โควิดผลักไสให้ไร้บ้าน ฝันสลายของผู้สร้างปราสาททราย - Decode
Reading Time: 2 minutes

อยากมีบ้านไหม ?

“อยากนะ”

เสียงของคนไร้บ้านในพื้นที่ชานเมือง

De/code ได้เดินทางไปที่บ้านพูลสุข บ้านของคนไร้บ้านที่สร้างโดยคนไร้บ้าน ทำไมพวกเขาถึงต้องช่วยเหลือกันเอง?

เราได้ไปพูดคุยกับคนไร้บ้านคนแรก ในบ้านกึ่งเรือนไทยที่มีแสงลอดผ่านทางช่องหน้าต่างส่องมายังที่นั่งของเราทั้งสอง ผู้หญิงที่นั่งตรงข้ามกับเราได้แนะนำตัว

“สวัสดีค่ะ ชื่ออั้ม อายุ 42 ปี”

อั้มได้เล่ากับเราว่า ก่อนที่จะมาอยู่ที่นี่เคยทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง และอยู่ห้องเช่ากับมีรถที่กำลังผ่อนอยู่

ทำไมถึงมาอยู่ที่นี้?

“โรงงานปิด แล้วไม่ได้จ่ายค่าห้องเขามา 3 เดือน เขาเลยไม่ให้เข้าห้อง”

ต่อมาคนที่สองเป็นลุงผู้สูงอายุวัย 60 ปี นามสมมติว่า เอ

ทำไมถึงมาอยู่ที่นี้?

“เคยเป็นยามแต่ขาไม่ดี โรงงานเขาเลยบอกว่าให้พี่พักเถอะ กึ่ง ๆ ไล่ออก เราก็ออกมาอยู่ห้องเช่าได้ 3 ปี น้องที่คูคตขับแท็กซี่เขาก็ย้ายทะเบียนบ้านจากเพชรบุรี ให้ย้ายมาอยู่บ้านเขาที่คูคต แต่บ้านเขาห้องมันเล็ก เราอยู่ไม่ได้เขาก็เลยให้มาอยู่ที่นี่”

ต่อมาคนที่สามชื่อ ณัฐวุฒิ เป็นคนพิการครึ่งซีกใช้ได้แค่แขนข้างเดียว จากอาการภาวะเส้นเลือดในสมองตีบเนื่องจากขาดยาและการพักผ่อน อายุ 42 ปี

ทำไมถึงมาอยู่ที่นี้

“เคยมีบ้านอยู่ แต่พอพ่อกับแม่เสียก็ล้มละลายหมด”

นิยามของคำว่า “บ้าน” ที่ไม่มีอยู่จริง

“คำว่าบ้าน… มันน่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา ถึงจะเป็นหลักเล็กหลังใหญ่ก็เป็นพื้นที่ของเรา แค่เรากับแม่ หรือเรากับแฟนอย่างนี้ก็ได้ แต่เป็นของเราที่ไม่ใช่แบบนี้” เสียงตอบของอั้มของการนิยามความเป็นบ้าน

“เป็นที่อยู่อาศัยของเราเองเลย เผื่ออนาคตมีลูกมีหลานจะได้ให้ไปต่อ จะได้ไม่ต้องมาเป็นคนไร้บ้านเหมือนกัน” เสียงตอบของณัฐวุฒิ ชายวัยกลางคนผู้นั่งบนวิลแชร์

แล้วบ้านในฝันของพวกเขาเป็นอย่างไร

“อยากมีบ้านที่มีพื้นที่เยอะหน่อย ให้พี่ได้ปลูกผักทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พอได้ออกขาย” อั้มตอบกลับ

 คนไร้บ้านบางคน แค่อยากจะมีบ้านหรือที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แค่ให้พวกเขาทำมาหากิน แต่ก็มีบางส่วนที่สิ้นหวังมากกว่าที่จะฝันถึงการมีบ้าน

มันไม่มีแล้ว ไม่รู้ต้องออกไปเผชิญอะไรพรุ่งนี้ถ้าออกไปก็ต้องไปนอนข้างถนน” เอกล่าว

รวยกระจุก จนกระจาย “สิทธิ” ที่ไม่มีวันเข้าถึงที่อยู่อาศัย

ปัญหาคนไร้บ้านหลายคนอาจจะมองข้าม ซึ่งภาครัฐควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยเราถามความเห็นจากชาวบ้านในบ้านพูลสุขพวกเขาได้ตอบกับเราว่า

“รัฐควรจะจริงจังกับคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยคนจนเมืองแบบนี้ มากกว่าจะไปใส่ใจนายทุนต่างชาติ อย่างน้อยหาที่ให้เขาสักที่หนึ่งที่ใหญ่ ๆ ให้รวมสร้างกลุ่มอาชีพให้เขาตั้งหลักตั้งตัวได้ คนจนเมืองหรือว่าคนไร้บ้านก็จะน้อยลง” อั้มกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา

โควิดผลักไสให้ไร้บ้านหน้าใหม่(เพิ่ม)

ในช่วงโควิด-19 คนไร้บ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นอย่างมากด้วยเหตุผลหลายอย่าง อั้มเคยทำงานอยู่ที่โรงงาน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงงานที่อั้มทำอยู่ปิดตัวลง โดยในรอบแรกกับรอบสองอั้มยังสามารถอยู่ได้ แต่พอเจอโควิด-19 ในรอบ 3 อั้มต้องหลุดออกจากห้องเช่าแล้วกลายเป็นคนไร้บ้าน ผู้หญิงตัวคนเดียวที่ต้องอยู่ข้างถนน เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ และระหว่างนั้นอั้มได้โทรไปที่หลายมูลนิธิแต่ไม่ติด มาติดที่นี่ทำให้ปัจจุบันก็มาอยู่ที่บ้านพูลสุข

เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำ “เร่ร่อน” เป็นอาชีพชั่วคราวที่เกือบถาวร

ภาพของเมืองที่ทุกคนเห็น อาจเต็มไปด้วยแสงสีและเรื่องราวอันสวยงาม แต่ความสวยงามก็ซุกความเหลื่อมล้ำไว้เต็มจนแทบจะทะลุออกมา และบางทีเมืองต้องผลักคนจนเมืองหรือคนไร้บ้านออกมา เพื่อคงภาพลักษณ์ที่เป็นเปลือกนอกไว้หรือเปล่า

“เป็นไปได้ค่ะ การเป็นคนไร้บ้านมันหางานทำยาก เราไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง พอหางานทำยากมันก็หาที่อยู่ไม่ได้ในเมือง การอยู่ในเมืองมันต้องมีค่าครองชีพ แล้วพอไม่มีค่าครองชีพก็ต้องเร่ร่อน” อุ้มกล่าว

มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดบ้างไหม?

“จริง ๆ มาอยู่ที่ปทุมธานีนานแล้ว บ้านที่ต่างจังหวัดก็ไม่มีแล้ว แม่อยู่กับพี่สาวมันไม่ใช่บ้านของเราแล้ว กลับไปก็ไม่มีอะไรทำ สู้อยู่ตรงนี้แล้วมีงานทำ”

หลังจากที่เราได้ไปพูดคุยกับทั้งสามคน อั้ม ณัฐวุฒิ และเอ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่พัฒนาที่อยู่อาศัยที่บ้านพูลสุข ซัฟวัน ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบ้านพูลสุข

 “เรามองว่าคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ยังมีศักยภาพพอที่จะผลักดันตัวเอง คือให้เขามีที่ตั้งหลัก พัฒนาศักยภาพเขาเพื่อไปสู่สังคมใหม่”

ด้วยความสงสัยของเราที่ว่า ที่นี่มีทั้งลุงวัย 60 ปีที่แทบจะทำอะไรไม่ได้ กับคนพิการครึ่งซีกที่ใช้ได้แค่แขนข้างเดียว แล้วพวกเขาจะมีเงินจ่ายค่าห้องหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้อย่างไร

“เรามีระบบการช่วยเหลืออยู่จะมีการประชุมประจำเดือน ที่จะช่วยเหลือกันเรื่องต่าง ๆ เช่นอาหารที่พักที่พอจะช่วยได้ ที่นี่มีค่าบำรุงศูนย์ มันจะมีบางส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่าย จะเอาตรงนี้มาเป็นกองทุนสวัสดิการ กองทุนก็จะช่วยคนที่เป็นผู้สูงอายุ หรือแม้อยากจะทำกลุ่มอาชีพใหม่ที่เขาคิดว่ามีศักยภาพที่จะทำ เขาก็สามารถนำเงินจากกองทุนนี้ไปต่อยอดได้” ซัฟวันกล่าว

ที่ดินกับราคาที่คน(ส่วนน้อย)เอื้อมถึง

ที่ดินเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยการใช้ชีวิต เพราะจะมีบ้านได้ก็ต้องมีที่ดิน แต่การที่บุคคลใดจะจับต้องคำว่าที่ดินได้นั้น ต้องมีเงินจำนวนมาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่ต่างกันมาก ทำให้บางคนอาจต้องเป็นคนไร้ที่ดิน

“เพราะที่ดินมันคิดแบบกำไร มันไม่ได้คิดว่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัย แต่ตอนนี้กลายเป็นแบบทุนนิยมไปแล้ว ว่าที่ดินเพื่อผลกำไรมันเลยแพง ทีนี้ไม่ว่าคนระดับไหน เช่น เราทำงานรายเดือนก็ไม่สามารถซื้อที่ดินได้ มันต้องใช้เวลาเยอะมาก และที่ดินในเมืองก็ยิ่งสูงขึ้นทุกวัน”ซัฟวันกล่าว

ตารางเมตรของคนริมราง เมื่อรางส่ง(คน)ออก

รถไฟฟ้าที่พาความเจริญ ในบางทีก็อาจสร้างภาระอันแสนหนักหนาให้กับอีกกลุ่ม เราได้ไปพูดคุยกับชาวบ้านคนหนึ่งในชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนที่ต้องอยู่ด้วยความระแวงว่า ตอนไหนบ้านของพวกเขาจะหายไปจากการมาเยือนของความเจริญ สุเทพ อายุ 67 ปี เป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหว และให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านที่พบเจออย่างเขาในอดีต

สุเทพได้เริ่มเรื่องด้วยการเล่าเหตุการณ์ในอดีต ที่เขาโดนไล่ที่

“เราอยู่ในพื้นที่ ที่เขาจะสร้างรถไฟสายสีแดง ตอนที่เขาจะทำทางรถไฟมาถึง เขาก็มาบอกว่าให้ย้ายภายใน 5 วัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ พอเราไม่ย้ายเขาก็ฟ้องศาลขับไล่ บางคนกลัวก็ย้ายออกไป เขาก็ให้เงินไม่กี่พัน ถามว่าเงินแค่นั้นชีวิตไปต่ออย่างไร อย่างมีส่วนหนึ่งชาวบ้านไม่ไป สุดท้ายศาลฟ้องแล้วก็แพ้คดี เขาก็เอาแทรกเตอร์มาไถเลย บางซื่อ ตลิ่งชัน โดนกัน10 กว่าชุมชนที่โดนไล่ที่” 

แม้รถไฟฟ้าจะพาความเจริญแต่สิ่งที่แฝงมา คือค่าครองชีพและราคาบ้านที่สูงขึ้น จนบางทีคนที่อยู่ก่อนอาจต้องไป โดยลุงสุเทพได้ยกตัวอย่างแถวบางซื่อ ที่มีทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วน ปัญหาการเดินทางลำบากน้อยลง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือราคาที่อยู่สูงขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่เช่าบ้านเอกชน อาจต้องแบกรับค่าเช่าที่สูงขึ้น ราคาแต่ก่อนอาจเป็นหลักหมื่นต่อตารางวา แต่ตอนนี้อาจหลักแสนต่อตารางวา แล้วหากชาวบ้านที่มีรายได้น้อย เขาเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน?

สู่วัฏจักรของการย้ายถิ่นฐาน

“พี่น้องในชุมชนไม่มีความคิด ขัดขวางความเจริญของประเทศ แต่อยากอยู่ดูความเจริญนั้นด้วย” สุเทพกล่าว

เราได้ถามสุเทพหากชาวบ้านโดนไล่ที่จะไปไหนกันได้บ้าง เขากล่าวว่าสามารถแบ่งเส้นทางเดินของชีวิตต่อไปได้ 4 แบบ

ไปที่อื่น เมื่อโดนไล่แล้ว หากมีรายได้เพียงพออาจไปหาที่เช่าอยู่แทน หากไม่มีเงินก็อาจต้องไปบุกรุกที่อื่นต่อ

ย้ายกลับ หากมีบ้านอยู่ต่างจังหวัด ก็อาจจะกลับบ้าน

อยู่ต่อ ต่อสู้เพื่อที่อยู่เดิม หรือสู้เพื่อที่อยู่ที่ใกล้เคียงกับที่เดิม เพราะอาชีพอยู่ตรงนี้

ไร้บ้าน หากไม่มีบ้านแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนที่พักพิงอยู่ตลอดเวลา ไปนอนตามตึกร้างของเอกชน หรือตามสถานีรถไฟ

บ้านที่แลกมาด้วยการต่อสู้ช่วงชิง

“บ้านมันเป็นมากกว่าบ้านนะ ถ้ามีบ้านแล้วชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ที่เขาอยู่อาศัยเดิม เขาประกอบอาชีพได้ แต่เมื่อย้ายเขาออกไปอยู่ไกลๆ แล้วไปสร้างบ้านให้เขาไกลๆ มันก็ได้เงินน้อยมาก บ้านมันก็เป็นแค่ที่หลับนอน แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้” สุเทพกล่าว

การจะได้บ้านมานั้นก็ยากแล้ว กลับมีปัญหาที่บ้านนั้นไม่สามารถสร้างอาชีพได้ และทั้งเรื่องโควิดที่ไม่จบไม่สิ้น ทำให้การมีบ้านที่ยากอยู่แล้ว ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

หากดูแล้วหลายคนได้รับผลกระทบจากโควิด เงินที่เหลือเก็บก็หายหมดไป จนบางทีต้องยอมเสียสิ่งที่เรียกว่า “บ้าน” เพื่อแลกกับการเอาไปดำรงชีวิต บ้านควรเป็นสิ่งที่รัฐสนับสนุนหรือเป็นสิ่งที่หลายคนต้องสู้เพื่อได้มันมา

“นโยบายรัฐบาลต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ต้องเปลี่ยนจากฉันจะสร้างความเจริญ แล้วต้องกวาดต้อนผู้คนไปข้างนอก ให้คิดใหม่จะให้คนจนอยู่ร่วมกับความเจริญได้อย่างไร”

สุเทพทิ้งท้ายด้วยประโยคคำถามจากเสียงคนจนเมืองที่ถูกไล่ที่

เราเป็นผู้สร้างปราสาท แต่ทำไมเราถูกผลักให้ออกมาจากปราสาท?”