จากชิลีถึงบูร์กินาฟาโซ: เงามืดของอดีตแสงสว่างของอนาคต - Decode
Reading Time: < 1 minute

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ที่ประเทศบูร์กินาฟาโซ ทหารกลุ่มหนึ่งในกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกลุ่มนายทหารที่ก่อรัฐประหารอ้างสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศจากกลุ่มกบฏ ในแถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร มีการโจมตีประธานาธิบดีว่าล้มเหลวในการสร้างเอกภาพภายในชาติ

หลังจากยึดอำนาจ พวกเขาควบคุมตัวอดีตผู้นำประเทศไว้ในค่ายทหาร ยุบเลิกสภา ยุบคณะรัฐมนตรี ยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่ก็ประกาศว่าจะฟื้นฟูหลักการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญกลับมาสู่ประเทศ “ในเวลาที่เหมาะสม”

การรัฐประหารครั้งนี้ถูกประณามโดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และจากผู้นำหลายประเทศ

เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่คุ้นหรือกระทั่งไม่เคยได้ยินชื่อประเทศบูร์กินาฟาโซมาก่อน ประเทศนี้อยู่ในทวีปแอฟริกาทางฝั่งตะวันตก ได้เอกราชจากฝรั่งเศสในปี 2503 (ตรงกับสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ของไทย) หลังจากนั้นเผชิญปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ประชาธิปไตยไม่เคยลงหลักปักฐาน ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองโดยทำรัฐประหารหลายครั้ง ทำให้พัฒนาการทางการเมืองหยุดชะงัก ในกลุ่มนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จัดบูร์กินาฟาโซว่า เป็นหนึ่งในประเทศแชมป์เปียนด้านการรัฐประหาร

นอกจากบูร์กินาฟาโซที่ตกเป็นข่าวชวนให้นานาชาติวิตกกังวลแล้ว ก็พบว่าในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเกิดการรัฐประหารอีก 3 ครั้งในทวีปแอฟริกา คือ ในเดือนสิงหาคม 2563 และพฤษภาคม 2564 เกิดการรัฐประหารซ้ำ 2 ครั้งในประเทศมาลี ประเทศเพื่อนบ้านของบูร์กินาฟาโซ และเดือนกันยายน 2564 เกิดการรัฐประหารที่ประเทศกินี

แน่นอนว่าทวีปแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่เกิดการรัฐประหารบ่อยครั้งที่สุดในระยะหลัง แต่ก็มิใช่ภูมิภาคเดียวที่เผชิญปัญหานี้ ตัดภาพมาที่เอเชีย เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เกิดการรัฐประหารที่พม่า

แม้ว่าจะเป็นเทรนด์ที่น่ากังวล แต่ปรากฏการณ์การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพและการยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธนั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ปรกติในโลกยุคปัจจุบัน

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าเหลือแค่ไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้นที่ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการรัฐประหาร เพราะตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา การรัฐประหารโดยกองทัพกลายเป็นสิ่งล้าสมัยที่แทบจะสูญหายไปจากโลกแล้ว ในบางปีอัตราการเกิดเหตุรัฐประหารในโลกเท่ากับศูนย์ทีเดียว

ในบรรดาประเทศที่ยังเกิดรัฐประหาร นักวิชาการพบแบบแผนบางอย่างที่คล้าย ๆ กัน เสมือนเป็นโมเดลของการรัฐประหารในยุคปัจจุบัน โดยยากที่จะบอกได้ว่าใครลอกเลียนใคร หรือใครเป็นต้นแบบของโมเดลนี้

แบบแผนดังกล่าวคือ

หนึ่ง กองทัพจะทำรัฐประหารโดยให้เหตุผลว่าการเมืองที่เป็นอยู่ของรัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้นขาดความเป็นประชาธิปไตยและ “ธรรมาภิบาล” (good governance)

สอง ผู้นำรัฐประหารจะให้สัญญาว่าที่ยึดอำนาจนี้เพื่อสร้างการเมืองที่มีประชาธิปไตยที่ดีกว่าเดิม มีธรรมาภิบาล และปราศจากคอร์รัปชัน

สาม จะมีการประกาศว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งในเวลาที่เหมาะสมเมื่อประเทศพร้อม (ซึ่งบางประเทศก็เร็วคือภายใน 1 ปี ในขณะที่บางประเทศนั้นลากยาวไปถึง 6 ปีกว่าที่กองทัพจะยอมจัดการเลือกตั้ง)

สี่ ในระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง กองทัพจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง และกติกาทางการเมือง จัดตั้งคนของตนเข้าไปคุมสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกกฎหมายที่ทำลายความเข้มแข็งของพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบอยู่แต่เดิม เพื่อปูทางไปสู่การครองอำนาจของคณะรัฐประหารต่อไป

ห้า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม คณะรัฐประหารจะกำหนดให้มีการเลือกตั้ง โดยพบว่าส่วนใหญ่แล้ว ผู้นำคณะรัฐประหารจะลงสมัครรับเลือกตั้งเอง หรือไม่ก็สนับสนุนพวกพ้องในเครือข่ายคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงสมัคร โดยตนเองสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง สถิติที่น่าสนใจพบว่า การเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารนั้น ชัยชนะจะตกเป็นของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่สนับสนุนการรัฐประหาร (เพราะคุมกติกาและคุมกลไกรัฐ) มียกเว้นบางประเทศเท่านั้นที่ฝ่ายรัฐประหารเพลี่ยงพล้ำไม่สามารถสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งได้

หก ทุกประเทศที่เกิดการรัฐประหาร ระดับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนลดน้อยถอยลงกว่าเดิม     

ฉะนั้น บทเรียนที่สำคัญคือ การเลือกตั้งหลังการรัฐประหารจึงอาจจะไม่ใช่กระบวนการที่จะทำให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยได้เสมอมา หรือกล่าวในอีกแบบหนึ่งก็ได้ว่า คณะรัฐประหารในยุคสมัยปัจจุบันเรียนรู้มากขึ้นว่าต้องหาทางปรับตัวให้กลมกลืนกับระเบียบแบบแผนของโลก ที่การเลือกตั้งเป็นหนทางที่ชอบธรรมที่สุดในการขึ้นสู่อำนาจ บรรดานายพลยุคนี้ไม่ว่าจะในอียิปต์ มาลี เลโซโท ฟิจิ ฮอนดูรัส ฯลฯ จึงไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่เน้นควบคุมและบิดเบือนกระบวนการการเลือกตั้งให้ตนเองได้เปรียบแทน

นักวิชาการสรุปว่านี่คือการปรับตัวอันแนบเนียนมากขึ้นของผู้นำรัฐประหาร จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนและสื่อมวลชนที่จะต้องรู้เท่าทันแบบแผนการครองอำนาจของพวกเขา ในประเทศที่ป้องกันการรัฐประหารไม่สำเร็จ สิ่งที่ภาคประชาชนต้องทำคือ คัดค้านกติกาและความพยายามของเครือข่ายรัฐประหารที่จะชักใยและครอบงำการเลือกตั้งเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่กลไกการเลือกตั้งจะถูกบิดเบือนให้บิดเบี้ยวจนยากที่จะรื้อฟื้นกลับมาได้

การรัฐประหารที่บูร์กินาฟาโซสะท้อนมรดกตกทอดของการเมืองในยุคอดีตสมัยสงครามเย็นซึ่งกองทัพในหลายประเทศทั่วโลกอ้างภัยความมั่นคงจากคอมมิวนิสต์เข้ามายึดอำนาจ ตั้งตนเป็นผู้บริหารประเทศยาวนานหลายทศวรรษ เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น การสร้างข้ออ้างเพื่อยึดอำนาจของนายพลในเครื่องแบบกลายเป็นเรื่องล้าสมัยที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกอีกต่อไป แต่ความล้าสมัยนี้ยังตกค้างอยู่ในบางประเทศของโลก

แม้เริ่มต้นจากความมืด แต่ผู้เขียนขอจบท้ายบทความนี้ด้วยความหวัง หากเราหันไปมองความเปลี่ยนแปลงที่ประเทศชิลี ซึ่งอยู่ในอีกมุมหนึ่งของโลก แสงสว่างกำลังปรากฎที่ขอบฟ้า ณ ประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกาแห่งนี้

เดิมทีในยุคสงครามเย็น ชิลีก็เคยตกอยู่ภายใต้เงามืดของระบอบเผด็จการทหารอย่างยาวนาน ภายใต้นายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ ที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างกว้างขวาง

แต่ด้วยการสูญเสียความชอบธรรมของกองทัพ บวกกับการผนึกกำลังอย่างเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชนและพรรคการเมือง ที่แม้ต่างอุดมการณ์ (คือฝ่ายสังคมนิยมกับฝ่ายอนุรักษนิยม) แต่ก็มีฉันทามติในการคัดค้านการสืบทอดอำนาจของระบอบทหาร ทำให้ชิลีเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จในช่วงต้นทศวรรษ 1990

หลังจากนั้นชิลีก็ค่อย ๆ เดินออกจากเงามืดของอดีต สถาปนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ระบบพรรคการเมืองมีความหลากหลายทางนโยบายและอุดมการณ์ สลับขั้วไปมาระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา แต่ทุกฝ่ายยอมรับกติกา รวมถึงกองทัพที่ไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอีกต่อไป ทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ โดยไม่ถอยหลังแบบที่เราเห็นในหลายประเทศที่กล่าวถึงข้างต้นในบทความนี้ รัฐบาลจากพรรคการเมืองล้วนเคารพการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่ปัญหาใหญ่ที่ชิลีเผชิญมาโดยตลอด คือ ปัญหาคอร์รัปชันและความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน (เป็นปัญหาร่วมของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา) ปัญหาที่สั่งสมมายาวนานนี้ เมื่อบวกกับการถูกกระแทกด้วยโรคระบาดโควิด-19 ก็ระเบิดออกมาเป็นการประท้วงใหญ่ในปี 2562 ที่ประชาชนเรือนล้านออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนอย่างต่อเนื่องเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองและสังคมอย่างขนานใหญ่ จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อลบล้างมรดกตกทอดจากระบอบปิโนเชต์ โดยปรับโครงสร้างทางการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ล่าสุด ผลการเลือกตั้งในปลายปี 2564 ก็เขย่าการเมืองชิลีอย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน เมื่อผู้สมัครหนุ่มกาเบรียล บอริก ที่อายุเพียง 35 ปีชนะการเลือกตั้งกลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เขาเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยต่อสู้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ต่อมาผันตัวมาเป็นผู้แทนราษฎรสายก้าวหน้า ในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี เขารณรงค์หาเสียงนำเสนอขุดนโยบายที่ก้าวหน้า เช่น ปรับระบบภาษีให้มีความเป็นธรรม กระจายรายได้ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ สร้างระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุขและการศึกษา ในที่สุดเขาเอาชนะคู่แข่งคนสำคัญจากฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดที่ทั้งสูงวัยและมากประสบการณ์ทางการเมืองได้สำเร็จ บอริกให้สัมภาษณ์หลังชนะเลือกตั้งว่าเขาต้องการนำประเทศชิลีก้าวออกจากเงาของอดีตเพื่อไปสู่อนาคตที่สดใสร่วมกันในอนาคต

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศที่ความเหลื่อมล้ำฝังรากลึกให้เสมอภาคมากขึ้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยแสงสว่างก็เริ่มปรากฏที่ขอบฟ้าของชิลี