ตลกร้ายของ ‘ป้าอ้อตามสั่ง’ กัดฟันยืนราคาเดิมในยุคหมูแพงค่าแรงต่ำ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ลึกเข้าไปใน ถ.เพชรบุรี ซอย 5 เป็นพื้นที่ตั้งของชุมชนริมทางรถไฟของเหล่าคนหาเช้ากินค่ำในมหานครคอนกรีต ภายใต้ชุมชนที่ทุกคนต่างบอกออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาซ้อนปัญหา หลายคนตกงานจากโควิด ยังไม่ทันได้ตั้งหลักกับชีวิต วิกฤตค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นจากราคาเนื้อหมู ไข่ไก่แพง เหมือนมาซ้ำเติมชีวิต ถ้าไม่ล้มตายจากโรคระบาดก็คงต้องอดตายกันในคราวนี้

ผมพบเจอชายหนุ่มวัยกลางคนอายุ 30 ปีคนหนึ่งที่ร้านอาหารตามสั่งในชุมชนดังกล่าว ช่วงเวลาบ่ายสี่โมงเย็น หลังจากที่เขาเพิ่งเลิกจากการทำงานรับจ้างทั่วไป ที่ไม่สามารถเอาแน่เอานอนกับปริมาณงานที่จะเข้ามาในแต่ละวันได้ อาหารมื้อแรกของวันกำลังจะตกถึงท้องเขา ผัดกะเพราหมูสับ / ไข่ดาว 2 ฟอง / ข้าวเปล่า 1 ถุง ราคา 45 บาท คือปริมาณอาหารที่ชายหนุ่มคนนี้จะได้รับเข้าสู่ร่างกายตลอดทั้งวัน ทรัพยากรของเขาเปิดโอกาสให้เขาได้กินแค่เพียงเท่านี้

“มื้อนี้คือผมต้องอยู่ท้องให้ได้ยันนอน ข้าวเช้า เที่ยง เย็น รวมอยู่ในมื้อเดียว”

คงเป็นโชคเล็ก ๆ ของเขา และคนในละแวกชุมชนริมทางรถไฟ ซ.เพชรบุรี 5 ที่มี ร้านอาหารตามสั่งป้าอ้อ ของ สุภาภรณ์ รอดอินทร์ ในวัย 59 ปี ผู้หญิงที่เกิดมาเพื่อค้าขายทั้งชีวิต และอยากเห็นลูกค้าของเธออิ่มออกไปจากร้าน เธอเป็นที่ฝากท้องของชาวชุมชน โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นในละแวกนี้ในสภาวการณ์ข้าวของแพง

“ทุกวันนี้พวกผมรายได้ลดแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถ้าไม่มีร้านป้าอ้อก็แย่กันอยู่นะ กินข้าวข้างนอกจานละ 60-70 บาท ปริมาณมันไม่ได้ทำให้เราอิ่ม” ลูกค้าคนหนึ่งของเธอกล่าว

เสียงบทสนทนาระหว่างผมกับป้าอ้อเริ่มดังขึ้น ไปพร้อม ๆ กับเสียงตะหลิวกระทบกับกระทะที่ไม่เคยเงียบลงตลอดเวลา 3 ชั่วโมงที่เราคุยกัน ป้าอ้อขอส่งเสียงของตัวเอง ในฐานะผู้ที่ประสบภัยค่าครองชีพพุ่งสูงจากการเป็นแม่ค้า และจากสายตาของคนที่เห็นความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำ ในวันที่หมูแพงแต่ค่าแรงตกต่ำ 

คนจนเมืองแห่งยุคสมัยอยู่ไม่ได้ก็ตายอย่างเดียว

“มึงเอาเงินมาแจกกู แล้วก็ขึ้นราคาข้าวของโน้นนี้ แล้วมึงจะแจกทำไม”

ป้าอ้อเปิดบทสนทนาด้วยความสงสัย เธอกล่าวต่อว่ากลุ่มแม่ค้าเช่นเธอ และลูกค้าร้านอาหารตามสั่ง โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ คือคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการปรับขึ้นของค่าครองชีพ  ความยากลำบากสำหรับแม่ค้าที่ขายของริมทางเช่นป้าอ้อ คือการที่วัตถุดิบขึ้นราคา ต้นทุนค่าใช้จ่ายจากวันละ 1,000 กว่าบาท ตอนนี้ปรับตัวขึ้นมาประมาณ 3,000 บาท แต่เธอไม่สามารถขึ้นราคาอาหารของเธอ ให้สอดคล้องกับราคาวัตถุดิบได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลที่ว่า

“ถ้าเราขายแพงกว่านั้น เด็กในชุมชนมันกินไม่ไหว ทำได้เต็มที่แค่เพิ่มราคาเมนูละ 5 บาท คงไม่อยากจะขึ้นราคาอีกแล้วยอมทนไปก่อนช่วงนี้ เราเชื่อว่าราคาข้าวของมันจะไม่แพงอย่างนี้ตลอดไปหรอก”

ป้าอ้อกัดฟัน ยอมลดกำไรของตัวเองลงมาต่อวันจนเหลือวันละ 500 บาท จากการยืนขาแข็งหน้ากระทะ ตั้งแต่ 10 โมงเช้ายันถึงสองทุ่ม โดยยืนพื้นที่เมนูทั่วไป ถ้าเป็นหมูหรือไก่เธอจะคิดราคาที่ 40 บาท แต่ถ้าเป็นปลาหมึกหรือกุ้ง เธอจะคิด 45 บาท โดยคิดค่าไข่ดาวเพียงใบละ 5 บาท จากต้นทุนต่อแผงอยู่ที่ 100 บาท (ต้นทุนไข่ใบละ 3.33 บาท) 

“สิ่งที่แม่ค้าขายข้าวอย่างเราช่วยได้ คือทำให้เขาเสียตังค์น้อยที่สุดแต่อิ่มที่สุด เราขายเอาพอมีกินมีใช้ ถามว่ามีเก็บไหมมันไม่มีหรอก มันไม่ใช่แค่เราที่เหนื่อยตอนนี้ แต่ประชาชนทุกคนเหนื่อยกันหมด รัฐบาลชุดนี้ 8 ปี ป้าไม่เห็นเขาจะทำอะไรให้มันดีขึ้นเลยนอกจากแจกเงิน ทำได้อยู่แค่นี้ ให้คนที่เขามีความสามารถกว่านี้มาบริหารมันจะดีกว่าไหม” 

ป้าอ้อพูดในฐานะที่เธอเริ่มขายของอยู่ในชุมชนนี้มาตั้งแต่ปี 2526 เริ่มขายข้าวตั้งแต่จานละ 12 บาท หมูกิโลกรัมละ  35 บาท จนวันนี้หมูที่เธอซื้อกิโลกรัมละ 195 บาท เธอกล่าวว่าช่วงเวลานี้ลำบากที่สุดตั้งแต่ที่เธอทำการค้าขายมา 

คนที่มีฐานะอาจจะมองว่าแค่ข้าวของขึ้นราคาไม่กี่สิบบาท จะเป็นเดือดเป็นร้อนอะไร แต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำนั้น แค่ 30 – 40 บาทที่เพิ่มขึ้นมาก็เท่ากับข้าวหนึ่งมื้อแล้ว

“มันแย่ทุกอย่าง แย่ที่สุดตั้งแต่เราทำการค้าขายมา รัฐบาลเขาไม่ดูแลและควบคุมอะไรเลย คุณไม่ควบคุมเศรษฐกิจให้คนไทยมาแบกภาระกันเอง มีแต่คนละครึ่งเอาเงินที่มาแจกประชาชน เอาไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดีกว่าไหม คุณควบคุมหน่อยสิ เรื่องหมูเรื่องไก่ทำไมคุณไม่ทำอะไรเลย”

และด้วยความที่ป้าอ้อต้องพบเจอผู้คนทุกวัน เธอจึงได้เห็นความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนจนเมืองทุกวันนี้ เธอยกตัวอย่างหนึ่งให้ผมฟังว่า 

“ทุกวันนี้เราเห็นลูกค้าที่มาซื้อข้าวเรา เรารู้เลยว่าพวกเขาไม่มีเงิน บางคนมาสั่งข้าว แต่ต้องถามราคาเราก่อนว่าเท่าไหร่ ถ้าเข้ามาแบบนี้คือเรารู้เลยว่าเขาไม่มีเงิน บางคนมาซื้อข้าวเปล่าป้าอ้อก็ถามว่า

‘ซื้อข้าวเปล่าไปกินกับอะไร’ เขาตอบมาว่า
‘ซื้อไปกินกับมาม่า’

ทุกวันนี้บางคนแค่จะทอดไข่เจียวกินมันยังไม่มีน้ำมันจะทอดเลย”

สำหรับป้าอ้อสิ่งที่เธอพูดไปทั้งหมดนั้น เธอกล่าวว่าถ้ารัฐบาล, นายกรัฐมนตรี ได้ลงมาฟังเสียงของชาวบ้านแบบที่เธอกำลังเล่าให้ผมฟังอยู่นี้ได้ก็คงดี มันคงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ แต่น่าเสียดายที่เสียงของเธอคงไม่มีวันดังไปถึงพวกเขา 

“มีก็กินไม่มีก็อด อยากร้องไห้แต่น้ำตามันตกในไปแล้วร้องไม่ได้  ต้องบอกกับตัวเองอย่างเดียวว่า กูต้องอยู่ให้ได้ อะไรมันจะเกิดก็ช่าง กูต้องอยู่ให้ได้ อยู่ไม่ได้ก็ตายอย่างเดียว คุณเป็นรัฐบาลคุณมีเงินเดือนกิน แต่คนจนอย่างเราจะเอาอะไรกิน”

เธอพูดพร้อมเสียงหัวเราะ ที่ดังคลุกเคล้าไปกับเสียงน้ำมันในกระทะที่มีเนื้อไก่ที่เธอเพิ่งซื้อมาเพิ่ม แม้ราคาจะแพงกว่าปกติ แต่เธอก็ต้องซื้อมาทำให้ลูกค้าของเธอที่รออยู่ เพราะในสภาพสังคมเช่นนี้เราต่างไม่มีทางเลือกให้เลือกมากนัก 

ความจนของความจริง “เงินเฟ้อ เศรษฐกิจฟุบ” ไม่ใช่เพราะกำลังซื้อเพิ่ม

จากเพชรบุรีซอย 5 ผมรวบรวมเรื่องราวของชาวบ้าน ปัญหาที่พบเจอเพื่อนำไปพูดคุยกับ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ถึงมุมมองของสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงในปัจจุบัน รวมทั้งใช้แว่นตานักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ปัญหานี้ผ่านเรื่องราวของคนจนเมือง

“ปัญหาตอนนี้รัฐบาลปล่อยปละละเลยรึเปล่านั้นผมไม่แน่ใจ แต่ความเข้าใจที่ถูกต้องยังไม่มี”

เดชรัตเริ่มต้นอธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยชี้ให้เห็นว่าการเข้าไปควบคุมราคาสินค้าทั้งเนื้อหมู และสินค้าอื่น ๆ ไม่ให้สูงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องกระทำ 

แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ยังไม่ต้องพูดถึงวิธีการแก้ไขปัญหา เพียงแค่ความเข้าใจที่มีต่อปัญหาปัจจุบันยังคลุมเครือดังคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า

“เรื่องปัญหาสินค้าราคาแพงนี้ เป็นปัญหาที่ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อพ่อแม่พี่น้องในประเทศทุกคน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยที่ต้องแก้ไขทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และปัญหาที่เกิดจากระบบโครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประเทศไทยมีระบบการเงินการคลังที่มั่นคงเป็นต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว มีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมาก ผมจึงเชื่อมั่นว่าปัญหาสินค้าราคาแพงนี้จะแก้ไขได้สำเร็จที่ต้นตอของปัญหา โดยไม่เกิดผลกระทบในระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจไทย”

รวมทั้งคำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ดูแลงานด้านเศรษฐกิจที่มองว่า 

“เราต้องดูสถานการณ์โลกด้วยว่าจะมีผลกระทบอย่างไร เพราะต้องถือว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือราคาของแพงที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจาก…จะบอกว่าเป็นข่าวดีก็ไม่จริง แต่มันแสดงถึงความมั่นอกมั่นใจของประชากรโลก ในการที่บริโภคมากขึ้น รวมทั้งแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะมันมีการอุปโภคบริโภคสูงขึ้นจริง ๆ”

เป็นความคลาดเคลื่อนต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ตามที่เดชรัตกล่าวว่า

“ปัญหาจริง ๆ คือคนไม่ได้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่มันเป็นภาวะเงินเฟ้อที่เกิดมาจากการที่สินค้ามันขาดหายไปจากตลาด

“จริง ๆ ปีนี้เศรษฐกิจมันควรจะดีขึ้น แต่อำนาจซื้อกลับน้อยลง และอำนาจซื้อมันเกิดขึ้นมาพร้อมกันกับคำว่า เศรษฐกิจฟุบ คือเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว  หลายคนยังไม่ได้มีงานทำตั้งแต่ช่วงกลางปี 64 ซ้ำเติมด้วยภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นหรือที่เราเรียกมันว่าเงินเฟ้อ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้อำนาจซื้อน้อย”

และหากมองภาพให้แคบลงมากกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระดับประเทศ กลุ่มคน 10 % ที่จนที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตามที่เดชรัตกล่าวเปรียบเทียบกับสถานการณ์เมื่อกลางปี 2564 ที่มีการล็อกดาวน์และคนตกงานจำนวนมาก

“ปี 2564 ราคาสินค้ามันคงที่ ทั้งคนจนเมืองยังได้ถุงยังชีพมาเติมเต็ม ถ้าเทียบกันมันก็ไม่แปลกที่จะมีคนบางกลุ่มกล่าวว่าตอนนี้สถานการณ์มันหนักกว่าปี 2564  รายได้หายไปก็ลดการบริโภค ทั้งยังมีถุงยังชีพจากหน่วยงานอื่น ๆ แต่สภาวะตอนนี้มันกลับกัน คือลดการบริโภคก็ไม่ได้ พอไม่มีการบริโภคเศรษฐกิจก็ฟุบ พอเศรษฐกิจฟุบก็ไม่เกิดการจ้างงาน และมันก็จะวนอยู่อย่างนี้  ปัญหาที่อาจจะตามมาต้องจับตาดูว่าจะเกิดการกู้ยืมเงินมากขึ้นหรือไม่”

โดยเหตุผลที่อาจทำให้กลุ่มคนมีรายได้น้อยต้องกู้ยืมนั้น เดชรัตอธิบายเพิ่มเติมว่า ภาระค่าอาหารกลุ่มคนมีรายได้น้อยมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มคนมีรายได้มาก อาทิเช่นค่าใช้จ่ายในการซื้อเนื้อหมู ถ้าเป็นกลุ่ม 10% ที่จนที่สุดในประเทศ ภาระจะอยู่ที่ 6% ของรายได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% ของประเทศ ก็จะอยู่ที่ 0.5% ของรายได้

“ยิ่งหมูแพงขึ้น คนจนก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นมากกว่ากลุ่มคนรวย ดังนั้นหากไม่ยอมคุมราคาสินค้าค่าครองชีพ คนจนจะเดือดร้อนมากกว่า”

โดยการควบคุมราคาสินค้าค่าครองชีพนั้น เดชรัตมองว่าสามารถทำควบคู่ไปกับนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อ ผ่านโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ที่รัฐบาลกำลังจะทำต่อได้

“แต่ต้องอย่าลืมว่าคนละครึ่งมันไม่ได้สกรีนคนจนคนรวย ผมจึงคิดว่าเลือกควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตจะส่งผลดีมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีโครงการคนละครึ่ง”

แต่การควบคุมค่าใช้จ่ายในการกำหนดราคาสินค้าของรัฐบาลชุดนี้ นำโดยกระทรวงพาณิชย์ กลับไปควบคุมราคาสินค้ากับผู้ขายรายย่อย เช่นกรณีของแม่ค้าไข่ไก่ที่ถูกจับหลังขายไข่ไก่เกินราคา (ขายไข่เบอร์ 1 ฟองละ 4.2 บาท ในขณะที่ในร้านสะดวกซื้อ ขายไข่ไก่เบอร์ 1 อยู่ที่ราคา 6-7 บาท )

กลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่รัฐมีความสามารถในการไล่บี้ จับกุมพ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กตัวน้อย แต่กลับไม่มีความสามารถไปบริหารจัดการ ควบคุมราคาสินค้าจากต้นทาง โดยเฉพาะจากบรรดาเจ้าสัวบริษัทใหญ่ 

“ต้องรอให้พวกคนรวยมันเดือดร้อนดูบ้าง จะได้รู้ว่าเวลาคนจนมันเดือดร้อนแล้วรู้สึกอย่างไร แต่ทำอย่างไรพวกเขาก็ไม่เดือดร้อนหรอก”

ป้าอ้อกล่าว ในขณะที่ตะหลิวและกระทะของเธอ ยังคงกวัดแกว่งหล่อเลี้ยงคนในชุมชน ให้พอได้มีอาหารราคาถูกกินต่อไป โดยที่เธอไม่ได้คาดคิดว่าราคาหมู และวัตถุดิบอื่น ๆ อาจจะยืนระยะอยู่ที่ราคาดังกล่าวนี้ จนถึงอย่างน้อยกลางปี 2565 เธอยังคงมีความหวังและเป็นความหวังในการฝากท้องให้กับลูกค้าของเธอ 

หากกล่าวตามภาพที่เห็น และเสียงที่ได้ยินจากการลงพื้นที่ ไม่ได้มีประชาชนคนใดรู้สึกตกใจ หรือไม่คาดคิดกับสิ่งที่ตัวเองเผชิญอยู่ตอนนี้ มันไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อพวกเขาต้องทนอยู่กับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา มาตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด ผ่านการระบาดในครั้งแรกในปี 2563 มาจนถึงกลางปี 2564 การล็อกดาวน์ครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างความยากลำบากให้กับพวกเขาคนหาเช้ากินค่ำ มีทั้งคนที่เลือกสู้ต่อ กับอีกหลายคนที่ล้มหายไปจากระบบ

วิกฤตนับครั้งไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นในรอบ 2-3 ปีนี้ จะต้องมีอีกซักกี่คนที่พ่ายแพ้หมดตัว หรือจะต้องมีอีกกี่วิกฤตเข้ามาทดสอบพวกเขา เมื่อไม่อาจควบคุมโรคระบาดให้มันไม่เกิดขึ้นได้ 100% แต่เรามีรัฐที่จะทำงานเพื่อจัดการสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด การควบคุมที่มิใช่การรังแก หรือปล่อยให้เผชิญยถากรรมตามสภาพอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้