จริยศาสตร์รัฐสวัสดิการ: มนุษย์ทุกคนมีชีวิตที่ดีได้ ? - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ขณะที่ผมทำงานในสถาบันวิจัยด้านรัฐสวัสดิการในฟินแลนด์ ผมมีคำถามต่อเพื่อนร่วมงานว่า จริงอยู่ที่เราเห็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการ มีการศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่าทุกประเทศก็มีการศึกษาวิจัยเรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องความเหลื่อมล้ำ อะไรที่ทำให้การศึกษาระดับสูงของฟินแลนด์แตกต่างจากที่อื่นในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าใจรัฐสวัสดิการ

เพราะการส่งต่อความรู้เรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะเป็นที่ทราบกันว่าคนที่เติบโตในสังคมที่เท่าเทียมย่อมเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการได้ดีกว่าสังคมที่เหลื่อมล้ำ แต่แน่นอนว่าเมื่อถึงคนรุ่นถัดไปที่ไม่ได้สัมผัสถึงการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ หรือมีประสบการณ์ในสังคมที่เหลื่อมล้ำมาก่อน ภาพความเหลื่อมล้ำและทุกข์ยากจึงอาจเป็นเพียงแฟนตาซีของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในสังคมที่เท่าเทียมมาก ๆ คำถามสำคัญคือการทำอย่างไรที่คนรุ่นใหม่ ตระหนักถึงการต่อสู้และปกป้อง “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ในฐานะจิตวิญญาณของสังคม

เพื่อนร่วมงานท่านหนึ่งแนะนำผมว่าลองไปนั่งฟังการบรยายวิชาศึกษาทั่วไปของนักศึกษาปริญญาตรี วิชาสำหรับนักศึกษาที่เพิ่งผ่านระดับมัธยมปลาย วิชาที่เธอแนะนำผมคือวิชา “จริยศาสตร์รัฐสวัสดิการ”- Ethics of Welfare State ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกอยู่กับคนที่สอนมหาวิทยาลัยมาเกือบสิบปี ลองไปนั่งเรียนกับนักศึกษาปี 1 วิชาในมหาวิทยาลัยฟินแลนด์ส่วนมากแล้วสอนเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นสาขาวรรณกรรมและภาษาศาสตร์ฟินแลนด์ รวมถึงส่วนตลาดวิชาที่เปิดให้คนในวัยทำงานเข้ามาเรียนได้จึงสอนเป็นภาษาฟินแลนด์ การเข้านั่งฟังจึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับผมที่ไม่รู้ภาษาฟินแลนด์

ผู้บรรยายเป็นอาจารย์สุภาพสตรี อายุราวสามสิบต้น ๆ เพิ่งเรียนจบจบปริญญาเอกด้านปรัชญาได้ปีเดียว สิ่งที่เธอบรรยายอาจเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนทั่วไปในสายสังคมศาสตร์น่าจะคุ้นเคยอยู่แล้ว เรื่องเสรีภาพ ความเท่าเทียม ประชาธิปไตย ผลกระทบจากการพัฒนา แต่จังหวะการนำเสนอและการหยุดตั้งคำถามให้ผู้คนคิดตามน่าสนใจมาก เมื่อเธอพูดถึงส่วนสำคัญว่า การศึกษาจริยศาสตร์ หรือปรัชญาด้านรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทุกสายทุกสาขาวิชา

“เมื่อเรียนจริยศาสตร์รัฐสวัสดิการ มันอาจไม่ทำให้คุณเข้าใจว่าเมื่อป่วยต้องไปที่ไหน หรือมีสถาบันการเมืองสถาบันทางเศรษฐกิจ อะไรที่ทำเรื่องนี้ นำงบประมาณมาจากที่ไหน หรือมีสวัสดิการกี่ประเภท แต่มันคือการตั้งคำถามเบื้องต้นว่าสิ่งนี้ ดีหรือไม่ มันมีคุณค่าในตัวเอง หรือคุณใช้มันเพื่อบรรลุอย่างอื่น”

“บางอย่าง มีคุณค่าเพื่อให้คุณใช้มันเพื่อบรรลุสิ่งอื่น แต่บางอย่างเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวมันเอง เรามองว่ารัฐสวัสดิการเป็นเครื่องมือเพื่อความเท่าเทียม หรือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวมันเอง” เธอโยนคำถามต่อนักศึกษาในห้อง

“ฉันเชื่อว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนในฟินแลนด์แม้กระทั่งในโลกบอกกับประชาชนว่าเราจะทำให้ชีวิตพวกเธอแย่ลงนะ ไม่มีหรอก พวกเขาบอกว่าจะทำให้ชีวิต ประชาชนดีขึ้นทั้งนั้น แต่มันต่างที่วิธีการ และการจัดว่าสิ่งใดสำคัญกว่ากัน”

“คนฟินแลนด์โดยเฉลี่ยเสียภาษีเดือนละ 20,000 บาท และคนรวยก็เสียมากกว่านั้นเยอะมาก มันไม่ใช่เพียงแค่คำถามว่าเราจะได้อะไรกลับมา หรือว่าเราเอาเงินมาจากที่ไหน มันคือคำถามพื้นฐานทางจริยศาสตร์ว่าสิ่งเหล่านี้ดีหรือไม่ คุณปล่อยคนให้ตายในสังคมเดียวกับคุณได้มากน้อยเพียงใด หากเราอยู่ในสังคมเดียวกัน เราคิดว่าเงินเลี้ยงดูเด็กสำหรับทุกคนไม่ใช่แค่คนจนเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เงินบำนาญ ประกันว่างงาน มันคือสิ่งที่สะท้อนความเป็นมนุษย์หรือไม่ บางทีคำถามอาจเริ่มต้นจากเรื่องเหล่านี้”

“ฉันเรียนจนจบปริญญาเอก ไม่ได้จ่ายเงินค่าเรียนเลย วิทยานิพนธ์ของฉัน คือการศึกษาความคิดของต้นไม้ในมุมของต้นไม้ มันดูห่างไกลจากโลกแต่มันช่วยให้เราสามารถมองจริยศาสตร์ในมุมอื่น ๆ ได้”

ปิดท้ายการเรียน ด้วยอาจารย์ถามนักศึกษาในห้องอย่างน่าสนใจว่า “ใครพร้อมจะสละสิ่งที่สำคัญกับเรา แต่ไม่ถึงกับชีวิต เพื่อให้โลกดีขึ้นในส่วนเล็กน้อย โดยที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่ม”เสื้อผ้าใหม่ รถคันใหม่ การมีลูก ฮีตเตอร์หน้าหนาว มือถือรุ่นใหม่ การกินเนื้อ ฯลฯ

มันยากและง่ายแต่ละคนต่างกัน บางคนยอมสละการมีลูกได้แต่ไม่สามารถสละฮีตเตอร์ได้ บางคนสามารถสละโทรศัพท์รุ่นใหม่ได้แต่ไม่สามารถสละการกินเนื้อได้

เธอโยงกลับมาเรื่องรัฐสวัสดิการ โดยชี้ให้เห็นว่ากลุ่มเสรีนิยมมาก ๆ อาจเสนอวิธีว่าให้ตัดงบประมาณด้านสวัสดิการเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า แต่อาจไม่มองว่าเมื่อโรงพยาบาล โรงเรียน ปิดตัว มันส่งผลต่อคุณค่าอะไรในสังคมที่สูญเสียไป มันไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข แต่มันสำคัญถึงหลักการวิธิการที่เราเชื่อในสังคม

ผู้สอนยกตัวอย่าง Sanna Marin นายกฯ หญิงวัย 34 ปี มาจากครอบครัวที่พ่อติดเหล้า เคยทำงานแคชเชียร์ มีคนเคยโจมตีว่าคนงานร้านสะดวกซื้ออย่างเธอจะมาบริหารประเทศได้อย่างไร เธอตอบว่า “ที่นี่ฟินแลนด์ ความดีงามของที่นี่คือไม่ว่าคุณเกิดอย่างไร คุณจะได้โอกาสที่ดีที่สุดเพื่อกำหนดชีวิตตนเอง”

การบรรยายครั้งนี้พอเป็นภาพสะท้อนสำคัญว่ารัฐสวัสดิการไม่ได้ผลักดันสู่คนรุ่นถัดไปด้วยตัวเลข ผลประโยชน์ แต่ด้วยฐานความคิดปรัชญา การตั้งคำถามบนสิ่งที่พื้นฐานการส่งต่อความเป็นไปได้จากรุ่นสู่รุ่น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีความรู้ หรือได้อ่านบทความ หรือได้ผ่านการบรรยาย แต่คือจุดเริ่มต้นจากการที่สังคมมีพื้นที่ ที่ให้คนที่ได้รับการโอบอุ้มดูแลจากยุคสมัยหนึ่ง ส่งต่อความฝันและความรู้สึกในการที่เป็นผู้รับสู่คนรุ่นใหม่อีกต่อหนึ่ง