มาตรวัดสถานะที่เรียกว่า "บันได" เมื่อเรายืนอยู่คนละขั้น - Decode
Reading Time: 2 minutes

“อีก xx ปี คนจนจะหมดประเทศ”

เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผู้นำประเทศคนหนึ่งกล่าวเอาไว้ โดยได้จัดตั้งหน่วยงานที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ

แล้ว ความเหลื่อมล้ำ กับ  ความยากจน มันคือเรื่องเดียวกันหรือเปล่านะ…

ล่าสุดสำนักพิมพ์ Bookscape ได้ออกหนังสือเล่มหนึ่งที่จะมาช่วยอธิบายเรื่องนี้ The Broken Ladder เมื่อบันไดหัก : มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา  

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคมที่เราพบเจอทั้งจากข่าวสารที่เราอ่าน หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เราได้เจอกับตัวเองนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเหลื่อมล้ำของสังคม  มันไม่ได้เกี่ยวกับเงินที่เรามีอยู่หรอก แต่เมื่อไหร่ที่เราเริ่มเปรียบเทียบกับผู้อื่นจากสิ่งที่เรามีอยู่ เช่น เราดันไปรู้ว่าเพื่อนที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกับเราซื้อรถยนต์ใหม่ หรือมีของอะไรใหม่ ๆ 

นั่นไง… คุณเริ่มรู้สึกถึงอะไรบางอย่างแล้วใช่ไหมล่ะ

ไม่ว่าคุณจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่การเปรียบเทียบของคนเรานั้นซับซ้อนกว่าที่คิด สมองของคนเรามีการเปรียบเทียบตลอดเวลาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว สมองของเราตัดสินสถานะทางสังคมโดยอัตโนมัติ ซึ่งในหนังสือได้ใช้บันไดในการวัดมุมมองส่วนบุคคลต่อสถานะทางสังคม หรือที่เรียกว่า บันไดสถานะ (Status Ladder)

ถ้าเทียบกับคนในองค์กรที่คุณทำงานอยู่… คุณคิดว่าคุณอยู่ขั้นไหนของบันไดนี้

แต่เอาจริง ๆ เราไม่มีทางรู้หรอก ว่าจริง ๆ แล้วเราอยู่บันไดขั้นไหนกันแน่ เมื่อเทียบกับคนทั้งองค์กร เพราะเราไม่ได้รู้ข้อมูลเงินเดือน หรือสถานะทางสังคมของคนทั้งหมด  เพราะฉะนั้นการที่เราคิดว่าเราอยู่บันไดขั้นไหน มันเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น

ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงการคาดคะเน… แต่นั่นก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกแล้ว ว่าเรา ยากจน

หรืออย่างง่าย ๆ เลย ที่เราเคยเห็นตามหน้าฟีดเฟซบุ๊กช่วงนึงจะมีเนื้อหาประมาณนี้ขึ้นมาว่า อายุ 30 ปีแล้วควรมีอะไรบ้าง พอเราไล่อ่านไปทีละข้อทีละข้อ  โอ้โห… บางอย่างถ้าเราไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง เราจะถือว่าเป็นคนล้มเหลวหรือยากจนไหมเนี่ย แล้วถ้าเรารู้ไม่เท่าทันความรู้สึกนั้นก็พาลจะทำให้เรารู้สึกแย่ รู้สึกหดหู่กับตัวเอง  การที่เรามองตัวเองว่ารวย-จนโดยเกิดจากการเปรียบเทียบกับบริบทรอบข้างนั้นเกิดจากความเหลื่อมล้ำภายในสังคม  และเจ้าความเหลื่อมล้ำนี่แหละที่เป็นตัวสร้างวิธีคิดและพฤติกรรมอะไรบางอย่างในกับคนเรา…

เนื้อหาภายในหนังสือค่อย ๆ ไล่เรียงไปทีละบททีละบทอย่างเชื่อมโยงกัน โดยเอาการทดลองทางจิตวิทยามาอธิบายควบคู่ด้วย…

อย่างบทที่ 2 เป็นบทที่ว่าด้วยเรื่องตรรกะเสื่อม  อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวิธีคิดและพฤติกรรมอะไรบางอย่างให้กับคนเรา  มีส่วนหนึ่งในหนังสือที่กล่าวว่า ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ขั้นล่างของบันไดในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง วิธีคิดการตัดสินใจอะไร จะเป็นเพียงระยะสั้น ๆ มีชีวิตเพื่อวันนี้  กล้าที่จะเสี่ยง…ซึ่งนั่นก็อาจจะทำให้คนกล้าที่จะเสี่ยงทำอะไรที่ผิดกฏหมาย เช่น กล้าเล่นการพนัน กล้าค้ายาเสพติด แต่ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่อยู่ขั้นสูงของบันได เราก็อาจจะมองการณ์ไกล วางแผนอะไรกับชีวิตในอนาคต

ในพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงบางคนอาจจะอยู่ในสถานะ หรือขั้นบันไดที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องเสี่ยงอะไร แต่ลองจินตนาการดี ๆ ว่าเพียงคุณเดินออกจากบ้านเพื่อจะเดินไปไหนซักที่ หากต้องเดินผ่านพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยและคุณรู้สึกว่าจุดนี้เป็นบันไดคนละขั้นกับตัวเอง เราก็จะเริ่มรู้สึกกลัวขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กลัวว่าจะมีใครมาทำอะไรหรือเปล่านะ… 

ที่เราจะบอกก็คือ นี่แหละคือผลกระทบที่คุณจะได้เมื่อสภาพสังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง

บทนี้น่าสนใจมาก.. ถ้าใครอยู่ในวัยทำงาน  คือบทที่ว่าด้วยเรื่อง บันไดในองค์กร

หากงานที่เราทำนั้นมีความหมายต่อตัวเอง เราก็มีแนวโน้มที่จะพึงพอใจต่องานนั้น แต่ปัจจัยในการพึงพอใจในงานไม่ได้มีเพียงแค่ว่างานนั้นมีความหมายต่อตัวเองเพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมไปถึงเรื่องความเท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ ทั้งเงินเดือน สถานะ อำนาจ ในที่ทำงานอีกด้วย หากในองค์กรนั้น ๆ มีความเหลื่อมล้ำมาก พนักงานก็จะรู้สึกถึงความไม่สมดุล และเมื่อเกิดความรู้สึกไม่สมดุล ก็อาจจะทำให้พนักงานกระทำอะไรบางอย่างที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายเพื่อรักษาสมดุลนั้น เช่น การยักยอกทรัพย์ เป็นต้น

ในหนังสือยังมีตัวอย่างมากกว่านี้ แต่ที่ยกตัวอย่างขึ้นมาก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะพออธิบายได้ว่า ไม่ว่าสังคมจะมีขนาดแค่ไหนหากบันไดแห่งความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างกว้างออกไปก็ยิ่งมีแต่จะทำให้คนมีความรู้สึกจนลงมากขึ้นเท่านั้น แล้วโอกาสของคนที่อยู่บันไดขั้นล่าง ๆ ที่อยากจะกระเถิบตัวเองขึ้นไปบันไดขั้นบน ๆ ก็จะยากมากขึ้นทุกที

จริงอยู่ว่าการปรับเปลี่ยนลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ เป็นเรื่องที่ดูไกลตัว เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเข้ามาดู แต่ก็ใช่ว่าเราเองในฐานะปัจเจกชนจะทำอะไรไม่ได้เลย ในสังคมประชาธิปไตยเราสามารถรวมกลุ่มเสนอข้อเรียกร้องต่าง ๆ เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา

หากรัฐมีประสิทธิภาพ และฟังเสียงคนทุกกลุ่มมากพอ

ข้อเรียกร้องเหล่านั้นก็ควรได้รับการตอบสนองบ้าง เพื่อไม่ให้บันไดแห่งความเหลื่อมล้ำมันกว้างไปมากกว่านี้  และในที่สุดอาจกลายเป็นบันไดหัก ที่ไม่มีโอกาสให้คนที่อยู่บันไดขั้นล่างได้ลืมตาอ้าปากได้อีกเลย

หนังสือ: The Broken Ladder เมื่อบันไดหัก : มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา  
นักเขียน: Keith Payne นักแปล: วิทย์ วิชัยดิษฐ
สำนักพิมพ์: bookscape

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี