อกหักของแอคทิวิสต์ แรงปะทะจากการเมืองหลังบ้าน - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในวันที่สถานการณ์ทางการเมืองยังคงขมุกขมัว การขับเคลื่อนทางสังคมไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม งานหลักหรืองานราษฎร์ ล้วนเป็นงานที่สร้างความสั่นสะเทือนและความตึงเครียด ให้สั่งสมอยู่ภายในร่างกายและอารมณ์ของเหล่าผู้เรียกร้อง และแม้คำว่า สุขภาวะที่ดี หรือที่เราต่างเรียกว่า Well-being จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมายในการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจ แต่กลับไร้ซึ่งการพูดถึงเหตุปัจจัยที่ส่งเสริม สุขภาวะที่ไม่ดี เหล่านั้นขึ้นมากันเสียหมด 

 และใช้แรงกายแรงใจทั้งหมดที่มีเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเพื่อทุกคน โดยลืมหันกลับมามองตัวเองโดยสิ้นเชิง

De/code พูดคุยกับ การเมืองหลังบ้าน กลุ่มนักกิจกรรมที่เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลตัวเอง และการดูแลซึ่งกันและกันภายในขบวนการเรียกร้อง ไม่ว่าคุณจะเป็นนักกิจกรรม หรือเพื่อนร่วมขบวนการ ผ่านการเสริมสร้างความมั่นคงจากภายในสู่ภายนอกเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของทุกคน ในวันที่เราต่างมองหาการวิธีการฮีลจิตใจ โดยหลงลืมการพูดถึงการแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา

เมื่อสุขภาวะที่ดีเป็นเรื่องของคนมีอันจะกิน

“เอาล่ะ เราจะทำโยคะ มีเทียนหอม มีอะไรเยอะแยะในขณะที่หลาย ๆ คนไม่มีอันจะกิน”

เอ (นามสมมุติ) นักกิจกรรมจากการเมืองหลังบ้านกล่าว เธอเสริมคำว่า well-being ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยได้ก็เพราะอิทธิพลของโลกตะวันตก ทว่าในบางครั้งเมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพกายใจให้ผู้คนมีสุขภาวะที่ดี กลับกลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมของผู้มีอภิสิทธิ์ในสังคมแทน

กลุ่มการเมืองหลังบ้านไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ในประเทศไทย เพราะพวกเขาพบว่าเหตุปัจจัยที่ล้อมความเป็นมนุษย์ของเหล่าผู้ขับเคลื่อนแต่ละคน ล้วนมีความซับซ้อนและแตกต่างกัน ดังนั้นหน้าที่ของกลุ่มการเมืองหลังบ้าน จึงต้องมองให้ลึกลงไปจนถึงชีวิตจริงของนักกิจกรรม มองเข้าไปถึงส่วนลึกของพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถท้อแท้ เหนื่อยล้า และเจ็บปวดได้ 

ว่าด้วยเรื่องของ…แรงปะทะในทุกมิติ

ผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยความคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมจำนวนมาก ล้วนมีประสบการณ์ร่วมของการเป็นผู้ถูกกดขี่ หรือถูกตีตราในบริบทที่แตกต่างกันออกไป ประสบการณ์ตรงเหล่านี้ย่อมสะเทือนลึกเข้าไปถึงพลังใจขณะออกมาเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ เพราะในขณะที่เรื่องเก่า ๆ ที่ตนพบมายังไม่มีพื้นที่ในการเยียวยา ยังต้องเจอคลื่นปัญหาใหม่ซัดเข้าหาอย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะในทางตรงที่ประสบด้วยตัวเอง หรือทางอ้อมที่ต้องร่วมเห็น และเป็นพยานรับรู้ความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์คนอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าแล้ว ความรุนแรงมือสองนี้ล้วนสามารถสั่งสมเป็นความเครียดอยู่ในร่างกายและจิตใจของพวกเขาไม่แพ้กัน

นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างผู้เรียกร้องและสถาบันที่สถาปนาตัวเองอย่างมั่นคงในสังคม จนทำให้พวกเขาต้องพบกับแรงปะทะในทุกช่วงจังหวะของชีวิต เพราะการปะทะเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่กับสถาบันทางกฎหมาย หรือรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ และอีกหนึ่งสถาบันสำคัญที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมเอเชีย นั่นก็คือ สถาบันครอบครัว ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อเหล่านักขับเคลื่อนแบบรายวัน จนในบางครั้งยากที่จะเผชิญหน้าไหว

“นักกิจกรรมจำนวนมากจะมีความขัดแย้งในครอบครัว เพราะเขาลุกขึ้นมาเพื่อจะบอกว่าเขาจะไม่คิดตามแบบที่ครอบครัวสอนให้เขาคิด” 

เอ เสริมอีกว่าด้วยรากฐานวัฒนธรรมไทยที่สร้างค่านิยมว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมความรับผิดชอบหนึ่ง ที่ไม่สามารถละทิ้งได้ นั่นก็คือการดูแลครอบครัว ไม่ว่าเขาคนนั้นจะทำบทบาทเป็นพ่อ แม่ หรือลูก พวกเขาสามารถรู้สึกผิดจากการไม่ได้ทำหน้าที่ตามแบบฉบับที่ถูกเขียนไว้

ซ้ำร้ายในสังคมที่ไม่มีรัฐสวัสดิการรองรับอย่างสังคมไทย จึงทำให้ชีวิตของคนหนึ่งคนถูกยึดโยงเข้ากับครอบครัวไปโดยปริยาย ดังนั้นการถูกตัดขาดจากครอบครัวไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับจิตใจเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักกิจกรรมที่เป็นเยาวชน

ถอดรหัสคำว่า ‘มืออาชีพ’ ที่มาคู่กับการเสียสละที่ไม่วันพอ

การขับเคลื่อนภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ และทุนนิยมที่อยากให้ทุกคนเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในกลไกเศรษฐกิจ มักบีบบังคับให้เรามองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนคนที่ยืนอยู่เคียงข้างเรา แนวคิดที่เชิดชูประสิทธิภาพและความมืออาชีพยังปรากฏขึ้นในงานเคลื่อนไหวทางสังคมเสมอมา เพราะพวกเขาก็ต่างถูกพร่ำสอนว่าต้องตัดเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัว แม้ในชีวิตจริงไม่สามารถทำได้

“เราเคยทำงานในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เคยชินกับสภาพแวดล้อมแบบชายเป็นใหญ่และทุนนิยม เราเห็นความสำคัญของประสิทธิภาพงานเหนือกว่าทุกสิ่ง เราทุ่มทุกอย่างที่ตัวเรามี แต่ก็ยังอยู่กับความรู้สึกผิดตลอดเวลา เพราะเพื่อนเราติดคุกอยู่แต่เราทำอะไรไม่ได้ หรือบางทีเพื่อนออกเวรดึกเราก็ทำอะไรไม่ได้ ผลก็คือเราพังทั้งร่างกายและจิตใจ”  บี (นามสมมุติ) นักกิจกรรมจากการเมืองหลังบ้านกล่าว

“คนคนหนึ่งไม่สามารถบอกว่า ‘โอเค ไม่คิดถึงเรื่องที่บ้านแล้ว’ ทั้ง ๆ ที่ที่บ้านมีปัญหาอยู่ พอเอาเข้าจริงมันเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้สังคมยังสร้างแรงกดดันเมื่อทำการพัก

“มันยังมีคนที่ยากลำบากกว่าเรา เราอย่าไปคิดเรื่องการอยู่ดีมีสุขของเรา ทั้งที่ความเป็นจริงเราลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมเพราะเราอยากให้ทุกคนอยู่ดีมีสุขรวมถึงตัวเราด้วย

“นักกิจกรรมมักจะรู้สึกผิดเวลาที่สบายเช่น ขอพักก่อนนะ ตอนนี้ขอไม่รับรู้ว่าโลกนี้กำลังยากลำบากแค่ไหน หรือว่าตรงนี้ขอค่าจ้างหน่อยนะไม่มีจะกินแล้ว แต่เพื่อนไม่มีจะกินเลยเราจะรับค่าจ้างได้ยังไง มันคือการแข่งกันไปสู่หุบเหวเอ กล่าวเสริม

จากสิ่งที่ทั้งสองกล่าวมา อาจสรุปได้ว่าอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ปรากฏในงานขับเคลื่อนนอกจากแรงปะทะจากภายนอกจึงเป็นเรื่องของ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่สนใจแต่ภาพใหญ่และมองข้ามสุขภาวะที่ดีของกันและกัน จนเกิดเป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ ทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรหนึ่งที่นักกิจกรรมทางสังคมมีเยอะกว่าคนทำงานภาคธุรกิจหรือภาคอื่น ๆ คือ เพื่อน

“ทุกคนมีอุดมการณ์ร่วมกัน แต่ไม่มีใครสนใจว่าสภาพแต่ละคนเป็นยังไง” บีกล่าว

“ความรู้สึกผิดนี้เป็นการเรียนรู้ในระดับลึกที่แก้ไม่ได้ด้วยตัวเราคนเดียว เราเห็นว่าเพื่อนก็เห็นด้วยกับเรานะ เราอยากบอกทุกคนว่าเพื่อนสามารถช่วยกันถามไถ่ ช่วยเตือนกันว่า
‘พักได้นะ’
‘ค่าแรงตรงนี้เธอต้องได้มากขึ้นไหม’
‘ไหวไหม’
มันถึงจะสามารถไปรอดได้ เราอยากให้ขบวนการทางสังคมต่อต้านสิ่งเหล่านี้โดยการปฏิบัติมัน หันมามองเห็นความเป็นคนของเพื่อน เห็นความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเราและคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันสำคัญจริง ๆ แม้เราจะโกหกตัวเองว่ามันไม่สำคัญ” เอทิ้งท้ายในประเด็นนี้

อกหักในการเคลื่อนไหว

“เรารู้สึกอกหักเพราะถูกเลือกปฏิบัติในหลาย ๆ ทาง” บี กล่าว

ณ พื้นที่อื่นในชีวิตของผู้เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงล้วนถูกเบียดขับ จนทำให้ในหลาย ๆ ครั้งเพื่อนร่วมขบวนการได้เป็นกลายเป็นสิ่งที่ยึดโยงจิตใจ และขยับเป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณของเหล่านักกิจกรรม ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งภายในขบวนการ วินาทีนั้นคือวินาทีที่หัวใจสลาย

บีเล่าให้ฟังว่า เธอประกาศตัวว่าเป็นเลสเบี้ยนในองค์กร และได้เรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน โดยให้ทุกคนคำนึกถึง gender sensitivity ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เป็นอย่างที่บีคิด แม้ประเด็นดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต่างกำลังทำการเรียกร้องกันอยู่

“เราอยากทำงานที่เรารักต่อไป แต่เราก็อยากตั้งคำถามกับมันอย่างตรงไปตรงมา เพราะเราทุกคนทำงานเพื่อสังคม เรามีความเจ็บปวดร่วม เราต้องเจอความรุนแรงมือสอง และเราก็คิดว่าเรามีเพื่อน แต่เพื่อนเราก็ทำงานหนักมาก และมีความเคยชินเดิมที่มองเราแค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว มันเป็นการอกหักซ้ำสองทางอุดมการณ์ และสร้างบาดแผลที่ลึกมากสำหรับเรา” บีกล่าว

“จากบทเรียนของเราที่เป็นนักกิจกรรมทางสังคม เรารู้สึกว่าในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราถูกเบียดขับจากคนภายนอกที่ไม่เข้าใจในอุดมการณ์ของเรา ทำให้เราเข้าใจว่าพวกพ้องของเรามันคือคนตรงนี้เท่านั้น นักกิจกรรมมีแนวโน้มจะบูชา (idolize) กลุ่มของตัวเอง เพราะว่ามันสำคัญสำหรับเรา และอุดมการณ์ของเราก็สำคัญ กลุ่มจึงเป็นเหมือนอัญมณี แต่ข้างในอัญมณีมันไม่ได้ใสบริสุทธิ์เนอะ มันมีการเรียนรู้ มันมีการเข้าใจผิด มีเรื่องงี่เง่า แล้วถ้าเราไม่มีพื้นที่ที่จะโอบอุ้มความผิดพลาดของกันและกัน มันก็จะแปรเปลี่ยนเป็นการอกหัก แล้วก็จะคุยกันยาก” เอกล่าวเสริม

“เราเคยมองว่าพวกเขาวิเศษมาก ดังนั้นอะไรก็ตามที่มันผิดพลาดที่พบว่าเขาทำ เราอกหักเอง แต่ในความเป็นจริงเขาก็เป็นเหมือนเราเขาไม่ได้เพอร์เฟกต์ เราพบว่าสิ่งที่จะทำให้ขบวนการทางสังคมเดินต่อไปได้ คือการมีพื้นที่ให้แต่ละคนได้เปลี่ยนแปลง เราไม่ควรมองแค่สังคมมันจะเปลี่ยนยังไง แต่ข้างในตัวเราต้องมีพื้นที่สำหรับการเปลี่ยนแปลงในการเดินทางครั้งนี้ด้วย

“แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องบังคับตัวเองให้ทำงานร่วมกับคนที่เราไม่อยากทำงานร่วมนะ แค่หมายความว่าในกรอบความคิดมันต้องให้พื้นที่กับเพื่อนในการเติบโต ที่จะโตไกล ๆ เราก็ได้ (หัวเราะ)” เอ กล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้

หันกลับมามองกันในฐานะเพื่อนมนุษย์

“สุดท้ายเราทุกคนต่างเป็นเหยื่อของการบ่มเพาะทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นเราต่างมีโอกาสที่จะทำพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมกับคนใกล้ตัว กลุ่มก้อนที่แข็งแรงสำหรับเราจึงไม่ใช่กลุ่มก้อนที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นกลุ่มก้อนที่พร้อมจะเรียนรู้และปรับปรุงตลอดเวลา” เอ กล่าว

“เราอยากให้อ่อนโยนต่อกัน เราอยากให้มีเวลาสักนิดถามไถ่คนข้าง ๆ ว่าเป็นยังไงบ้าง มันอาจจะไม่ง่ายที่เราจะอยู่ข้างคนที่ถูกกดขี่เวลาที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่ในเวลานั้นเราก็อยากให้คุณยืนเคียงข้างเขา ให้ความสำคัญของคนที่ทำงานร่วมกันมากกว่าแค่เรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน มองเห็นความเป็นมนุษย์ของเขาและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น” บี กล่าว

บรรยากาศเงียบไปชั่วครู่ ขณะที่ทั้งเอและบีผ่อนลมหายใจเข้าออกเพื่อปรับสมดุลในร่างกายของตน หลังเล่าเรื่องราวความอกหักในฐานะคนทำงานขับเคลื่อนให้เราได้ฟัง

จากสิ่งที่ทั้งสองเล่ามาสะท้อนให้เห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัย และโอบอุ้มความเป็นมนุษย์ของทุกคนมีผลต่อสภาพจิตใจต่อนักกิจกรรมไม่แพ้แรงปะทะจากภายนอก ในวันที่เราต่างเริ่มพูดถึงสุขภาวะที่ดีกันมากขึ้น แต่ช่องว่างในเรื่องของความสัมพันธ์กลับไม่ได้รับการพูดถึงมากเท่าที่ควรจะเป็น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหันมาสนใจความเป็นไปของคนรอบข้าง และดูแลจิตใจกันและกัน

ไม่บูชาหรือเข้าข้างจนสุดทางเมื่อทำผิด

ไม่มองเป็นเพียงหนึ่งเฟืองที่ทำให้งานสำเร็จ

หันมองเพื่อนร่วมทางในฐานะเพื่อนมนุษย์หนึ่งคนที่มีความรู้สึกนึกคิด และสามารถตัดสินใจพลาดได้ เพื่อประคับประคองกันไปให้จนถึงฝั่งฝัน โดยไม่ทิ้งใครแตกสลายไว้ระหว่างทาง