ฝึกงานไม่ใช่การกุศล ถึงเวลายกบาร์ฝึกงานไทยไปอีกขั้น - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เขาให้ฝึกงานฟรีก็ดีแค่ไหน”

“เด็กฝึกงานทำอะไรไม่เป็นแล้วยังจะเรียกร้องมาก”

หลายคนคงรู้จักคำว่า ฝึกงาน กันเป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี นักเรียนอาชีวศึกษา หรือผู้ฝึกงานอิสระ ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการพัฒนาทักษะและความสามารถผ่านการทำงานในสนามจริง โดยหากหัวใจของการฝึกงานคือคำว่า ฝึก และสิ่งที่ได้มาคือ ประสบการณ์ ที่ผู้ฝึกไม่สามารถหาได้นอกสถานประกอบการ ดังนั้นการมีโอกาสได้ฝึกโดยปราศจากการคุ้มครองทางด้านกฎหมายนั่นเพียงพอแล้วสำหรับเหล่าผู้ฝึกงานจริงหรือ

De/code พูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังข้อเสนอ พ.ร.บ.เด็กฝึกงาน เราได้เชิญตัวแทนจากสมัชชาintern นั่นก็คือ สุดปรารถนา ชาตรี (กีต้าร์), นภเศรษฐ์ ผลจันทร์ (ปูนใส) และภูริภัทร  ณ สงขลา (ภูผา) พร้อมกับ เกศนคร พจนวรพงษ์ (ไนล์) ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล มาร่วมไขรหัสว่า แท้จริงแล้วมีเพียงนักศึกษาที่ได้รับผลประโยชน์เต็ม ๆ จากการฝึกงาน ในขณะที่สถานประกอบการและสถานศึกษาไม่ได้อะไรกลับมา หลังจากที่ได้หยิบยื่นโอกาสและประสบการณ์ที่มีค่าเหล่านั้นเลยจริง ๆ หรือไม่

ข้อเสนอยกระดับการฝึกงานเพื่อทุกคน

ไนล์: “การฝึกงานเป็นการเปิดโอกาสให้สถานประกอบการได้รู้จักกับแรงงานที่กำลังจะจบใหม่ ถ้าหากมองให้เหมือนเวลาเราเข้าบริษัทใหม่ ๆ ก็จะเหมือนกับช่วงโปร การฝึกงานจะทำให้นักศึกษาหรือเด็กอาชีวะ ได้ทำการเรียนรู้กระบวนการของบริษัทเหล่านั้นก่อนเรียนจบ บริษัทเองก็ได้โอกาสเลือกแรงงานที่เหมาะกับองค์กรของตัวเองด้วย

ในขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยเองก็ได้ประโยชน์เต็ม ๆ เพราะบุคลากรที่เขาผลิตออกไปสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันเลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมต้องมีข้อเสนอนี้ขึ้นมา เพราะมันไม่ใช่แค่ผู้ฝึกงานที่ได้ประโยชน์ แต่ทุกคนล้วนได้ประโยชน์เหมือนกัน แต่ทุกวันนี้กลับไม่มีโครงสร้างกฎหมาย หรือข้อเสนอที่จะมากำกับดูแลผลประโยชน์เหล่านี้”

ข้อเสนอการยกระดับการฝึกงานที่ถูกร่างขึ้นมาโดยความร่วมมือจากสมัชชาintern และพรรคก้าวไกลในครั้งนี้มีโมเดลมาจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฝึกงานอย่างประเทศเยอรมนีและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป โดยครอบคลุมผู้ฝึกงานทั้งในและนอกระบบการศึกษา ซึ่งมีหัวใจหลัก คือ เพื่อคุ้มครองแรงงาน พัฒนะทักษะแรงงาน เพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ฝึกงาน และลดอัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่ในประเทศ ที่ต้องมาพร้อมกับความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุดมศึกษา หรือกระทรวงการคลัง

โดยข้อเสนอการยกระดับการฝึกงานในประเทศไทยประกอบไปด้วย

  1. จัดทำพระราชบัญญัติการฝึกงาน เพื่อคุ้มครองผู้ฝึกงานทั้งนักศึกษาระดับ ปริญญาตรีและนักเรียนอาชีวศึกษา
  2. นายจ้างจะต้องทำประกันคุ้มครองให้แก่ผู้ฝึกงาน เพื่อรับรองความปลอดภัยและเพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตการฝึกงาน
  3. ผู้ฝึกงานสามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงาน เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านแรงงานสัมพันธ์และการรวมกลุ่มกันของผู้ฝึกงานในการต่อรองกับนายจ้าง
  4. ลงทะเบียนเป็นสถานประกอบการที่สามารถเปิดรับผู้ฝึกงานได้ เพื่อเป็นการตรวจสอบให้สถานประกอบการมีคุณภาพเพียงพอที่จะสามารถรับผู้ฝึกงานได้ และมีการตรวจสอบการฝึกงานให้เป็นไปตามมาตรฐานตลอดกระบวนการฝึกงาน จากทางสถานศึกษาที่เป็นผู้ประสานกับทางสถานประกอบการนั้น ๆ
  5. มีการจัดสอบเพื่อวัดผลของผู้ฝึกงานภายหลังเสร็จสิ้นการฝึก เพื่อรับรองว่าผู้ฝึกงานมีคุณภาพเพียงพอในการประกอบอาชีพ และเป็นการประเมินผลการฝึกงานของแต่ละสถานประกอบการอีกด้วย
  6. โครงการค่าจ้างผู้ฝึกงานคนละครึ่ง รัฐช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ ในการจ่ายค่าจ้างงานให้แก่ผู้ฝึกงาน ในกรณีที่สถานประกอบการเอื้อให้ผู้ฝึกงานสามารถเข้าทํางานเป็นลูกจ้างภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกงาน

ประสบการณ์ที่ดีไม่ควรขึ้นอยู่กับคำว่า “โชค”

ไนล์: “กำลังอยู่ปีสี่นิเทศจุฬา ปิดเทอมที่แล้วไปฝึกงานมาสองที่ ที่แรกคือพรรคก้าวไกล ที่ที่สองคือสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง ความโชคดีคือได้รับประสบการณ์ที่ดีทั้งคู่ การทำงานมีค่าตอบแทนให้ มีสภาพแวดล้อมเป็นมิตร และการฝึกงานก็มีประโยชน์แบบที่สามารถเอามาต่อยอดได้ งานของเราที่ทำไปสามารถนำไปใช้ได้จริง ส่วนตัวไม่มีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับสถานฝึกงาน เลยคิดว่าอยากผลักดันข้อเสนอนี้เพื่อที่จะให้คนอื่นไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าเขา ‘โชคดี’ ที่ได้ทำงานที่นี่ แต่มันควรเป็น “มาตรฐาน

ภูผา: “เรามีประสบการณ์การฝึกงานหนึ่งเดือนที่บริษัทเกี่ยวกับประชาสัมพันธ์ เราได้ทำโปรเจคที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับเด็กปี 1 เขาให้เราได้คุยงานกับลูกค้าจริง ๆ  แล้วสุดท้ายงานที่เราทำออกมามันก็ได้เอาไปใช้ ด้วยความที่เราเด็กมากจะมีความรู้สึกว่าเราต้องพิสูจน์ตัวเองให้เขาเห็น สิ่งที่อยากจะเสริมคือสภาพแวดล้อมขององค์กรก็ส่วนหนึ่ง แต่ตัวเด็กฝึกงานเองก็เป็นอีกส่วนสำคัญ ถ้าเราเข้าไปตรงนั้นแล้วไม่ถามงาน ไม่แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา ว่าฉันสามารถทำตรงนั้นได้นะ ทำตรงนี้ได้นะ เขาก็อาจจะไม่ได้มอบหมายงานให้เราขนาดนั้น ผู้ประกอบการหรือหัวหน้าก็ต้องมอบหมายงานให้เด็ก เด็กเองก็ต้องมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานตรงนั้นให้ดีที่สุด”

กีต้าร์: “เราได้รับข้อเสนอการฝึกงานที่ดีมากจากบริษัทหนึ่ง เขา provide ทุกอย่างในเรื่องของสวัสดิการตามข้อเสนอที่เขียนมาทั้งหมดเลย แล้วจ่ายเงินค่าฝึกงานในราคาที่ดีมาก เลยรู้สึกว่ามันไปตรงกับ ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ที่พอเราได้เติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานตรงนี้ มันก็สร้างแรงขับให้เรารู้สึกว่าอยากเพิ่มสกิลการทำงานของเราให้มีความพร้อมมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เองเป็นจุดที่เพิ่มความ productivity ในองค์กรด้วย“

แต่… เขาให้ทำก็บุญแค่ไหน

กีต้าร์: “ในบริบทสังคมไทย ผู้น้อยหรือว่าชนชั้นผู้น้อยในสังคม มักจะเป็นเครื่องมือสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของผู้ที่สั่งสมทุนและความมั่งคั่งในประเทศเรา บางบริษัทตีความคำว่า Corporate Social Responsibility (CSR) ไม่ใช่การรับผิดชอบต่อสังคม แต่เหมือนเป็นการทำการกุศลให้กับคนในสังคม และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ว่าบริษัทเราเป็นบริษัทคนดีแทน ทำให้ sense ของการเข้ามาทดลองงานร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อให้เราได้แรงงานที่มีคุณภาพ แต่กลายเป็น sense ในการทำบุญมากกว่า”

นอกจากนี้ภูผายังเสริมต่ออีกว่า การฝึกงานไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องของบุญคุณหรือการกุศล เพราะทุก ๆ องค์กรแม้กระทั่ง NGO ก็ยังต้องการผลตอบแทนอยู่ดี ขึ้นอยู่ที่ว่าผลตอบแทนที่ต้องการคืออะไร จะเป็นเงิน หรือชื่อเสียง หรือ brand loyalty ดังนั้นการบอกว่า ‘เขาให้โอกาสมาฝึกงานมันก็ดีแค่ไหนแล้ว’ ถ้าอย่างนั้นเรายกเลิกระบบฝึกงานไปเลย แต่คำถามคือ HR ยอมหรือเปล่าตอนที่เด็กจะมาเข้าสมัครงาน ในเมื่อคุณต้องการเด็กจบใหม่แต่มีประสบการณ์

“ถ้าถามว่าเข้าใจไหม เข้าใจ มันเป็นเรื่องของช่วงวัยที่แตกต่าง อาจจะมีหลายคนคิดว่าก็ยุคฉันน่ะ ฉันก็ไม่ได้ค่าจ้างนี่ แล้วทำไมเด็กยุคนี้จะต้องได้ค่าจ้างด้วย แต่การที่คุณไม่เดือดร้อนหรือไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่ต้องใส่ใจสิ่งนั้นเลย” – ภูผา

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทุกคนเห็นตรงกันว่า มีความเป็นไปได้ว่าทำไมคนส่วนมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือสถานประกอบการ) ถึงมีแนวคิดว่า แค่ให้ฝึกก็บุญแค่ไหนแล้ว อาจเป็นผลมาจากการที่เขาไม่เคยเห็นตัวอย่างการรับเด็กฝึกงานที่ดีและมีมาตรฐาน ทำให้เขานึกภาพไม่ออกว่าการฝึกงานมันสามารถเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายได้มากแค่ไหน

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการไม่จัดโปรแกรมการฝึกงานที่ดี จนทำให้เกิด Ugly Cycle ที่ทำให้เด็กฝึกงานหลายคนต้องไปลงเอยที่เครื่องถ่ายเอกสารหรือเครื่องชงกาแฟ แทนการฝึกประสบการณ์ในสายงานที่เรียน จนเกิดข้อครหาว่า เด็กฝึกงานไม่เห็นจะทำอะไร ทำไมถึงต้องเรียกร้องมากมาย โดยลืมมองไปว่าถ้าคุณไม่จัดการฝึกงานที่ดีให้เขาแล้วคุณจะได้ผลตอบแทนจากตัวเขาได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ De/code จึงได้ทำการสัมภาษณ์  บอล (นามสมมุติ) อดีต HR ท่านหนึ่ง เพื่อมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวจากมุมมองของฝั่งผู้ประกอบการ

“เอาจริง ๆ นะ อย่าว่าแต่เด็กฝึกงานเลย เด็กจบใหม่ยังไม่อยากจะรับเลย เพราะในมุมมองของเด็ก บริษัทแรกที่ทำงานคือบริษัททดลองให้ได้งานก่อน แล้วค่อยกระโดดออกไปอยู่ที่ใหม่เพื่อให้ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น บริษัทเขารู้ทัน แล้วยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ วิกฤตเศรษฐกิจโควิด คนเก่ง ๆ ตกงานเยอะ ฉะนั้นเด็กจบใหม่ยิ่งหางานยากกว่าเดิม” บอลกล่าว

บอลอธิบายอีกว่า มีอยู่ 2 สิ่งที่บริษัทกลัวเมื่อเป็นเรื่องของการรับคน

1. ผู้ใหญ่วางนโยบายมาดี แต่คนด้านล่างเหนื่อยจนไม่อยากสอนงาน เพราะการถ่ายทอดงานเป็นงานที่หนัก ดังนั้นหากเจอเด็กไม่ตั้งใจ หรือขาดประสบการณ์ก็จะยิ่งเหนื่อย

2. กลัวการอยู่บริษัทได้ไม่นาน เด็กฝึกงานหรือเด็กจบใหม่กว่าจะสามารถทำงานได้จริง ๆ คือประมาณ หนึ่งปี การฝึกหรือทำงานเพียงหนึ่งถึงสามเดือนไม่สามารถสร้างประโยชน์กับบริษัทได้

“สุดท้ายมันไม่เกี่ยวกับที่เด็กฝึกงาน หรือพี่สอนฝึกงานเลยนะ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล บางทีเด็กฝึกงานเก่งกว่า Outsource ที่เขาจ้าง ในขณะที่เด็กหลาย ๆ คนรอป้อนก็มี แล้วพี่หลายก็ยังเอาตัวเองแทบไม่รอดหรือว่าเอาตัวรอดแล้วแต่ไม่เก่งการสอนคน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่หนักแต่คนข้างบนไม่รู้ สำหรับผมคิดว่ามันคือภาระและการช่วยสังคม มันไม่ใช่เรื่องที่พอจะออกเป็นเชิงกฎหมายแล้วจะง่ายดายขนาดนั้น”

บอลกล่าวอีกว่า ภาระการสอนงานให้กับเด็กฝึกงานที่ฝึกงานเพียงสามเดือนแล้วออกเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า นักศึกษาฝึกงานไม่ได้สิ่งที่ควรจะได้ ทางคนรับก็ไม่ได้สิ่งที่ควรจะรับ หนึ่งสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสนใจจึงเป็นการปลดล็อกกระทรวงศึกษาธิการ (อุดมศึกษา) และปฏิรูปหลักสูตรให้มีการปฏิบัติมากขึ้น 

“ถ้าสุดท้ายมหา’ลัยสร้างเด็กที่เจ๋งพอ ทางผู้ประกอบการสามารถเลือกเด็กได้ด้วย และนักศึกษาสามารถอยู่กับเขาได้เป็นปี “โดยความเชื่อของผม ทฤษฎีของมหาลัยเป็นอะไรที่ล้าสมัยแล้ว ผมอยากให้หลักสูตรกลายเป็นทฤษฎีสัก 40% อีก 60% เป็นปฏิบัติ แล้วการปฏิบัติไม่ใช่การฝึกงาน แต่ต้องเป็นการ ทำงานจริง ได้เงินเดือนแล้วก็มีการไล่ออกหรือคัดออกไปเลย ถ้าสุดท้ายมหา’ลัยสร้างเด็กที่เจ๋งพอ ทางผู้ประกอบการสามารถเลือกเด็กได้ด้วย และนักศึกษาสามารถอยู่กับเขาได้เป็นปี ๆ เสมือนเป็นพนักงานจริง ๆ แบบนี้อาจจะตอบโจทย์ทุกฝ่าย เด็กได้เรียนรู้ทักษะอย่างจริงจัง ทางธุรกิจก็อยากจะอ้าแขนรับเพราะไม่ถูกบังคับ โดยไม่จำเป็นต้องร่างข้อเสนอฝึกงานด้วยซ้ำ ส่วนตัวคิดว่ามันดีที่จะสร้างกรอบให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่เท่าที่ดูมาเหมือนเป็นกฎหมายแรงงานทั้ง ๆ ที่คนที่เข้ามาไม่ใช่แรงงาน ซึ่งตรงนี้มันเป็นปัญหา” และนี่คือความคิดเห็นของบอลร่างพ.ร.บ.ฝึกงาน

ผลกรรมตกอยู่ที่ตัวผู้ฝึกงาน

ไนล์: “ถ้าพ.ร.บ.นี้ผ่าน แน่นอนว่าสถานฝึกงานจะรับเด็กน้อยลง เพราะเราจะคัดสถานประกอบการที่ไม่มีคุณภาพออกไป ความยากลำบากก็อาจจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น เราไม่สามารถไฟเขียวให้ข้อเรียกร้องนี้ผ่านและพรุ่งนี้ประกาศใช้ได้เลย ผลกระทบมาแน่ ทั้งผู้ฝึกงานทั้งสถานประกอบการต้องปรับตัว”

กีต้าร์: “เราต้องมากางเรื่องอุปสงค์-อุปทานในตลาดแรงงานโดยคำนึงถึงตัวแปรที่สำคัญนั่นก็คือ สถานศึกษา หากสถาบันการศึกษาบังคับในหลักสูตรว่าต้องฝึกงานเท่านั้นจึงจะจบการศึกษาได้ มันจึงทำให้อุปสงค์ที่จะหาที่ฝึกงานในตลาดสูงกว่าอุปทานหรือความสามารถในการรองรับของสถานประกอบการ เราต้องยอมรับว่าประเทศเราเศรษฐกิจไม่ได้โตเหมือนประเทศที่มีนโยบายทางการเงินที่ดี หรือระบบเศรษฐกิจที่เป็นเสรีนิยมสักเท่าไร (ขำ) การสร้างงานหรืองานที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจมันก็อาจจะไม่มากพอเท่ากับตัวอุปสงค์ ทั้งที่เป็นเด็กจบใหม่และผู้ฝึกงานเอง

“ความจริงที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้คือบริษัทหลายแห่ง lay out คนออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเลือกที่จะเปิดโปรแกรมฝึกงานขึ้นมาเพื่อรับแรงงานฟรีเข้ามาทำงาน ในมุมหนึ่งเราอาจจะมองว่ามันก็ดีเหมือนกันเนอะที่เขาเปิด internship ให้เรามีโอกาสเข้าไปฝึก แต่ในทางกลับกันมันก็เกิดคำถามว่าเฮ้ย นี่มันสร้างระบบแรงงานเถื่อนหรือเปล่า’

นอกจากนี้ สมัชชาintern ยังขอชวนทุกคนมองไปที่ประเทศตะวันตกที่มีความเจริญในด้านเศรษฐกิจ ที่กำลังประสบกับปัญหา Great Resignation หรือ การลาออกจากงานครั้งยิ่งใหญ่ หลังช่วง post-covid ซึ่งสะท้อนค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อใน Work-Life Balance และ Work-Life Integration

ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่กำลังมองหาสมดุลในชีวิตที่มาพร้อมกับแนวคิดที่ว่า พวกเขาไม่ได้เกิดมา เพื่อเป็นแรงงานทำงานหนักเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้เองจึงถือได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะหากไทยมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ในวันนั้นเราคงมีเวลาไปสำรวจกันว่า การรวมกลุ่มของแรงงานที่สามารถสร้างข้อต่อรองกับกลุ่มผู้ประกอบการให้ได้มาซึ่งความยั่งยืนให้กับโลกจริง ๆ จะเป็นอย่างไร

คืนความเป็นธรรมแก่ผู้ฝึกงานผู้เป็นแรงงานไม่ต่างจากใคร

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนแรงงานที่เป็นมนุษย์ ดังนั้นมันจะเป็นอย่างไรหากเราให้ความสำคัญกับแรงงานที่เป็นต้นน้ำ เพราะหากผู้ประกอบการต้องการที่จะมีผลประกอบการที่ดี การมองข้ามกระบวนการสร้างแรงงานที่มีคุณภาพที่จะทำให้ภาพฝันเหล่านั้นเป็นจริงได้อย่างไร ในเมื่อข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้ออกมาเพื่อเด็กฝึกงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นภาพรวมที่ใหญ่ไปจนถึงแรงงานทั่วประเทศ และจะมีผลเป็นวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ถึงเวลาที่เราจะต้องหันหน้าคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกแบบอนาคตของแรงงานในประเทศไทยให้เติบโตไปข้างหน้าด้วยความเป็นธรรม