ถ้าชีวิตต้องการความถูกต้อง รัฐสวัสดิการจึงเป็นคำตอบของ 'เกษม เพ็ญภินันท์' - Decode
Reading Time: 2 minutes

หลังจากหายไปนาน ฝ่ายซ้ายก็กลับมาแล้ว ช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมากระแสของสังคมนิยมได้กลับพุ่งขึ้นกลายเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ในสังคมไทยก็ไม่ใช่กรณียกเว้น ถึงเราอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มการเคลื่อนไหวที่มีอุดมการณ์การเมืองไปทางที่เรียกได้ว่าเป็นฝ่ายซ้ายนี้ อาจจะไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่โตอะไร แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด

แล้วเมื่อพูดถึงคนกลุ่มนี้ หนึ่งในเป้าหมายที่พวกเขาพยายามผลักดันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งหลายครั้งก็ถูกโจมตีว่าเพ้อฝัน ซึ่งเป็นจุดที่ฝ่ายซ้ายมักโดนโจมตีตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีคำเรียกว่าฝ่ายซ้ายเสียด้วยซ้ำ ทว่าต่อให้มองข้ามว่าฝ่ายซ้ายมีความพยายามผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นพิเศษ ก็จะพบว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่ได้มีอุดมการณ์แบบซ้ายอะไร ที่ยังสนับสนุนรัฐสวัสดิการอยู่

ซึ่งเหตุผลรองรับอาจมีตั้งแต่เรื่องการเมืองไปจนถึงเศรษฐกิจ แต่หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก แต่ตอบคำถามได้ว่าทำไมรัฐสวัสดิการดูจะตอบโจทย์คนจำนวนมากได้นั้นก็คือ จริยศาสตร์ ซึ่งจัดอยู่ในหมวดหนึ่งของวิชากว้าง ๆ อย่างปรัชญา โดยมีขอบเขตครอบคลุมตั้งแต่เรื่องชีวิตประจำวันไปจนถึงระดับปรัชญาการเมือง

แล้วทำไมสิ่งที่ดูห่างไกลกันแบบเรื่องความเป็นอยู่แบบรัฐสวัสดิการ กับเรื่องหลักลอยของพวกที่มักจะถูกมองว่าอยู่บนหอคอยงาช้างอย่างจริยศาสตร์ จึงเป็นเรื่องที่โยงกันได้ เพื่อหาคำตอบนี้ทาง De/code ได้พูดคุยกับ เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชีวิตดี ๆ สู่ความถูกต้องของการใช้ชีวิต ว่าด้วยคลื่นคำถามสามลูกทางจริยศาสตร์ 

เพียงได้ยินชื่อของจริยศาสตร์ทุกคนคงเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องที่ผูกโยงกับประเด็นทางศีลธรรม ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะจริยศาสตร์มีความเกี่ยวโยงกับศีลธรรมอยู่จริง ๆ ซึ่งเป็นผลจากตัวคำถามที่จริยศาสตร์พยายามจะตอบ ซึ่งเกษม เพ็ญภินันท์ ได้สรุปเอาไว้ว่าตลอดมาจริยศาสตร์สามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วง ตามลักษณะของคำถาม โดยในช่วงแรก จริยศาสตร์พยายามจะตอบคำถามเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต และเมื่อรวมกับความสนใจในเรื่องความดีทำให้จริยศาสตร์ในช่วงแรกนั้นพยายามที่จะตอบคำถามว่าชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร

“จริยศาสตร์ มีคำถามหลักประมาณสองถึงสามคำถาม คำถามแรกเป็นคำถามของโสเครติส (Socrates) ที่ถามว่า เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร? (How should one live?) โดยเป้าหมายใหญ่ของจริยศาสตร์ในช่วงนี้ก็คือ การตอบว่าคุณจะมีชีวิตที่ดีอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในโลกก่อนสมัยใหม่ ที่ชีวิตทุกชีวิตมันมีลิมิต ลิมิตที่สำคัญคือคุณไม่สามารถหารูปแบบของการใช้ชีวิตได้ดีกว่าการมีชีวิตที่ดีได้ นี่เป็นคำถามของคลื่นลูกแรกทางจริยศาสตร์”

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป การตอบคำถามเช่นนี้ก็ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และนำมาสู่คลื่นของคำถามต่อไปทางจริยศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักการ บรรทัดฐานเกี่ยวกับการตัดสินใจ

“คลื่นลูกที่สอง จริยศาสตร์พยายามเรียกร้องสิ่งที่เป็นหลักการ (principle) บางอย่าง โดยเฉพาะคำถามของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ก็คือข้าพเจ้าควรจะทำอย่างไร? (What ought I to do?)  มันเป็นคำถามที่โยงไปที่สองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ เน้นไปที่การกระทำ ดูที่การกระทำคืออะไร เราควรจะทำอะไรในแต่ละสถานการณ์ที่เราเผชิญหน้าอยู่ โดยที่เราไม่ทำก็ได้ แต่ว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์เราไม่ควรจะทำ อันนี้คือคำถามของคานส์

“คำถามอันนี้มันต้องการหลักการบางอย่างเพื่อให้แนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพราะมันนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าบรรทัดฐานของการใช้ชีวิต”

แม้ว่าทั้งสองคำถามนี้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดเชื่อมโยงซึ่ง เกษม เพ็ญภินันท์ได้อธิบายไว้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความดี สังเกตได้ว่าคำถามแรกนั้นพยายามจะถามว่าชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร และทำยังไงถึงจะมีชีวิตที่ดี ส่วนคำถามที่สองนั้นผูกโยงกับเราจะตัดสินใจ มีนัยออกไปการกระทำแบบไหนจึงจะเป็นการกระทำที่ดีก็ว่าได้

หากคลื่นลูกที่สามนั้นกลับมีเนื้อหาที่ต่างออกไป คำถามได้เปลี่ยนจากเรื่องของความดี กลายเป็นความถูกต้อง (righteousness) ซึ่งเกษมใช้คำที่เขาไม่รู้จะแปลเป็นภาษาไทยยังไงให้คงนัยของความหมายได้มากที่สุดนั้นก็คือ well being

“ลูกที่สามอาจจะเรียกได้ว่าร่วมกับเรามากขึ้นก็คือปัญหาของโลกมันซับซ้อนขึ้น ความสัมพันธ์ในเชิงจริยศาสตร์หรือศีลธรรมมันไม่ได้อยู่ที่ตัวเราคนเดียวเท่านั้น โลกของจริยศาสตร์มันยังสัมพันธ์กับผู้อื่น สัมพันธ์กับมิติต่าง ๆ ที่เราอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ก่อนโจทย์ของจริยศาสตร์มันพุ่งไปสู่สิ่งที่เรียกว่าดี แต่นี่คำถามถูกยกขึ้นมาใหม่ มันไม่ใช่ชีวิตที่ดีคืออะไร? แต่เป็น what is well being

 “โดยเวลาที่พูดถึง well being มันได้ย้ายฐานทางจริยศาสตร์สองเรื่องหลัก เรื่องแรกคือการพูดถึงชีวิตและคุณค่าทางจริยศาสตร์ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าอะไรคือ ความดี อะไรคือคุณธรรม แต่เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือเปล่า การทำดีเป็นเรื่องปกติ แต่การถามว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีหรือเปล่ามันไม่เพียงพอต่อการพูดถึง well being และเพราะการพูดถึง well being ของเรา มันจะถามคำถามใหม่ว่าสิ่งที่ทำมันถูกหรือเปล่า จากการที่จริยศาสตร์ก่อนหน้านี้มันเน้นเรื่องความดี มาเป็นเรื่องที่ถูกที่ควร ซึ่งอะไรที่ถูกที่ควรมันมากกว่าเรื่องที่ดี เราไม่ได้ปฏิเสธว่ามันมีเรื่องความดีอยู่ แต่เรามองว่าการกระทำอันนั้นสามารถดีด้วยที่ถูกที่ควรด้วย”

เมื่อความดีอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกไม่พอใจกับจริยศาสตร์ยุคเก่าหลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ จริยศาสตร์แบบขงจื๊อซึ่งสอนให้ลูกปิดบังความผิดของพ่อแม่ในนามของความกตัญญู เพราะเรามีความรู้สึกว่าคนกระทำผิดก็ควรจะได้รับการลงโทษ ไม่ใช่การปิดบังเช่นนี้

แน่นอนปฏิเสธไม่ได้ว่าจริยศาสตร์ของขงจื๊อก็เป็นรูปแบบชีวิตที่ดีแบบหนึ่ง และคุณค่าหลายอย่างที่ขงจื๊อพยายามเสนอก็เป็นคุณค่าที่เป็นความดีอย่างแน่นอน แต่บัดนี้ความดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องมีความถูกต้องด้วย และเพราะเหตุนี้เองรัฐสวัสดิการจึงตอบโจทย์ทางศีลธรรม และจริยศาสตร์ด้วยนั้นเอง

รัฐสวัสดิการกับจริยศาสตร์ เมื่อความเท่าเทียมกลายเป็นความถูกต้อง

ทำไมรัฐสวัสดิการจึงตอบโจทย์ทางจริยศาสตร์ เพราะว่าคำถามของจริยศาสตร์ปัจจุบันนั้นผูกอยู่กับเรื่องของความถูกต้องและ well being ด้วยรัฐสวัสดิการที่พยายามจะกระจายทรัพยากร นั้นสามารถตอบโจทย์ของจริยศาสตร์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับคำถามเรื่องความยุติธรรม และไม่ใช่ตอบคำถามเฉพาะแนวทางแบบฝ่ายซ้ายเท่านั้นด้วย โดยเกษม เพ็ญภินันท์ได้กล่าวถึงจอห์น รอลส์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้มีคุณูปการต่อความคิดของเสรีนิยมว่าก็มีอิทธิพลต่อการวางรากฐานความคิดเรื่องสวัสดิการด้วย

“จริง ๆ กำเนิดของรัฐสวัสดิการมันโยงกับปัญหาทางจริยศาสตร์เรื่องความยุติธรรมด้วยในเวลาเดียวกัน เวลาเราพูดถึง well being โจทย์ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง (what is the right thing to do) มันโยงไปกับประเด็นทางการเมืองโดยเฉพาะเรื่องของความยุติธรรม (justice) ด้วย” 

เพราะเหตุนั้นเองทำให้ในช่วงหลายปีมานี้ ในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จึงเต็มไปด้วยการพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนแอฟริกันอเมริกันหรือในกรณีไทยก็จะเห็นว่ามีประเด็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้เกษมยังได้บอกอีกว่าคำถามเกี่ยวกับ well being นี้ทำให้มีความสนใจในเรื่องของบทบาทหน้าที่มากยิ่งขึ้นและมองข้ามบุคลิกส่วนตัวไป ความเป็นคนดีอาจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับความเป็นมืออาชีพอีกแล้ว โดยเกษมได้ยกตัวอย่างความไม่พอใจของคนในกรณีอธิบดีกรมปศุสัตว์ซึ่งไม่ได้ทำการลาออกจากกรณีหมูแพง เพราะว่าถึงตัวอธิบดีกรมปศุสัตว์จะไม่ได้ผิด แต่ในฐานะอธิบดีกรมปศุสัตว์ก็ควรจะมีการแสดงความรับผิดชอบบ้าง 

ด้วยการที่คำถามผูกโยงกับความยุติธรรมนี้เองทำให้รัฐสวัสดิการตอบโจทย์ทางจริยธรรมโดยปริยาย

“รัฐสวัสดิการก็มาตอบโจทย์ในส่วนนี้ ต้องขอบคุณงานของจอห์น รอลส์ แม้ว่าหลักการแรกของรอลส์คือเรื่องเสรีภาพ ที่เน้นเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็ตาม แต่หลักการที่สองที่ว่าด้วยเรื่อง ความทัดเทียม (equity) ซึ่งประกอบด้วยหลักของความแตกต่าง (principle of difference) กับหลักของโอกาสที่เท่าเทียมกัน (principle of equal opportunity) ที่พยายามตอบโจทย์คุณจะสามารถมี well being ได้อย่างไร

“โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสที่สุดย่อมต้องได้รับโอกาสมากที่สุดก่อน เพราะการที่ได้มากที่สุดเพื่อทำให้คนเหล่านี้มีสถานะที่ทัดเทียมกับคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะให้อภิสิทธิ์กับคนกลุ่มนี้ ที่สังคมต้องทำคือ การสนับสนุนในเรื่องความทัดเทียมของโอกาส เพื่อให้เขาแสดงศักยภาพออกมา และพัฒนาความสามารถบนฐานของเสรีภาพของเขา ในขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองเสรีภาพของคนอื่นด้วย เช่น นักเรียนที่เรียนเก่งแต่ฐานะทางเศรษฐกิจยากจน สังคมต้องให้โอกาสด้วยการสนับสนุนด้านทุนการศึกษา แต่เขาจะเข้าเรียนได้ต้องแสดงให้เห็นว่า เขามีศักยภาพและความสามารถเทียบเท่าคนอื่น ๆ”

หากสังเกตจากคำพูดของเกษม เพ็ญภินันท์ หลายคนคงจะรู้สึกว่าแนวคิดของรอลส์นั้นเป็นแนวคิดที่คุ้น ๆ ไม่ใช่น้อย ไม่แปลกเพราะแนวคิดเช่นนี้ปรากฏบนอินเทอร์เน็ตในช่วงหลายปีมากแล้ว บางคนอาจเคยเห็นภาพของเด็กสามคนที่ตัวสูงไม่เท่ากันพากันเกาะกำแพงดูการแข่งขันเบสบอล โดยใช้ภาพจำลองสถานการณ์แบบเดียวกันนี้จำนวนสองภาพ แล้วอธิบายว่าภาพไหนคือความเท่าเทียม ซึ่งในรูปได้อธิบายว่าความเท่าเทียมนั้น คือการที่คนที่ด้อยโอกาสได้รับสนับสนุนโอกาส เพื่อสามารถมองเห็นภาพการแข่งขันได้เท่าเทียมกับคนที่มีโอกาสมากกว่า

แน่นอนคำอธิบายเช่นนี้อาจจะไม่ตรงกับรัฐสวัสดิการเสียทีเดียว และแนวคิดเช่นนี้ก็ถูกวิพากษ์ แม้แต่ภาพตามอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นมีมถูกล้อกันมากมายในสมัยนี้ แต่แนวคิดนี้ก็แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องโอกาสและสวัสดิการนั้นเป็นแนวคิดที่อยู่ในทุกกลุ่มการเมือง

และเพราะเหตุนั้นเองประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการจึงไม่ได้เพียงตอบโจทย์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ทางจริยศาสตร์เรื่องของ well being ด้วย ซึ่งสำหรับเกษม เพ็ญภินันท์มองว่าตราบใดที่ยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องนี้ได้ ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังให้ประชาชนหันมาทำอะไรเพื่อสังคม

“สังคมไม่ทำให้คนเหล่านี้มีโอกาส ตราบใดก็ตามที่คุณไม่สามารถสร้าง well being ให้เขาได้ อย่าคาดหวังว่าคนเหล่านี้จะขยับหรือทำอะไรให้กับสังคมที่อยู่ให้ดีขึ้นได้มากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่”