รับบทเป็นบุคคลที่สองในโลกของคนเห็นต่างเขาคุยอะไรกัน ? - Decode
Reading Time: 2 minutes

‘คุยกับคนเห็นต่าง’ ผมไม่ค่อยเชื่อมั่นกับคำนี้นักเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี แต่สถานการณ์สังคมปัจจุบัน ทำให้ผมคิดว่า มันเลยจุดที่คนเห็นต่างจะมาพูดคุยกันแล้ว และเราจะพูดคุยกันได้อย่างไร เมื่ออยู่ในสังคมที่ยังมองคนไม่เท่ากันอย่างนี้อยู่เลย

ผมเก็บความไม่เชื่อมั่นนี้ไว้ และลองตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Thailand Talk โครงการที่จับคู่คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกันมานั่งคุยกัน บนความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากการพูดคุย

และก่อนที่วันกิจกรรมจะมาถึง ผมก็มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว เธอกล่าวใจความสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาว่า

“เราไม่จำเป็นต้องคุยกันเพื่อเปลี่ยนความเชื่อใคร แค่รับฟังอีกคนหนึ่งที่อยู่ตรงหน้า ดึงตัวเองออกมาจากสิ่งที่เราเห็นทุกวัน เพราะสิ่งที่เราเห็นมันก็จะอยู่ในมุมมองของเรา แต่จริง ๆ แล้วมันมีอย่างอื่นที่เกิดขึ้นเหมือนกัน เราอาจมองเห็นได้ไม่รอบด้าน แต่เราควรได้ยินสิ่งที่ต่างจากเราบ้าง”

นอกจากนี้ ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่าโครงการ Thailand Talk ได้ต้นแบบมาจาก My Country Talks ของเยอรมนี และกิจกรรมของที่เยอรมันนั้นประสบความสำเร็จถึงขนาดที่มีหลายคู่สนทนา เลือกที่จะสานต่อมิตรภาพกันต่อหลังจากสิ้นสุดงาน 

เมื่อรู้ดังนี้ผมจึงตั้งตารอการจับคู่สนทนา โดยหลักการจับคู่นั้นก็มาจาก 7 คำถาม ที่ทางโครงการให้ตอบตอนสมัคร โดยระบบจะคัดเลือกคู่สนทนาที่ตอบคำถามแตกต่างจากเรา

เวลาผ่านไปจนใกล้ถึงวันกิจกรรม มีอีเมลส่งยืนยันคู่สนทนามาถึงผม เธอเป็นข้าราชการ ที่มีความฝันอยากเห็นประเทศไทยมีนักการเมืองที่มองเห็นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่น่าเสียดายที่เธอไม่ได้ตอบรับยืนยันการสนทนาจึงทำให้ผมอดคุยกับเธอ

แต่แล้วผมก็ได้รับการจับคู่อีกครั้ง  โดยในอีเมลแนะนำตัวคู่สนทนามีใจความว่า “เธอเป็นกังวลในฐานะที่เป็นคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยและเห็นความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น” ความกังวลดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เธอออกมาร่วมโครงการ ฯ

ก่อนบทสนทนาจะเริ่มขึ้น

ก่อนที่ผมจะมาเล่าเรื่องราวให้ฟังว่าการสนทนาในวันนั้น ผลออกมาเป็นอย่างไร ผมจะขอแนะนำคู่สนทนา ให้ทุกคนได้รู้จักมากขึ้น

เธออายุใกล้เคียงกับผม (25 ปี) พ่อแม่ของเธอเป็นชาวต่างชาติที่มาทำงานที่เมืองไทย ทำให้เธอมีวัยเด็กและเรียนหนังสือที่ประเทศไทยจนถึงชั้นประถม ก่อนที่เธอจะไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีที่ประเทศแคนาดาและจบปริญญาโทที่ประเทศในยุโรป

สำหรับเธอการกลับมาเมืองไทยครั้งนี้เธอกล่าวกับผมสั้น ๆ ว่า

“ฉันไม่สามารถทนอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้”

แต่สำหรับคนที่ถึงแม้จะทนไม่ได้ ก็ต้องทนอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อไปเช่นผม เพราะมันคือบ้านเกิดเมืองนอน บทสนทนาระหว่างเรา 2 คน ที่กำลังเกิดขึ้นในระยะเวลาเกือบ 2 ชม. ทำให้เข้าใจในเหตุผลของอีกฝ่ายมากขึ้น

รัฐควรแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจใช่หรือไม่?

เราเริ่มต้นหัวข้อสนทนา หลังจากต่างฝ่ายต่างแนะนำตัวกันเป็นที่เรียบร้อย ผมเริ่มอ่านคำถามแรกจบลง เธอตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า รัฐควรแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เธอให้เหตุผลว่า

“ในช่วงโควิด ฉันได้ติดต่อกับเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันที่แคนาดา เพื่อนฉันบอกว่ารัฐบาลที่นั่นแจกเงินให้ทุกคนโดยการโอนเข้าบัญชี คำว่าทุกคนนั้นหมายถึงไม่ว่าคุณจะเป็นคนเชื้อชาติอะไร รัฐบาลแคนาดาจะจ่ายเงินให้หมด โดยไม่มีข้อแม้และเป็นจำนวนเงินที่อยู่ในระดับใช้ชีวิตได้จริง”

นอกจากนี้เธอยังให้เหตุผลต่อว่า รัฐบาลมีหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำผ่านการเก็บภาษีคนรวยเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือคนจน 

แต่ในคำถามข้อนี้ ผมคิดแตกต่างจากเธอ ผมพูดให้เธอฟังว่า ในบริบทของสังคมไทยที่เป็นอยู่ นโยบายแจกเงินของรัฐนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กลับกันนโยบายแจกเงินกับเผยให้เห็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน คนที่ได้รับแจกเงินล้วนเป็นชนชั้นกลางที่มีโทรศัพท์มือถือ เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่คนรากหญ้าไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการเหล่านี้ได้

“ฉันเห็นด้วยกับคุณในข้อนี้ แต่อย่างไร มันก็ควรเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดการปัญหานี้”

เธอกล่าวว่าไม่คุ้นชินกับสภาพสังคมไทยในหลาย ๆ มิติ ผมตอบกลับเธอไปในเรื่องนี้ว่าเพราะเธอมาจากในสภาพสังคมที่มันดีมาก การเอาความคาดหวังจากประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับมาในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไม่มีวันจบสิ้น มันอาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

“ฉันเข้าใจและพยายามลดความคาดหวัง แต่ฉันคิดว่าฉันไม่สามารถทนอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้ ทั้งฝุ่นควัน การคมนาคมที่กระจุกตัว การไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน ถ้าไม่ติดเรื่องครอบครัว ฉันคงอยากไปอยู่ในสังคมที่มันดีกว่านี้แต่มันก็ไม่ง่ายสำหรับคนอย่างฉัน คนที่ไม่สามารถเรียกประเทศใดประเทศหนึ่งว่าเป็นประเทศบ้านเกิดของตัวเอง”

สำนึกรักของคนไม่มีประเทศบ้านเกิด

ขอขยายความให้ทุกคนได้เข้าใจสิ่งที่เธอพูดมาก่อนหน้าว่า “คนที่ไม่สามารถเรียกประเทศใดประเทศหนึ่งว่าเป็นประเทศบ้านเกิดของตัวเอง” หากว่ากันตามเอกสารประจำตัวของเธอแล้ว เธอใช้พาสปอร์ตของประเทศตามสัญชาติพ่อแม่เธอ ซึ่งเธอก็ไม่เคยไปอาศัยหรือมีญาติมิตร เพื่อนสนิทอยู่ที่นั่น มันจึงเป็นการยากที่เธอจะกลับไปอาศัยอยู่

และสำหรับประเทศที่เธอเติบโตมาในวัยเด็กเช่นประเทศไทย เหตุผลหนึ่งเดียวที่เหนี่ยวรั้งให้เธอเลือกกลับมาใช้ชีวิตหลังเรียนจบก็เพราะพ่อแม่ของเธออาศัยอยู่ แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกผูกพัน หรือคิดว่าตนเองเป็นประชากรของประเทศนี้

“พ่อแม่ฉันทำงาน มีบ้าน และคิดว่าพวกเขาก็คงจะใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่เมืองไทย”

เธอกล่าว ก่อนที่ผมจะถามเธอต่อว่า แล้วในฐานะคนนอกที่เข้ามาอาศัยอยู่เมืองไทย คุณและครอบครัวมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องสังคมและการเมืองของประเทศนี้บ้าง

“ฉันไม่รู้นะว่าจริง ๆ แล้ว พ่อแม่ฉันคิดเห็นอย่างไร แต่ครอบครัวฉันมักจะบอกกันเสมอว่า อย่าไปแสดงออก หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง สำหรับครอบครัวฉันมันคือความเสี่ยง ถ้าหากรัฐบาลไม่พอใจเขาสามารถสั่งระงับวีซ่าของฉันและครอบครัวได้ทันที และถ้าหากฉันโดนคดีหรือโดนคุกคาม ฉันไม่ได้มีคนข้างหลังที่จะคอยช่วยเหลือ เหมือนพวกคุณที่เป็นคนไทย 

“แม้ฉันจะไม่ใช่คนไทย แต่ฉันก็ติดตามข่าวสารและอยากแสดงความคิดเห็น ฉันจึงเลือกมาโครงการนี้ แต่การพูดออกไปมีความเสี่ยง ทุกอย่างที่ครอบครัวฉันสร้างมาอาจหายไปทั้งหมดเลยก็ได้”

หลังเธอพูดจบ ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนสนิทคนนี้เป็นครอบครัวชาวจีนที่อพยพเข้ามา เพื่อนของผมถือเป็นรุ่นที่ 3 ของครอบครัวที่เข้ามาอยู่เมืองไทย เวลาพูดถึงเรื่องการเมือง เพื่อนคนนี้มักจะมีแนวคิดทำนองที่ว่า “อย่าไปจริงจังกับมันนักเลย” บางทีเหตุผลที่เขาไม่อยากจริงจัง อาจเป็นเหตุผลที่ใกล้เคียงกับที่คู่สนทนาในวันนี้ของผมบอกออกมา 

ผมถามเธอต่อว่ามีความรู้สึกอย่างไร กับการที่ตัวเองไม่สามารถพูดออกมาได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนประเทศอะไร

“คุณอาจจะคิดว่ามันเป็นข้อดี ที่ทำให้ฉันสามารถไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น การเป็นคนต่างชาติและไปใช้ชีวิตอยู่ที่ใดที่หนึ่ง มันมีข้อกำหนดที่ไม่ง่ายเสมอ และบางทีฉันมีความฝันที่อยากจะทำงานภาคประชาสังคม หรือทำงานให้กับรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่มันก็เกิดขึ้นได้ยากเมื่อฉันไม่ได้เกิดและเติบโตขึ้นมาในประเทศใดประเทศหนึ่ง” 

ในอีกมุมหนึ่ง ผมก็ได้แบ่งปันความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า สำหรับคนที่เกิดและเติบโตในสังคมไทยเช่นผม ผมก็มีความฝันที่อยากจะไปใช้ชีวิตต่างประเทศ อยากไปเรียนอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังที่เธอเล่าให้ผมฟัง มันคงทำให้ผมได้มุมมองความคิดที่แตกต่างและมีทางเลือกให้กับชีวิตมากขึ้น แต่ผมก็ติดข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างที่ไม่สามารถมีโอกาสได้ไปเหมือนเธอ ทั้งกำแพงภาษา ทุนทรัพย์ และภาระทั้งหมดทั้งมวลของผมที่ยังคงอยู่ในประเทศแห่งนี้ 

“แต่คุณรู้ไหมถึงฉันจะบอกว่าไม่อยากอยู่ในประเทศไทยซักเท่าไหร่ แต่บางเวลาที่ฉันไปอยู่ต่างประเทศ ฉันก็แอบคิดถึงอาหารไทยอร่อย ๆ ราคาถูกที่มีให้กิน 24 ชม. คิดถึงแสงแดดที่ส่องสว่างจ้าตลอดทั้งปีเหมือนกันนะ”

เธอกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ เมื่อนึกถึงข้อดีของประเทศไทยที่เธอพอจะคิดขึ้นมาได้ในช่วงเวลาที่เธอไปอยู่ต่างประเทศ แต่ดูเหมือน 2 สิ่งนี้คงจะไม่ใช่ปัจจัยที่เพียงพอที่จะทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจใช้ชีวิต เพราะเราต่างต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการมีอาหารอร่อย ๆ และแสงแดดจ้าจนแสบไหม้ตลอดทั้งปี

เราต่างต้องการ Freedom of speech

บางทีฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมสังคมนี้ถึงไม่สามารถมีเสรีภาพในการพูดได้ ตอนฉันเรียนที่ต่างประเทศ เราสามารถแสดงออกความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี ฉันติดตามข่าวสารการเคลื่อนไหวทางการเมืองประเทศไทยในปี 2563 มันทำให้ฉันรู้ว่าการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองในไทยต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง”

คู่สนทนาของผมกล่าวว่า แม้ตัวเธอเองจะอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ติดตามข่าวสาร รวมทั้งได้อ่านงานวิชาการที่มีคนเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองของประเทศไทย แต่เธอก็เสียดายเมื่อรู้ว่างานเหล่านั้นไม่สามารถหาอ่านได้ในประเทศไทย

ผมตอบกลับเธอไปว่า สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ เหมือนเป็นการปะทะกันระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกับคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง และประเทศไทยถูกหล่อหลอมมาด้วยชุดความคิดหนึ่งจากรัฐ ดังนั้นเมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งเสนอความคิดที่แตกต่าง การจะคงรักษาไว้ซึ่งสิ่งเดิม สำหรับคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงในสังคมนี้ จึงต้องทำการจำกัดและกำจัดคนที่เห็นต่าง ไม่ให้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น

“มันน่าเสียดายมากนะ กับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ จริง ๆ ตอนฉันเรียนปริญญาโท ฉันได้เรียนแนวคิดหนึ่งที่ชื่อว่า Participatory Democracy (ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม) แนวคิดนี้จะเป็นการรับฟังเสียงของคนทุกคน ไม่ใช่แค่การโหวตตามเสียงข้างมากเพียงอย่างเดียว ฉันมีความฝันที่อยากจะนำแนวคิดนี้ที่ฉันเรียนมา มาถ่ายทอดหรือพัฒนาในประเทศไทยเหมือนกัน”

ผมส่ายหน้าก่อนที่จะบอกเธอไปตามตรงว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยผมขอเพียงแค่ประชาธิปไตยแบบสามัญพื้นฐาน ผมยังคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นแนวคิดที่ก้าวหน้ากว่านั้น มันคงเป็นเรื่องไกลเกินจินตนาการของผม ก็ในเมื่อผมอยู่ในสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้ผมได้จินตนาการ

เวลาเคลื่อนผ่านไป 1 ชั่วโมงกับอีก 30 นาที ผมและเธอต่างเงยหน้าขึ้นไปดูนาฬิกาที่แขวนอยู่ตรงเพดานครั้งแรก บรรยากาศบ่ายวันเสาร์มีฝนตกลงมาฝนตกปรอย ๆ ให้ความรู้สึกร้อนอบอ้าว แถมยังไร้แรงลม

เธอกล่าวกับผมว่าคงต้องขอตัวเดินทางกลับก่อนเพราะมีธุระต่อ เราแลกช่องทางการติดต่อสื่อสารกัน เธอยังบอกอีกว่าผมแทบจะเป็นเพื่อนคนไทยคนแรกที่เธอได้พูดคุยตั้งแต่เดินทางกลับมาเพราะเพื่อนสมัยเด็กของเธอต่างก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกแล้ว

กิจกรรม Thailand Talk จบลง ผมได้เพื่อนใหม่มา 1 คน พร้อมกับการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่ก็พูดไม่ได้เต็มปากนักว่า เราคิดเห็นต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่การพูดคุยสร้างความเปลี่ยนแปลงในบางมุมมองที่คู่สนทนามอบให้ผม อย่างน้อยมันก็ดีกว่าการที่เราไม่ได้คุยกันเลย

แต่มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงไหม…นั่นก็คงเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม