‘ซาดาโกะ’ นักล่าความโชคดีในสงคราม - Decode
Reading Time: 3 minutes

เมฆรูปเห็ดสูง 18 เมตรไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติแต่เกิดจากการปลดปล่อยพลังงานมหาศาลหลังการทำปฏิกิริยาของสสารเพียงเล็กน้อย โลกเรียกวัตถุชนิดที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ว่า ‘อาวุธนิวเคลียร์’

อาวุธนิวเคลียร์ถูกใช้ครั้งแรกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และ ‘ฮิโรชิมา’ เป็นเมืองแรกของโลกที่ถูกโจมตีในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 เป็นครั้งแรกที่มวลมนุษยชาติได้สัมผัสความร้ายกาจของสงครามและอนุภาพทำลายล้างของระเบิดปรมาณู

มีคนเสียชีวิต 140,000 คน ในเมืองที่พังทลาย ระเบิดปรมาณูในความทรงจำที่เล่าสู่กันฟังว่า ของจริงมีความดังดั่งสายฟ้าฟาด และฮิโรชิมาถูกเปลี่ยนเป็นทะเลทรายหลังจากกองทัพสหรัฐฯ ส่งรหัสทิ้งระเบิดว่า ลิตเติลบอย (Little Boy)

หลายคนเสียชีวิตทันที หลายคนเสียชีวิตในเวลาต่อมา และเสี้ยวหนึ่งในประวัติศาสตร์มีเรื่องราวของ ‘ซาดาโกะ’

‘ซาดาโกะ ซาซากิ’ วัย 11 ปี เด็กหญิงผู้รักการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจในวรรณกรรมเรื่อง ‘ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว’ ของ เอเลนอร์ คอร์ นักเขียนชาวแคนาดา – อเมริกัน แปลไทยโดย ศรรวริศา เมฆไพบูลย์ ที่หล่อหล่อมให้เรารู้จักเธอในฐานะเด็กหญิงนักฝัน นักล่าความโชคดี และเจ้าของความร่าเริง

เช้าวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ปี 1954

“ลุกขึ้นเร็ว พี่จอมขี้เกียจ วันนี้เป็นวันสันติภาพนะ” เด็กหญิงซาดาโกะเขย่า มาซาฮิโระ พี่ชายที่ยังคงหลับใหล เช่นเดียวกับ มิตสึเอะและเอจิ น้องสาว และ น้องชายของเธอ

ซาดาโกะตื่นเต้นเป็นพิเศษทุกครั้งที่วันนี้ของปีวนมาถึง อาจเป็นเพราะความตื่นเต้นของเด็กที่จะได้เห็นพลุสว่างไสวเต็มท้องฟ้า และความอร่อยของสายไหมเหมือนทุกปี วันที่ 6 สิงหาคม เวลา 8 นาฬิกาถึง 8.45 นาฬิกา ของทุกปี ในฮิโรชิมาจะจัดพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณู

‘นี่คือวันรำลึกผู้วายชนม์’ แม่ซาซากิกล่าว และเช่นกันในวันที่ 6 สิงหาคม ครอบครัวซาซากิรวมตัวกันรอบแท่นบูชาที่ตั้งกรอบรูปของ ‘คุณย่า’ หรือ ‘โอบาจัง ที่เสียชีวิต

‘สวดมนต์ขอให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษสงบสุข ขอบคุณที่มีร้านตัดผมและลูก ๆ ที่แสนดี และขอให้ครอบครัวปลอดภัยจากโรคระเบิดปรมาณู’ นี่คือคำอวยพร นี่คือความปรารถนาอันเรียบง่ายชองครอบครัวซาซากิ

จุดเริ่มต้นของความฝันก่อนพังทลาย

ถึงแม้ครอบครัวซาซากิจะสืบทอดวิชาจับกรรไกรไถผมส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่ความฝันของซาดาโกะคือการเติบโตเป็นนักวิ่งที่เก่งที่สุดในโรงรียน

‘เกิดเรื่องเด็ดที่สุดแล้วค่ะแม่ การวิ่งแข่งครั้งใหญ่ในงานกีฬาประจำปี ห้องไม้ไผ่เลือกให้หนูลงวิ่งในทีมวิ่งผลัด’ ซาดาโกะกระโดดเต้นไปรอบ ๆ ห้อง ‘ถ้าชนะหนูมั่นใจว่าหนูจะต้องได้เข้าร่วมทีมมัธยมต้นปีหน้าแน่ ๆ’ นับแต่นั้นในหัวของเธอคิดแค่การวิ่งผลัดอยู่เรื่องเดียว

ซาดาโกะฝึกซ้อมทุกวันจนกระทั่งวันแข่งที่เธอรู้สึกเป็นครั้งแรกว่า มีอาการแปลก ๆ บางอย่าง หัวใจที่เต้นตุบ ๆ เจ็บในซี่โครง และมีอาการวิงเวียน หูทั้งสองข้างก็เริ่มไม่ทำงาน ทั้ง ๆ ที่เสียงรอบข้างกำลังตะโกนถึงชัยชนะของเธอ

ซาดาโกะสะบัดหัวเพื่อไล่อาการ และแล้วใบไม้ผลิก็ผ่านไปถูกแทนที่ด้วยฤดูหนาวและเทศกาลปีใหม่ที่มาถึง เธอขอพรให้อาการวิงเวียนหายไป เธอยังคงปล่อยให้ความลับทำหน้าที่ของมัน ทุกคนยังคงรับรู้เพียงแค่ว่า ซาดาโกะแข็งแรงดี แถมเธอยังวิ่งได้ไวและไกลกว่าเดิม

จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ขณะที่วิ่งอยู่ในสนามของโรงเรียน ซาดาโกะล้มพับไปกับพื้น อาการเดิมเริ่มก่อตัวเช่นเดียวกับความรู้สึกกลัวที่เริ่มทำงาน ความหวังเดียวในตอนนั้นเธอขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้เป็นเพียงฝันร้าย และสุดท้ายแพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็น ลูคีเมีย

ลูคีเมีย คืออีกชื่อของ โรคระเบิดปรมาณู หรือที่เรารู้จักกันว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาว สาเหตุมาจากการได้รับรังสีขนาดสูง ‘จะเป็นได้ยังไงกัน’ เพราะในวันที่ฮิโรชิมาพังทลาย ซาดาโกะมีอายุเพียงแค่ 2 ขวบ และผิวหนังของเธอไม่เคยถูกระเบิดปรมาณูเลย รอดชีวิตจากระเบิดมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ใครจะรู้ 9 ปีผ่านมาสงครามยังคงอยู่

ความฝันที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในทีมวิ่งระดับมัธยมต้นได้ไกลออกไป สวนทางกับความกลัวที่เติบโตขึ้น และจากนั่งวิ่งที่แสนจะเก่งกาจ ความฝันและปรารถนาของเธอย่อขนาดลง

‘ขอแค่สุขภาพดี ขอแค่ได้กลับบ้าน’

เครื่องรางและตำนานนกกระเรียน

คืนแรกของการอยู่โรงพยาบาลผ่านไป แขกคนแรกของวันก็ปรากฎขึ้น ชิสุโกะ เพื่อนสนิทที่สุดและตลอดไป ชิสุโกะยิ้ม ‘ฉันหาวิธีทำให้เธอหายดีได้แล้ว’ ก่อนที่ชิสุโกะจะตัดกระดาษสีทองแผ่นใหญ่ แล้วพับเป็นรูปนกกระเรียน

“ว่ากันว่ามันอายุหนึ่งพันปีเลยนะ ถ้าคนไม่สบายพับนกกระเรียนกระดาษครบพันตัว เทพเจ้าจะบันดาลให้ความปรารถนานั้นเป็นจริง (…) นี่คือนกกระเรียนตัวแรกของเธอ”

ในญี่ปุ่น ‘นกกระเรียน’ คือ สัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ ความรัก โชคลาภ และเชื่อกันว่าสัตว์ชนิดนี้มีอายุยืนยาวกว่าพันปี ซาดาโกะรับนกกระดาษไป ก่อนจะตั้งใจอธิษฐาน และความหวังที่อยากจะหายของเธอก่อตัวขึ้นวันแรกด้วยการพับนกกระเรียนกระดาษได้แล้วสิบตัว

เหลือเพียงเก้าร้อยเก้าสิบตัวเท่านั้น!

ระหว่างบรรทัดเราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเด็กน้อยคนนี้จะต้องมีแรงอธิษฐานและความปรารถนาที่แรงกล้าขนาดไหน ถึงทำให้ทุกบรรทัดเห็นความหวัง ความฝันของเธอชัดถึงเพียงนี้ การมีชีวิตอยู่ทั้งที่รู้ว่าวันสุดท้ายถูกขีดไว้ใกล้แล้วคงไม่ง่าย และคงต้องใช้ทั้ง ความกล้า – ความเชื่อ – ความหวัง มหาศาล

มิตสึเอะกับเอจิชอบนกกระเรียนสีทองที่สุด เดาว่าน่าจะเป็นตัวแรกและตัวใหญ่ที่สุดในบรรดานกกระเรียนที่ซาดาโกะพับ ต่างจากแม่ของเธอที่เลือกตัวที่เล็กที่สุดด้วยเหตุผลที่ว่า ‘แม่เลือกตัวนี้จ้ะ เพราะของเล็ก ๆ ทำยากที่สุด’

ตัวที่สิบเอ็ด ขอให้…

ตัวที่สิบสอง ขอให้…

ซาดาโกะยังคงสานความหวังและเติมเต็มคำอธิษฐานของเธอด้วยการพับนกกระเรียนให้ครบหนึ่งพันตัว ทุกคนช่วยหากระดาษมาต่อคำอธิษฐาน  นกแต่ละตัวถูกพับจากกระดาษที่หลากหลาย มีตั้งแต่กระดาษห่อยาของพยาบาล กระดาษห่อช็อกโกแลตของเอจิ ไปจนถึงเศษกระดาษทุกแผ่นจากร้านตัดผมของพ่อ

สองสามเดือนให้หลังอาการของซาดาโกะดีขึ้น เธอไม่เคยหยุดหวังว่าตัวเธอจะหายเหมือนกัน หลังจากที่รู้ว่ามีผู้ป่วยที่หายจากโรคนี้ได้ เช่นเดียวกันกับฝีมือการพับนกกระเรียนที่สวยขึ้น

สี่ร้อยหกสิบสาม

สี่ร้อยหกสิบสี่…

ในวันที่ร่างกายเหนื่อยร่าง ในกระดูกร้อนรนเหมือนกำลังถูกเผา ศีรษะที่ปวดหนักจากต้องหยุดอ่านและเขียน เธอทำได้เพียงนั่งอยู่ข้างหน้าต่างอยู่หลายชั่วโมงโดยมีนกกระเรียนสีทองวางอยู่บนตัก

อาการของซาดาโกะมีทั้งดีขึ้นและแย่ลง บางครั้งก็แย่จนเธอเหนื่อยเกินกว่าที่จะพับไหว และเวลาก็ล่วงเลยมาถึงเดือนตุลาคม แต่ซาดาโกะกลับเข้าสู่ภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ชิสุโกะได้รับอนุญาตจากหมอเป็นพิเศษให้เข้ามาเจอเธอได้ ก่อนจะมาถึงการมาเยี่ยมของครอบครัวครั้งสุดท้าย และหกร้อยสี่สิบสี่ คือ นกตัวสุดท้ายของเธอ (วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1955)

คงเป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งกว่าถ้าวรรณกรรมบอกความจริงว่า ในชีวิตจริงซาดาโกะพับนกกระเรียนได้มากกว่าหนึ่งพันตัว พี่ชายผู้สัญญาว่าจะแขวนนกทุกตัวของเธอกับเพดานห้อง ยืนยันว่าซาดาโกะพับได้เกินเป้า (ข้อมูลจากหลายแหล่งบอกว่าเธอพับได้มากถึง 1,300 ตัว) จะเป็นไปได้ไหมว่าเพราะยังอยากให้มีพื้นที่แห่งความหวังหลงเหลืออยู่ วรรณกรรม base on true story จึงจบไว้แค่นกตัวที่หกร้อยสี่สิบสี่เท่านั้น

เรื่องราวของซาดาโกะถูกรวบรวมและตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ใช้ชื่อว่า โคเคชิ ตามตุ๊กตาไม้แห่งความโชคดีที่เพื่อน ๆ จากห้องเรียนไม้ไผ่มอบให้ ต่อมาในปี 1958 รูปปั้นซาดาโกะชูนกกระเรียนสีทองถูกสร้างขึ้นและตั้งอยู่ที่สวนสันติภาพฮิโรชิมา โดยมีความปรารถนาสลักอยู่ดังนี้

This is our cry, นี่คือเสียงร้องไห้ของเรา

This is our prayer, นี่คือคำอธิษฐานของเรา

Peace in the world. ขอจงมีความสงบสุขในโลก

ซาดาโกะจึงไม่ใช่แค่ภาพแทนของเด็กคนหนึ่งที่กำลังต่อสู้กับลูคีเมียด้วยความโลกสวย แต่ทว่ากลับสะท้อนให้เราว่า เธอคือตัวแทนของเด็กที่กำลังต่อสู้กับภัยสงครามด้วยความหวัง และการพับนกกระเรียนกระดาษไม่ใช่เพียงความเชื่อตามตำนาน แต่เป็นสาสน์ถึงโลกสันติภาพ โลกที่ความฝันและชีวิตของเด็กทุกคนจะไม่ถูกพรากด้วยสงคราม

หนังสือ:  ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว
ผู้เขียน:  Eleanor Coerr
ผู้แปล: ศรรวริศา เมฆไพบูลย์
สำนักพิมพ์: แพรวเยาวชน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี