ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม
วีรพร นิติประภา
ในขณะที่ตัวเลขตกงานค่อนข้างสูง การพิจารณาเรียนต่อปริญญาโทและเอกดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยในขณะนี้ จึงขอพูดถึงสักสังเขปสักเล็กน้อย
ก่อนอื่นขอให้ทำความเข้าใจเป้าหมายของการเรียนระดับมหาวิทยาลัยก่อนเป็นอันดับแรก คร่าว ๆ…การจบปริญญาตรีคือการมีความรู้ความสามารถมาตรฐานในสาขาอาชีพหนึ่ง ๆ เพียงพอจะประกอบอาชีพในสายงานตามที่เรียนมาอย่างครบถ้วน
ส่วนปริญญาโทคือการศึกษาเพิ่มเติมลงลึกในสาขาเฉพาะที่แยกย่อยออกมาจากสายงานที่เรียนมาและปริญญาเอกคือการศึกษาที่เรียนมาเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษโดยเฉพาะหลักการและเน้นไปที่การสอนถ่ายทอดองค์ความรู้นั้น ๆ กับวิจัยเพิ่มเติมองค์ความรู้เดิมที่เคยมีอยู่
สรุปง่าย ๆ ว่าเราเรียนปริญญาตรีเพื่อให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพ ปริญญาโทเพื่อเพิ่มความชำนาญเฉพาะด้าน และปริญญาเอกเพื่อที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษหรืออาจารย์และนักวิชาการ ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการ ไม่รักการสอนและการทำวิจัย ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนปริญญาเอก ตัดออกไปได้เลย เช่นเดียวกัน หากต้องการมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสายอาชีพมากกว่าหนึ่งสาขา ก็สามารถเลือกเรียนปริญญาโทได้ไม่จำกัดใบ กรณีหลังนี้คนจำนวนไม่น้อยยังทำปริญญาโทพร้อมกันหลายใบด้วยซ้ำ
ที่ต้องอธิบายตรงนี้ก็เพราะพ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกเรียนถึงระดับปริญญาเอกเป็นดอกเตอร์โดยไม่มีความจำเป็น ปัญหานึงของเรื่องก็มาจากการกำหนดอัตราว่าจ้างผู้จบปริญญาเอกในบริษัททั่ว ๆ ไปสูงกว่าปริญญาโทด้วย ทำให้ปริญญาเอกกลายเป็นลำดับขั้นของการทำงาน ในแง่หนึ่งก็แฟร์พอสมควรเพราะเสียเวลาและทุนทรัพย์ในการเรียนมากกว่า แต่ในอีกแง่ยังนำมาซึ่งปัญหาซึ่งเรามักจะได้ยินล้อเลียนกันบ่อย ๆ ว่า คนคนนี้จบปริญญาเอกมาได้อย่างไร ทำงานก็ไม่เป็น คือคนคนนั้นไม่ได้เรียนมาเพื่อทำงานค่ะ แต่เรียนมาเพื่อสอนต่างหาก ขณะที่คนจบปริญญาตรีแล้วเข้าทำงานเลยก่อนจะมีประสบการณ์มากกว่า และคนจบปริญญาโทจะมีความชำนาญเฉพาะทาง คนจบปริญญาเอกจะมีแต่องค์ความรู้และบ่อยครั้งไม่สามารถปรับใช้ได้
คงพอมองเห็นแล้วว่าปริญญาเอกอาจเป็นทางเลือกไม่เหมาะนักโดยเฉพาะในแง่ความยากลำบากที่ทบทวีคูณกว่าปริญญาตรีและโทหลายเท่าและตลาดงานมหาวิทยาลัยที่หดตัวลงตามอัตราการเกิดของประชากรโลก
และแน่นอนว่าถ้าคุณมีความสนใจอาชีพที่ต้องการทักษะมากกว่าความรู้ การเลือกเรียนปวส. และปวช.จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด น่าเสียดายที่สังคมของเรากลับปิดกั้นงานด้านทักษะด้วยการไม่ให้เคารพคนที่มีฝีมือเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นช่างดูแลรถยนต์ ช่างต่าง ๆ หรือช่างตัดเสื้อ ทำผม เท่ากับคนที่มีปริญญา ซึ่งก็มาจากการกำหนดอัตราเงินเดือนต่ำกว่าคนที่มีปริญญาในบริษัทห้างร้านอีกเหมือนกัน รวมทั้งค่านิยมที่ไม่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับปริญญาด้วย ทั้ง ๆ ที่ความสำคัญในงานไม่ได้ต่างกัน มิหนำซ้ำยังจำเป็นและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนด้วยในหลาย ๆ สาขาอาชีพ อีกทั้งในความเป็นจริง คนทำงานประเภททักษะอาชีพยังมีโอกาสเติบโตและแยกตัวจากบริษัทมาตั้งตัวเป็นเจ้าของกิจการและสร้างรายได้ได้มากกว่า
กลับมาที่ปริญญาตรี…หากไม่มีใจรักในงานด้านทักษะ คนทุกคนก็ควรมีความรู้อย่างต่ำระดับปริญญาตรี ส่วนปริญญาโทนั้นหากสามารถมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเพิ่มก็ควรมีประดับชีวิต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเป็นการดีกว่ามากที่จะเรียนต่อระดับปริญญาโทหลังจากทำงานไปสักระยะแล้ว และเข้าใจสาขางานที่ทำมากพอที่จะรู้ว่าต้องการต่อยอดไปในทางไหน แทนที่จะเรียนต่อไปเรื่อยเปื่อยหลังจบปริญญาตรี
แต่ก็อย่างที่ว่าไว้แต่ต้นเรื่อง หากไม่มีงานทำ การเรียนถมเวลาช่วงนี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ
แต่เรื่องที่ต้องการจะสื่อสารจริง ๆ อยู่ตรงนี้ ความเป็นไปได้
ตามจริงแล้วเราไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวยแต่อย่างใดเลย ในหลาย ๆ ประเทศคนจะทำงานส่งตัวเองเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีหรือกระทั่งมัธยมปลายเลยด้วยซ้ำ อย่างที่บอก การเรียนปริญญาโทและเอกเป็นการเรียนเพิ่มจากที่เพียงพอประกอบอาชีพแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนต่อในประเทศหรือต่างประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เรียนจะต้องทบทวนการขอเงินพ่อแม่มาเรียน เพราะหากมองในแง่การลงทุน…ขอบอกเลยว่าไม่คุ้ม จากอัตราว่าจ้างจะมีรายได้สูงเพิ่มกว่าเดิมกว่ากันไม่มาก ไม่ต้องพูดถึงโดยเฉพาะถ้าเรียนต่อระดับปริญญาโทเมืองนอก
ดังนั้น ถ้ามีงานทำให้ทำงานเก็บเงินเพื่อเรียนต่อ หาทุน และในระหว่างเรียนต้องทำงานไปด้วยค่ะ
การทำงานระหว่างเรียนไม่เป็นที่นิยมนักในบ้านเรา เรื่องหนึ่งก็มาจากการที่งานแรงงานมีราคาถูกเกินกว่าจะเห็นเงินเป็นกอบเป็นกำ หรือกระทั่งได้พอให้อยู่รอด อย่าว่าแต่เหลือเก็บ ส่วนหากให้งานที่ไม่ใช่งานแรงงานหรืองานบริษัทที่นี่ก็กินเวลาและพื้นที่สมองมากเกินกว่าจะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ และยังจ่ายต่ำเช่นกัน ในขณะที่เมืองนอกรายได้จากงานแรงงาน การเป็นพี่เลี้ยง ล้างจาน เสิร์ฟอาหารก็เพียงพอที่จะอยู่รอดได้แล้ว และการขอกู้รัฐบาลหรือขอทุนซึ่งมักเป็นทุนให้เปล่าก็เพียงพอให้รอดผ่านจนจบปริญญาได้สบาย ๆ
ในแง่นี้ การหาทุนเรียนต่อและทำงานส่งตัวเองเรียนเมืองนอกจึงเป็นไปได้มากกว่า โดยเฉพาะทุนปริญญาโทซี่งก็มีค่อนข้างเยอะ ยิ่งในยุคสมัยใหม่ที่คนทุกคนเป็นประชากรโลก มันมีความเป็นไปได้มาก ๆ แม้จะไม่ง่ายดายนัก ขอให้ไล่ล่าติดตามการประกาศให้ทุนผ่านสถานทูตต่าง ๆ หรือถ้ามีมหาวิทยาลัยที่หมายตาไว้ ให้ไปตรวจสอบดูว่าที่นั้น ๆ มี Student Fund หรือเงินช่วยเหลือนักศึกษามั้ย ส่วนใหญ่จะมีแทบทุกมหาวิทยาลัย ทีนี้ก็ดูรายละเอียดว่ามันครอบคลุม Overseas Student หรือไม่ ถ้าครอบคลุมก็ขอทุน
จากนั้นก็หางานทำ…
ต่อให้มหาวิทยาลัยให้ทุนค่าเรียนให้ก็ยังต้องหางานทำ อย่าขอเงินพ่อแม่ เด็ก ๆ ทั้งโลกล้วนหางานทำเป็นค่าที่พักและอาหารรวมทั้งค่าเรียนเองทั้งนั้น ขณะที่เด็กไทยติดนิสัยให้พ่อแม่ส่งเสียหมด ทั้ง ๆ ที่ในเวลาวัยยี่สิบกว่า ๆ คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องทำงานเลี้ยงดูพ่อแม่แล้วด้วยซ้ำ ไม่มีใครควรใช้เงินพ่อแม่เพื่อการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอก อย่างที่บอก…มันไม่จำเป็น ในแง่เศรษฐศาสตร์มันก็เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ยิ่งเรียนต่อต่างประเทศยิ่งแล้ว เว้นแต่พ่อแม่ของคุณจะร่ำรวยมาก ๆ
และหากร่ำรวยมีเงินทองและงานรออยู่แล้ว การเรียนต่อที่ไม่ต้องการต่อยอดนอกจากเพื่อให้ดูดียิ่งไม่สมเหตุสมผล สิ้นเปลืองทรัพยากรโลกมาก
แต่ถ้าหาไม่ได้ไม่มีทางไปจริง ๆ และพ่อแม่พอมีอยู่บ้าง ก็อาจขอกู้เงินพ่อแม่สักปีหนึ่ง ปีเดียว อย่ามากกว่านี้ ทำงานได้ต้องคืนเงินเขาทันที ต้องผ่อนใช้คืน ตามจริงถ้าจะให้ยุติธรรมต้องใช้คืนทบไปถึงตอนเรียนปริญญาตรีถ้าไม่ได้หาเงินเรียนเองตั้งแต่ในตอนนั้นด้วยซ้ำ เพราะนี่คือเงินที่เขาเก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิต เขาไม่ควรเอาออกมาใช้สอยลงทุนให้ลูกเรียนโดยไม่รู้ว่าจะหางานทำได้หรือไม่ หรือจะได้รายได้เท่าไหร่ การเอาเงินเก็บทั้งหมดของเขามาเรียนแล้วทำงานเลี้ยงตามมีตามเกิดเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด
การศึกษาเป็นคุณภาพประชากรและเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิตที่ดี น่าเสียดายที่รัฐบาลของเราไม่เคยลงทุนในส่วนนี้ ไม่ใช่เพื่อประชาชน แต่เพื่อประเทศชาติที่เจริญและมั่งคั่งขึ้น