‘เพราะเป็นชาวสลาฟ จึงเจ็บปวด’ บาดแผลของประชาชน บนผืนผ้าใบยุโรปตะวันออก - Decode
Reading Time: 3 minutes

ถึงแม้ว่าศิลปะไม่เคยเป็นขี้ข้าใครและไม่เคยเป็นเจ้านายใคร ทว่า ศิลปะก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวของสังคมในช่วงเวลานั้นอยู่เสมอ

De/code จึงชวน ดร.อดุลย์ กำไลทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย วิเคราะห์สภาพสังคมผ่านภาพวาดของศิลปินชาวยูเครนในแต่ละช่วงเวลา ว่าสังคมในแต่ละยุค ทั้งช่วงสงครามและสงบสุข ผู้คนมองเห็นและสื่อสารอะไรออกมา เพื่อเข้าใจแผลเป็นต่อจากนี้ในสังคม และความเจ็บปวดร่วมกันของ 2 ชาติ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภายใต้ประวัติศาสตร์ของชาวสลาฟตะวันออก

ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า และการปฏิวัติ

อาจารย์เกริ่นว่า ภาพของยูเครนมีลักษณะเหมือนกับภาพของรัสเซียตอนใต้ ด้วยพื้นที่ที่ใกล้เคียงกันทำให้การเล่าเรื่องราวผ่านภาพวาดใกล้เคียงกันด้วย ประเด็นที่มักจะถูกนำเสนอในรูปวาดต่าง ๆ คือภาพของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงการนำเสนอวิถีชีวิตท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่

สภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลายแต่มีความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ ทำให้เรื่องราวที่ถูกนำเสนอคือภาพของสภาพภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งทุ่งหญ้า ไทก้าและทุนดร้า ด้วยพื้นที่ในบริเวณนั้นอยู่ใกล้เคียงกับเทือกเขาคอเคซัสและทะเลดำซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ส่งผลให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดินในพื้นที่ก็เป็นดินดำ หว่านพืชชนิดไหนไปก็งอกงาม

อาจารย์ให้ข้อมูลทางหลักภาษาศาสตร์ว่า คำว่ายูเครน สามารถอ่านได้ว่า อูไครอีนา ซึ่งแปลว่า ชายขอบ ซึ่งชายขอบในที่นี้ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบ ว่าเป็นพวกบ้านนอกแต่อย่างใด แต่ชายขอบในที่นี้ มาจากการเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่จนกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรปได้ ทำให้การเล่าเรื่องในภาพวาดของยูเครนและรัสเซียใต้ นำเสนอเรื่องราวของความเป็นชายขอบ ซึ่งประกอบไปด้วยวิถีชนบทและความใกล้ชิดกับธรรมชาติ รวมไปถึงสัตว์ป่านานาชนิด ที่มักจะถูกหยิบมาลงผืนผ้าใบ ในการที่จะบอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ที่มีทั้งพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อยู่ร่วมกัน

ซึ่งการเล่าเรื่องของธรรมชาติ ยังถูกส่งต่อเป็นมรดกทางศิลปะในพื้นที่อีกด้วย ในปัจจุบันยังคงมีภาพวาดจากศิลปินหน้าใหม่ ที่ใช้ธรรมชาติจากสภาพภูมิศาสตร์ที่สวยงามในการเล่าเรื่องอยู่เสมอ

อีกเรื่องราวหนึ่งที่ถูกนำมาใช้บ่อยไม่แพ้กันในช่วงหนึ่ง คือภาพวาดของการปฏิวัติ ภาพของแรงงานและความแร้นแค้น รวมถึงความโหดร้ายจากสงคราม อาจารย์อดุลย์มองว่า การปรากฏของเรื่องราวนี้ เนื่องจากในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรวมถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประชาชนได้รับผลกระทบจากสงครามต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จากภาพของเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงปากท้อง ความสงบสุขของการได้อยู่ใกล้กับธรรมชาติ นำไปสู่การเร่งรัดผลิตเสบียงแก่กองทัพในการทำสงคราม รวมไปถึงการสูญเสียครอบครัวหรือคนใกล้ตัวจากสมรภูมิ

ความน่าสนใจของการเปลี่ยนผ่านจากต้นไม้ใบหญ้าสู่สงครามและการปฏิวัติ คือช่วงเวลาภายใต้การปกครองประเทศ ของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำเผด็จการขึ้นชื่อของสหภาพโซเวียต ก่อให้เกิดการทำนารวมเพื่อส่งผลผลิตไปที่ส่วนกลาง และเร่งรัดให้เกิดอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ภาพวาดที่ถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือในการต่อต้านเผด็จการในช่วงเวลานั้นด้วย

เรื่องราวของการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ ยังมีผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อาจารย์อดุลย์ เล่าถึงการโอนย้ายเขตในแต่ละพื้นที่ของการปกครองในสมัยก่อน จนมีปัญหาในเรื่องเขตแดนและกลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง “ในยุคนั้น ผู้นำแต่ละเมือง ก็ย้ายอำเภอเล็ก ๆ มารวมกับเมืองบ้านเกิดของตัวเอง มันคงเป็นความภาคภูมิใจต่อตัวเองที่บ้านเกิดมีพื้นที่ที่กว้างขึ้น แต่เขาไม่รู้ไงว่า ในวันนี้ ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า พื้นที่เหล่านี้มันถูกทอดทิ้งและกลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง“

จากมรดกตกทอดจากสหภาพโซเวียตและความระส่ำระสายของรัฐบาลยูเครนหลังจากแยกตัวออกไป ทำให้พื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออกของยูเครน อย่างภูมิภาคดอนบาส ภูมิภาคโดเนตสก์และภูมิภาคลูฮันสก์ ไม่ได้รับการเหลียวแลและเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม รอวันสะสางตลอดมา

เมื่อทุ่งข้าวสาลี กลายเป็นพื้นที่สมรภูมิ

“ถึงแม้ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะมีข่าวการกระทบกระทั่งของทั้ง 2 ประเทศออกมาเรื่อย ๆ แต่มาถึงวันนี้ที่มันเกิดสงคราม ผมก็ไม่คาดคิดเหมือนกันว่ามันจะบานปลายแบบนี้” ความคิดเห็นของอาจารย์อดุลย์ ในวันที่ช่องโหว่ของความขัดแย้งกลายเป็นหลุมระเบิดขนาดใหญ่ในกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน

ข่าวส่วนใหญ่ของสงครามครั้งนี้ เป็นการโต้วิวาทะและออกแถลงการณ์จากเหล่าผู้นำแต่ละประเทศ แต่ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นทั้งหมด กลับกระจุกตัวอยู่ที่ประชาชน และความเจ็บปวดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับชาวยูเครน ในฐานะประชาชนในพื้นที่สงคราม บาดแผลจากความเจ็บปวดของชาวยูเครน ก็ได้กลายเป็นตราบาปของชาวรัสเซียอีกจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยกับการรุกรานจากรัฐบาลในครั้งนี้

อาจารย์อดุลย์กล่าวว่า ชาวยูเครนในเวลานี้ มีความวิตกกังวลและตกใจ กับสงครามที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดที่ตนใช้ชีวิตอยู่ และมีจำนวนไม่น้อย ที่รอยระเบิดบนถนนและเสียงเครื่องยนต์ดีเซลจากรถถัง ได้สร้างแผลทางใจและเกิดความเกลียดชังต่อชาติรัสเซีย ในขณะเดียวกัน เสียงก่นด่าของชาวยูเครนก็ได้ตีตราให้กับชาวรัสเซียเช่นกัน ชาวรัสเซียจำนวนมาก ทั้งในประเทศและที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการรุกรานครั้งนี้ ทั้งกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงและประชาชนทั่วไป

นอกเหนือจากความสัมพันธ์แบบรัฐกับรัฐ ระหว่างรัสเซียกับยูเครน คือการที่ประชาชนทั้ง 2 พื้นที่ มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน ทั้งในฐานะเพื่อน ญาติพี่น้อง ไปจนถึงระดับเชื้อชาติ จากการที่มีวัฒนธรรมร่วมกันมาก่อน ตั้งแต่ยังเป็นชาวสลาฟตะวันออก ชนเผ่าเร่ร่อนที่มาตั้งถิ่นฐาน ณ กรุงเคียฟหรือจักรวรรดิเคียฟรุสในอดีต จนกระทั่งเกิดเป็นสหภาพโซเวียตและแบ่งเส้นเขตแดนเป็น 2 ประเทศอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้

ในสงครามที่การตัดสินใจเกิดจากชนชั้นนำ แต่ประชาชนนั้นกลับเป็นผู้แบกรับบาดแผลต่าง ๆ เอาไว้อาจารย์อดุลย์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในปัจจุบัน มีกรณีที่ผู้คนจาก 2 ประเทศ เป็นเพื่อนกันใน Facebook แต่หลังจากที่สงครามเกิดขึ้น ก็มีการแสดงความเกลียดชังกันไปมาบนโซเชียลมีเดียจนเกิดบาดแผลในใจของแต่ละฝั่ง

“สุดท้าย กลิ่นดินประสิวและซากปรักหักพัง ก็เปลี่ยน มิตรภาพ ให้กลายเป็น การเหยียดเชื้อชาติ ไปเสียแล้ว”

สงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการช่วงชิงอำนาจระหว่างประเทศพี่ใหญ่เพียงอย่างเดียว ลึกลงไปในสายตาประชาชน นี่คือปัญหาที่อาจจะก่อความเกลียดชังทางเชื้อชาติ และประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับบาดแผลนั้นอีกเช่นเคย

เมืองพี่ เมืองน้อง – พี่ก็เจ็บ น้องก็ร้อง

เราจะไม่สามารถเข้าใจความเจ็บปวดนี้ได้เลย ถ้าเรามองความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนี้ จากสถานการณ์สงครามที่เป็นอยู่เพียงด้านเดียว เพราะความสัมพันธ์ของความเป็นรัสเซียและยูเครน ไม่ได้มีเพียงแค่เขตแดนที่ติดกัน แต่ยังมีบริบททางวัฒนธรรมของชาวสลาฟตะวันออกที่ส่งผลโดยตรงต่อสังคมและผู้คนของทั้ง 2 พื้นที่

ชาวสลาฟคือกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าเร่ร่อน ซึ่งกระจายไปทั่วทั้งยุโรป ซึ่งรัสเซีย ยูเครนและเบลารุส คือชาวสลาฟตะวันออก ที่ในอดีตคือจักรวรรดิเคียฟรุส มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเคียฟหรือเมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบัน ซึ่งในภายหลังได้พัฒนาเป็นสหภาพโซเวียตและแตกออกหลังเกิดความไม่สงบในรัฐต่าง ๆ ในสหภาพ จึงเกิดเส้นแบ่งเขตแดน เป็นอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้

ในสายตาของอาจารย์ ถึงแม้จะแบ่งประเทศไปแล้ว แต่ความเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวยูเครน-รัสเซีย ยังฝังลึกตั้งแต่วิถีปฏิบัติต่าง ๆ ไปจนถึงระบบโครงสร้างของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อาหารการกิน เครื่องดื่ม ศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์(Orthodox) ไปจนถึงระบบการศึกษาและระบบราชการ

นอกเหนือจากโครงสร้างทางสังคม ในมิติของประชาชนทั้ง 2 พื้นที่ ก็ยังมีการแต่งงานหรือมีเครือญาติและไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ลึกลงไปถึงรากของภาษา อาจารย์เล่าว่า ตัวอาจารย์เองที่ศึกษาด้านรัสเซียมา ทำให้เข้าใจในภาษารัสเซียได้อย่างชัดเจน แต่ก็สามารถเข้าใจภาษาเบลารุสได้ประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าได้ยินภาษายูเครนก็เข้าใจได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ มิติของวัฒนธรรมร่วมในยูเครนและรัสเซีย จึงมีความลึกซึ้งมากกว่าการจะมองแค่ภาพของสงครามที่เผยแพร่ทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน อาจารย์อดุลย์มองว่า ตั้งแต่แบ่งประเทศออกไป ในยุคหนึ่งที่แต่ละชาติจำเป็นจะต้องสร้างอัตลักษณ์ของตนออกมา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปี 1991 ในมุมมองของอาจารย์ก็ไม่ได้มองเห็นวัฒนธรรมร่วมที่ได้พัฒนามาจากอดีตระหว่างรัสเซียกับยูเครนอีกเลย ความเป็นวัฒนธรรมร่วมที่เรายังเห็นได้ชัดในยุคหลัง คือมรดกตกทอดจากอดีตไม่ว่าจะเป็นของยุคจักรวรรดิเคียฟรุสหรือสหภาพโซเวียตก็ตาม

ผลประโยชน์ของการมีวัฒนธรรมร่วมในสายตาของอาจารย์อดุลย์ คือการที่รัสเซียไม่สามารถทำอะไรที่รุนแรงได้มากนัก ด้วยเหตุผลพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน การที่กรุงเคียฟเคยเป็นศูนย์กลาง ก่อนที่มอสโกจะเป็นเมืองหลวงอย่างในปัจจุบัน อาจารย์เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพอย่างไทย ๆ

“มันก็เหมือนกับไปทำลายหลุมศพอากง อาม่านั่นแหละ มันเป็นเรื่องที่ลงมือได้ยากอยู่แล้ว” อาจารย์กล่าวเสริมว่า หากพิจารณาจากกำลังทางการทหารของรัสเซียจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะลงมือ หากคิดจะทำจริง ๆ

อีกประการหนึ่ง คือการรักษาชีวิตผู้คนจำนวนมากไว้ ทั้งในฐานะของชนชาติเก่าร่วมกันและการหลีกเลี่ยงการเป็นอาชญากรรมสงคราม “การรุกรานและก่อสงครามนี้ในครั้งนี้ หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย คือไม่ได้ต่างอะไรกับการที่ประเทศไทยทำสงครามกับประเทศลาวเลย”

ถ้าหากเรามองในรูปแบบของการที่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลายเป็นพื้นที่สงคราม เราจะเห็นถึงความโหดร้ายของสงครามที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ในฐานะของเขตแดนระหว่างประเทศ แต่เป็นความสัมพันธ์ของผู้คนหลากหลายรูปแบบ ซึ่งนั่นคือความเจ็บปวดของชาวรัสเซียและชาวยูเครน ที่กำลังแบกรับร่วมกันอยู่ในสงครามครั้งนี้

ภาพฝันและความจริง ของพื้นที่สงคราม

“สงครามครั้งนี้จะทำให้เกิดภาพจำใหม่ ทั้งภาพลักษณ์ของแต่ละประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปจนถึงเชื้อชาติเลยด้วยซ้ำ และปฏิเสธไม่ได้ว่า สงครามครั้งนี้จะยังปรากฏให้เราเห็นไปอีกนาน โดยเฉพาะในงานศิลปะ และทั้ง 2 ประเทศจะใช้งานศิลปะ ในฐานะของการเสียดสีกันไปมา”

นี่คือทิศทางที่จะเกิดขึ้น จากการคาดการณ์ของอาจารย์อดุลย์ ศิลปะจากทั้ง 2 ชาติ จะไม่ได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องวิถีชีวิตเหมือนอย่างเดิม สงครามที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะถูกบันทึกลงไปในภาพวาดและงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ใช้ ความเศร้า ความยากลำบาก ความเจ็บปวด แทนสีจากเรื่องราวของธรรมชาติอย่างเคย งานศิลป์เหล่านี้จะฉายภาพของเหตุการณ์สำคัญในสงคราม ภาพความโหดร้ายของสมรภูมิรบ และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจนเกิดเป็นความเกลียดชัง

กลับกัน ถ้าหากว่าวันหนึ่งสถานการณ์คลี่คลายลง การฟื้นฟูจากพิษสงครามนี้จะถูกดำเนินการอย่างไร?

อาจารย์อดุลย์มองว่า “ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูว่าใครจะได้เป็นผู้ชนะในสงครามแบบที่เป็นทางการ”

ถ้าหากว่ารัสเซียเป็นผู้ชนะ การฟื้นฟูจะออกไปแนวทางที่แสดงความรู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยูเครนก็อาจจะต้องกลับไปประจบประแจงพี่ใหญ่ในภูมิภาคเหมือนอย่างเคย ซึ่งการที่รัสเซียจะชนะในสงครามครั้งนี้ ยังถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะถ้าหากไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลยูเครนได้ และมองจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ผู้คนเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดนี้ ก็ยิ่งดูจะเป็นไปไม่ได้เลย ส่งผลให้ถ้ายูเครนเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ คือการตัดขาดอย่างสิ้นเชิงกับรัสเซีย และย้ายไปเข้าร่วมฝั่งยุโรป

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ายังไม่มีภาพวาด ที่เล่าเรื่องได้ชัดเจนถึงสงครามในครั้งนี้ แต่ภาพจำของรัสเซียต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะในสายตาของยูเครน คือผู้ที่ทำลายความสงบสุขและโดนเหมารวมเป็นผู้ร้าย และไม่รู้ว่าภาพจำนี้จะถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อไรกัน

เสรีภาพไม่เคยเกิดจากกระบอกปืน มิตรภาพย่อมไม่เกิดจากความเกลียดชัง

สงครามในครั้งนี้ ไม่ได้มีต้นเหตุที่ไกลตัวเลย ชนวนจุดเริ่มต้นคือช่องโหว่ของความไม่ไว้วางใจ จากปัญหาของชายแดนทั้ง 2 ประเทศ ที่มีมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาจารย์อดุลย์ก็มองเช่นกันว่า เรื่องเหล่านี้ คือสิ่งที่ทั้ง 2 รัฐ ไม่เคยเอามาคุยหรือให้เกียรติกันอย่างจริงจัง จนสุดท้ายเกิดการแทรกแซงและกลายเป็นสงครามในภูมิภาคไปอย่างที่เราเห็น

อาจารย์เปรียบเทียบเหตุการณ์ในครั้งนี้ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบครอบครัว รัสเซียในฐานะพี่สาว และยูเครนในฐานะน้องสาว “หลังจากแยกประเทศออกไปก็เหมือนกับออกจากเรือน ไปแต่งงานและมีครอบครัวของตัวเอง ทั้งคู่ที่มีปัญหาที่ต้องแก้ไข อย่างเรื่องปากท้องของประชาชนในประเทศ หรือกระทั่งเมื่อมีปัญหาต่างยื่นมือขอความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่กลับถูกละเลยเนื่องจากสภาพของครอบครัวตัวเองก็ไม่สู้ดีนัก ทำให้มือที่ 3 สามารถแทรกแซงเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์จากความขัดแย้งได้”

ความแตกหักในเชิงเปรียบเทียบ คือสงครามที่ยังคงคุกรุ่นอยู่เสมอ อาจารย์กล่าวทิ้งท้ายว่า ในแนวคิดแบบนี้ เราก็สามารถมองได้ในความสัมพันธ์หลายรูปแบบ ตั้งแต่เพื่อน ครอบครัว สังคม ไปจนถึงระดับนานาชาติ เพียงแต่แตกต่างกันไปในบางจุด

เราได้เห็นแล้วว่า ภาพวาดของสงครามกำลังจะเข้ามาแทนที่ภาพธรรมชาติ แต่ภาพวาดความสัมพันธ์ของผู้คนจาก 2 ดินแดน ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเลวร้ายลงไปถึงเพียงไหน บาดแผลที่เกิดในใจชาวยูเครนและความอับอายของชาวรัสเซีย ต้องถูกเยียวยาด้วยสิ่งใด นี่ยังคงเป็นสิ่งที่ประชาคมโลก จำเป็นที่จะต้องลดความเกลียดชังที่อาจกลายเป็นการเหยียดเชื้อชาติเข้าสักวัน ซึ่งจะส่งผลไปถึงประชาชน ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามในครั้งนี้ และเชื่อว่าเสรีภาพไม่เคยเกิดขึ้นจากกระบอกปืนฉันใด มิตรภาพก็ไม่เคยเริ่มต้นจากความเกลียดชังฉันนั้น

ได้แต่หวังว่า สงครามในครั้งนี้จะสิ้นสุดโดยเร็ว โดยมีผู้สูญเสียจากสงครามน้อยที่สุด

เพราะเราทุกคน ยังอยากเห็นงานศิลปะ รับใช้ความสวยงามของสังคม มากกว่าความเลวทรามต่ำตม ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงคราม