กลับไปอ่านงานคลาสสิค “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475” - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

“เราต้องทำความเข้าใจว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการปกครองในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาแต่โบราณ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพูดถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราหมายถึงระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทำหน้าที่ทั้งสองอย่าง อย่างแรกคือ พระองค์ทรงเป็นประมุขของรัฐ อย่างที่สองคือ ทรงเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร คือเป็นนายกรัฐมนตรี สองอย่างนี้ไม่เคยมีอยู่ในระบบการเมืองโบราณ,” นครินทร์ เมฆไตรรัตน์[1]

“พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรทรงกล่าวอย่างถูกต้องที่สุดว่าพระมหากษัตริย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทรงเป็นที่รักของปวงชน เพราะว่าพระองค์ไม่ได้ทรงทำงานบริหารอีกแล้ว เป็นพระราชาที่อยู่ในใจของปวงชน ทรงเป็นพระราชาที่ไม่ได้ทำงานบริหาร จึงทรงหลุดพ้นไปจากการเป็นประมุขฝ่ายบริหารได้ ผมคิดว่านี่คือคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ในแง่ของการให้พระมหากษัตริย์ทรงหลุดพ้นจากการเป็นประมุขฝ่ายบริหาร โดยที่พระองค์ทรงเป็นองค์พระประมุขของฝ่ายรัฐเพียงผ่ายเดียว,” นครินทร์ เมฆไตรรัตน์[2]

ในบรรดาหนังสือที่ศึกษาเกี่ยวกับการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ไม่มีเล่มใดลุ่มลึกและรอบด้านเท่ากับหนังสือเรื่อง “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475” ของศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2535 ในโอกาสเฉลิมฉลองวาระอันเป็นมงคล คือ ครบรอบ 60 ปีการปฏิวัติสยาม ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน[3]

ผู้เขียนรู้จักหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อศึกษาวิชาการเมืองไทยและประวัติศาสตร์ความคิดการเมืองไทยที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจารย์นครินทร์เป็นผู้สอน งานชิ้นนี้เป็นตำราที่ “ต้องอ่าน” สำหรับคนที่อยากเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ในช่วงรอยต่อของการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การก่อเกิดระบอบใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และประชาธิปไตย ของคณะราษฎร

ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนคำนำ ยกย่องหนังสือเล่มนี้ว่า “งานศึกษาชิ้นนี้เป็นความยิ่งใหญ่ จะอยู่ในสถานะที่สูงในวงวิชาการที่สนใจ 2475 ไปอีกนาน” จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ การใช้หลักฐานอย่างกว้างขวางและหลากหลายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารจากหอจดหมายเหตุ บันทึกทูตต่างชาติ บันทึกความทรงจำ จดหมายโต้ตอบทางราชการ ข่าวและบทความหนังสือพิมพ์สมัยเก่า และที่ถือว่าโดดเด่นคือ ฎีกาของราษฎร ซึ่งตรงนี้เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก เพราะถือว่าเป็นการบุกเบิกการใช้ฎีการ้องทุกข์ของราษฎรสามัญชนที่ส่งถึงกษัตริย์มาใช้เป็นหลักฐานในการสะท้อนบรรยากาศทางสังคม ณ ขณะนั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าว่าอาณาประชาราษฎร์มีสภาพชีวิตที่เดือดร้อนกันอย่างมากภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฎีการ้องทุกข์ของชาวนาช่วยชี้ให้เห็นสภาพปัญหาที่แท้จริง และข้อจำกัดของระบอบเก่าในการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ในชาติ

งานของอาจารย์นครินทร์ยังโดดเด่นตรงที่มันไม่ใช่เพียงงานประวัติศาสตร์การเมือง แต่เป็นประวัติศาสตร์สังคม รวมทั้งประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา งานชิ้นนี้จึงก้าวข้ามข้อถกเถียงที่แสนเชยว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือไม่ สำหรับอาจารย์อาจารย์นครินทร์ การปฏิวัติ 2475 เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอันยาวนาน ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มันไม่ใช่การขิงสุกก่อนห่าม แต่มันคือ เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยหลายประการที่พรั่งพร้อมและมาบรรจบกัน

งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นข้อสรุปสำคัญๆ อย่างน้อย 3 ประการ

ประการที่หนึ่ง การปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่เรื่องของนักเรียนนอกไม่กี่คนดังที่มักเข้าใจกัน แต่มีคนจำนวนมากเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง คณะราษฎรเป็นเพียงหัวหอกและตัวแทนของพลังทางสังคมที่ใหญ่กว่านั้นที่เรียกร้องต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการระดับกลางและระดับล่าง (ทั้งทหารและพลเรือน) พ่อค้า ชนชั้นกลาง นักกฎหมาย นักหนังสือพิมพ์ กรรมกร ชาวนา งานชิ้นนี้ศึกษาการเคลื่อนไหว และความรู้สึกนึกคิดของคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้อย่างละเอียดอย่างยิ่ง แยกเป็นบทต่างๆ ผู้อ่านจึงจะมีมุมมองที่กว้างไกลขึ้นกว่าเดิมหลังอ่านจบ และเข้าใจอย่างกระจ่างชัดว่าการปฏิวัติสยาม 2475 มิใช่เรื่องของปรีดี พนมยงค์ แปลกพิบูลสงคราม พระยาพหลฯ ควง อภัยวงศ์ ประยูร ภมรมนตรี สี่ทหารเสือ ฯลฯ แต่เป็นเรื่องของพลังทางสังคมใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาท้าทายระบอบสังคมการเมืองแบบเก่าที่ล้าสมัย

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางความคิดวัฒนธรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ภายใต้บรรยากาศของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ประชาชนยังมีสิทธิเสรีภาพไม่เต็มที่ และการก่อตัวของความคิดใหม่ ๆ นี้เองที่เป็นเชื้อมูลสำคัญของการปฏิวัติ หนังสือเล่มนี้แสดงหลักฐานร่วมสมัยจำนวนมากอย่างละเอียด เพื่อชี้ให้เห็นว่าในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมไทยเต็มไปด้วยการถกเถียงทางความคิดอย่างเข้มข้นคึกคัก โดยสมัยนั้นเวทีสำคัญของการขับเคี่ยวทางความคิด คือ หนังสือพิมพ์และวารสาร (ในยุคนั้นยังไม่มีวิทยุ โทรทัศน์ และแน่นอนไม่มีโซเชียลมีเดีย!) อาจารย์นครินทร์ชี้ให้เห็นว่าระบอบเก่าเน้นหลักคิดเรื่อง “ชาติกำเนิด” และความไม่เท่าเทียมกันแนวคิดเรื่องชาติกำเนิดที่สูงส่งและการจัดลำดับชั้นทางสังคมอย่างเคร่งครัดโดยที่อำนาจและเกียรติยศลดหลั่นตามลำดับจาก เจ้า-เจ้านายชั้นสูง- เจ้านายชั้นล่าง- ขุนนาง- ราษฎร ถูกเน้นย้ำมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อกระชับอำนาจเข้าสู่สถาบันกษัตริย์ แนวคิดนี้เป็นทั้งฐานความชอบธรรมในการปกครองและเป็นวาทกรรมที่ค้ำจุนการรวมศูนย์อำนาจให้มั่นคงในกลุ่มเจ้าและเจ้านายระดับสูง

ความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาที่สำคัญที่ก่อตัวขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ก็คือ การก่อตัวของแนวคิดชาตินิยมแบบใหม่ในหมู่ชนชั้นกลาง ปัญญาชน และข้าราชการที่มีพื้นเพจากสามัญชน ได้นำเสนอความเป็นชาติที่ไม่ยึดติดกับชาติกำเนิด แนวคิดว่าคนควรมีอภิสิทธิ์โดยกำเนิดถูกตั้งคำถามอย่างแหลมคม และถูกแทนที่ด้วยแนวคิดเรื่องความเสมอภาค นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องความเจริญก้าวหน้าของชาติกลายเป็นแนวคิดสำคัญ ข้าราชการรุ่นใหม่ต้องการเห็นประเทศเจริญทัดเทียมอารยประเทศ และมีหน้ามีตา มีการปกครองที่ทันสมัย มีหลักกฎหมายเป็นใหญ่ มิใช่หลักปกครองโดยบุคคล ปกครองโดยหลักวิชามิใช่หลักชาติวุฒิ กล่าวคือ “มีความคิดความรู้สึกร่วมกันในประการสำคัญว่าชาติกำเนิดของบุคคลไม่ได้เป็นเครื่องวัดคุณงามความดีของมนุษย์แต่เพียงลำพังอีกต่อไป”

ประการที่สาม การปฏิวัติ 2475 ประสบความสำเร็จเพราะความเสื่อมถอยภายในของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสำคัญ งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นการปรับตัว และไม่ปรับตัวของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยพยายามอธิบายให้ผู้อ่านเห็นพลวัตของความเปลี่ยนแปลง และเข้าใจการตัดสินใจ (และไม่ตัดสินใจ) ของตัวแสดงในประวัติศาสตร์จากเงื่อนไขของยุคสมัยนั้น

จากหลักฐานจำนวนมาก งานศึกษาชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยมีความอ่อนแอภายใน และมีพลังในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านกำลังคนในกลุ่มเจ้านายที่ลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา การรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ผิดพลาด การขาดความสามารถในการรับมือกับสำนึกทางสังคมและอุดมการณ์ความคิดใหม่ๆ และสุดท้ายคือ การขาดความสามารถในการปรับกติกาและสถาบันทางการเมืองให้ผนวกรวมพลังทางสังคมใหม่ ๆ เข้ามาในระบบ และการปฏิรูปสถาบันทางการเมืองที่จะช่วยปรับเปลี่ยนบทบาทและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์

อาจารย์นครินทร์เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างชัดเจนในประเด็นนี้ว่า “คนจำนวนมากเวลาวิเคราะห์เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองชอบเน้นที่คณะราษฎรซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยมาก ประมาณ 115 คน  ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอกถ้าระบอบเก่ามันไม่มีวิกฤตอยู่ภายใน,” “มันเป็นระบอบที่กำลังจะพังทลาย เพียงแต่ว่ามันจะพังอย่างไรเท่านั้น” ทั้งนี้เป็นเพราะว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นระบอบที่มีข้อจำกัดแฝงฝังอยู่ในโครงสร้าง กล่าวคือ “ระบบนี้มีความขัดแย้งภายในสูงมาก เพราะว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่สองอย่างและเป็นระบบที่รวมศูนย์ ไม่มีการแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ออกจากกัน อำนาจสูงสุดอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์… กษัตริย์ทรงทำทุกอย่าง เป็นประมุขของรัฐ เป็นประมุขฝ่ายบริหาร เป็นประมุขสูงสุดทางนิติบัญญัติ เป็นประมุขสุงสุดทางตุลาการด้วย ระบบแบบนี้ในทางการเมืองเป็นระบบที่อยู่ได้ไม่นาน ไม่มีสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศไหนอยู่ได้นาน มันอยู่ได้สั้นๆ เท่านั้น”[4]

การปรับตัวและไม่ปรับตัวของกลุ่มเจ้านาย

หนังสือการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 อุทิศบทหนึ่งให้กับการอธิบายการปรับตัว (และไม่ปรับตัว) ของกลุ่มเจ้านายในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยสรุปแล้ว อาจารย์นครินทร์ชี้ให้เห็นปัจจัยหลายประการที่ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดวิกฤตและพังทลายลงในที่สุด โดยกำลังคนที่ลดน้อยถอยลงในกลุ่มเจ้านายนั้นเกิดจากการที่รัชกาลที่ 6 และ 7 ไม่มีรัชทายาท เจ้านายชั้นสูงก็เหลือน้อย ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นก็ยิ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ทำให้มีแนวนโยบายแบบสกัดกั้นความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านการจัดทำรัฐธรรมนูญ การตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแบ่งเบาภาระพระมหากษัตริย์ หรือการเปิดให้มีการเลือกตั้งและรัฐสภาที่มีผู้แทนจากปวงชน ฯลฯ

นอกจากนั้นสถานะของเจ้านายก็ตกต่ำลงท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจสังคมที่มีความทันสมัยมากขึ้น เจ้านายส่วนใหญ่รายได้ไม่พอกับรายจ่าย (รายจ่ายสูงจากการเลี้ยงดูข้าราชบริพาร ซื้อสินค้าทันสมัยจากต่างประเทศ สันทนาการ และงานอดิเรกส่วนตัว ค่าเครื่องดื่ม เครื่องเสวย ค่าของขวัญ วีถีการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือย) เมื่อพยายามลงทุนทางเศรษฐกิจ ก็ล้มเหลว หตุผลสำคัญคือ “เจ้านายขาดไม่เข้าใจวิธีการลงทุน” เนื่องจากขาดความรู้และประสบการณ์ เจ้านายบางพระองค์ถึงกับล้มละลายเนื่องจากไม่มีเงินชำระหนี้สินที่ก่อไว้ โดยเฉพาะเจ้านายระดับล่างถึงกับต้องกู้ยืมเงินจากชนชั้นกลางและต้องเช่าบ้านอยู่อาศัย ทำให้สถานะตกต่ำลง และกลุ่มชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้น มีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ได้มองตนเองต่ำต้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้านาย เริ่มเกิดคำว่า “คนชั้นกลาง” “ผู้ดีใหม่” “สุภาพบุรุษ” ซึ่งไม่ได้ผูกกับชาติกำเนิดอีกต่อไป ในขณะที่คำว่า “ผู้ดีเก่า” เริ่มมีความหมายในเชิงลบ

นอกจากนั้นยังเกิดปัญหาหลายประการในกลุ่มเจ้านาย ทั้งในแง่ของการจัดชั้นยศ การได้รับมอบหมายตำแหน่งราชการ และการกระจายความมั่งคั่งในกลุ่ม “ซึ่งรังแต่บั่นทอนอำนาจบารมีของกลุ่มเจ้านายลงไปในทศวรรษที่ 2470” แม้รัชกาลที่ 7  ทรงพยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นในราชวงศ์ให้กลับคืนมา แต่ก็มิประสบความสำเร็จ มีความน้อยเนื้อต่ำใจในหมู่เจ้านายด้วยกัน โดยเฉพาะเจ้านายระดับล่างที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

ในการเลื่อนขั้นในระบบราชการด้วยกันภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งรัชกาลที่ 7 ก็ทรงวิจารณ์ว่าในระบบราชการ เต็มไปด้วย “การเลือกที่รักมักที่ชัง” แม้แต่ในกลุ่มเจ้านายด้วยกันเอง การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งยึดถือชาติกำเนิดเป็นสำคัญมากกว่าคุณธรรมและความสามารถ (merit) ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ระบอบเก่าถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

แนวคิดอนุรักษ์นิยมในหมู่เจ้านายชั้นสูง ยังเป็นปัญหาต่อการปรับตัวต่อกระแสการเรียกร้อง โดยรัชกาลที่ 5 เห็นว่าประเทศสยามยังไม่เหมาะกับการมี “ปาลิเมนต์” เพราะ “ถ้ามีปาลิเมนต์จะไม่มีผู้ใดซึ่งสามารถเป็นเมมเบอได้สักกี่คน และโดยว่าจะมีเมมเบอเหล่านั้นเจรจาการได้ก็ไม่เข้าใจในการราชการทั้งปวงทั่วถึง เพราะไม่มีความรู้และการฝึกหัดอันใดแต่เดิมเลย” ในขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ได้ตรัสไว้ในการประชุมสมัยรัชกาลที่ 7 ว่า “การเปลี่ยนแปลงทางการปกครองต้องทำทีละเล็กละน้อยอย่างที่ประเทศอังกฤษเขาทำแก่ colonies อาณานิคมของเขาเป็นขั้น ๆ” (การประชุมกรรมการองคมนตรี 11 เมษายน 2470)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ก็กล่าวไว้ว่าคนไทยทุกคน “ต้องช่วยชาติ ช่วยพระศาสนา และช่วยพระมหากษัตริย์เข้านายของเรา แม้ถึงจะยอมบริจาคทรัพย์จนล่อนตัวแล้ว ยังซ้ำจะต้องถึงสละชีวิตด้วย” ซึ่งอาจารย์นครินทร์สรุปว่า “ลักษณะของวัฒนธรรมและความคิดของเจ้านายชั้นสูงโดยทั่วไปนั้น นิยมระบอบการเมืองที่ตั้งมั่นอยู่แล้ว” (39) หลักฐานเหล่านี้ที่หนังสือของอาจารย์นครินทร์นำเสนอชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นเจ้านายซึ่งมีอำนาจในขณะนั้นยังคงยึดติดกับรูปแบบและแนวคิดในการปกครองแบบเก่า ๆ และไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

ทัศนะแบบอนุรักษ์นิยมที่ดำรงอยู่อย่างแน่นแฟ้น ทำให้กลุ่มเจ้านายไม่ยอมรับความเป็นจริงและมิได้ใส่ใจเสียงเรียกร้องจากประชาชนและพลังทางสังคมต่างๆ ในการปฏิรูประบอบการปกครองให้ทันสมัยขึ้น มีเจ้านายเพียงบางพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากที่มีความคิดสมัยใหม่ เช่น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงนิยมระบอบประชาธิปไตย และต่อมาได้เข้ามาช่วยเหลืองานของคณะราษฎรและแสดงความคิดเห็นทางสื่อหนังสือพิมพ์สนับสนุนการปฏิวัติอย่างแข็งขัน, หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ที่ทรงมีแนวคิดนิยมระบอบสังคมนิยม และสนใจความทุกข์ร้อนของชาวไร่ชาวนา, พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ขณะเกิดการปฏิวัติ 2475 ได้ทรงจัดประชุมข้าราชการในจังหวัดเพื่อช่วยเหลืองานของคณะราษฎรตั้งแต่วันแรกของการยึดอำนาจ, หรือพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงมีจดหมายถึงรัฐบาลหลังการปฏิวัติแสดงพระประสงค์ว่าจะช่วยรัฐบาลใหม่

ความเสื่อมโทรมภายนะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สะสมซ่อนตัวอยู่นี้ ได้ถูกตั้งข้อสังเกตไว้อย่างคมชัดโดยคนในระบอบเอง คือ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ซึ่งกล่าวไว้ว่า “ส่วนเจ้านายใหญ่โตนั้นวอดวายไปแล้ว อันที่จริงวอดวายอยู่ก่อนแล้ว คณะราษฎรคิดว่าได้โค่นท่านลง อันที่จริงเป็นแต่เซ็นมรณบัตรถวายเท่านั้นเอง”

ในบทที่ว่าด้วย “วัฒนธรรม ความคิด และการปรับตัวของเจ้านาย” ผู้เขียน อาจารย์นครินทร์สรุปทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่าแม้ว่าเจ้านายส่วนใหญ่จะไม่นิยมชมชอบกับระบอบการเมืองใหม่ของคณะราษฎร เพราะมองว่าได้โอนย้ายอำนาจที่เคยอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไปสู่สถาบันการเมืองใหม่อย่างคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และระบบราชการ แต่ก็มีเจ้านายบางพระองค์ (ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้น) ที่ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนระบอบใหม่อย่างแข้งขัน โดย “เจ้านายกลุ่มหลังนี้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่แตกต่างจากเจ้านายโดยทั่วไป คือบางพระองค์ทรงพิจารณาว่าการมีกฎหมายรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามหลักแนวคิดอเนกนิกรสโมสรสมมติได้มากยิ่งกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

ในห้วงยามที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับสึนามิทางการเมืองลูกใหญ่อันเนื่องมาจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมามีความร้อนแรงอีกครั้ง ผู้เขียนอยากแนะนำให้ทุกคนได้กลับไปอ่าน ตั้งสติ และถอดบทเรียนจากหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้ร่วมกัน

 


[1] สัมภาษณ์ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สารคดี ปีที่ 15 ฉบับที่ 172 (มิถุนายน 2542) พิมพ์ซ้ำใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546), น.425-26.

[2] เรื่องเดียวกัน, น.444-45.

[3] ครั้งแรกตีพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ต่อมาพิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันในปัจจุบัน

[4] เรื่องเดียวกัน, น.425-26