เสียสละทั้งชีวิตแลกน้ำให้คนลุ่มเจ้าพระยา เสียงที่หายไปจากโครงการ(เขื่อน)ผันน้ำยวม - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ผันน้ำยวม” หรือชื่อเต็มว่า “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” คือโครงการที่จะสูบน้ำในแม่น้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปเติมเข้าเขื่อนภูมิพลให้คนภาคกลางมีน้ำใช้ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าน้ำในเขื่อนภูมิพลขาดแคลน 

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ข้อกังขาหลายอย่างอาทิเช่น ความไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ได้เขียนบทความวิเคราะห์เอาไว้ว่า โครงการผันน้ำยวมงบประมาณ 71,000 ล้านบาท สามารถผันน้ำมาลงที่เขื่อนภูมิผลได้ประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี

โดยน้ำแต่ละลูกบาศก์เมตรที่ผันมา จะมีต้นทุนค่าก่อสร้างเท่ากับ 4.21 บาท/ลูกบาศก์เมตร . ต้นทุนค่าสูบน้ำปีละ 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.66 บาท/ลูกบาศก์เมตร และต้นทุนในการปฏิบัติงานและบำรุงรักษา 0.17 บาท/ลูกบาศก์เมตร  

ในขณะที่ผลประโยชน์จากการนำน้ำดังกล่าวมาใช้ทำนาปรัง มูลค่าผลประโยชน์เท่ากับ 2.11 บาท/ ลูกบาศก์เมตร . รวมกับผลประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิผล 1,150 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 0.66 บาท/ ลูกบาศก์เมตร

ดังนั้นโครงการจะมีต้นทุนน้ำอยู่ที่ 6.04 บาท/ลูกบาศก์เมตร ในขณะน้ำที่ผันมาจะสร้างมูลค่าได้ 2.77 บาท/ลูกบาศก์เมตร

ที่สำคัญไปกว่าความคุ้มค่าทางการเงิน คือโครงการนี้กำลังแลกด้วยชีวิตของคนในพื้นที่ ตั้งแต่ปากทางออกอุโมงค์ส่งน้ำ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่เสี่ยงถูกน้ำท่วม กลางอุโมงค์ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ดินทำกินจะกลายเป็นจุดทิ้งดิน และพื้นที่ต้นน้ำ แม่น้ำยวม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่กำลังจะกลายเป็นเขื่อน 

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ EIA (การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ของโครงการนี้ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งในวันดังกล่าวมีการพิจารณา EIA ถึง 5 โครงการ ตามแผน PDP 2018 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชน

ข้อมูล EIA โครงการผันน้ำยวม มีการสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านจำนวน 27 ราย ในแต่ละพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ระบุว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการจำนวน 22 คน ไม่เห็นด้วยเพียง 4 คน

แต่เมื่อ De/code เดินทางลงพื้นที่ ตั้งแต่บริเวณทางออกอุโมงค์ส่งน้ำ ลัดเลาะตามเส้นทางโครงการผันน้ำยวม เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ จนถึงบริเวณแม่น้ำยวมที่จะมีการสร้างเขื่อน ทุกคนต่างบอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาพูดคุย หรือรับฟังปัญหาของพวกเขาอย่างแท้จริง สิ่งที่หายไปจาก EIA ฉบับนี้คงเป็นความจริงจากปากชาวบ้าน แต่เมื่อไม่อยู่ใน EIA ไม่ได้หมายความว่าเสียงเหล่านี้จะไม่มีอยู่จริง 

ความเชื่อใจถูกทำลายจนไม่เหลือชิ้นดี

การเดินทางลงพื้นที่เริ่มต้นจุดแรกที่บ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อไปถึงพบว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งนั่งรอท่าอยู่บนศาลา บริเวณเนินเขาจุดที่จะกลายเป็นปากอุโมงค์ส่งน้ำต่อให้เขื่อนภูมิพล ทุกคนมีสีหน้าเคร่งเครียด ดูไม่ไว้วางใจคนภายนอกที่เดินทางเข้ามา 

“ไว้ใจใครไม่ได้เลย ถ้าเขาจริงใจกว่านี้ ชาวบ้านคงไม่กลัวขนาดนี้ เราตอบอย่างเขาเอาไปลงอีกอย่าง ความรู้สึกมันเสียไปหมดแล้ว เหมือนพวกเขาเข้ามาขโมยความรู้สึกและความเชื่อใจของเราออกไป”

เสียงจากแนน สุปราณี สีนวน อายุ 34 ปี ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่ง สัญชาติไทย หนึ่งในชาวบ้านแม่งูดจาก 100 กว่าหลังคาเรือน จำนวน 600 กว่าคน ที่กังวลต่อโครงการผันน้ำยวม ที่ดินผืนนี้มีความหมายต่อเธอ เพราะเป็นที่ดินตั้งแต่รุ่นปู่ย่า และแนนใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้มาตั้งแต่เกิด โดยเฉพาะพ่อของเธอในวัย 65 ปี โครงการผันน้ำยวมกำลังทำร้ายสภาพจิตใจชายชรา เพราะกลัวต้องเสียที่ดินทำกินไป

“พ่อเคยไปร่วมลงชื่อใน EIA เหมือนโดนเขาหลอก จนสิ่งนี้ทำให้พ่อมีภาวะซึมเศร้าต้องพาพ่อไปหาหมอที่ รพ.สวนปรุง ถ้าไม่ได้กินยาพ่อจะนอนไม่หลับ กินข้าวไม่อร่อย กลายเป็นคนซึมเศร้า คิดมาก ตั้งแต่มีโครงการเข้ามา”

รพ.สวนปรุง คือรพ.จิตเวช ที่แนนต้องพาพ่อของเธอไปรับยาแก้อาการวิตกกังวลทุก ๆ 3 เดือน โดยทีแรกชาวบ้านเข้าใจว่าโครงการนี้ จะเข้ามาเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ช่วยให้หมู่บ้านมีรายได้จากการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ในความจริง ชาวบ้านแม่งูดแทบไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากโครงการดังกล่าว 

“ไม่ต้องการแล้วโครงการแบบนั้น จะอยู่ของเราอย่างนี้ไม่เบียดเบียนใคร แต่กลัวว่าคนภาคกลางเขาคิดว่า ‘อ่อ กะเหรี่ยงพวกนี้ใจแคบ ใจดำรึเปล่า’ เขาจะหาว่ากะเหรี่ยงไม่มีความรู้ ไม่พัฒนาชาติ อยากให้เขาเห็นใจเราว่าอยู่ตรงนี้เราเดือดร้อน”

สิ่งที่แนนและชาวบ้านแม่งูดเป็นกังวลตอนนี้ สิ่งแรกคือการที่สื่อหรือหน่วยงานจากภายนอก เข้าไปในพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้าน แต่นำเสนอข้อมูลบิดเบือน และใช้ผลประโยชน์จากโครงการที่ยังไม่มีใครการันตีได้ว่าจะเกิดขึ้นจริง มาให้ความหวังชาวบ้าน

“เริ่มแรกดีใจ เขาบอกว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามา ชาวบ้านจะมีรายได้จากการนำของมาขาย เราอยากให้หมู่บ้านกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะเด็กรุ่นใหม่ลูกหลานที่เรียนจบมา จะได้ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเมือง กลับมาพัฒนาบ้านเกิด แต่พอรู้ว่ามันคืออุโมงค์ปล่อยน้ำและพื้นที่กองดิน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่กระทบที่ดินทำมาหากิน”

ความกังวลต่อมาคือการกลัวเสียที่ดินทำกิน แนนกล่าวว่าอย่างเธอมีสวนลำไย ที่ต้องใช้เวลานับ 10 ปี กว่าจะปลูกได้ขนาดนี้ ถ้าที่ดินทำกินหายไปกับโครงการนี้ แล้วเธอจะเอาอะไรกิน

“อยากให้รัฐบาลฟังเสียงเล็ก ๆ ของเรา ฟังสักหน่อยก็ยังดีไม่ใช่คิดกันไปเอง ไม่เคยสนใจประชาชนว่าจะเดือดร้อนไหม เขาไม่ได้มารับรู้เพราะเขาไม่ได้อยู่จุดเดียวกับเรา ถ้าผู้มีอำนาจที่ทำโครงการเข้ามาดูได้คงดี แต่ไม่มีหวังหรอกค่ะ เสียงเราเล็กขนาดนี้”

แนนกล่าวในตอนท้ายว่าสิ่งที่ต้องการจากรัฐ คือไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาทำโครงการอะไรในหมู่บ้านของเธอ 

“อยู่แค่นี้มีความสุขแล้ว สิ่งที่ต้องการตอนนี้แค่ต้องการรักษาที่ดิน”

เราต้องอยู่ในรัฐแบบไหนกัน เมื่อสิ่งที่ประชาชนร้องขอคือการที่ไม่อยากให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยว พัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา เราอยู่ในรัฐแบบไหนกันที่การพัฒนาของรัฐ ตั้งอยู่บนการพัฒนาพื้นที่หนึ่ง เพื่อทำลายวิถีชีวิตของคนอีกหนึ่งพื้นที่ ชาวบ้านแม่งูดยังคงรอคอยความหวัง ว่าที่ดินทำกินของพวกเขาจะยังอยู่คงเดิม

ผีปานใต้ ดินแดนตาบอดที่รัฐ(แกล้ง)มองไม่เห็น

จากบ้านแม่งูดเราเดินทางต่อมาถึงตัวอำเภออมก๋อย จุดหมายปลายทางต่อไปอยู่ที่ “บ้านผีปานใต้” ซึ่งใช้เวลาเดินทางด้วยรถโฟวิลจากตัวอำเภออมก๋อย 4 ชั่วโมง หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวม จากการกลายเป็นอุโมงค์เข้า-ออกใต้ดินและเป็นพื้นที่กองดิน 

หมู่บ้านผีปานใต้ มีกันอยู่ประมาณ 45 หลังคาเรือน 200 กว่าคน เสียงที่แทบไม่เคยไปถึงประชาชนของภาครัฐ ดูยิ่งแผ่วเบาจนไร้เสียงเมื่อเราไปถึงหมู่บ้าน และพบว่าชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับโครงการ ไม่รู้แม้กระทั่งว่ามีชื่อหมู่บ้านตัวเองปรากฏอยู่ใน EIA

“เขาคงคิดว่าคนกะเหรี่ยงไม่รู้เรื่อง จะทำอะไรกับเราก็ได้ ไม่ใช่แค่โครงการนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่เขามองข้ามพวกเรา”

เสียงจาก จีน จินดารัตน์ รำไพพนม อายุ 20 ปี ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโป สัญชาติไทย เธอคือตัวแทนหมู่บ้านผีปานใต้ ในฐานะที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยม 6 และพอจะสื่อสารภาษาไทยได้ 

จีนบอกเราว่าเพิ่งทราบข่าวเรื่องโครงการผันน้ำยวมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจาก พิบูลย์ ธุวมณทล เครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอมก๋อย โดยเราลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเธอในวันที่ 30 พ.ย. 2564  ทั้งที่โครงการนี้กรมชลประทานได้เริ่มจัดทำ EIA ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 – 2561

“ที่ผ่านมาทั้งการทำ EIA หรืออุโมงค์ ชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้ข้อมูล ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาถาม หรือเล่ารายละเอียดให้ฟัง”

ถึงตอนนี้สิ่งที่จีนรู้มีเพียงแค่ว่าหมู่บ้านของเธอ จะเป็นจุดทิ้งกองดินจากการขุดอุโมงค์ และจะมีการสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ป่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง สิ่งเหล่านี้กำลังกระทบกับการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านในหมู่บ้าน

มันจะมากระทบกับไร่หมุนเวียน ชีวิตเราอยู่กับไร่หมุนเวียนมาตลอด ไร่หมุนเวียนคือที่ทำมาหากินคนของบนดอย เราอยู่ตรงนี้กันมาเป็นหลักร้อยปี ป่ายังอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม แต่ถ้ามีถนนกับกองดิน เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำลายป่า”

อุปสรรคสำคัญที่คนในหมู่บ้านผีปานใต้ รวมทั้งในอำเภออมก๋อยต้องเผชิญ คือการรับรู้และส่งข้อมูลเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงบางพื้นที่ เส้นทางสัญจรที่เข้าถึงยาก ทำให้จีนเกิดความท้อแท้ในการต่อสู้ เพราะคิดว่าเสียงของเธอเบาเกินไป

“หนูเคยคิดว่า อยู่บนดอยมีความสุขไม่เคยมีเรื่องให้วุ่นวาย แต่พอมีโครงการนี้ ก็เริ่มกังวลว่าเขาจะยึดที่ดิน เขาจะฟังเสียงเราบ้างไหม เก็บเอาไปคิดทุกวัน และสุดท้ายก็เริ่มทำใจยอมรับว่า คงจะสู้เขาไม่ได้

“ความหวังตอนนี้ 50 / 50 เพราะเท่าที่หนูส่งเสียงออกไปได้แค่นี้ เขาคงไม่ฟัง แต่ถ้าเขาได้ยินก็อยากให้เขาคืนความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน”

จีนมองว่าโครงการนี้ไม่ยุติธรรม ที่ผ่านมาโครงการของรัฐก็ไม่เคยตกมาถึงหมู่บ้านเธอ ถนนเข้าหมู่บ้านก็ไม่มี ไฟฟ้าก็ไม่ได้ เธอเป็นคนดอยเป็นกะเหรี่ยงแต่มีสัญชาติไทย เป็นประชาชนที่ถูกต้องตามกฎหมายคนหนึ่ง ที่ควรได้รับสวัสดิการพัฒนาคุณภาพชีวิต มิใช่สวัสดิการทำลายวิถีชีวิตเธอ

“อยากให้เขารู้ว่า เรายังมีตัวตนอยู่ในพื้นที่ เราอยู่มาตั้งนานแล้วตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย เป็นร้อยปี  ถ้าพวกพี่จะทำโครงการ อยากให้ขึ้นมาอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็จะสร้างขึ้นมา”

อีกทั้งโครงการนี้ยังไม่สามารถตอบความสงสัยของจีนได้ว่า จะเจาะอุโมงค์เพื่อเอาน้ำไปส่งให้คนภาคกลางทำไม ในเมื่อมีข่าวน้ำท่วมอยู่ตลอด 

“เขาควรจัดการระบบน้ำให้ดีกว่านี้ มันจะไม่ดีกว่าหรือคะ”

คือเสียงจากหญิงสาวชาวดอยวัย 20 ปี ที่ตั้งคำถามถึงผู้จัดทำโครงการ

“ถ้า EIA ของพวกพี่มันไม่ถูกต้องขอให้ยกเลิก”

อีกทางหนึ่งจีนอยากให้ทุกคนช่วยเธอส่งเสียง เพราะเธออยู่ในจุดที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเป็นไปของโครงการ 

“จะคัดค้านไปเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายถ้าสู้เขาไม่ได้ คงยอมรับว่าทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ ไม่ได้ยอมแพ้แค่ยอมรับว่าสู้เขาไม่ได้  มันคงใจหายนึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้าวันหนึ่งเขาเข้ามาทำบ้านของเราจะเป็นอย่างไร” 

ถ้าบริหารจัดการน้ำไม่เป็น ผันมาทั้งสาละวินก็ไม่พอ

การเดินทางลงพื้นที่ตามรอยเส้นทางการผันน้ำ จากปากอุโมงค์ส่งน้ำที่บ้านแม่งูด ผ่านกลางอุโมงค์ที่บ้านผีปานใต้ จนกระทั่งวันสุดท้ายเราเดินทางมาถึงบ้านแม่เงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการใช้รถยนต์เป็นพาหนะหลัก จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้เรือในการล่องไปตามแม่น้ำยวม ที่สองชายฝั่งเป็นป่าอุดมสมบูรณ์เพราะคนทั่วไปแทบเข้าไม่ถึง

“ป่าผืนนี้จะหมดไป อย่างน้อยก็เกือบครึ่งหนึ่งที่น้ำจะท่วมขึ้นมาถ้ามีเขื่อน”

คือถ้อยคำจากผู้มีรายชื่อลำดับที่ 13 ของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการตาม EIA ประโยชน์ เขื่อนแก้ว เขาเป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบ และเป็นผู้ขับเรือพาลงพื้นที่ บริเวณที่จะกลายเป็นเขื่อนน้ำยวม

“พวกเขาไม่เคยรู้ว่านิดหน่อยของเขา มันคือทั้งชีวิตของผม”

ประโยชน์เริ่มเล่าเรื่องราว เขาเคยเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำยวม ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ แต่ในวันนี้เขากลับพบว่าโครงการนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง

“เขาเข้ามาคุย รู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดไม่แน่นอน พูดแค่ว่าจะมาทำอย่างนั้นอย่างนี้ และจะจ่ายค่าชดเชยให้”

ประโยชน์เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ บริเวณบ้านของเขาจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำก่อนสูบเข้าไปในอุโมงค์ นอกจากนี้ประโยชน์กล่าวว่าคนที่จะได้ประโยชน์ในพื้นที่เขื่อน ตามที่ภาครัฐบอกว่าจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว คงมีแต่คนมีเงินจากภายนอกเท่านั้น ที่จะเข้ามาลงทุนทำทัวร์ หรือการท่องเที่ยวต่าง ๆ แต่สำหรับชาวบ้านนั้น…

“เรามีแต่เสีย เสียทั้งน้ำเสียทั้งป่า ใช่คนที่เดือดร้อนมีไม่มาก แต่ทรัพยากรธรรมชาติป่ากว่าจะอุดมสมบูรณ์เท่านี้ต้องใช้เวลากี่ปี และจะทำเขื่อนให้น้ำมันท่วมป่าทำไม” 

ประโยชน์เป็นคนหนึ่งที่ผูกพันเติบโตมากับแม่น้ำยวม เขากล่าวว่าอยู่ที่นี่ เข้าป่าก็มีผักกิน ลงน้ำก็จับปลาได้ แต่ถ้ามีเขื่อนผักหลาย ๆ ชนิดที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำจะหมดไป และเมื่อมีการกั้นเขื่อนปลาท้องถิ่นเช่น ปลาแคร่ ที่อาศัยอยู่น้ำเชี่ยวจะหายไป เพราะน้ำจะนิ่งจากการมีเขื่อน

“ผมเกิดที่นี่อยู่ที่นี่ ตายก็ให้มันตายตรงนี้ คนป่าอย่างผมอยู่อย่างนี้พอใจ จะให้ไปอยู่ที่อื่นผมอยู่ไม่ได้”

และเหมือนกับอีกหลายคน ประโยชน์คือคนที่ได้เข้าร่วมเวทีเพื่อรับฟังความเห็นของชาวบ้านตามข้อมูลจาก EIA ฉบับดังกล่าว และนี่คือผลตอบรับจากเสียงผู้เข้าร่วม

“ตอนที่เขามาทำ EIA เราได้ไปนั่งฟัง แต่สิ่งที่เขานำเสนอออกไป ไม่เคยถามเขาก็บอกเคยถาม ไม่เคยพูดก็บอกเคยพูด”

เมื่อเช่นนี้เสียงจากชาวบ้านตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง จึงอยากวิงวอนให้ผู้จัดทำ EIA เอาความจริงมาเปิดเผยคุยกัน อย่าประเมินเสียงและความรู้ชาวบ้านต่ำเกินไป

“ผมมองว่าคนที่บริหารจัดการทำไม่เป็นรึเปล่า ฝั่งเจ้าพระยาบางปีน้ำท่วม แล้วจะดูดน้ำไปทำไมอีก การผันน้ำไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แล้วการที่คุณเอาน้ำของเราไป น้ำที่ได้มันจะเพียงพอจริงไหม ถ้ายังไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ไม่ต้องแม่น้ำยวมหรอก ต่อให้สูบทั้งแม่น้ำสาละวินก็ไม่พอ

ท้ายที่สุดโครงการผันน้ำยวมของกรมชลประทาน ไม่ควรละเลยต่อเสียงชาวบ้านในพื้นที่ และควรให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจัดทำโครงการอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันคนนอกพื้นที่ประชาชนทุกคน ก็ควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการนี้ เงิน 70,000 ล้านบาทจากภาษีประชาชน เพื่อแลกกับปริมาณน้ำ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือเพียง 9.6 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการน้ำทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ป่าสงวนที่จะหายไป 2,075 ไร่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบนิเวศของทั้งสองลุ่มน้ำนั้นคุ้มค่าหรือไม่

ที่สำคัญคือการขอให้ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเสียสละวิถีชีวิต ที่ดินทำกิน เพื่อแลกกับการผันน้ำให้คนภาคกลาง เหมือนเป็นการลงทุนที่กรีดเลือดของอีกคน เพื่อไปดับกระหายให้คนอีกคน…แล้วใครกันที่กำลังกระหาย?

อ้างอิงข้อมูลจาก:
‘คุ้มค่า’ หรือ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ 71,000 ล้านผันน้ำยวม ไทยอยากได้ จีนอยากช่วย คนที่ซวยไม่มีทางหนี
๑๑ เรื่องต้องรู้ก่อนสร้าง “เขื่อนน้ำยวม” และผันน้ำเข้าเขื่อนภูมิพล
ผันน้ำยวม 70,000 ล้านบาท : เปิดปม
ขอคัดค้านโครงการ “เขื่อนน้ำยวม”
ผ่าน EIA ผันน้ำยวม เผย ‘เข้าครม.ปีหน้า-ไม่เก็บค่าน้ำชาวนา-อาจไม่พึ่งทุนจีน’