ให้เหล้าเท่ากับแช่ง แล้วให้อะไรวัฒนธรรมกินดื่มไทยจึงจะเติบโต - Decode
Reading Time: 3 minutes

คุณรู้จักวงการสุราไทยมากน้อยแค่ไหน?

ในวันที่คนไทยหันซ้ายมองขวาเจอแต่เบียร์เจ้าใหญ่ ในขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่นกำลังหายไปทุกวัน De/code ได้ทำการติดต่อกลุ่มสุราชุมชน เพื่อมาร่วมพูดคุยกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมการดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่ถูกสืบทอดต่อกันมาแบบรุ่นสู่รุ่น แต่กลับไม่เป็นผล ด้วยหนึ่งเหตุผลคือ ไม่มีผู้ผลิตคนใดอยากออกมาพูดถึงประเด็นนี้

ทำไมกัน?

De/code จึงได้เชิญชวนเหล่าผู้ต่อสู้เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย 4 คนมาร่วมพูดคุยกับเราในวันนี้โดยมี ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย จากกลุ่มสุราไทย, เบนซ์ จากเพจประชาชนเบียร์, บะหมี่ จากสมาคมคราฟต์เบียร์ และ นิค ผู้ประกอบการและผู้ถือหุ้นบาร์หลายแห่งในประเทศไทย โดยแต่ละคนจะมาแลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมชวนทุกคนตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ววัฒนธรรมการกินดื่ม กำลังหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยได้อย่างไร

หน่วยงานอำนวยความลำบาก

“วันนี้เราได้ชวนกลุ่มคนทำสุราชุมชนมาให้ข้อมูล ก็ไม่มีใครมาเลยเพราะว่าเขาไม่อยากมีปัญหากับหน่วยงานราชการ แต่ละคนต้องเฝ้าโรงงาน เพราะสรรพสามิตจะเข้าไปตรวจเขาเมื่อไรก็ได้”

ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย กล่าวต่อว่าย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 อยู่ดี ๆ ก็มีคำสั่งให้ไปตรวจสอบว่า โรงสุราชุมชนมีการทำผิดข้อกำหนดอะไรบ้างหรือไม่ หากมีกำลังเกินห้าแรงม้าเขาก็จะสั่งปิดรื้ออุปกรณ์และขอเปิดใหม่ ซึ่งในปัจจุบันนี้เหล่าผู้ประกอบการก็ได้ทำการเปิดขึ้นมาใหม่เป็นที่เรียบร้อย แต่เปิดมาแล้วต้องอยู่กันอย่างเงียบๆ เจียมเนื้อเจียมตัวเพราะกลัวจะโดนแบบเมื่อก่อน

“เราเชื่อว่าการทำดื่มเองมันจะทำให้ประชาชนมีความรู้ รู้จักการดื่มอย่างมีสุนทรียะมากขึ้น และไม่ดื่มเพื่อเมาเป็นหลัก

“ผมขอพูดในฐานะผู้บริโภค เราชอบดื่มตัวที่มันเป็นของชุมชนที่เขาทำกันที่บ้าน ก็จะมีปัญหาหลัก ๆ ตามที่อาจารย์บอก เรารู้สึกว่าประเทศไทยมีอิสระในการทำดื่มเองน้อยเกินไปหรือแทบจะไม่มีเลย ในส่วนของประชาชนเบียร์พยายามผลักดันเรื่องกฎหมายการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้แบรนด์เล็ก ๆ สามารถเติบโตได้ รวมไปถึงการห้ามขายออนไลน์ การปิดร้านอาหาร ร้านขายแอลกอฮอล์” เบนซ์ จากเพจประชาชนเบียร์กล่าว

โดยบะหมี่จากสมาคมคราฟต์เบียร์ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ต่อจากเบนซ์ว่า

“เราเป็นคนดื่มเหล้าดื่มเบียร์ตั้งแต่มหา’ลัย แต่ว่าเราจะไม่รู้จักสุราชุมชนเลย เพราะว่าวัฒนธรรมการกินดื่มของคนไทยไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐเพื่อยกชูสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจน

“คนไทยมีเหล้าขาวสาโท มีเครื่องดื่มหลายอย่างที่เป็นของดั้งเดิมเหมือนที่เกาหลีมีโซจู ญี่ปุ่นมีสาเก ซึ่งอาจจะเคยถูกยกชูขึ้นมาแต่ก็ถูกตัดตอนไปเสียก่อน เพราะฉะนั้นคนรุ่นเรา ๆ หรือเด็กรุ่นใหม่จะรู้จักแค่เครื่องดื่มที่มีการโฆษณา หรือมีช่องทางในการจัดจำหน่ายที่แพร่หลาย เช่น เบียร์เจ้าใหญ่ เหล้าชื่อดัง หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเมืองนอกที่มีขายตามร้านอาหารหรู ๆ เพราะว่าเหล้าท้องถิ่นที่เขาทำมันไม่มีช่องทางจัดจำหน่ายหรือโฆษณาได้ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมการกินดื่มที่มันควรจะเป็นของไทยดั้งเดิมมันเลยไม่มี”

บะหมี่ยังกล่าวต่ออีกว่า แม้ปัจจุบันวงการคราฟต์เบียร์จะเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ผลิตภัณฑ์ไทยแท้ที่ควรถูกนำมายกชูให้เด่นกลับไม่มี ณ ตอนนี้กลุ่มคนทำคราฟต์เบียร์เริ่มกลับไปร่วมมือกับชุมชนมากขึ้น หลายคนมีการทำสุราแช่โดยนำฐานความรู้ที่เขาได้จากทำเบียร์มาต่อยอด ยกตัวอย่างเช่น ไวน์สับปะรดจากเชียงราย หรือไซเดอร์ลิ้นจี่จากจันทบุรี ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาคประชาชนมีการพูดคุยกันมากขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้น และกำลังร่วมสร้างรากฐานตรงนี้ขึ้นมาใหม่ด้วยกัน

และในส่วนของนิค ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและผู้ถือหุ้นบาร์หลายแห่งในประเทศไทย มองวัฒนธรรมการดื่มในตอนนี้ของสังคมไทยว่า

“สำหรับผม ผมมองว่าวัฒนธรรมการดื่มของบ้านเรามัน advance ขึ้นนะ มันสวยงามและมีคาแรคเตอร์มากขึ้น เราเห็นได้จากออเดอร์ที่เราได้รับ ปัจจุบันคนเริ่มสนใจเรื่อง Local spirit, Local beer หรือ Local brewery มากขึ้น และที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือคนเริ่มสงสัยว่าคุณภาพมันคืออะไร ความโปร่งใสในการผลิตมันคืออะไร คนกลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยคำถามว่า ‘เฮ้ย บ้านเรามันไม่มีอะไรให้กินเลยเหรอวะ’

โดยคำว่าไม่มีอะไรกินในที่นี้ของนิค ไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไรดี ๆ เพราะนิยามของคำว่าดี คือมุมมองในระดับปัจเจก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการไม่มีตัวเลือกให้ผู้คนได้เลือก เพราะในขณะที่ฝั่งเบียร์มีตัวเลือกเหลืออยู่ไม่มาก ฝั่งสุรากลั่นที่มีเยอะกว่า กลับไม่มีงบหรือยอดมากพอที่จะทำให้อยู่ในกระแสหลักได้ จึงเกิดคำถามต่อไปว่า ‘นิยามของคำว่า local alcohol คืออะไร หรือหมายถึงทุนใหญ่แล้วจบไปอย่างนั้นหรือเปล่า’

เพราะความไม่สำเร็จคือทางออก ให้เหล้าจึงเท่ากับแช่ง

“รัฐไทยมันมองมนุษย์ในเชิงดูถูกขั้นสูงสุดจริง ๆ นั่นก็ผิด นี่ก็ผิด ไปสร้างแรงจูงใจทางการตลาดแบบผิด ๆ มันเลยทำให้ประชาชนขาดอิสระในการทำทุกสิ่งอย่าง นึกสภาพแค่จะกดเบียร์ลงขวดก็ผิดแล้ว มันตลกขนาดไหนคิดดู

“ถ้าให้ยกตัวอย่างง่าย ๆ กับประเด็นที่ผมสนใจนั่นคือเรื่องคนติดยา ฝั่งเมืองนอกเขามองว่าไม่ใช่ปัญหาอาชญากรแต่เป็นปัญหาสุขภาพ ถ้าเรามีมุมมองแบบนี้ได้ มันจะสามารถ unlock ปัญหาสังคมไปได้เยอะขึ้นแค่ไหน กลับมาที่ปัญหาสุรา มันไม่ใช่ปัญหาอาชญากรแต่เป็นปัญหาทางสุขภาพเช่นเดียวกัน แต่ความหมายของคำว่าเหล้า ในประเทศเรามันถูกบิดจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมแล้ว กลายเป็นว่า อี๋คนบาป อี๋ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” นิคกล่าว

คำถามคือใครทำให้สังคมเดินมาถึงจุดนี้?

สสส.” ผศ.ดร.เจริญ ให้คำตอบก่อนกล่าวต่อว่า “เราไม่สามารถสู้กับเขาอย่างแฟร์ ๆ ได้ เนื่องจากเขามีงบประมาณมหาศาลในมือในการสร้างค่านิยมที่ต่อต้านเหล้าเบียร์เข้าไปฝังในหัวคนทุกระดับ ทุกชนชั้น รวมทั้งหน่วยราชการทั้งหลายแหล่ก็ไม่กล้าสนับสนุน พอเราบอกว่าเราต้องการจะยกเลิก เขาก็จะออกมาโจมตีว่าเราเป็นเครือข่ายของผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือธุรกิจน้ำเมา เขานำคำพวกนี้มาใช้จนดูเหมือนว่าเราเป็นคนไม่ดี ที่จะไปมอมเมาประชาชน การที่มาป้ายสีคนอื่นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง มันเป็นการต่อสู้ที่ไม่ใสสะอาด หรือเรียกว่าการต่อสู้แบบสกปรกเลยก็ได้”

คำถามต่อมามีอยู่ว่าแล้ว 10 กว่าปีที่ผ่านมาของต่อต้านเหล้าเบียร์ มีประสิทธิภาพจริงไหม

“ถ้าถามว่าสถิติต่างๆ มันดีขึ้นจริงหรือไม่ เขาก็อาจจะอ้างว่ามันไม่ดีขึ้น เขาเลยต้องทำให้มันเคร่งครัดยิ่งขึ้น มันเลยวนเวียนกลับมาในถ้อยคำเดิม เลิกด้อยค่าผู้ผลิตได้แล้ว ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามันไม่ดีจริง ทำไมยังคงใช้ภาษีจากสุรามหาศาล แต่สนับสนุน สสส.ให้ออกมาต่อต้าน ซึ่งถ้าต่อต้านสำเร็จ สสส.ก็จะไม่มีงบประมาณใช้ นั่นแสดงว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ต้องเป็นสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ยังเก็บภาษีสุราได้ ผลประโยชน์มันขัดกันครับ มันบ่งบอกว่าเขาตั้งใจทำให้ไม่สำเร็จ”  ผศ.ดร.เจริญ ย้ำ

เวลาที่เสียไปคือชีวิตและรากเหง้าของความเป็นไทย

“วงการสุราไทยมีฝีมือ แต่รัฐไทยมันกระจอก ผมเชื่อในความสามารถของคนไทย ผมเชื่อว่าฝีมือเราไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าใคร แต่ทำไมถึงมีหน่วยงานหลายหน่วยงานไม่ให้เขาแสดงความสามารถของตัวเอง ซึ่งมันทำให้ผมในฐานะผู้บริโภคไม่สามารถมีสุนทรียะที่ดีขึ้น ไม่สามารถมีชีวิตการดื่มกินเหล้าเบียร์ที่ดีขึ้นในประเทศนี้ได้”

นิคกล่าวก่อนที่บะหมี่จะเสริมว่า

“มันเป็นโอกาสในการเลือกของประชาชน หลายๆ คนในชีวิตไม่มีโอกาสได้เลือกอะไรเลย ตื่นมาทำมาหากิน นอน แล้ววนไปเรื่อย ๆ ซึ่งการกินการดื่มมันเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สร้างความสุขให้กับเราได้ แต่รัฐไทยสร้างวาทกรรมการเป็นคนดี สร้างภาพแห่งความห่วงใยต่อสุขภาพประชาชน และชี้ถูกผิดจากมาตรฐานของตัวเอง เขาสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้มาจำกัดการเลือกของประชาชน ถ้า 10 ปีที่แล้วไม่มีสสส. หรือกฎหมายที่ปิดตลาดต่าง ๆ นานา วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนในประเทศมันเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติแค่ไหน

“แต่ทว่าความบ้าอำนาจ และความไร้ปัญญาของรัฐมันทำให้โอกาสเหล่านี้หายไป หากให้เด็กรุ่นใหม่ไปศึกษาหารากเหง้าการดื่มของไทย เราก็หาไม่เจอแล้ว สิ่งเหล่านี้คือการทำลายวัฒนธรรมของชาติด้วยฝีมือของรัฐบาลเอง”

หากความล้มเหลวที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจ คือตัวแปรหลักที่ทำให้วัฒนธรรมการกินดื่มของไทย ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น หากลองจินตนาการต่อไปว่า มันจะเป็นอย่างไรหากความล้มเหลวจอมปลอมเหล่านี้หมดไป และเหลือเพียงแต่ความสามารถที่เหลือล้นของชาวไทย ซึ่งมาพร้อมกับการสนับสนุนที่พวกเขาสมควรจะได้รับอย่างแท้จริง

ณ วันนั้นประเทศไทยคงจะมีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ไม่แพ้เหล้าจากสกอตแลนด์ เบียร์จากเยอรมนี หรือโซจูจากเกาหลี

ณ วันนั้น ประเทศไทยคงได้มีเครื่องดื่มที่สะท้อน ความเป็นไทย พร้อมคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดมันต่อไปตราบนานเท่านาน