การรวมตัวของแรงงานรุ่นใหม่ : นับหนึ่งการต่อสู้ก้าวแรกที่ไม่เคยยากเกินไป - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เรามักได้ยินคำอธิบายที่ว่า แรงงานรุ่นใหม่ มีลักษณะปัจเจกนิยม แยกขาด ไม่สนใจใคร เทคโนโลยีสามารถช่วยให้ทำงานเสร็จได้ในตัวคนเดียว ไม่จำเป็นต้องมีการรวมตัว ไม่ต้องการรัฐสวัสดิการ หรือเอาเข้าจริงแล้วไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คำกล่าวนี้เริ่มต้นจากที่ไหนไม่อาจทราบได้แต่ถูกเผยแพร่จนกลายเป็นความเข้าใจหลักและทำให้เราทึกทักไปว่าคือสภาพความเป็นจริง ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ หรืออาจทำให้เราเข้าใจไปว่า คนรุ่นใหม่ไม่ชอบการรวมตัวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานอิสระ แรงงานสร้างสรรค์ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามแต่จากประสบการณ์โดยตรงของผมที่มีโอกาสสัมผัสกับกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ที่ดูจะตรงตามคำอธิบายข้างต้น แยกขาด รักอิสระ ไม่สนการรวมตัว คิดแต่เรื่องตัวเอง ?

แต่เมื่อได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็จะพบว่า มันไม่จริง โดยสามารถพิจารณาประเด็นได้ดังต่อไปนี้

1.แรงงานสร้างสรรค์ไม่ชอบรวมตัว ?

 เรามักได้ยินคำอธิบายในลักษณะนี้ว่าแรงงานสร้างสรรค์ไม่สามารถรวมตัวกันได้เพราะ ทำงานแยกขาดกัน และบ่อยครั้งต้องแข่งขันเพื่อเสนองานกันเอง แต่ในสภาพจริงแรงงานสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นนักวาด นักเขียน นักออกแบบ นักแต่งเพลง นักดนตรี ตัวพื้นฐานของงานไม่สามารถทำเสร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เนื้องานทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยการแบ่งปันกัน ดังนั้นการแยกขาดคนทำงานออกจากกันจึงไม่ใช่เรื่องปกติธรรมชาติ มันถูกกำหนดให้ผิดเพี้ยนตอนท้ายดูคนให้ทุน หรือคนที่กำหนดมูลค่าของงานผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ ที่คนไม่สามารถต่อรองได้มากกว่า

2.แรงงานสร้างสรรค์ต้านการอยู่ร่วมกับคนอื่น ปฏิเสธงานที่ค่าตอบแทนมั่นคง และต้องการงานที่ยืดหยุ่น ?

มักมีความเข้าที่คลาดเคลื่อนว่าแรงงานสร้างสรรค์ไม่ต้องการค่าตอบแทนที่มั่นคง แต่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่า คำอธิบายนี้ขัดกับสภาพความเป็นจริงที่ว่า ทุกคนต่างต้องการความมั่นคงในระดับหนึ่งในการที่จะสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินคนหนึ่งอาจต้องการเวลาหลายเดือนหรือปี ที่จะทำให้ผลงานของเขาและเธอเป็นที่รู้จักและสามารถสร้างรายได้ได้ ดังนั้นปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องของการปฏิเสธงานที่มั่นคงเพื่อหาความอิสระ แต่ระบบการจ้างและตอบแทนแรงงานสร้างสรรค์ในไทย ได้ปิดโอกาสให้คนสามารถลองผิดลองถูก ลักษณะเช่นนี้ส่งผลร้ายมากเพราะอาจทำให้ความหลากหลายด้านความคิดในงานสร้างสรรค์ลดลง เพราะถูกผูกติดกับระบบอุปถัมภ์หรือทัศนคติทางชนชั้นที่มีความปลอดภัยทางเศรษฐกิจตั้งต้นอยู่แล้ว กลุ่มที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจก็ไม่สามารถที่จะอยู่ในระบบนี้ได้อย่างยาวนานและลดทอนให้กลายเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น

3.แรงงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการรัฐสวัสดิการแต่ต้องการพื้นที่แข่งขันอย่างเสรีมากกว่า ?

คำกล่าวนี้ดูเกินจริงไปไม่น้อยเมื่อเราพิจารณาถึงกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ในไทยที่มีมากกว่า 5 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายในระบบเศรษฐกิจไทย แต่ค่าตอบแทนของพวกเขาเหมือนยอดพีระมิด ที่ไม่มีความเท่าเทียม มีแรงงานสร้างสรรค์ที่ใกล้ชิดกับอำนาจรัฐและทุนที่สามารถสร้างผลงานที่มีมูลค่าสูง ขณะที่แรงงานสร้างสรรค์จำนวนมากที่ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยรายวันแล้วไม่ต่างจากค่าจ้างขั้นต่ำเท่าใดนัก และสิ่งที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำส่วนนี้ลดน้อยถอยลงได้ ก็คือการมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่คุ้มครองชีวิตพื้นฐานของพวกเขาตามช่วงวัยตลอดจน ชีวิตการทำงานของพวกเขาการชดเชยรายได้ จากการเจ็บป่วย หรือมีอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือการชดเชยรายได้ที่ไม่แน่นอน แรงงานสร้างสรรค์ต้องการโอกาสในการพิสูจน์จริง แต่การแข่งขันที่เริ่มต้นไม่เท่ากัน ความห่วงพะวงในชีวิตคนข้างหลัง หรือชีวิตตัวเองในอนาคต ย่อมเป็นอุปสรรคแม้ว่าจะมีแพลตฟอร์มที่แข่งขันเสรีได้ขนาดไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้มนุษย์แข่งขันกันได้อย่างเสรี ก็ไม่พ้นการสร้างเงื่อนไขรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้เป็นพื้นฐานของทุกอย่าง

สิ่งที่ผมเห็นในแรงงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ต่างจากมายาคติที่ถูกเข้าใจมา พวกเขามีพลังอย่างมากในการแบ่งปันประสบการณ์ แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และที่สำคัญพวกเขาเชื่อในพลังของการรวมตัว พลังของการตั้งคำถามร่วมกัน และที่สำคัญพวกเขาไม่ได้แก่งแย่งทรัพยากรที่มีจำกัด  ที่สำคัญพวกเขาเชื่อว่าโลกสามารถเป็นธรรมได้มากขึ้น

บ่อยครั้งที่ผมได้ยินเรื่องราวของพวกเขาที่กลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ซึ่งไม่ได้มีลักษณะงาน หรือผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน เช่นนักดนตรี กับนักวาด นักเขียน กับโปรแกรมเมอร์อิสระ โลกและชีวิตของพวกเขาต่างกันมาก พูดกันคนละภาษา ปัญหาคนละแบบ แต่พวกเขารวมตัวกันเพื่อประโยชน์ของมิตรสหายที่ถูกเอาเปรียบแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องของพวกเขาเลย

นี่คือสัญญาณของยกใหม่ของการต่อสู่ที่ประชาชนคนส่วนใหญ่อาจสามารถสร้างความเป็นธรรมคืนขึ้นมาได้เช่นกัน

เพราะหากแรงงานสร้างสรรค์นับล้านคนสามารถรวมตัวกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกันและกันได้ พวกเขาก็จะไม่ต้องพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ ไม่ต้องอิงแอบกับค่านิยมอนุรักษ์นิยม และค่านิยมว่าด้วยความเท่าเทียม รัฐสวัสดิการ สังคมนิยมประชาธิปไตยก็จะสามารถเติบโตได้ในกลุ่มคนทำงานที่มีพลังมหาศาลในการเปลี่ยนแปลงสังคม

รู้จัก CUT-สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ การรวมตัวของคนรุ่นใหม่ได้ที่ https://www.facebook.com/CUT-101299479099220