เด็กโชคร้ายหรือรัฐล้มเหลว เรื่องจริงจากบ้านแม่ทัศนีย์ - Decode
Reading Time: 2 minutes

พี่ไม่มีพ่อเหรอ ไม่เป็นไร หนูก็ไม่มีพ่อเหมือนกัน

เสียงปลอบใจจากเพื่อนสาวต่างวัยบอกฉัน ในบ่ายวันอากาศร้อน เรานอนคุยกันที่ลานกิจกรรมของสถานพักพิงบ้านแม่ทัศนีย์ บ้านของเด็กไร้พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด

ฉันมาที่นี่เป็นปีที่สองแล้ว มาจัดงานคริสต์มาส เล่นเกม เป็นเพื่อนเป็นพี่ที่รู้จัก เป็นได้แค่นั้นในฐานะปัจเจกและเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง บ้านแห่งนี้มีเด็กหลากปัญหาจากหลายบ้าน บางคนถูกทอดทิ้งจากคลินิกทำคลอด แม่ของเขาย่องเบาหายไปหลังให้กำเนิด บางคนหนีตายจากชายแดน บางรายเจอความรุนแรงในบ้านทุบตีทำร้าย บางรายถูกพ่อข่มขืน และหลายรายพ่อแม่ติดยา สถานพักพิงบ้านแม่ทัศนีย์รวมเด็ก ๆ เหล่านี้ไว้ด้วยกัน 

ความรู้สึกของลูกไม่เป็นที่รัก มันเป็นยังไงนะฉันสงสัย

สถานพักพิงบ้านแม่ทัศนีย์ (Safe Haven Orphanage) จ.ตาก คือสถานพักพิงเด็กกำพร้าจากครอบครัวไทย ชนกลุ่มน้อย จากประเทศเพื่อนบ้าน และหลายคนระบุที่มาที่ไปไม่ได้ ที่นี่มีเด็กราว 100 คน ตั้งแต่ทารกจนวัยบรรลุนิติภาวะ แม่ใหญ่ของบ้านนี้คือ ทัศนีย์ คีรีประณีต หรือแม่ทัศนีย์ ผู้ริเริ่มรับเด็กโชคร้ายในหมู่บ้านมาดูแล จนกลายเป็นสถานพักพิงในปัจจุบัน

ชาวบ้านท่าสองยาง จ.ตาก และหลายชุมชนที่นี่มีความเชื่อเรื่องเด็กกาลกิณี เด็กที่เกิดมาพร้อมความโชคร้าย ทำให้แม่ตาย เด็กพิการหรือผิดปกติหลังคลอด จะถูกทิ้งไม่ก็ปล่อยให้ตายหลังนำพาความโชคร้ายเข้ามาในบ้านหลังนั้น ครั้งหนึ่งหน้าบ้านทัศนีย์มีคนอุ้มเด็กมาวางไว้ บอกเป็นนัยว่าเด็กโชคร้ายคนนี้ไม่เป็นที่ต้องการของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ตั้งแต่นั้นมาบ้านของทัศนีย์จึงเป็นบ้านที่พ่อแม่นำเด็กโชคร้ายมาฝาก สถานพยาบาลพาเด็กทารกที่ถูกแม่ทิ้งหลังคลอดมาให้เลี้ยง อยู่รวมกันในบ้านแม่ทัศนีย์

ความเชื่อนี้ยังมีอยู่บ้างแต่บางเบาลง ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่มาจากปัญหาความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจของพ่อแม่ชาวไทย และลูกของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในท่าสองยาง จ.ตาก

พี่ชมพู่ หรือชวนชม อาจนรากิจ ลูกสาวของแม่ทัศนีย์ และเจ้าหน้าที่ประสานงาน โครงการคุ้มครองเด็ก เล่าว่าปัญหาใหญ่ของการรับเด็กมาดูแลคือ เด็กส่วนใหญ่ไม่มี รากเหง้า ไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ว่าจะระบุตัวตนเขาในฐานะพลเมืองอย่างไรให้เติบโตไปมีสิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศนี้

“พี่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ได้รู้รากเหง้าของตัวเอง พี่ว่าวันหนึ่งเด็กเขาก็คงอยากจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วรากเหง้าของเขาคืออะไร ความเป็นเด็กของเขาตอนนี้ไม่ได้สนใจว่าฉันเป็นใครมาจากไหนหรอก เขามีความสุขของเขาวัน ๆ ไปตามวัย แต่วันหนึ่งพี่เชื่อทุกคนอยากจะรู้ที่มาที่ไปของตัวเอง เมื่อวันหนึ่งที่เด็กมาถามเราว่า‘พี่ ผมมาจากไหนนะ ผมเป็นใคร ‘ เราจะได้ตอบเขาได้ 

“บ้านเรา (บ้านทัศนีย์) พอน้องย่างเข้า 15-16 ปี เราจะบอกเขา อย่างน้อยให้เขาได้รู้ภูมิหลังของตัวเอง พี่ต้องดูความพร้อมของเด็ก บางคนอ่อนไหวง่ายมาก ก็ต้องค่อย ๆ หาวิธีพูดไป การที่เราไปพูดตรง ๆ บางทีมันทำร้ายจิตใจเขามากเกินไปรึเปล่า”

กระบวนการบอกความจริงกับเด็ก ๆ ที่บ้านทัศนีย์เริ่มเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะมีเด็กคนหนึ่งที่มาอยู่ตั้งแต่เด็กจนโต เชื่อว่าเธอเป็นลูกสาวของแม่ใหญ่ เธอเป็นเด็กช่างสังเกตและขี้สงสัย จึงเริ่มเกิดคำถามเมื่อเห็นเอกสารแสดงตัวตนที่ไม่เหมือนกับคนที่บ้านนี้ เธอจึงเป็นเด็กคนแรกที่รับรู้ความจริง และเป็นกิจกรรมสำคัญต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ทัศนีย์ เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่าเป็นวันที่บีบหัวใจอย่างมาก เธอบอกกับเด็กหญิงคนนั้นและเด็กคนอื่นที่รอคำตอบว่า

“แม่มีหลายผัว ลูกแม่เลยนามสกุลไม่เหมือนกัน เธอบอกปัดทีเล่นทีจริงไปก่อนจะเฉลยว่าพวกเขาทั้งหลายเป็นเด็กต่างที่มา ห้องนั้นเต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ของเด็กและผู้ใหญ่ที่กอดปลอบใจกัน”

ในมุมของจิตวิทยาการบอกความจริงกับเด็ก ๆ ช่วยให้เขาไม่มีความติดใจในตัวเองว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ช่วยให้เขาอยู่กับความจริงไม่ใช่จินตนาการ เพราะบางรายจินตนาการถึงพ่อแม่ บางคนเชื่อว่าพ่อเป็นฝรั่ง พ่อยังไม่มีเวลามารับกลับไป วันหนึ่งพ่อในมโนจะมารับกลับไปอยู่บ้าน การพูดความจริงเมื่อสภาพจิตใจของเด็กพร้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ

“การรู้รากเหง้าตัวเองเป็นการระบุตัวตนและสัญชาติแก่เด็ก เพราะว่าตราบใดที่เด็กยังอยู่ในไทยโดยที่ระบุตัวตนไม่ได้ก็ไม่สามารถพัฒนาสถานะเด็ก หรือเข้าสู่กระบวนการกับกระทรวงมหาดไทยได้ ทุกวันนี้การตามหารากเหง้าให้น้องที่นี่เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร” พี่ชมกล่าว

ปัญหาครอบครัวที่ส่งเด็กมาที่นี่ต่างกันไหมในอดีตและปัจจุบัน

“อดีตกับปัจจุบันที่จะไม่ต่างกันสักเท่าไหร่คือ เรื่องปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว เขาก็มีความจำเป็นที่จะต้องนำเด็กมาอยู่ในสถานเพื่อให้เด็กได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ปัญหานี้มีตั้งแต่แรก ๆ ที่เรารับเด็กมา และทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย เด็กเหล่านี้มักมีพ่อแม่แต่เขาส่งมาที่นี่เพื่อให้เด็กมีชีวิตที่ดีขึ้น เราจะสนับสนุนด้านการศึกษาให้”

พี่ชมบอกฉันพร้อมกล่าวต่อไปว่า เด็กอีกกลุ่มมาบ้านหลังนี้โดยไม่มีพ่อแม่ ระบุตัวตนใด ๆ ไม่ได้ ส่วนใหญ่พวกเขาคือลูกหลานของแรงงานต่างชาติที่ถูกทอดทิ้งในสถานพยาบาล แม่ของเด็กจะไปคลอดไว้ที่คลินิกและหนีไป คลินิกเหล่านี้เป็นสถานพยาบาลที่แรงงานข้ามชาติเข้าถึงได้ง่ายกว่าโรงพยาบาล เพราะพวกเขาพูดภาษาเดียวกัน

ความล้มเหลวของสวัสดิการรัฐ ประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลต่อปัญหาเด็กถูกทิ้ง

“แรงงานทุกคนที่เข้ามาใช้แรงงานบ้านเรา แต่ละคนมีเป้าหมายของเขา เขาเป็นความหวังของครอบครัว แต่พอเกิดความผิดพลาดในชีวิตลูก เขาจะต้องแบกรับมันอย่างไร เขาต้องกลับไปเผชิญกับครอบครัว ในขณะที่เขาอยู่ต่างแดน เขามีงานต้องรับผิดชอบ เขาจะต้องจัดการกับมันอย่างไร มีใครช่วยเขาได้บ้าง เขาไม่รู้เลย 

“พ่อแม่เด็กที่เป็นแรงงานข้ามชาติ มาอยู่ต่างแดนแบบนี้ พี่คิดว่ามันเป็นความคับข้องใจของเขาอย่างหนึ่ง มันเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิต เขาเลยตัดสินใจทิ้งลูก และมันเป็นปัญหาระดับชาติอย่างหนึ่งเลย เพราะรัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เรื่องการศึกษาและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ กลายเป็นภาระของทางประเทศเราเหมือนกัน มันควรมีวิธีให้แรงงานข้ามชาติทั้งหลายรู้สิทธิว่าเมื่อเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น มีสิ่งไหนที่พวกเขาทำได้บ้าง”

หมุดหมายสำคัญของสถานพักพิงบ้านแม่ทัศนีย์ คือสนับสนุนการศึกษาให้เด็กทุกคนเรียนจบปริญญาตรี หรือสาขาวิชาที่เด็ก ๆ ต้องการ และระบุสถานะรากเหง้าให้พวกเขา อุปสรรคของหมุดหมายที่สองคือเด็กส่วนใหญ่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่คือเมียนมา ต้องทำงานแบบรัฐกับรัฐ อาศัยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ (พม.) และรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน แต่ที่ผ่านมาการทำงานไม่ค่อยประสบความสำเร็จ อีกทั้งสถานการณ์เผด็จการในประเทศเมียนมายิ่งตอกย้ำให้การทำงานยากและเลวร้ายขึ้นไปอีก 

“ทุกวันนี้พม. เขามีโครงการทำงานรัฐผ่านรัฐ แต่สิ่งที่พี่เห็นมันไม่ค่อยเวิร์ก เพราะข้อมูลของเด็กค่อนข้างน้อย และมีจำกัดมาก ยากที่จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล บางครั้งฝั่งเราประสานงานเต็มที่ แต่ฝั่งเขาไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอ การทำงานแบบรัฐกับรัฐมีระเบียบยึดถือร่วมกัน จะช่วยให้เรารู้ต้นทางของเด็กได้” 

สถานการณ์ความรุนแรงจากรัฐบาลเผด็จการพม่า

“เดิมทีก็ลำบากอยู่แล้ว พอเป็นแบบนี้พี่เริ่มคิดว่าอาจจะต้องหยุดทำงานไปเลย พี่เชื่อว่ามันคงไม่สามารถทำงานได้อย่างเดิมแล้ว”

บ้านแม่ทัศนีย์มีโบสถ์ให้เด็ก ๆ สวดขอพรพระเจ้าทุกเช้าเย็น ทุกเช้าจะมีหมอกลอยบังภูเขา ฉันตื่นจากพร้อมเสียงสวดของเด็ก ๆ พวกเขาขอบคุณพระเจ้าที่ส่งความรักมาให้ ขอบคุณที่มอบชีวิตและสิ่งดี ๆ ให้เขาพบเจอ Telephone to Jesus คือ เพลงเดียวที่ฉันร้องตามได้เมื่ออยู่ในโบสถ์กับเด็ก ๆ

ฉันถามพี่ชมถึงความรู้สึกร่วมบางอย่างของเด็กที่เต็มไปด้วยความรัก แม้จะได้รับการให้กำเนิดจากข้อจำกัด ความจำเป็นของพ่อแม่ที่ไม่พร้อม จนทำให้เขาต้องมาอยู่กับบ้านใหม่แห่งนี้ ความรู้สึกของลูกไม่เป็นที่รักมีแวบมาบ้างไหมในใจของเด็กเหล่านี้

“สิ่งที่พี่สัมผัสได้อย่างชัดเจนคือการโหยหาความรักของเขา มันจะออกมาในรูปแบบของการเรียกร้องความสนใจที่อาจจะมากกว่าทั่วไป ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งเป็นคนฉลาด เขาเข้าหาคนเก่ง ใครมาเขาจะตัวติดกับคนนั้น โดยเฉพาะแขกที่เป็นฝรั่ง เหมือนเขากำลังโหยหาชีวิตที่สมบูรณ์แบบ (Perfect) เพราะเขารู้ว่าฉันถูกทิ้งใช่ไหม อยากให้คนยอมรับฉัน รักฉัน แล้วเขาก็จะทำตัวให้เป็นจุดเด่นจากเพื่อนคนอื่น ๆ ให้คนรักเขา ให้คนจดจำเขา เพราะเขาอยากทำชีวิตของเราให้ดีมีคนรัก”

มนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยเรื่องเล่า เรื่องเล่าของรากเหง้าและตัวตนเป็นเรื่องพื้นฐานใกล้ตัวที่สุดที่มนุษย์เลือกเล่าการบอกความจริงต่อเด็ก ๆ เมื่อเขาพร้อมคือหน้าที่ของพี่ชม เธอเตรียมตัวอย่างไรเมื่อเด็กคนหนึ่งพร้อมแล้วที่จะรู้ความจริงของตัวเอง

“วันหนึ่งที่เด็กได้รับฟังความจริงไปแล้ว เขาจะมีกำแพงเกิดขึ้นกับเรา มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือมันเป็นหน้าที่ของพี่ ที่จะต้องทลายกำแพงเหล่านั้นอย่างไร ให้ความรู้สึก ความไว้ใจ ความเชื่อมั่น ให้เด็กเขามีความรู้สึกว่า ไม่ว่าชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหน จะเกิดอะไรขึ้นกับเขา เวลาที่เขาหันหลังกลับมาหรือกลับมาสถานพักพิงบ้านทัศนีย์ เขาก็จะยังเห็นพี่ชม ยังเห็นแม่ใหญ่ ยังเห็นทุก ๆ คนที่อ้าแขนที่จะกอดเขาตลอดเวลา จะเป็นทุกอย่างให้กับเขา ให้เขาอุ่นใจว่าที่นี่คือบ้านของเขา

“เพราะภาวะของแต่ละคนต่างกัน บางคนรับได้ บางคนรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง หรือว่ามองพ่อแม่แย่ไปเลยก็มี แต่สิ่งสำคัญที่สุดพี่จะบอกเขาว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่เขาทำไป เราอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับชีวิตของเขาเลย ทำไมต้องเป็นเขาที่ถูกทิ้ง ทำไมต้องเป็นเขาที่พ่อแม่ไม่เลือก พี่พยายามจะบอกว่าคนเราจะมีภาวะความจำเป็นบางอย่างที่ทำให้เขาต้องทำแบบนี้ ทุกคนมีเหตุและผลต่างกัน  

“ฉะนั้นเราจะไปตัดสินคิดว่าพ่อแม่เราไม่ดี ทำไมทิ้งเรา ก็อย่าไปมองตรงจุดนั้น พยายามบอกเขาให้มองข้ามไปแล้วกลับมามองชีวิตของเขา อะไรดี ๆ ที่เขาได้รับ โอกาสดี ๆ ที่รอเขาอยู่ พี่จะพยายามปรับทัศนคติแย่ ๆ นั้นออกไปจากความคิดของเขา ให้เขามุ่งกลับมามองที่ชีวิตและเป้าหมายของเขาแทน” พี่ชมกล่าวทิ้งท้าย

บ้านทัศนีย์เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่รองรับ แก้ปัญหาปลายเหตุจากความล้มเหลวของสวัสดิการของพลเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน หนึ่งในนั้นคือเมียนมา บีบคั้นให้พวกเขาเข้ามาหางานทำในรัฐไทย เมื่อตั้งครรภ์ในต่างแดน พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐจากประเทศของเขา อีกทั้งการเป็นแรงงานในรัฐไทยกลับผลักให้พวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง การแบกรับอีกหนึ่งชีวิตที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเปราะบาง หลายคนจึงเลือกทิ้งลูกไว้ที่เตียงเกิดแล้วหนีไป หลายชีวิตกลายเป็นศพก่อนที่คนของบ้านแม่ทัศนีย์ไปเจอ 

เด็กที่ถูกทิ้งเหล่านี้จึงไม่ใช่ปัญหาปัจเจก ความเลวทรามของบิดามารดา แต่คือความล้มเหลวของรัฐ และพลเมืองที่ถูกทิ้งขว้างจากรัฐ รากเหง้าของพวกเขาเอง