ถอดรหัสเครื่องด่า การมีอยู่ของวัฒนธรรมคว่ำบาตรในสังคมไทย - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในวันที่วัฒนธรรมการคว่ำบาตร (Cancel culture) กำลังแพร่กระจายในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว และมีแต่จะทวีคูณมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการแบนเพราะทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน หรือการกระทำที่มองว่าเป็นปัญหาในสังคม เช่น การเล่นมุกที่เข้าข่ายเหยียดเพศหรือคุกคาม ที่เรียกได้ว่าโดนกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา ธุรกิจรายย่อย ไปจนถึงกลุ่มทุนใหญ่

เสียงสะท้อนต่อวัฒนธรรมการเทนั้นแตกออกมาหลายแง่ บ้างก็ว่าการแบนเป็นสิ่งที่ควรจะมีเพื่อสร้างความตระหนักรู้และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง บ้างก็ว่าการแบนนั้นเต็มไปด้วยผลเสียและมีแต่จะสร้างสังคมที่ไม่น่าอยู่ขึ้นทุกวัน เพราะเราต่างรู้ดีว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบมาตั้งแต่เกิด และมันเป็นเรื่องปรกติที่คนจะบ้งบ้างในบางเรื่อง

ดังนั้นคำถามจึงมีอยู่ว่า แล้วคนรุ่นใหม่ที่มักโดนผูกว่าเป็นผู้ส่งเสริมวัฒนธรรมดังกล่าวให้มีอยู่ต่อไปคิดอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้กันแน่

อัครสร โอปิลันธน์ หรือ อั่งอั๊ง ได้ร่วมพูดคุยกับ De/code เกี่ยวกับวัฒนธรรมการคว่ำบาตรในสังคมไทย ที่แม้ว่าเธอจะไม่ใช่ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ทุกคน แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ต้องการพูดถึงประเด็นดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความหวังที่ว่าเราทุกคนจะหันกลับมาทบทวนทุกแอ็กชันของตัวเองกันมากยิ่งขึ้น

เขาว่ากันว่าคนรุ่นใหม่ “เอะอะ ๆ ก็แบน”

“เห็นด้วยนะคะ” อั่งอั๊งตอบพลางขำ

“วัฒนธรรมการแบนมันเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะกับในเด็กรุ่นใหม่ เราใช้คำว่าแบนกันถี่มาก ไม่ว่าจะเป็นผ่านแฮชแทกในทวิตเตอร์ หรือทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ซึ่งบางทีเราก็ไม่เห็นด้วยนะ

“อั๊งคิดว่าก่อนที่เราจะไปแบนใครเราต้องตรวจสอบให้ดีก่อน เพราะทุกวันนี้เฟคนิวส์มันเยอะ คนรุ่นใหม่อะไรก็ตามเทรนด์กันซะส่วนใหญ่ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่เสมอไป แต่บางเรื่องถ้าทำลงไปเพื่อให้ตามเทรนด์ทันเฉย ๆ ก็คงจะไม่เหมาะ

“เราก็เป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งและเข้าใจว่ามันห้ามใจได้ยาก บางทีก็อยากอินเทรนด์ แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องหายใจเข้าหายใจออกบอกตัวเองก่อนว่า ‘ไม่ได้นะ อย่างนี้อันตรายนะ’ ไหนจะเฟคนิวส์ ไหนจะ echo chamber”

ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าอั่งอั๊งไม่เห็นด้วยกับการแบน?

“คิดว่า cancel culture ควรมีอยู่ แต่ควรมีอยู่ในขอบเขต”

โดยขอบเขตที่อั่งอั๊งหมายถึงก็มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อนั่นก็คือ

  1. ไม่ไปขุดคุ้ยประวัติของคนคนหนึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เพราะทุกคนสามารถเปลี่ยนได้ ทว่าหากสิ่งเหล่านั้นยังคงคงอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าอาจต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ต่อไป
  2. ไม่แบนตามเทรนด์ คนที่ออกมาแบนต้องรู้ด้วยว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ใครคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
  3. ไม่ลืมที่จะมองหา practical solution ในหัว ยกตัวอย่างเช่น ทำแคมเปญลงรณรงค์ รวบรวมรายชื่อเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

“ที่ต้องบอกอย่างนี้เพราะรู้สึกว่าเหตุผลที่เราจะ cancel ใคร มันไม่ควรจะเอาแค่มันหรือสะใจ เข้าใจว่าหลายคนอาจจะโกรธ ซึ่งความโกรธนี้เข้าใจได้จะไม่มีการบอกว่า ‘เออ โกรธแล้วอย่าไปพูด’ ความโกรธมันสามารถ express ออกมาได้”

เปิดเครื่องด่าในนามความถูกต้อง

“ในนัยหนึ่งเราทุกคนอยู่ร่วมโลกเดียวกัน เราต้องย้อนมาคิดด้วยว่า เมื่อเราด่าเขาแล้วมันจะได้อะไร ถ้าเราด่าเขาว่า ‘เฮงซวย ครอบครัวแกทำให้คนอื่นไม่มีอนาคต’ แล้วมันได้อะไรกลับมา ถ้าเป็นเรา เราจะตอบโต้ด้วยการด่ากลับแทนการคิดไหม เราต้องกลับมาทบทวนตรงนี้”

อั่งอั๊งอธิบายให้เราฟังว่า จุดหมายปลายทางของการคอลเอาต์ไปจนถึงการแบนในมุมมองของตน คือการทำให้เขาคนนั้นเกิดความตระหนักรู้ต่อประเด็นดังกล่าว หาใช่การด่าหรือแบนเอาสะใจ อย่างไรก็ตามเธอก็เข้าใจว่าแต่ละคนล้วนมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป และการที่ใครคิดจะคอลเอาต์แบบไหนก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่สิ่งที่ควรมองหาคือหนทางที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า

“ต้องไม่ลืมว่าเราต้องสร้างความตระหนักรู้ให้คนที่เรากำลังแบนอยู่ สมมติเราพูดว่า ‘เฮ้ย เนี่ยแกโดนแบน แกจะได้เข้าใจบ้าง หันมาฟังคนบ้าง’ ไม่ใช่เอาสะใจอย่างเดียวเป็นหลัก”

อั่งอั๊งยังบอกอีกว่าการแบนที่เกิดขึ้นต้องมาจากเหตุผลที่สมควรด้วย เพราะในบางครั้งสังคมมองว่าการกระทำของตัวบุคคลหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิด โดยไม่ได้มองให้ลึกไปจนถึงตัวปัญหาที่แท้จริงแทน

“มีช่วงหนึ่งที่ดาราหลายคนออกมาเชิญชวนให้คนไปฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนตัวก็เข้าใจว่าช่วงแรก ๆ ประเทศไทยมีการผูกขาดวัคซีนอยู่ รัฐบาลยัดเยียดซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และแอสตร้าเซเนก้าให้คน และตัวเราเองก็ไม่ได้เป็น Anti-vaxxer เราจึงคิดว่าการแบนดาราในกรณีนี้มันไม่ได้อะไรเลย แต่ควรหันมาคอลเอาต์รัฐบาลมากกว่า”

เราต่างเป็นเหยื่อของสังคมที่บิดเบี้ยว

“พักหลังเราได้เห็นกระแสสังคมเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น มีคนดังหลายคนโดนถล่มเพราะการกระทำหรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเจตนาเขาคืออะไร แต่อย่าลืมว่าเขาเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่ใต้สังคมที่มองเห็นคนแต่ละเพศไม่เท่ากันด้วยนะ”

อั่งอั๊งอธิบายต่อว่า หากลองกลับมาคิดทบทวนเราจะพบว่า ในเมื่อสังคมไทยเป็น สังคมที่ชายเป็นใหญ่ คนต่างถูกสั่งสอนหรือได้รับอนุญาตให้สามารถพูดจาไม่ให้เกียรติคนอื่นอย่างไรก็ได้ จะมองคนอื่นเป็นวัตถุทางเพศอย่างไรก็ได้ หลายคนอาจจะไม่ได้มีความตั้งใจ แต่สังคมทำให้เขาคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมเหล่านั้น ดังนั้นแทนที่กระโดดไปแบนในทันที มันจะดีกว่าไหมถ้าเราพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้เขาแทน

อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้จะปกป้องใครและไม่ได้มองว่า การกระทำเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ถูก อั่งอั๊งเสริมว่าหากในกรณีที่คอลเอาต์ก็แล้ว คุยด้วยก็แล้ว พยายามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรต่าง ๆ ด้วยก็แล้วแต่ไม่เป็นผล หรือหากเรียกตามตรงคือ กู่ไม่กลับ การแบนเองก็เป็นทางหนึ่งในฐานะที่ผู้ติดตามผลงาน หรือผู้บริโภคจะสามารถทำได้เพื่อยืนหยัดในแนวคิดของตัวเอง

จากความเห็นดังกล่าวจึงถูกเชื่อมไปถึงอีกหนึ่งประเด็นที่ควรถูกพูดถึงมากกว่าเดิมนั่นก็คือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนสามารถออกมาปรับปรุงตัวได้ ซึ่งยังมีให้เห็นไม่มากนักในสังคมไทย

“เราคิดว่าทุกคนมีสิทธิ์ออกมาพูดและชี้แจ้งตัวเอง อย่างในปัจจุบันมีเวทีของคุณหนุ่ม กรรชัย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้คนที่โดนแบนขึ้นมาแก้ตัว จะไลฟ์ผ่าน tiktok เปิดห้องในคลับเฮาส์ หรืออะไรก็ได้ นัย ๆ หนึ่งก็อาจจะเหมือนเอาเขาขึ้นมาเชือดด้วยแหละ แต่ก็ดีกว่าไม่มี

“ท้ายที่สุดเขาควรมีพื้นที่ที่จะพูดได้ เพราะในพื้นเพ สังคม และสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตมาล้วนแตกต่างกัน และเราต่างคอลเอาต์ เพราะอยากบอกกับเขาว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้นถ้าไม่เปิดพื้นที่ให้เขามาปรับปรุงตัวเลย จุดประสงค์ของการคอลเอาท์มันจะเป็นอะไรกัน”

ประเด็นร้อนกับคนที่ร้อนกว่า…

“ในหลายครั้งกระแสการแบนก็มาจากการตีข่าวของสื่อ ทั้งที่จริง ๆ แล้วแก่นหลักของเรื่องนี้ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร ด้วยความที่สื่อถูกแบ่งเป็นสองขั้ว ไม่ซ้ายจัดก็ขวาจัด การเล่นข่าวเพื่อให้คนเข้ามาอ่านก็ผ่านจุดที่เรียกได้ว่า เกินเลย จนกลายเป็นว่า เราไปลงโทษให้คนคนหนึ่งไม่มีที่ยืนในสังคม ซึ่งเราไม่ค่อยชอบเวลาที่สื่อเล่นอะไรที่มัน clickbait อย่างเดียว แม้กระทั่งฝั่งซ้ายกันเองเนี่ย มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่แนะนำให้ไม่ฉีดวัคซีนเลย ‘เนี่ยดูฝรั่งเศสสิ ประท้วงไม่เอาวัคซีน เราควรทำแบบเขานะ’ เราก็เอ๊ะ เราต้องไม่ถูกปลุกปั่นโดยสื่ออย่างเดียวสิ เราต้องรู้จักการตั้งคำถามเองด้วย”

ก่อนจะจากกันไปอั่งอั๊งสรุปให้เราฟังว่า ความใจร้อนนั้นทำงานควบคู่กับวัฒนธรรมการแคนเซิล ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งอาจสวนทางกับเส้นทางที่ให้ผลลัพธ์ที่เราต่างต้องการจะเห็นนั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลง

“จริง ๆ ถ้าใจร้อนก็แบนไปเลยก็ได้ หรือจะแบนเอาสนุกเอาสะใจก็ทำได้ แต่ถ้าเราอยากให้เขาเปลี่ยนจริง ๆ มันต้องไม่ลืมมองหาทางออกที่ practical ด้วย”

เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ เราคงจะพบว่าท้ายที่สุดแล้วอาจไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับวัฒนธรรมการแบน เพราะทุกคนต่างมีสิทธิในฐานะผู้บริโภคที่จะสามารถเลิกสนับสนุนสิ่งที่ตนคิดว่าไม่เหมาะสม ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นระดับบุคคลหรือองค์กร แต่สิ่งสำคัญที่เราต่างต้องจำขึ้นใจอยู่เสมอคือ จุดประสงค์ที่ทำลงไป เพื่อต้องการให้สังคมที่คนชินชาหรือมองไม่เห็นปัญหาเหล่านั้นเปลี่ยนแปลง

และอย่าลืมว่าไม่มีใครที่ไม่เคยล้มทางความคิดบนโลกนี้หรอก
จะมีก็แต่คนที่ยอมรับกับคนที่ไม่ยอมลุกเท่านั้น