มินามาตะ พิษอุตสาหกรรมที่แลกมาด้วยชีวิต - Decode
Reading Time: 2 minutes

มินามาตะ ภัยร้ายจากสารปรอทที่มากับโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทชิสโซะ (Chisso Corporation) เปิดกิจการในปี ค.ศ.1908 และพัฒนาจนกลายเป็นบริษัทผลิตสารเคมีขนาดใหญ่ ตามความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในขณะนั้น บริษัทชิสโซะตั้งอยู่บนเกาะคิวชู จังหวัดคุมาโมโตะ ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประชากรบนเกาะส่วนใหญ่ในขณะนั้นประกอบอาชีพประมง

ในปี 1932 บริษัทชิสโซะได้เริ่มการผลิตสาร Acetaldehyde ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของเคมีภัณฑ์หลายชนิด และมีการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารปรอทลงสู่อ่าวมินามาตะ นำมาสู่หายนะที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติและผู้คน  Hajime Hosokawa ซึ่งเป็นแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลของบริษัทชิสโซะ พบความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสารปรอทของโรงงาน โดยนำหอยจากบริเวณปล่อยน้ำเสียของโรงงานมาเป็นอาหารให้แมว พบว่าภายใน 78 วัน แมวมีอาการเหมือนผู้ป่วยโรคมินามาตะ

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ภาพยนตร์ มินามาตะ ภาพถ่ายโลกตะลึง ถูกจัดแสดงพร้อมวงเสวนาที่โรงภาพยนตร์ของห้างสรรพสินค้าเดอะมอล์งามวงศ์วาน เพื่อตระหนักถึงปัญหาของสารปรอท 

ยังไม่แพ้ หากยังยืนหยัดสู้

เราเห็นความเจ็บปวดของประชาชนจากต่อสู้กับรัฐและทุนมานักต่อนัก จากการขยายตัวของเขตอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือเมกะโปรเจคมากมาย ในนั้นมักมีประชาชนอยู่ในสมการสุดท้ายของการคิดคำนวณเสมอ หรือที่น่าเจ็บปวดไปกว่านั้น เราแทบไม่เห็นประชาชนอยู่ในสมการของอำนาจรัฐหรือทุนแม้แต่น้อยเลย

ดับเบิ้ลยู. ยูจีน สมิธ คือช่างภาพจากสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นตัวละครเอกของภาพยนตร์เชิงสารคดีเรื่องนี้ ซึ่งเป็นช่างภาพผู้ยืนหยัดบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดของประชาชน ชุดภาพถ่ายที่มีชื่อว่า Tomoko Uemura in Her Bath เป็นภาพหญิงชาวญี่ปุ่นกำลังอาบน้ำให้ลูกสาวของเธอที่มีชื่อว่า โทโมโกะ อูเอมุระ เป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคมินามาตะ

ภาพถ่ายชุดนี้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร LIFE ทำให้ชาวโลกได้รับรู้ปัญหามลพิษจากสารปรอทที่ชาวเมืองมินามาตะกำลังเผชิญอยู่  ตลอดการบันทึกภาพถ่ายที่เมืองมินามาตะ ยูจีน สมิธ เจอกับความยากลำบากมากมาย ก่อนที่จะได้ภาพกลับมาตีพิมพ์

ด่านแรกคือความไว้วางใจของชาวบ้าน เขาถึงขั้นต้องเอ่ยปากขอต่อชาวบ้านให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาวเมืองมินามาตะเพื่อที่จะได้ภาพที่ดีที่สุด หลังจากนั้นภาพถ่ายล้างฟิล์มชุดแรกของเขาถูกเผาทิ้งไม่มีชิ้นดี ยูจีนถึงขั้นโอดครวญว่าจะไม่ถ่ายภาพตรงนี้อีกแล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ยังยืนหยัดสู้ ซึ่งในภายหลังเขายังถูกทำร้ายร่างกายอย่างสาหัสโดยคนงานของบริษัทชิสโซะ ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่นี่กลับเป็นสาเหตุให้หนึ่งในชาวบ้านที่ลักลอบเผาภาพถ่ายของเขา ถึงต้องเอาม้วนฟิล์มที่แอบเก็บไว้มาคืน เพราะคงเห็นว่า หากชาวมืองมินามาตะยังยืนหยัดสู้แบบที่ยูจีน สมิธ สู้ในฐานะสื่อ ชาวเมืองมินาตะก็ยังไม่แพ้ 

มินามาตะ ภาพยนตร์ที่บอกให้สื่อมีความกล้าหาญ

สื่อ เป็นหนี่งในตัวแสดงที่มักถูกตั้งคำถามในพื้นที่ความขัดแย้งเสมอ หากใครหลายคนบอกว่าสื่อมีข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นต้นสังกัด กองบรรณาธิการ ทุนที่สนับสนุน หรือความปลอดภัยส่วนตัว  ทำให้สื่อหลายคนเลือกที่จะทอดทิ้งความจริงที่เกิดขึ้น หรือหลายครั้งหลายคราวก็ไม่มีความกล้าหาญ หากต้องเลือกที่จะยืนหยัดเคียงข้างคนตัวเล็กตัวน้อย  

หากจะพูดโดยง่าย กล้องบันทึกภาพ / วิดีโอ และปากกาคืออาวุธที่อยู่ติดตัวสื่อมาโดยตลอด แต่หลายครั้งการยอมจำนนของสื่อไม่ใช่การเลือกทิ้งอาวุธคู่กาย แต่เป็นการเลือกที่จะทิ้งความจริง ซึ่งเป็นดั่งใจความสำคัญของการทำหน้าที่สื่อ ภาพยนตร์เชิงสารคดีชุดนี้แสดงให้เห็นว่า ความกล้าหาญของสื่อเปลี่ยนโลกได้เสมอ  

มินามาตะ ชัยชนะจากการต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อย  

ทุนเดิมของความไม่พอใจระหว่างชาวบ้านกับบริษัทชิสโซะ คือการปล่อยน้ำเสียสู่อ่าวมินามาตะ ทำให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยกว่าเดิม ผนวกกับรายงานทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยคุมาโมโตะที่ใช้เวลากว่า 3 ปี ในการสืบหาสาเหตุของอาการที่เรียกว่าโรคมินามาตะ

และได้ข้อสรุปว่าอาการของโรคมินามาตะนั้น เกิดจากสารประกอบอินทรีย์ของปรอทที่ชื่อว่า methyl mercury  ซึ่งปนเปื้อนมากับน้ำเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทปล่อยลงสู่อ่าวมินามาตะโดยไม่ผ่านการบำบัด จากความไม่พอใจดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันที่หน้าโรงงานของบริษัทกว่า 4,000 คน และพังประตูโรงงานเข้าไป แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ถูกบีบให้รับเงินชดเชยค่าเสียหายในอัตราที่ต่ำมาก ต้องจำใจปิดปากเงียบทั้ง ๆ ที่ยังคงไม่พอใจบริษัทชิสโซะ  

ปี 1968 ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องบริษัทชิสโซะต่อศาลจังหวัดคุมาโมโตะ ถึงการละเลยไม่บำบัดน้ำเสียและปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษลงอ่าวมินามาตะ ต่อมา ปี 1973 ศาลได้พิพากษาให้บริษัทชิสโซะต้องจ่ายเงินเยียวยาค่าเสียหายให้กับชาวเมืองราว 158 ล้านบาท และการชดเชยเยียวยาก็ยังคงดำเนินมาถึงปัจจุบัน

มินามาตะถูกบันทึกให้เป็นกรณีสำคัญในการต่อสู้ของชาวบ้านคนธรรมดา ซึ่งในท้ายที่สุดทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกข้อบังคับ กำหนดกฎหมายใหม่ควบคุมขั้นตอนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นพิษในอัตราที่จำกัด และเป็นกรณีตัวอย่างให้กับประเทศต่าง ๆ ในโลก แต่นั่นก็ไม่ทันกาลกับชีวิตหลายชีวิตที่ต้องสังเวย 

มินามาตะ รูปธรรมของคำว่า “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา”  

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสารปรอทของบริษัทชิสโซะ ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนอย่างมหาศาลโดยที่ไม่อาจประเมินค่า เมื่อปีพ.ศ.2552 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายพิเศษสำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคมินามาตะ มีผู้ป่วยที่ยื่นใบสมัครเพื่อรับมาตรการเยียวยามากถึง 58,000 ราย และแน่นอนว่านี่คือจุดเริ่มต้นการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้คนที่ได้รับความเจ็บปวดมาอย่างยาวนาน 

การปล่อยสารปรอทจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำ โดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนการบำบัดจนพ้นขีดอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน จนนำมาสู่ความเสียหายที่ไม่มีวันหวนคืน แม้ปัจจุบันเราจะมีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท (The Minamata Convention on Mercury) และประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมให้สัตยาบันในปี พ.ศ. 2560  แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่พบปัญหาสารปรอทปนเปื้อนอีกเลย ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา รวมถึงมาบตาพุด จ.ระยอง ล้วนเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม ที่เคยพบการเปื้อนของสารปรอทในปลามาแล้วทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าวันนี้จะยังไม่มากพอที่จะสร้างความเสียหายอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับมินามาตะ แต่คำถามที่สำคัญก็คือประเทศไทยจำเป็นต้องเห็นโลงศพก่อนหรือ

หลักประกันว่าเราจะปลอดภัยจากการเติบโตของอุตสาหกรรม 

ในปัจจุบัน นับได้ว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา โดยเฉพาะในมิติของโรงงานอุตสาหกรรม ถือว่าเรายังเป็นประเทศที่ไม่ได้อยู่ในขั้นอิ่มตัวเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอเมริกา แคนาดา จีน ญี่ปุ่น หรืออินเดียที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมและพบปัญหาสารปรอทปนเปื้อนในอาหารมาก่อน

ศ.ดร.ฮานาเดะ มาซาโมริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง เคยตั้งคำถามถึงการจัดการของรัฐไทยในการเอาจริงเอาจังกับการควบคุมมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมไว้ถึง 4 คำถาม

1.เพราะค่าเสียหายเชิงลงโทษน้อยไปหรือไม่ ถึงยังเกิดผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม 

2.ค่าชดเชยต่อผู้เสียหายหรือผู้ป่วยจากเหตุการณ์อุบัติภัยไม่เพียงพอหรือไม่ 

3.มีโอกาสหรือไม่ที่ประเทศไทยจะมีการชดเชยเชิงระบุโทษอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐ 

4.HIA และการสื่อสารความเสี่ยงนั้นเป็นประโยชน์หรือมีเงื่อนไขแค่ไหน

เพราะฉะนั้นคำถามที่สำคัญก็คือว่า อะไรจะเป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นคงให้กับคุณภาพชีวิตของผู้คน หากต้องเจอกับการรุกคืบของโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้ โจทย์ของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งสุขภาพชีวิตของผู้คน เราจะสร้างความมั่นคงเหล่านี้ด้วยหลักเกณฑ์อะไร คุณภาพชีวิตที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์ น้ำที่สะอาด ปลาที่ไร้สารปนเปื้อน สิ่งเหล่านี้ถึงขั้นที่จะเป็นหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนควรได้รับ

หรืออย่างน้อย กฎหมายและมาตรฐานการควบคุมมลพิษควรเป็นหลังพิงให้กับประชาชนในวันที่ต้องลุกขึ้นสู้กับอำนาจทุน