่า บริษัทนั้นเมื่อปี 2562 มีกำไรประมาณ 22,000 ล้านบาท กำไรนั้นเขากระเป๋าคนไม่กี่คน อาจจะแค่หลัก 10 หลัก 100 หรือ 1,000 เท่านั้น แต่เงินกำไรนั้นเกิดนั้นคน 30,000 คนสร้างขึ้นมา ซึ่งเป็นเท็จจริง ลำพังแค่เจ้าสัวและพวกไม่มีทางขับเคลื่อนงานที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้ขนาดนี้ หากขาดหลายคนนี้ แต่กำไรกลับตกไปอยู่แค่คนไม่กี่คน

แชมป์ชวนคิดว่าแล้วจะเป็นอย่างไรหาก ถ้าเรามีประชาธิปไตยในที่ทำงาน? มีความเป็นธรรมในการแบ่งกำไรที่มากกว่านี้ หรือไปถึงอุดมคติ

แชมป์ลองจินตนาการว่า ปีนั้นหากพนักงานจะได้เงินเดือนเพิ่ม ถ้าเลือกรับเงินเดือน คนละ 50,000 บาท แปลว่า คนที่ได้เงินเดือน 15,000 2-30,000 จนเป็นแสน ทุกคนได้เพิ่มเป็นคนละ 50,000 บาท แปลว่าคนที่ได้น้อยที่สุด 15,000-18,000 ได้เพิ่ม 50,000 บาท

“คุณซื้อบ้านได้แล้ว เนี่ยมันคือความสำคัญของสิ่งนี้ มันแก้ความเหลื่อมล้ำได้ เพราะความเหลื่อมล้ำจากที่ทำงาน ถ้าทุกคนได้กำไรจากส่วนที่เขาจะได้ เขารวยไปแล้ว”

แชมป์ยกสโลแกนที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดีมาก คือ

เงินของคุณไม่มีประโยชน์ ถ้าคุณไม่มีเรา
คอมพิวเตอร์ของก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน ถ้าไม่มีพวกเรา
ไอเดียของคุณก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน ถ้าไม่มีพวกเรา

“ต่อให้เขาเป็นคนคิด แต่เขาทำในส่วนของเขา คือ การคิด การบริหาร ประสานงาน มันก็คือ 1 หน้าที่ คุณไม่ได้มีค่ามากกว่าคนกวาดพื้น หรือทำความสะอาดห้องน้ำเลย มี 1 หน้าที่เหมือนกัน แต่ทำไมคุณได้ทั้งหมดไป”

ในวันที่ทุกคนต้องคำนวณว่า ต้องมีเงินเท่าไหร่กัน เพื่อจะได้มีชีวิตช่วงเกษียณอย่างปกติสุข ตัวเลขหลักล้าน หลายสิบล้านผุดขึ้นมา แต่นั่นไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีความเป็นธรรมในเรื่องค่าจ้างค่าตอบแทน และการแบ่งผลกำไร

“ทำไมเราไม่ไปด้วยกัน เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกันไม่ใช่เหรอ ทำไมต้องมีคนไม่รอด ทำไมคนที่อ่อนแอต้องไม่รอด ซึ่งที่จริงเขาไม่ได้อ่อนแอเลย แต่คุณขโมยเขา เขาไม่ได้โง่ หรือด้อยไปกว่าเราเลย เขาก็ทำงานของเขาได้อย่างดี”

แม้วันนี้จะยกตัวอย่างที่พอเห็นภาพชัดเจนประมาณหนึ่งแล้ว แต่มายาคติ และค่านิยมชื่นชมนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ถูกยกย่องเป็นเจ้าสัว เป็นนักธุรกิจที่สร้างตัว หรือ Self-Made ซึ่งหากไม่ได้ทำคนเดียว แชมป์บอกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณสร้างเพียงคนเดียว แต่เจ้าสัวเหล่านี้กลับถูกทำให้เป็นไอดอล (Idolized) เป็นคนขับเคลื่อนประเทศ

“มีคนหนึ่งพูดว่า ถ้าคุณเป็นซ้าย แล้วพ่อแม่ไม่ให้เงินคุณ แล้วใครให้เงินคุณ ก็นายจ้างคุณ ก็นายทุน ที่คุณมีข้าวกิน เศรษฐกิจมันขับเคลื่อนไปได้เพราะสิ่งนี้ มวลรวมในการพูดก็คือ นายทุนมีพระคุณ เป็นวิธีคิดที่ทำให้คนต้องเดินตามนายทุน เดินตามศาสดา”

สิ่งที่พูดมาทำให้การเรียกร้องประชาธิปไตยในที่ทำงานอยู่ยากกว่าเดิม เพราะว่าคนจำนวนมาก “ยินดีดีลกับนายทุน” และ “เห็นใจนายทุน” มากกว่าคนทำงานด้วยกันเอง ซึ่งแชมป์เองยืนยันว่า “ถ้าอยากได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง ทุกภาคส่วน ถ้าอยากสร้าง อย่าสร้างบริษัท ต้องสร้างสหกรณ์ แม้จะจดทะเบียนแบบบริษัท ก็ต้องดำเนินงานแบบสหกรณ์ มีประชาธิปไตยถึงจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้”

เพราะทุกคน คือ แรงงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มองว่าตัวเองคือแรงงาน

ต้องเรียกร้องให้คนเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงาน
ต้องทำให้คนเข้าใจว่าการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องนั้นมีพลังและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
ต้องทำให้คนเข้าใจว่าถ้าแบ่งกำไรได้เป็นธรรมแล้ว เราทุกคนจะตั้งตัวได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำเพิ่ม แชมป์บอกว่า คือ
การทำให้ทุกคนเข้าใจว่า “เขาเองก็คือแรงงาน เราทุกคนคือแรงงาน”

นี่อาจเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเช่นกัน เพราะว่า แรงงานในความคิดหลายคนคืองานที่ใช้แรง พนักงานบริษัท เป็นแรงงานได้อย่างไร

“แรงงานใช้แรง คนทำงานออฟฟิศใช้สมอง ไม่มีหรอกงานที่ใช้สมอง และแรงแยกกัน ไม่ว่าทำงานก่อสร้างอิฐกลางแดด มันก็ใช้แรง และสมอง ทุกคนใช้สมอง และทุกคนคิดว่าทำงานใช้ความคิดก็ใช้แรงเหมือนกัน ไม่รู้มันเกิดจากอะไร เราต้องทำลาย เป็นวัฒนธรรมที่ทำให้เรามองคนไม่เท่ากัน”

“เราเคยคุยกันว่าเราต้องเลิกแบ่งคนเป็นชนชั้นกลาง ชั้นล่าง เราต้องมองว่าทุกคนคือแรงงาน ต่อให้ทุกคนเป็นชนชั้นกลาง แต่ความจริงเราก็คือ ขอบเหมือนกัน ขอบของพวก 1% ถ้าคุณเจอโควิด ไม่ได้รับผลกระทบอยู่สบาย คุณถึงไม่ใช่แรงงาน แต่ถ้าคุณเจอโควิด ต้องกระเสือกกระสนให้ตัวเองอยู่รอด ต่อให้เป็นเจ้าของธุรกิจคุณก็เป็นแรงงาน คุณก็ต้องทำงานให้กับทุนที่ใหญ่กว่าอยู่ดี ไม่ว่าอย่างไรคุณก็คือแรงงาน

มุมมองนี้เองทำให้เกิดการรวมตัวกันได้ยากมากขึ้น ประเทศไทยเองมีตัวเลขแรงงานที่รวมตัวกันได้เพียง 1.5% ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น หรือประมาณ 600,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น รูปแบบการทำงาน และจ้างงานในทุกวันนี้ โดยเฉพาะสายศิลปะ หรือสื่อสาร ต่างเป็นไปในรูปแบบฟรีแลนซ์ ที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ จากการทำงาน ทั้งเงินชดเชย ค่าโอที หรือแม้แต่ประกันสุขภาพ หรือเครดิตที่จะนำไปต่อยอดเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว เช่น กู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ

ขณะเดียวกัน นายทุนยังมีวิธีใหม่ ๆ เพื่อออกแบบการจ้างที่ “ไม่ต้อง” รับผิดชอบความเป็นลูกจ้างมาก อย่างเช่น กลุ่มไรเดอร์ ที่ทำทุกอย่างเหมือนพนักงานบริษัท แต่ไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ เลย

“เราถูกแยกออกจากสังคม ทั้งที่หากเรารวมตัวกันได้ เราจะช่วยเหลือกันได้เยอะกว่านี้”

รูปแบบการทำงานแบบไหน ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นทางเลือกที่ถูกต้องของคนทำงานในยุคนี้แค่ไหน แต่ ณ วันนี้ แชมป์เชื่อว่า สหภาพแรงงาน คือ ทางรอดของคนทำงาน ที่จะมีพลังมากพอเปลี่ยนแปลงสวัสดิการคนทำงานให้ดีขึ้นได้ และอาจไปไกลถึงรัฐสวัสดิการ สุดท้ายมันจะกลับมาที่การยืนหยัดในเสียงตัวเองว่า ในอุตสาหกรรมการทำงาน “ใครคือคนสำคัญ” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า