คิมจียองไม่ใช่เรื่องเกินจริง ชีวิตคนหนึ่งคนหรือแค่เกมการเมืองโสมขาว? - Decode
Reading Time: 4 minutes

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งที่ 20 การเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สื่อเกาหลีใต้และสื่อหลายแห่งทั่วโลก ต่างกล่าวว่า นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งที่เละเทะมากที่สุดครั้งหนึ่ง และจะส่งผลให้การพัฒนาของประเทศถอยหลังในหลาย ๆ ด้าน

ที่สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังปรากฏภาพอีกมุมของประเทศ โดยเฉพาะวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่ฝังลึกในสังคม ภายใต้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ ”ผู้ชาย” น่าหลงใหลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

de/code พูดคุยกับ เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ถึงการพัฒนา (ที่อาจ) ถอยหลัง ของสังคมชาวโสมขาว ทั้งการกดทับของสังคมชายเป็นใหญ่และการสั่นไหวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในปี 2565

ในวันที่ประชาธิปไตยแข็งแรง แต่ช่องว่างทางเพศถูกแช่แข็ง

เรืองรวีกล่าวว่า “เป็นที่น่าเสียดาย ความเท่าเทียมทางเพศที่กำลังจะเติบโตในเกาหลี แต่หลังจากนี้คงถึงคราวต้องสะดุด จากการที่ ยุน ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี”

ด้วยนโยบายและท่าทีของยุน แสดงให้เห็นถึงการเป็น Anti Feminist โดยอ้อม ทั้งจากการแสดงความคิดเห็นต่อการเรียกร้องสิทธิทางเพศในการเลือกตั้งครั้งนี้ของกลุ่ม Feminist ในกรุงโซล หรือแผนการยกเลิกกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้ การกระทำดังกล่าว ทำให้สื่อเกาหลีใต้มองว่า นี่เป็นการพัฒนาที่ถอยหลังในเรื่องของสิทธิทางเพศในเกาหลีใต้ หลังจากที่ประชาชนได้ออกมาต่อสู้ถึงสิทธิ์และค่านิยมที่กดทับพวกเขาไว้ และได้รับการส่งเสริม ในยุคของประธานาธิบดี มุน แจ อิน มากขึ้น

ทว่า ทั้ง ยุน ซอก ยอล และ อี แจ มยอง ตัวเต็งเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ทั้ง 2 ในสายตาของ เรืองรวี ถือว่าทำการบ้านด้านตีโจทย์การเลือกตั้งครั้งนี้ได้แตก ในการนำปัญหาด้านความเท่าเทียมทางเพศมาเป็นจุดขายของแต่ละฝั่ง ถึงแม้ ยุน จะแสดงตัวว่าไม่ได้สนับสนุนการเรียกร้องของกลุ่ม Feminist ในเกาหลีใต้มากนัก ทางฝั่ง อี เอง ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านการสนับสนุนสิทธิทางเพศในทิศทางที่ดีเช่นกัน ระหว่างการหาเสียง ทั้ง 2 ฝั่ง มีการนำข่าวฉาวในประเด็นการคุกคามทางเพศ ออกมาโจมตีฝั่งตรงข้ามอยู่เสมอ

คล้ายกับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ชาวโสมขาวต้องเลือกคนที่ ‘เลวน้อยกว่า’

ประเทศเกาหลีใต้ มีประชาธิปไตยที่แข็งแรง จากการต่อสู้เผด็จการมานับหลายครั้ง กลับกัน เกาหลีใต้ยังคงเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศสูงเช่นกัน จากรากฐานชายเป็นใหญ่ที่มีทับถมมานาน รวมถึงมุมมองของคนในประเทศ ทั้งจากศาสนาและค่านิยม เรื่องของสิทธิสตรีก็ยังถูกกดทับและเรียกร้องมาโดยตลอด

ในยุคที่สังคมเกาหลีใต้ ผลักดันเรื่องสิทธิทางเพศจนสามารถก่อตั้ง กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว กระทรวงนี้ได้รับงบมหาศาลต่อปีในหลักแสนล้านวอนต่อปี ในการสร้าง Gender budgeting คืองบประมาณสำหรับการสนับสนุนด้านเพศ ตั้งแต่ผ้าอนามัย จนไปถึงการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านเพศต่าง ๆ

“แผนยุบกระทรวงนี้แหละ ที่ทำให้ยุนกลายเป็นพวกต่อต้านเฟมินิสต์ในสายตาประชาชน และเป็นยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย” เรืองรวี วิเคราะห์ยุทธศาสตร์เชิงนโยบายของยุน ที่จับจุดคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะเป็นฐานเสียงให้ตัวเอง นั่นคือกลุ่มของเด็กผู้ชาย อีกทั้งการยุบกระทรวงนี้ ทำให้ประชาชนหลายคนรู้สึกว่า เม็ดเงินของพวกเขาได้กระจายไปสู่สิ่งที่พวกเขาได้ประโยชน์โดยตรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยุน ยังมีนโยบายอย่าง การสมัครใจเกณฑ์ทหาร ที่ผู้ชายจะได้ผลประโยชน์ไปเต็ม ๆ รวมถึงการออกมาแสดงจุดยืนร่วม ในการทำให้การลุกขึ้นมาของเฟมินิสต์ กลายเป็นนัยหนึ่งของการกดทับผู้ชายแทน มีผู้ชายจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มผู้ชายเหล่านี้ มักจะเรียกตัวเองว่า Anti Feminist สาเหตุโดยส่วนใหญ่ คือการที่พวกเขารู้สึกว่า ผู้ชายกลับเป็นกลุ่มที่โดนกดทับเสียเอง จากกลุ่มคนที่อยากยกเลิกการกดทับ “ยุนจึงได้ฐานเสียงมาค่อนข้างเยอะจากกลุ่มเด็กผู้ชาย รวมไปถึงการที่เขาออกตัวว่าเป็นสายชาตินิยม อนุรักษนิยม จึงมีฐานเสียงจากคนมีอายุด้วย”

เกาหลีใต้กำลังจะถูกแช่แข็งช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเพศอีกครั้งหรือไม่ การพัฒนาที่ถอยหลังครั้งนี้คงต้องมองให้ลึกถึงปัจจัย ที่ทำให้การไม่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของ ยุน มีผลดีอย่างไรในสายตาของประชาชน ทำไมถึงเทคะแนนให้เขา ได้ที่นั่งประธานาธิบดีในครั้งนี้

เพศและวัย ในช่องว่าง 0.6 %

อ้างอิงผลการสำรวจของ KBS news ผลคะแนนที่ออกมาอย่างเป็นทางการ ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่จัดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม 2565 ยุน ซอก ยอล จากพรรคพลังประชาชน ชนะ อี แจ มยอง จากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี แบบฉิวเฉียดด้วยคะแนนทั้งหมด 48.6 % ต่อ 47.8 % ช่องว่างเพียง 0.6 % นี้ที่ทำให้ ยุน สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนล่าสุดได้ ปัจจัยหลักที่เป็นจุดพลิกผันของคะแนน คือการแสดงออกถึงความคิดเห็นส่วนบุคคลจนไปถึงระดับนโยบาย เรืองรวีให้ความเห็นว่าปัจจัยสำคัญเหล่านี้ เป็นเรื่องของ ช่องว่างระหว่างวัยและความแตกต่างทางเพศ

“ปัจจัยแรก คือช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในเชิงของอิทธิพลในการเลือกตั้ง” ช่องว่างของความแตกต่างระหว่างวัย คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลคะแนนออกมาแบบฉิวเฉียดได้ขนาดนี้ ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อิทธิพลการเปลี่ยนผ่านสังคมของแต่ละยุคส่งผลให้ผู้คนแต่ละวัย มีทัศนคติต่อผู้นำของตนแตกต่างกัน

ในขณะที่ผู้สูงอายุจะมีพฤติกรรมในการเลือกตั้งในลักษณะของความจงรักภักดี (Loyalty) ต่อแนวคิดของพรรคนั้น ๆ มาโดยตลอด กลับกัน คนรุ่นใหม่มีลักษณะของการตัดสินที่รวดเร็ว (Quick judgement) หรือในการเลือกตั้งมักจะเรียกกลุ่มนี้ว่า Swing voter คือกลุ่มคนที่ไม่ได้ลงหลักปักใจกับพรรคใดพรรคหนึ่ง หากมีกระแสหรือปัจจัยที่สร้างผลเสียต่อตน ก็จะเทใจไปให้อีกฝั่ง” เรืองรวีกล่าวเสริมว่า ภายใต้การแบ่งช่วงวัยด้วยผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ คนแต่ละเจนก็มีเสียงที่แตกต่างกันออกไป

เรืองรวี ยังพูดถึงความแตกต่างทางเพศ คือกุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่ง ที่มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก “ถ้าเกิดว่าไม่พยายามทำความเข้าใจ Gender conflict ก่อน คุณจะไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของเรื่องนี้ได้เลย” จากนโยบายและจุดยืน รวมถึงข่าวฉาวของผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ มุมมองต่อเพศ เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้นำที่ตนเห็นดีเห็นชอบด้วย

จากตารางด้านบน ทิศทางในการเลือกตั้งของผู้หญิงและผู้ชายในแต่ละช่วงวัย สามารถที่จะชี้ชัดให้เห็นว่าความเท่าเทียมทางเพศ ถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งในเกาหลีใต้ครั้งนี้ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การที่ยุนเป็นสายอนุรักษนิยม ที่นำชาติมาก่อนสิ่งใด ทำให้ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศถูกลดความสำคัญลง

นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ในการชนะใจประชาชน ยุน ยังคงใช้เกมการเมืองในการจับมือร่วมกันกับพรรคอันดับ 3 อย่างพรรคยุติธรรม ทำให้ช่องว่าง 0.6 % นี้ ยิ่งชัดเจนถึงการออกแบบยุทธศาสตร์ทางการเมืองว่า ที่ชนะมาได้แบบฉิวเฉียดนั้น ไม่ใช่โชคช่วยหรือบังเอิญแต่อย่างใด

ทว่า อีกสิ่งที่เราต้องนึกถึง ในการหล่อหลอมทัศนะผู้คนในสังคมตลอดมา คือ Soft power อย่าง อุตสาหกรรมบันเทิง ของเกาหลีใต้ ที่มีทั้งการผลิตซ้ำและเผยภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ของประเด็นทางเพศ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในประเทศ ซึ่งสามารถฉายภาพที่มาและที่ไปของผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้กว้างมากขึ้น

เนื้อเพลงวง BTS พล็อตชายรวย-หญิงสู้ชีวิตในซีรีส์ และนักแสดงหญิงในบทบาท LGBTQIA+

“เกาหลีใต้ไม่ได้แค่ สร้างสรรค์ soft power ของตัวเองให้คนดูชอบอย่างเดียว แต่เขาหยิบยก soft power เหล่านี้ ยึดโยงกับการเมือง เพื่อที่จะสามารถพามันไปได้ไกลยิ่งขึ้น ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและการตีแผ่สังคม” คงไม่เกินจริง หาก 10 ปีที่แล้ว มีคนพูดว่าสื่อเกาหลีจะดังไปทั่วโลก คงมีแต่คนหัวเราะเยาะแน่ ๆ แต่มาในปี 2022 สื่อเกาหลีได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ทั้งรูปแบบหนัง ซีรีส์ รวมถึงเพลง

เรืองรวีเล่าถึงประสบการณ์ 3-4 ปีหลัง ที่ได้สนใจและเข้าสู่วงการติ่งเกาหลี ผ่านซีรีส์ หนัง และศิลปินเกาหลี ทว่า ภายใต้เรื่องราวหวานซึ้งกินใจ เรืองรวี เห็นถึงมิติของการผลิตซ้ำและต่อต้านวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสื่อเหล่านี้

“หากเราสังเกตดี ๆ พล็อตหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก คือเรื่องราวของผู้ชายรวย เจ้าของบริษัท ที่พบรักกับสาวน้อยหาเช้ากินค่ำ อยู่ในห้องเล็ก ๆ ”

การผลิตซ้ำวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ของสื่อเกาหลีในสายตาของเรืองรวี อาจจะไม่ใช่การกดทับอย่างตรงไปตรงมาเหมือนละครไทย ที่ผู้คนโรแมนติไซซ์การข่มขืนของพระเอกหล่อ แต่เป็นการฉายภาพที่ผู้หญิงมักจะอยู่ในฐานะหรือตำแหน่งที่ต่ำกว่าผู้ชายอยู่บ่อยครั้ง กลับกัน เรืองรวี ตั้งคำถามต่อว่า ทำไม พล็อตเรื่องที่ผู้หญิงมีฐานะสูงกว่าผู้ชาย จึงมีน้อยและไม่เป็นที่นิยม

รวมถึงการสนับสนุน LGBTQIA+ เรืองรวีให้ข้อมูลของกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวว่า กระทรวงนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมเพศทางเลือกอื่นมากนัก ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องของสิทธิสตรีและครอบครัวมากกว่า เรืองรวี เปรียบเทียบกับการสนับสนุนประเด็นนี้ในสังคมไทย อย่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่ครอบคลุมเพศทางเลือกมากกว่า

นึกย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซีรีส์เรื่องดังอย่าง ‘Itaewon class’ ก็มีการนำเสนอตัวละคร transgender ที่เป็นนักแสดงหญิงมาแสดง เราแทบจะไม่เคยเห็นซีรีส์เกาหลีหรือละครเรื่องใด ให้นักแสดงที่เพศตรงกับตัวละครในเรื่องมารับบทโดยตรงเลย การผลักดัน LGBTQIA+ ใน soft power ต่าง ๆ จึงดูกำกวมและผิวเผิน นี่ยังเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง ในการชี้ชัดถึงค่านิยมผ่านศาสนาและกรอบสังคม ที่ปรากฏให้เราเห็นในสื่อเกาหลีใต้ และทำให้เราได้เห็นทิศทางผลของคะแนนที่ปรากฏในการเลือกตั้งครั้งนี้

กลับกัน อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกเช่นกันอย่าง K-POP สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้ติดตาม “อย่างวง BTS เนี่ย เนื้อเพลงของเขาก็ดึงดูดคนรุ่นใหม่มากนะ ในการยอมรับความล้มเหลวและสู้ต่อไป ในภาวะที่สังคมเกาหลีใต้มีการแข่งขันที่สูงและถูกกดทับเพิ่มด้วยโรคระบาด” รวมถึงการเปิดรับทัศนะที่เปิดกว้างทางเพศ

หากเทียบกับเนื้อหาของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ด้านอื่น แฟนคลับส่วนใหญ่ของศิลปิน K-POP ทั้งศิลปินกลุ่มชายและหญิง จะเป็นเพศหญิงมากกว่า รวมถึงเด็กผู้ชายที่ถูกวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่กดทับ ทั้งค่านิยมหัวหน้าครอบครัว ลูกผู้ชาย และอื่น ๆ เมื่อมองกลับไปที่ผลคะแนนการเลือกตั้ง เพศหญิงเกือบทุกช่วงวัย มีแนวโน้มที่จะลงคะแนนเลือกตั้งของตนไปให้กับ อี ซึ่งมีนโยบายและท่าทีในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศมากกว่า ยุน

สื่อบันเทิงทำงานและเติบโตได้ดีกับผู้คนมากเท่าไหร่ สื่อยิ่งสามารถสะท้อนสังคมได้มากเท่านั้น ผ่านเนื้อหาที่ผลิตออกมาขายให้กับผู้บริโภค อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ จึงเป็นอีกจุดหนึ่ง ที่เราไม่ควรมองข้ามในการมองบริบททางสังคมของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะของค่านิยมทางเพศ ที่ส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมของเกาหลีใต้ตลอดมา

ยิ่งกดทับ ยิ่งเบ่งบาน

เป็นความจริงที่สังคมมีการกดทับมากเท่าไหร่ ผู้คนยิ่งรวมกลุ่มและออกมาต่อต้าน เรียกร้อง มากขึ้นเท่านั้น ไม่ต่างกับการฝังเมล็ดลงในดินที่รอคอยการเจริญเติบโตเข้าสักวัน

กลุ่มคนเรียกร้องส่วนใหญ่มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ เจน Y กลุ่มนักศึกษา รวมถึงกลุ่มคนที่อายุน้อยลงไป ทั้งชาย หญิง และ LGBTQIA+ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงขนบในบ้านเกิด ที่ตนจะต้องมีชีวิตต่อไปในอนาคต การต่อสู้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงวันสองวัน แต่เป็นการต่อยอดจากการต่อสู้ของคนรุ่นก่อนหน้า การต่อสู้ด้านสิทธิทางเพศในเกาหลีใต้จึงมีความแข็งแรงพอสมควร เรืองรวี จึงมองการต่อสู้ด้านสิทธิทางเพศในเกาหลีใต้ว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

แต่ก็มีคำถามสำคัญ ว่าทำไม ยุน ถึงกล้าใช้ยุทธศาสตร์นี้และอีกหลายนโยบาย กับการเลือกตั้งในยุคที่การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและสันติภาพ เป็นประเด็นสำคัญทั่วโลก

เรืองรวี ได้วิเคราะห์สิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งนี้ ไว้อยู่ 3 ประการ

1.ความเหลื่อมล้ำทางเพศจะสูงขึ้น เป็นที่แน่นอนว่า ถ้าหาก ยุน ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้แล้ว ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ผ่านนโยบายและการจัดการผ่านส่วนกลาง อย่างการลดงบประมาณและแผนยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว จะส่งผลโดยตรงต่อผู้หญิงและเพศทางเลือก ยิ่งไปกว่านั้น เด็กผู้ชายอาจจะต้องแบกรับสังคมชายเป็นใหญ่ที่มากขึ้น ผ่านการที่ผู้นำอย่าง ยุน เป็นสายอนุรักษนิยมและชาตินิยม

2.การสั่นคลอนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นที่น่ากังวล คือการที่ ยุน ออกนโยบายระหว่างประเทศอย่าง ตัดสินใจจับมืออเมริกา สร้างความเชื่อใจต่อญี่ปุ่นมากขึ้น ต่อต้านเกาหลีเหนือและจีน เปรียบเทียบกับ มุน แจ อิน ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ได้สร้างสัมพันธไมตรีไว้ค่อนข้างมาก ยิ่งในยุคที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการหลายคน มองว่าโลกกำลังจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังปะทะกันอยู่ สงครามเศรษฐกิจและโรคระบาด รวมถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่แปรปรวนขึ้นทุกขณะ นโยบายของ ยุน ในด้านนี้ จึงเป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลให้ความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางเพศถอยหลังกลับไปไกล

3.การเปลี่ยนผ่านของสังคม เสียงแตกที่ชัดเจนของการเลือกตั้งในเกาหลีใต้ครั้งนี้ มีช่องว่างระหว่างวัยเป็นส่วนสำคัญ คล้ายกับทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ที่คนรุ่นใหม่มีแนวคิดและความเชื่อไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่า การเปลี่ยนผ่านทางสังคม ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดของสังคมเกาหลีใต้ในหลายแง่ เช่นเดียวกัน

สังคมเกาหลีใต้ยังคงต้องต่อสู้ด้านความเท่าเทียมทางเพศต่อไป นี่ยังเป็นโจทย์ใหญ่หลังจากที่เกาหลีใต้มีประชาธิปไตยที่แข็งแรงแล้ว ทั้งการต่อสู้บริบททางสังคม ตั้งแต่หลักสูตรในระบบการศึกษา ที่มีเนื้อหาว่าด้วยค่านิยมชาย-หญิงที่ดีของสังคม จนไปถึงการคุกคามและค่านิยมทางเพศของผู้ใหญ่

ในยุคที่ผู้นำทั่วโลก ต้องมีวิสัยทัศน์ของความเท่าเทียมทางเพศ คนเท่ากัน รวมถึงใส่ใจวิกฤตสิ่งแวดล้อม ทว่า วิสัยทัศน์เหล่านั้น เป็นสิ่งที่ผู้นำตระหนักจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงภาพลักษณ์ที่ฉายออกมาให้เห็น ไม่ต่างจากบุคลิกความเป็น Masculine ที่ฝังลึกอยู่กับนักการเมือง ไม่ว่าหญิงชาย ในการเป็นคนแข็งแกร่งของประชาชน ทั้ง ๆ ที่เราก็คงอยากเห็นบุคลิกด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ Masculine และ Feminine มีพื้นที่ในสังคมมากพอกับที่เป็นอยู่ ถ้าเราเชื่อมั่นในความคิดที่ว่า ‘คนเท่ากัน’

เพราะความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของเพศหญิง เพศทางเลือก หรือกระทั่งเพศชายเองก็ตาม การลดความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ และสร้างความเท่าเทียมทางเพศ เป็นเรื่องที่เราควรจะมองและสนับสนุน ในฐานะคน ๆ หนึ่ง ที่เชื่อว่าสังคมจะเท่ากันได้ต่างหาก