นาฬิกา 'เวลาเวิร์ส' เขย่ารัฐรวมศูนย์ ย้ายเมืองหลวงสตาร์ตอัปสู่มหานครของคนโลคัล - Decode
Reading Time: 3 minutes

ปัญหาที่ยังคงค้างในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน คือการกระจุกตัวของความเจริญ ในเมืองโตเดี่ยวอย่างกรุงเทพมหานคร เรื่องดังกล่าว ไม่เพียงทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่รวมโอกาสต่าง ๆ ไว้จังหวัดเดียว แต่การรวมศูนย์ที่ฝังลึกในสังคมไทย ยังส่งผลให้ผู้คนในอีก 76 จังหวัด หางานในบ้านเกิดกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การเติบโตของธุรกิจไม่ตอบโจทย์ต่อผู้คนในพื้นที่ ต้องเก็บกระเป๋าเข้าเมืองกรุง เพื่อตามความฝันในโลกทุนนิยม ไม่ต่างจากเพลงลูกทุ่งที่เราเคยได้ยินตามวิทยุ ธุรกิจที่อยากมีคำว่า Start up นำหน้า ก็ถูกระบบบีบบังคับให้มาเติบโตที่เมืองหลวงเท่านั้น ด้วยความเจริญที่พร้อมจะตอบรับกับไอเดียสร้างสรรค์ แทนที่จะนำความคิดเหล่านี้มาพัฒนาบ้านเกิด

ทุกวันนี้ Metaverse เป็นคำที่ธุรกิจไหนก็ต้องหยิบมาใส่ไว้ในแผนธุรกิจของตน เพื่อไม่ให้ตกขบวนแห่งโอกาสนี้ไป ร้านกาแฟในตึกแถวหน้าวัดบูรพ์ จังหวัดนครราชสีมาร้านหนึ่ง ได้กลับคิดที่จะสร้างโลกเสมือน ไม่ต่างจากสิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Meta (Facebook) คิดจะทำ

De/code ออกเดินทางบนถนนสายมิตรภาพจากกรุงเทพถึงโคราช เพื่อพูดคุยกับ พี่กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้งคลาสคาเฟ่ กำลังปลุกปั้น “เวลาเวิร์ส” (VELAVERSE) แพลตฟอร์มใหม่เจาะโลก Metaverse ขยายเมืองหลวงของสตาร์ตอัปสู่ “ขอนแก่น-ภูเก็ต-มหาสารคาม” กำลังบอกสังคมถึงการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย ที่การกระจายอำนาจ (Decentralized) เป็นไปได้ ทั้งในโลกเสมือนและโลกความเป็นจริงของสังคมไทย

สร้างความยั่งยืนผ่านการกระจายอำนาจ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อรายได้ของธุรกิจทุกหย่อมหญ้า ร้าน Class Cafe ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ด้วยเช่นกัน “เนี่ย ถ้าเอาชื่อผมไปเซิร์ชใน google นะ จะขึ้นเต็มไปหมดเลยว่ากาแฟสู้ชีวิต ช่วงนั้นมันหนักจริง ๆ ” กอล์ฟพูดปนขำระหว่างเล่าถึงเรื่องราวในช่วงโควิด-19 ที่ตนพบมา ทว่า จากวิกฤตในครั้งนั้น กอล์ฟได้มองเห็นโอกาสที่จะอุดรอยรั่ว ทั้งในธุรกิจของตนและรอยรั่วอีกหลากหลายอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดนี้ นั่นคือการสร้างพื้นที่โลกเสมือนหรือ Metaverse ในบ้านเรา

กอล์ฟเล็งเห็นถึงโอกาสในความเป็นไปได้ ในการแก้ปัญหาของอาชีพที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงอาชีพที่จะเกิดใหม่ ที่จะมารองรับนักศึกษาในสายงานด้าน Metaverse “เราไม่รู้มาก่อนเลย ว่าประเทศเรามีคนเก่ง ๆ ด้าน 3D animator อยู่เต็มไปหมด”

เมื่อพูดถึงสายงานการออกแบบแอนิเมชันในบ้านเรา เราก็แทบจะไม่คุ้นหูคุ้นตากับผลงานที่ออกมาเลย แต่หากมองไปที่ฮอลลีวูดหรือดิสนีย์ บ่อยครั้งที่จะมีชื่อของคนไทย เป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างสรรค์งานเหล่านั้นออกมา Velaverse ในสายตาของกอล์ฟจึงเป็นพื้นที่ ที่จะรวมคนที่อยู่และสนใจในสายงานนี้ มีพื้นที่และมีรายได้ที่สมกับค่าแรงของตน สามารถที่จะสร้างสรรค์งานผ่านช่องทางในประเทศได้ โดยไม่ต้องออกไปตามหาฝันเพื่อเลี้ยงปากท้องที่ต่างประเทศ

การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาสร้างใน Velaverse ไม่ว่าจะเป็น Blockchain หรือ NFT เทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับคนอีกหลายกลุ่ม โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องผ่านคนกลาง ต้องมีหน้าร้านหรือต้องมีตึกเป็นของตนเอง นี่คือประโยชน์จากการกระจายอำนาจ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้นให้กับชุมชนในโลก Velaverse ซึ่งในวันหนึ่งหากเศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น การกระจายอำนาจที่สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น สร้างความยั่งยืนที่เกิดขึ้นกับชุมชนนั่นเอง

ะบบนิเวศ ‘เวลาเวิร์ส’ x ชุมชน x “มหาลัย” มหานครในฝันของคนโลคัล

แนวคิดของการกระจายอำนาจในการพึ่งพาของธุรกิจและชุมชน ไม่ใช่สิ่งที่กอล์ฟคิดหลังจากริเริ่ม Velaverse ตั้งแต่ยังเป็นเพียงร้านกาแฟหน้าวัดในเมืองโคราช ระบบนิเวศที่ร้าน Class cafe สร้างขึ้น ก็ได้นับรวมหลายภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งชุมชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนนับตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

ร้าน Class cafe ใช้วัตถุดิบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ไม่ว่าจะเป็นนม น้ำดื่ม หรือบุคลากร ที่เป็นปัจจัยสำคัญของร้าน การสั่งผลิตภัณฑ์จากทางมหาวิทยาลัยเพื่อมาใช้ที่ร้าน ทำให้เกิดการพัฒนาขององค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยอยู่ตลอด ท้ายที่สุด ผลประโยชน์จะตกไปอยู่ที่นักศึกษา ในการได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ และเกิดการจ้างงานที่มากขึ้น มหาวิทยาลัยสามารถผลิตบุคลากรและผลิตภัณฑ์และบุคลากรที่ดี ร้าน Class cafe สามารถขายกาแฟคุณภาพเยี่ยมพร้อมกับเพิ่มอัตราการจ้างงานได้

การสร้างระบบนิเวศในรูปแบบพึ่งพาอาศัยกันแบบนี้ จะทำให้คนที่อยู่ในระบบสามารถที่จะพึ่งพาตัวเองและมีช่องทางเป็นของตนได้ จนในอนาคต ระบบนิเวศนี้ก็จะขยายออกไปเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่อื่นต่อได้อีก

กอล์ฟยังใช้แนวคิดนี้กับการสร้างคุณค่าของคนในสายงานของ Metaverse หรือสายงาน 3D animator กับนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างล่าสุดที่มีการจัดงาน Hackathon เป็นการจัดประกวดการแข่งขันออกแบบตึกในโลก Velaverse การแข่งขันเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ไม่เพียงแต่เป็นการหาผู้ชนะจากการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังเป็นการมอบคุณค่าให้กับผู้เข้าแข่งขันต่ออุตสาหกรรมนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสี่ยงตกอยู่ในภาวะสมองไหล ทั้ง ๆ ที่เราสามารถที่จะเป็นผู้นำในโลกเสมือนได้ การสูญเสียบุคลากรเหล่านี้ไป จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ในความคิดของกอล์ฟ

ในโลกเสมือนที่ชื่อว่า Velaverse ก็เช่นกัน เทคโนโลยีที่จะสร้างโลกใหม่เป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งจำเป็นยิ่งกว่าคือการสร้างชุมชนในโลกเสมือน กอล์ฟมองว่าตัวเองเป็นเพียงผู้สร้าง (Creator) ถ้าเปรียบเทียบก็เป็นเพียงคนสร้างถนนก็เท่านั้น เหล่าทีมงานและผู้ใช้งานต่างหากที่จะเป็นคนขับเคลื่อนให้ Velaverse เติบโตได้

“มันไม่ใช่ว่าเราตั้งชื่อเมืองว่า Happy land แล้วผู้คนจะมีความสุขเลยเมื่อไหร่ เมืองที่ดี ไม่ใช่เมืองที่มีตึกอยู่เต็มไปหมด แต่ในตึกเหล่านั้นต้องมีคนอาศัยอยู่ด้วย ชุมชนก็จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีของเมือง แบบนั้นต่างหาก ถึงจะเรียกว่าเมืองที่ดี”

ในอนาคต Velaverse มีแผนที่จะสร้างทุกจังหวัดเป็นเมืองต่าง ๆ ในโลกเสมือนของตัวเอง โดยให้ทีมเจ้าของพื้นที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของชุมชน กอล์ฟมีความเชื่อว่า แต่ละพื้นที่ต่างมีเอกลักษณ์และทิศทางไม่เหมือนกัน การกระจายอำนาจครั้งนี้ จะทำให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนในสังคมได้ชัดเจนขึ้น จนถึงวันที่เราสามารถมองโลกเสมือนและโลกความเป็นจริงเป็นเรื่องเดียวกันได้ พื้นที่ต่าง ๆ อาจจะสามารถกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจหรือเมืองสำคัญ โดยไม่ต้องอ้างอิงกับของดีที่อยู่บนคำขวัญประจำจังหวัดเสียด้วยซ้ำ

เป็นที่น่าสนใจว่า การเติบโตของ Start up จากเมืองโคราช ที่กำลังจะเติบโตในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ จุดมุ่งหมายอาจไม่ใช่แค่โอกาสทางธุรกิจ แต่การเดินทางครั้งนี้ อาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ คน เท่าเทียมกันในสังคม ผ่านการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก็เป็นได้

ความไม่ชัดเจนคือความชัดเจน บนโลก Velaverse

ทุก ๆ อย่างที่ดูจะเป็นไปได้บนโลก Metaverse ทั้งการกระจายอำนาจ การสร้างความหลากหลาย และการสร้างพื้นที่รองรับสายงานที่เกี่ยวข้องกับโลกเสมือนรวมไปถึง อาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในโลก Velaverse เราจึงได้ถามกอล์ฟไปว่า ในสายตาของกอล์ฟ อาชีพอะไรที่คิดว่าฉีกกรอบจากโลกความเป็นจริงที่สุด ที่จะเกิดขึ้นใน Velaverse คำตอบของกอล์ฟคือมันไม่มีขอบเขตของอาชีพที่จะเกิดขึ้นได้

“เราต้องเลิกคิดแบบโลกความเป็นจริง แล้วลองมาคิดแบบโลก Metaverse บ้าง”

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ยังเกิดขึ้นในสังคมไทย คือเราขาดจินตนาการของความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในโลกเสมือน กอล์ฟได้ยกตัวอย่างของปัญหานี้ว่า มีผู้ที่สนใจมาลงทุนแล้วกว้านซื้อที่ดินตามบริเวณสี่แยกของเมือง ซึ่งหากมองในโลกความเป็นจริง ที่ดินแบบนั้นมักจะมีราคาสูง กลับกันในโลกเสมือนไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เขตเศรษฐกิจของเมืองอาจจะไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองอีกต่อไป ชุมชนอาจจะทำให้บริเวณชานเมืองกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจได้

ในโลกเสมือนเราจะได้เห็นการที่ชุมชนมีสิทธิ์กำหนดทิศทางเอง มากกว่าการให้ใครคนใดคนหนึ่งมากำหนด

ในแง่ของการสร้างธุรกิจใหม่ กอล์ฟให้แนวคิดของการแปลงสิ่งของเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ NFT ในโลกของ Metaverse เป็นกุญแจสำคัญในอนาคต เราจะได้เห็นการแปลงสินทรัพย์ประเภทนี้อยู่ตลอดในวันข้างหน้า การที่สินทรัพย์กลายเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้แต่มีมูลค่าสูงอาจจะเข้ามาแทนที่ อย่างเช่นการแปลงน้ำตาลให้กลายเป็น NFT บริษัทน้ำตาลอาจจะเปลี่ยนมูลค่าของน้ำตาลเป็นสกุลเงินดิจิทัลก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เทคโนโลยีนี้อาจจะเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ของโรงงานน้ำตาลในประเทศก็เป็นได้

ช่วงเวลาที่ผ่านมา อาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่รัฐไม่เหลียวแลหรือเยียวยา กอล์ฟก็เสนอให้มาทำเพลงใน Velaverse เปิดเป็นสถานีเพลง 24 ชั่วโมง โลกเสมือนก็สามารถที่จะทดแทนรายได้ที่หายไปของอาชีพเหล่านี้ ที่ได้รับผลกระทบในโลกความเป็นจริงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้ยินหรือเห็นข่าวของธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่เข้ามาแทนที่ธุรกิจรูปแบบเก่าหลายต่อหลายครั้ง อย่างเช่นธุรกิจดิลิเวอรีที่เข้ามาแทนที่ร้านกาแฟเจ้าเก่าร้านหนึ่ง ที่เจ้าของธุรกิจอาจจะไม่สามารถตามทันโลกได้แล้ว คำถามคือ เทคโนโลยีที่สร้างงานให้กับคนหลายแสนคน กำลังทำลายอาชีพของคนอีกหลายหมื่นคนหรือไม่ และการเข้ามาของ Velaverse ได้เข้ามาแก้ไขหรือซ้ำรอยปัญหานี้หรือเปล่า

กอล์ฟกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยังคงเป็นความน่ากังวล ทว่านั่นคืออีกหน้าที่หนึ่งด้วยเช่นกัน ที่จะต้องพาชุมชนไปด้วยกัน เพราะโลกเสมือนจำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันกับโลกความเป็นจริง รวมถึงในอนาคตสองโลกนี้อาจจะผสมเข้าด้วยกัน

ในความคิดของกอล์ฟ ถ้าเทคโนโลยีที่เข้ามา ทำให้ต้องมีอีกหลายคนหายไป ก็ไม่น่าจะใช่เทคโนโลยีที่ดีนัก เพราะเทคโนโลยีที่ดีต้องเข้ามาช่วยปัญหาของคนทุกคนมากกว่า และเราต้องมีความพร้อมที่จะปรับตัวไปกับโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

เส้นบาง ๆ ระหว่างโลกจริงโลกเสมือน รัฐไทยอยู่ไหนของโลกใหม่ที่จะมาถึง

ตัวแปรสำคัญที่ยังไม่ได้กล่าวถึงคือรัฐไทย หากดูจากปัญหาการปรับตัวของประชาชนต่อนวัตกรรมนี้ รัฐน่าจะสามารถเตรียมความพร้อมให้กับผู้คน รวมถึงสามารถที่จะสนับสนุนธุรกิจที่กำลังจะเกิดใหม่ได้ในระดับนโยบาย แล้วรัฐไทยได้วางตัวเองไว้อยู่ในบทบาทไหนหรือเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่แล้วหรือยัง

จากคำถามว่า รัฐได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาครั้งนี้ยังไง และรัฐควรจะวางตัวอย่างไรกับเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่นี้ กอล์ฟกล่าวว่ายังไม่ได้มีการเข้ามาร่วมมือมากนักและอยากให้รัฐ อย่าขวาง กับอนาคตที่คนรุ่นใหม่เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในโลกเสมือน

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย เราจะเห็นการออกมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐพยายามควบคุมสกุลเงินดิจิทัล กอล์ฟกล่าวว่า คนรุ่นใหม่เพียงแค่มองเห็นถึงความเป็นไปได้และเห็นถึงความฝันที่รัฐพรากไปจากพวกเขา ถ้ายังมองไม่เห็นถึงช่องทางการสนับสนุนคนเหล่านี้ ก็ขออย่าให้ไปขวางทาง

เพราะคนรุ่นใหม่จะเป็นคนขับเคลื่อนสังคมในอนาคต ที่พวกเขาและรุ่นลูกรุ่นหลานยังต้องอยู่ต่อไป การกำหนดทิศทางของสังคมโดยการสร้างสรรค์ต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่า คนไทยไม่ได้ไม่มีความสามารถเพียงแต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่มากพอต่างหาก ถึงอย่างนั้น ก็มี ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เข้ามาช่วยเหลือในทิศทางที่จะเกิดขึ้นได้ต่อจากนี้ ทั้งในข้อกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ

ใจความสำคัญต่อจากนี้คือรัฐ ต้องอย่าไปขัดขวางการเติบโตของคนรุ่นใหม่ในโลกดิจิทัล เพื่อที่จะให้พวกเขาได้สร้างสังคมที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตนับต่อจากนี้

“หากมองกันตามหลัก ถ้าธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้จริง ๆ เศรษฐกิจอาจจะดีขึ้น รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น โดยที่ประชาชนต้องเสียภาษีน้อยลงด้วยซ้ำ”

นี่เป็นสิ่งที่กอล์ฟมองเห็นถึงผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะได้ จากการเติบโตของธุรกิจโลกดิจิทัล ทางออกของเรื่องนี้ อาจจะต้องทำให้ประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่เสียก่อน ก่อนจะไปว่าคนรุ่นใหม่ ที่อยากย้ายประเทศเพื่อที่จะเติบโตในสังคมที่น่าอยู่กว่าที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตในทุกวัน

หลังประตูของการไม่รวมศูนย์ เราจะเจอโอกาสแห่งความเท่าเทียม

คำถามที่หลาย ๆ คนคิดคือ เราจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าเมื่อเราเข้าไปสู่โลกเสมือนเหล่านี้แล้ว เราจะได้กระจายอำนาจจริง ๆ ไม่โดนรวมศูนย์หรือมีทุนใหญ่มาควบคุมเราอีกทีหนึ่ง

กอล์ฟเล่าว่า ในขณะนี้ Chain ที่ใช้ขับเคลื่อน Velaverse อยู่ ไม่สามารถที่จะดำเนินการให้ครอบคลุมกับทุกผู้ใช้งาน จึงได้สร้าง Chain ในระบบ Blockchain ของตัวเองขึ้นมาที่ชื่อว่า Velaone Chain ถึงแม้ว่าระบบ Block chain จะทำการแทรกแซงระบบได้ยากแค่ไหน แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่สามารถแทรกแซงได้เลย ยิ่งถ้าเป็น Chain ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้กับ Velaverse โดยเฉพาะ เช่นนี้ ถ้าทางบริษัทสามารถวางระบบไว้เพื่อแทรกแซงผู้ใช้งานได้ แล้วความปลอดภัยหรือความเชื่อใจที่ผู้ใช้งานมีต่อบริษัท อยู่ที่ตรงไหน

“บางครั้ง เราก็จำเป็นที่จะต้อง Centralized เพื่อที่จะกลับมา Decentralized อีกครั้ง” คำพูดของกอล์ฟทั้ง 2 คำ ทำให้เกิดความสงสัยว่า เมื่อกลับไปรวมศูนย์แล้วจะกลับมาที่การกระจายอำนาจได้อย่างไร

กอล์ฟเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยโอนเหรียญ Class coin ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้จ่ายใน Velaverse ไปให้ผู้ลงทุน ความโปร่งใส่และตรวจสอบได้ของ Blockchain ก็ได้ทำงานในการแจ้งว่ามีการโอนเหรียญจำนวนมาก ความน่าเชื่อถือจากผู้ใช้งานท่านอื่นส่งผลกระทบต่อกอล์ฟ ในการที่เหรียญ Class coin จะถูกควบคุมโดยทุนใหญ่ที่มาลงทุนหรือไม่ ซึ่งขัดต่อหลักการกระจายอำนาจ ที่เป็นจุดเด่นของคริปโตเคอร์เรนซี

เรื่องนี้สามารถชี้ให้เห็นถึงตลาดแบบเสรีนิยมใหม่ ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้บริการของระบบที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ มีความมั่นคงต่อการเข้ามาใช้งาน เมื่อมองกลับไปที่คำถามเรื่องการรวมศูนย์ จึงเป็นหน้าที่ของทีมพัฒนา Velaverse ที่จะต้องให้ความไว้วางใจถึงการยกเลิกการรวมศูนย์แบบในโลกความเป็นจริง เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ และทุกคนสามารถกำหนดทิศทางของชุมชนได้ เพราะท้ายที่สุด ธุรกิจเหล่านี้จะดำเนินต่อไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน

โลกเสมือนเหล่านี้ ยังเป็นพื้นที่ ที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางสังคม อย่างการสร้าง Avatar หรือตัวแทนในโลกเสมือน ที่สามารถเปลี่ยนเพศเมื่อไหร่ก็ได้ หรือกำหนดเพศของตัวเองอย่างไรก็ได้ เรื่องเหล่านี้เป็นผลประโยชน์จากการยอมรับความหลากหลายที่ได้มาจากการกระจายอำนาจอีกขั้นหนึ่ง

รวมไปถึงอาชีพที่ในโลกความเป็นจริง อาจจะมีมุมมองต่อสาขาอาชีพนั้นในแง่ลบอย่างคำว่า ไส้แห้งหรือสร้างรายได้จากมันไม่ได้บ้าง ในโลกเสมือน อาชีพเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยไม่ต้องยึดโยงกับเพศ อายุ สถานะ อาชีพแต่ละอาชีพจะถูกวัดคุณค่าจากผลงานที่ออกมา อย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ ที่มีศิลปิน NFT ทั้งชาวไทยหรือชาวต่างชาติ นำผลงานออกมาขายจนสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องยึดกรอบขนบของอาชีพแบบเดิม

หากมองในเทคโนโลยีของโลกเสมือน เราก็จะพบว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ เหมือนถูกสร้างมาเพื่อการกระจายอำนาจ มากกว่าการที่มีใครสักคนเข้ามาควบคุมกลไกของตลาด ไม่ว่าจะเป็น Blockchain ระบบที่มีกลไกในการตรวจสอบความโปร่งใสได้ โดยไม่ต้องผ่านคนกลางหรือ NFT การแปลงสินทรัพย์เป็นดิจิทัล ก็ตอบโจทย์กับการสร้างสรรค์งานแบบใหม่ ที่ไม่ต้องยึดติดกรอบแบบเดิม จนไปถึงโลก Metaverse ที่เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้คนได้เข้าไปสร้างสรรค์และหารายได้จากงานรูปแบบใหม่ เท่าที่เราจะสามารถคิดและลงมือทำได้

ในวันที่เรามี Start up ด้าน Metaverse เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ไม่มีใครรู้ว่าเทคโนโลยีด้านนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ขนาดไหนหรืออาจจะต้องทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือไม่ ทว่าสิ่งหนึ่งที่แน่ชัด คือเทคโนโลยีนี้ ที่เข้ามาในช่วงการเปลี่ยนผ่านของสังคม อาจจะเป็นกุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งที่จะปลดล็อกประตูของการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอาจขยับใกล้กับคำว่า ความเท่าเทียม ได้มากขึ้น

หลังจากนี้คงต้องรอดูว่า พวกเราจะเลือกไขประตูที่อยู่ตรงหน้าหรือปล่อยให้มันผ่านไป และหวังว่ากุญแจดอกนี้จะทำให้ เวลา พาเราไปเจอสังคมที่น่าอยู่ขึ้น ที่ผู้คนสามารถกำหนดทิศทางและความฝันของตัวเองได้มากกว่านี้