ออร์แกนิคดินแดง “อนาธิปไตย” บนเส้นของความเท่าเทียมโดยไม่มีรัฐ (?) - Decode
Reading Time: 3 minutes

ไร้ระเบียบ! ไร้กฎหมาย! ไร้องค์กร!

ความรุนแรง! ความวุ่นวาย! ความโกลาหล!

คือสภาวะบ้านเมืองในจินตนาการของคนทั่วไป เมื่อได้ยินหรือพบเจอคำว่า “อนาธิปไตย” จนอาจจะเกิดความวิตกกังวลหรือหวาดกลัวขึ้นมา เพราะตั้งแต่ลืมตาดูโลกก็พบว่า ตนอาศัยอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “รัฐ” มาโดยตลอด โลกที่ไม่มี “รัฐ” จึงอาจจะไกลเกินกว่าที่จะจินตนาการออก

ในไทยตอนนี้เองก็มีคนพูดถึงคำว่า “รัฐล้มเหลว” (failed state) กันมากขึ้น จากการบริหารนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่เกิดความผิดพลาด และไม่ตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สัญญาณความไม่พอใจก็เริ่มปะทุมากขึ้นทุกที และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในตอนนี้คือ สมรภูมิที่ดินแดง ที่มีการปะทะกันระหว่างม็อบที่ไม่มีแกนนำกับเจ้าหน้าที่ คฝ. จนกระทั่งมีคนเรียกกันว่า สถานการณ์ทุกเย็นจนถึงดึกที่ดินแดงนั้น เป็นสภาวะกึ่งอนาธิปไตยที่ไร้วี่แววว่าเหตุการณ์จะจบลงอย่างไร

เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดอนาธิปไตย ไปพร้อมกับทำความเข้าใจสมรภูมิดินแดงในขณะนี้ De/code จึงชวนเคย์และมาดาลิน (นามแฝง) สองตัวแทนจาก “ดินแดง” (Din Deng) เว็บไซต์ที่กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับฝ่ายซ้าย การวิพากษ์ทุนนิยม และอนาธิปไตย สมทบด้วยแอดมินเพจ “ทะลุแก๊ซ” (Thalugaz) ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ดินแดง มาร่วมกันถอดรหัสแนวคิดอนาธิปไตยแบบเชิงลึก ซึ่งจะให้มุมมองที่มีต่ออนาธิปไตยแตกต่างไปจากจินตนาการและความรับรู้เดิม

เส้นบาง ๆ ระหว่างอนาธิปไตยกับมาร์กซิสต์

ก่อนเจาะลึกไปที่แนวคิดอนาธิปไตย (Anarchism) จะขอเริ่มต้นที่ความแตกต่างของปรัชญาการเมืองนี้กับมาร์กซิสต์ (Marxism) อันเป็นปรัชญาการเมืองที่อยู่ในสเปกตรัมทางการเมืองฝั่งซ้ายเหมือนกัน แต่ทว่าในรายละเอียดของทฤษฎีและปฏิบัตินั้นกลับมีความแตกต่างกัน

เคย์เล่าประวัติศาสตร์ของ 2 แนวคิดนี้ให้ฟังว่า มีความไม่ลงรอยกันมาตั้งแต่ในช่วงที่จะมีการรวมตัวของฝ่ายซ้าย เพื่อเป็นองค์กรที่จะพูดถึงเรื่องแรงงานในระดับสากล ซึ่งภายในองค์กรนั้นมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ฝ่ายคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ที่มุ่งวิเคราะห์เศรษฐกิจ-ชนชั้นเป็นหลัก และฝ่ายมิคาอิล บาคุนิน (Mikhail Bakunin) ที่ยึดแนวทางอนาธิปไตย โดยสิ่งที่ทำให้ไม่ลงรอยกันคือแนวทางการปฏิวัติ ฝ่ายมาร์กซิสต์มองว่า การปฏิวัติต้องยึดอำนาจรัฐแล้วจัดตั้งรัฐของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น เพื่อให้กรรมาชีพได้ควบคุมปัจจัยการผลิต ท้ายที่สุดชนชั้นและรัฐก็จะสลายไป

แต่ฝ่ายอนาคิสต์ (Anarchist) กลับมองว่า การใช้อำนาจรัฐหรือเอาตัวเองเข้าไปยุ่งกับรัฐ ไม่ได้ทำให้เกิดการปลดปล่อยที่แท้จริง เพราะรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ และการดำรงอยู่ของรัฐจะทำลายเสรีภาพของมนุษย์ ดังนั้น การเข้าไปยึดอำนาจรัฐมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจตรงนั้น เพื่อทำลายเสรีภาพของมนุษย์

“ฝ่ายมาร์กซิสต์จะวิจารณ์อนาคิสต์ว่า การที่คุณไม่เอารัฐก็คือไม่เอาการเมือง คุณจะไปเปลี่ยนแปลงได้ยังไง ในเมื่อคุณไม่สามารถควบคุมปริมณฑลทางเศรษฐกิจการเมืองได้ แต่ในขณะเดียวกัน อนาคิสต์ก็จะวิจารณ์มาร์กซิสต์ว่า แบบฟอร์มการปฏิวัติของมาร์กซิสต์มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะทำให้เกิดการรวมอำนาจแบบรัฐ อย่างที่เราเห็นจากการปฏิวัติรัสเซียหรือจีน อันนี้เป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ที่มีการถกเถียงกัน”

ส่วนอีก 2 คำที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินคือ คอมมิวนิสต์ (Communism) กับสังคมนิยม (Socialism) เคย์เล่าให้ฟังว่า ในทัศนะของมาร์กซ์คือคำคำเดียวกัน แต่หลังยุคของมาร์กซ์เป็นต้นมา แนวคิดสังคมนิยมถูกดัดแปลงไปเยอะมาก เช่น เกิดแนวคิด Social Democracy ที่ประนีประนอมกับนายทุนพอสมควร ซึ่งไม่เหมือนกับสิ่งที่มาร์กซ์เคยกล่าวไว้ เหมือนในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการหรือประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่เวลาพูดถึงคอมมิวนิสต์จะดู radical ไปกว่านั้น เช่น สหภาพโซเวียตสมัยวลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) หรือโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) หรือจีน ความหมายของคอมมิวนิสต์จึงดูเป็นแง่ลบมากกว่าเมื่อเทียบกับสังคมนิยม แต่ถ้าฝ่ายอนาธิปไตยหรือฝ่ายมาร์กซิสต์พูดถึงคอมมิวนิสต์ ก็จะหมายถึงสังคมที่เป็น collective ที่ไม่มีระบบทรัพย์สินส่วนตัวตามที่มาร์กซ์เคยพูดเอาไว้

ความจำเป็นของการทำลายรัฐและการสร้างประชาธิปไตยทางตรง

เคย์เริ่มต้นเจาะลึกแนวคิดอนาธิปไตย ด้วยการย้อนไปดูตั้งแต่รากศัพท์ของคำว่า Anarchism หรือ Anarchy ที่หมายถึง การไร้ซึ่งผู้ปกครองและรัฐบาล แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีระเบียบ หรือใช้แต่ความรุนแรงอย่างที่ฝ่ายต่อต้านอนาธิปไตยมักจะพูดถึงจนกลายเป็นภาพจำไป เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของอนาธิปไตยคือ

การทำลายรัฐเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางอำนาจที่เป็นลำดับชั้น ให้กลายเป็นความสัมพันธ์แนวระนาบที่ทุกคนอยู่ในระดับชั้นเดียวกัน

ไม่มีศูนย์กลางอำนาจที่ชัดเจน เป็นหลักการกระจายอำนาจ ไม่มีใครเป็นผู้นำถาวร ความสัมพันธ์แบบอนาธิปไตยจึงมีความเท่าเทียมพอสมควร ซึ่งมาดาลินเสริมด้วยว่า โมเดลแบบนี้ก็ถูกนำมาใช้ในเว็บไซต์ดินแดงด้วยเช่นกัน คือ แบ่งงานกันโดยไม่พยายามจะแสดงว่าใครมีตำแหน่งเป็นผู้นำ นี่คือสิ่งที่เน้นย้ำเสมอ

เคย์กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า “ระบบฉันทามติ” หรือ “ประชาธิปไตยทางตรง” อันเป็นการสร้างองค์กรรูปแบบใหม่ที่ต่างจากไประบบแบบเดิมที่มีลำดับชั้นสั่งการ กล่าวคือ เสียงทุกเสียงมีค่า การตัดสินใจในเรื่องหนึ่งๆ ไม่ยึดเอาแค่เสียงส่วนใหญ่ แต่ต้องฟังเสียงส่วนน้อยด้วย ดังที่มาดาลินย้ำในประเด็นนี้

“ถ้ามีเพื่อนคนหนึ่งไม่เห็นด้วย เราก็จะไม่เอาเสียงส่วนใหญ่แล้วทิ้งอีกเสียงหนึ่งไว้ เราจะต้องไปพูดคุยกับเขาว่า ถ้าเป็นแบบนี้ๆ เราจะสามารถปรับกันได้ไหม มันเป็นความมุ่งหมาย (purpose) หนึ่งที่จำเป็นจะต้องมีในองค์กร”

เคย์สรุปอุดมการณ์ของอนาธิปไตยออกเป็น 4 ข้อ คือ 1) ยึดถือความสัมพันธ์แนวระนาบ 2) ต้องกระจายอำนาจ ไม่ให้อำนาจรวมศูนย์ที่คนใดคนหนึ่ง 3) มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยทางตรง อย่างตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน แต่เคย์รู้สึกว่าข้อเรียกร้องของตัวเองไม่เคยถูกพูดถึงโดยตัวแทนเหล่านี้ จึงไม่เชื่อในระบบแบบนี้ แต่จะเน้นการแสดงออกของปัจเจกว่าต้องการอะไร แล้วหาฉันทามติร่วมกัน

“แล้วก็ข้อสี่ อันนี้อยากจะเน้นย้ำ เพราะคนเข้าใจเกี่ยวกับอนาธิปไตยผิดมากๆ ว่าต่อต้านการจัดตั้งองค์กรหรือระเบียบ จริงๆ แล้ว อนาธิปไตยเชื่อในการจัดตั้ง แล้วก็เชื่อเรื่องระเบียบในการอยู่ร่วมกันมากๆ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีกฎ ไม่มีผู้ปกครองแล้วเราจะไม่มีระเบียบ แต่เราจะปฏิเสธกฎที่มาจากใครก็ไม่รู้ สมมติว่า มีคณะกรรมการตั้งกฎหมายมาแล้วบังคับใช้กับทุกคนในสังคม เราก็จะมองว่า มันไม่ใช่สิ่งที่มาจากความต้องการของคนในสังคมจริง ๆ”

สิ่งสำคัญของอนาธิปไตยคือ empathy

เคย์เล่าถึงพัฒนาการของแนวคิดอนาธิปไตยว่ามีมาตั้งแต่การก่อตั้งสากลที่ 1 แล้วก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนถึงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จากนั้นกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ก็บูมขึ้นมา มีการก่อตั้งขบวนการมากมายในช่วงนั้น ซึ่งมักจะเรียกตนเองว่าเป็นพวก Antiglobalization หรือ Global Justice Movement โดยมีจุดประสงค์ในการต่อต้านระเบียบโลกเสรีนิยมใหม่ ที่ทำให้ระบบตลาดเข้ามาควบคุมชีวิตมนุษย์มากขึ้น แม้กระทั่งรัฐเองก็กลายเป็นนายทุนหรือตลาดไป โดยขบวนการอนาธิปไตยมีกระจายอยู่ทั่วโลก เช่น ในชิลีมีการเคลื่อนไหวคล้ายๆ ม็อบทะลุแก๊ซในตอนนี้ที่สู้กับตำรวจและมีการจัดตั้งแนวระนาบ แต่ที่ชิลีจะเกิดขึ้นก่อน หรือ Black Live Matters ก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นอนาคิสต์

กระนั้น ก็ยังมีข้อถกเถียงระหว่างอนาคิสต์กับมาร์กซิสต์ว่า สรุปแล้วแนวทางแบบไหนกันแน่ที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติได้จริงๆ

“ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาทะเลาะกันว่า มาร์กซิสต์หรืออนาคิสต์อะไรดีกว่า ถ้าเรามีความเป็นสากลมากกว่านี้ เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากระบบเสรีนิยมใหม่ ผมคิดว่า มาร์กซิสต์กับอนาคิสต์อาจไม่ต้องเถียงกันว่าใครดีกว่า เพราะว่าเหมือนเรามีศัตรูตัวเดียวกันแล้ว”

แม้ในไทยจะมีการเผยแพร่แนวคิดอนาธิปไตยน้อยมาก ในส่วนของพื้นที่วิชาการก็ไปทางมาร์กซิสต์เป็นส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าปัจจุบันจะไม่มีการจัดตั้งองค์กรแบบอนาธิปไตยเลย เคย์และมาดาลินได้ยกตัวอย่าง Food Not Bombs คือกลุ่มที่ทำอาหารไปแจกเพื่อสื่อสารว่า เราอยู่ในระบบที่ปล่อยให้มีคนหิวโหย แต่มีเงินเอาไปทุ่มกับสงคราม ซึ่งในไทยมีอยู่ 2 แห่ง คือ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ทั้ง 2 คนก็มีส่วนร่วมและอยู่ในขบวนการนี้

มาดาลินเริ่มเล่าตั้งแต่ครั้งแรกของการประชุมจัดตั้ง Food Not Bombs ซึ่งทุกคนจะได้พูด แต่ไม่ได้เป็นการบังคับ ทว่าด้วยบรรยากาศที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนพูดอะไรก็ได้ ทำให้คนที่ไม่ค่อยพูดก็อยากจะพูดออกมา ทุกคนค่อนข้างมี empathy ต่อกัน ไม่เห็นความเป็นหัวหน้าโผล่พ้นออกมา

เคย์เล่าต่อว่า พอถึงขั้นตอนของการทำอาหารก็จะแบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายทำอาหาร ฝ่ายแพ็คของ ฝ่ายจัดเตรียมสถานที่ ฯลฯ คนที่อยู่ในตำแหน่งหนึ่งอาจจะขึ้นมานำชั่วคราว แต่จบกิจกรรมทุกคนก็เท่ากันเหมือนเดิม

“เราไม่รู้สึกถึงเส้นแบ่งความเป็นหัวหน้าตรงนั้น เพราะแต่ละฝ่ายสามารถเดินเข้ามาช่วยกันได้หมด ต่างจากที่เราไปทำกับกลุ่มอื่นๆ… คือทุกอย่างเริ่มจากตอนแรกที่เราคุยกันว่า มายเซ็ทเราจะเป็นยังไง ถ้าไม่เริ่มจากตอนแรกมันจะยากมาก ถ้าเราคุยกันแต่แรกว่าไม่มีผู้นำ เราจะเข้าไปซัพพอร์ตง่ายมาก” – มาดาลินกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของกระบวนการทำงานของกองบรรณาธิการเว็บไซต์ดินแดง มาดาลินเล่าว่า พยายามที่จะให้มีลักษณะคล้ายการทำงานแบบ Food Not Bombs เหมือนกัน เช่น ถ้าได้ทุนในการทำงานมา เราจะต้องจัดสรรอย่างเป็นธรรมให้แก่สมาชิกทุกคน และจะต้องมี empathy อย่างเท่าเทียมกัน เข้าใจความลำบากหรือความจำเป็นของสมาชิกแต่ละคน ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลาง

ออร์แกนิคดินแดงในสภาวะกึ่งอนาธิปไตย (?)

สำหรับสถานการณ์อันร้อนระอุบริเวณดินแดง ที่มีการกล่าวกันว่ามีสภาวะเหมือนกึ่งอนาธิปไตย เคย์ให้ความเห็นว่า คนที่อยู่บนท้องถนนเขาอาจจะรู้จักหรือไม่รู้จักอนาธิปไตยก็ได้ แต่การแสดงออกของพวกเขาคือ การต่อสู้กับรัฐโดยตรงผ่านการโจมตีและต่อต้านตำรวจ ไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยเหมือนกลุ่มอื่นๆ ผู้ชุมนุมเป็นเยาวชนหรือชนชั้นแรงงานที่ถูกรัฐกระทำความรุนแรงมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นในสายตาของพวกเขา รัฐจึงเลวและแย่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือนายกรัฐมนตรีก็ตาม พวกเขาเลือกที่จะแสดงออกชัดเจนว่าไม่เอารัฐ

มาดาลินมองว่า สถานะของผู้ชุมนุมที่ดินแดงไม่สามารถจะไปเจรจาต่อรองได้เหมือนกับม็อบอื่นๆ ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นชนชั้นล่าง ตำรวจหรือรัฐเองก็พยายามกระทำต่อชนชั้นล่างที่ไม่มีทางสู้ ซึ่งชนชั้นล่างไม่สามารถจะต่อรองได้เหมือนชนชั้นกลางที่มีความรู้ว่าจะไปหาความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง

“เวลารัฐจะมองคนจน เด็กแว้น เด็กช่าง ว่าใช้ความรุนแรง จึงมีความชอบธรรมแล้วที่จะทำร้ายหรือกำจัดคนพวกนี้ออกไป แต่คนทำงานอย่างพวกเรา รัฐไม่ได้มองว่าอันตราย ก็ทำงานหาเงินไป… ส่วนจะเรียกว่า สภาวะแบบอนาธิปไตยได้หรือไม่ ก็ไม่อยากฟันธง แต่ขบวนการเคลื่อนไหว ข้อเรียกร้อง หรือโมเมนตัมที่อยู่ตรงนั้นมันชัดเจนว่า เขากำลังต่อต้านอำนาจรัฐอยู่ จะเรียกว่าเป็นอนาธิปไตยก็ได้ในแง่นี้” – เคย์กล่าวทิ้งท้าย

ทางแอดมินเพจทะลุแก๊ซให้มุมมองต่อการชุมนุมบริเวณดินแดงว่า มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดอนาธิปไตย กล่าวคือ ต่อต้านการมีอยู่ของรัฐด้วยการอารยะขัดขืน ไม่สนใจกฎหมายรวมไปถึงจริยธรรมทางสังคมต่างๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดกรอบสันติวิธีของผู้ชุมนุม และต้องการประชาธิปไตยทางตรงที่ทุกชนชั้นเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

“อนาธิปไตยไม่ใช่การก่อความวุ่นวายตามภาพจำของพวกทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย หรือพวกกลางขวา ที่สนับสนุนการมีอยู่ของรัฐทุนนิยม เพื่อพวกนี้จะได้ใฝ่ฝันขึ้นไปเป็นชนชั้นปกครองใหม่ แต่ซุกซ่อนระบบชนชั้นไว้เหมือนเดิม แต่อนาธิปไตยคือ การทำให้ประชาชนทุกชนชั้นมีสิทธิและเสรีภาพในการกำหนดชีวิตตัวเอง ไปจนถึงกำหนดรูปแบบและความสัมพันธ์ต่างๆ ทางสังคมด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติ หรือความเข้าอกเข้าใจ เอาใจใส่ปัญหากันและกันอย่างจริงใจ ในฐานะเพื่อนมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่การเข้าใจในความสัมพันธ์แบบแกนนำกับผู้ชุมนุม”

แต่ด้วยความที่เป็น organic anarchist ที่ไร้การจัดตั้ง ทำให้ม็อบยังคงไร้พลังและทิศทางในการร่วมมือช่วยเหลือกันตามแนวคิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Mutual Aid) ของปีเตอร์ โครพอทคิน (Peter Kropotkin) ที่เชื่อว่า สัตว์ (อันหมายถึงมนุษย์ด้วย) ไม่ได้มีวิวัฒนาการจากการแข่งขันระหว่างสายพันธุ์ แต่มีวิวัฒนาการจากการร่วมมือกัน และช่วยเหลือกันเพื่อเอาชนะขีดจำกัดของธรรมชาติที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบทางชีวภาพ

เจาะลึก “ทะลุแก๊ซ” วิธีการ-เป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง…

การออกมาเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมอิสระที่ดินแดง หรือที่เรียกกันว่า “ม็อบทะลุแก๊ซ” ทำให้มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับวิธีการและการแสดงออก ซึ่งการจะทำความเข้าใจม็อบนี้ ไม่สามารถจะวิเคราะห์อย่างฉาบฉวยตามภาพที่ปรากฏได้ แต่ต้องพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้พวกเขาทนไม่ได้จนต้องลงถนน

แอดมินเพจทะลุแก๊ซเล่าถึงเหตุผลที่ผู้ชุมนุมเลือกใช้วิธีการตอบโต้กับ คฝ. ว่า เกิดจากหลายปัญหาที่สะสมและถูกกดทับ เช่น ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้ครอบครัวขาดรายได้ บางคนต้องสูญเสียคนในครอบครัว บางคนตกงาน บางคนสังคมรังเกียจ รัฐก็กดขี่พวกเขามาทั้งชีวิตผ่านองค์กรตำรวจ

“มวลชนจึงลุกขึ้นไปตอบโต้ด้วยพลุไฟ ประทัดลูกบอล ระเบิดแฮนด์คราฟต์ รวมไปถึงการเผาป้อมตำรวจ รถตำรวจ เพราะนั่นเป็นสัญญะของอำนาจรัฐที่กดขี่พวกเขา จนระเบิดออกมาเป็นความโกรธแค้นอำนาจรัฐที่คอยขัดขวางความหวัง ความฝัน ช่วงชิงอนาคตของพวกเขาไป”

ในแง่นี้ แนวทางของผู้ชุมนุมที่ดินแดงจึงแตกต่างจากม็อบฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ ซึ่งแอดมินเพจทะลุแก๊ซมองว่า ฝ่ายประชาธิปไตยผลิตซ้ำลัทธิบูชาตัวบุคคล ห้ามวิจารณ์แกนนำ ซึ่งเป็นเรื่องผิดที่ไม่วิพากษ์คนกันเองอย่างถึงที่สุด ทำให้การเคลื่อนไหวของพวกเขาไม่ได้ก่อให้เกิดฉันทามติร่วม เป็นเพียงฉันทามติระหว่างชนชั้นกลาง ปัญญาชน รวมถึงสลิ่มเก่าที่ไม่ได้มีสำนึกประชาธิปไตยเท่านั้น

คนเหล่านี้ไม่มี empathy อะไรเลยเรื่องชนชั้น ทั้งๆ ที่การศึกษาของพวกเขาควรเป็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้เพื่อชนชั้นกรรมาชีพมากกว่ารวมกลุ่มพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ม็อบควรเน้นที่การรื้อสร้างปัญหาทางชนชั้น และมอบอำนาจให้ผู้คนที่มาร่วมม็อบมีสิทธิ์ลงความเห็นว่าจะเคลื่อนไหวกันอย่างไร ผ่านโครงการทางการเมืองที่ต้องระดมความเห็นจากทุกฝ่าย หรือควรมีประชามติภายในม็อบเพื่อหาทิศทางในการเคลื่อนไหวร่วมกัน

“แกนนำคอยแต่สร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ด้วยการพร่ำบอกว่า เวลาอยู่ข้างเรา เราคือเพื่อนกัน แต่เวลาของพวกเขา (ชนชั้นกลาง) ไม่เท่ากับเวลาของผู้ชุมนุมที่ดินแดง (ชนชั้นล่าง) เพราะคนที่นั่นไม่ได้มีต้นทุนในการขับเคลื่อนทางการเมืองด้วยเสรีภาพอย่างแกนนำ แต่พวกเขามีเพียงชีวิตเป็นเดิมพันกับวิกฤตครั้งนี้ ทันทีที่พวกเขาเลือกการเคลื่อนไหวแนวที่เป็นสันติวิธีเชิงตอบโต้ แกนนำที่เคยบอกว่าพวกเขาเป็นเพื่อนกัน แ-่งรีบตัดขาดพวกเขาโดยทันที”

ส่วนการมีอยู่ของรัฐที่ไม่เคยจะบริหารอะไรได้ คอยแต่ปราบปรามประชาชนมาโดยตลอด ใช้อำนาจรัฐสนับสนุนชนชั้นนายทุนให้มีอำนาจมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนเครือข่ายเผด็จการอำนาจนิยมต่างๆ ให้เข้าไปมีบทบาทในสภา ได้สร้างความเสียหายมากว่า 7 ปี แอดมินเพจทะลุแก๊ซยกตัวอย่างกรณี คสช. ออกแผนแม่บททวงคืนผืนป่าที่ชัยภูมิอันเป็นบ้านเกิดของแอดมินเองช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ใหม่ๆ ส่งผลให้ชาวบ้านถูกไล่ออกจากพื้นที่ทำกินของตนเอง จากการยึดที่คืนราชพัสดุ เกิดข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับรัฐ จนทำให้ผู้นำชุมชนหายตัวไป และพบศพ 1 เดือนหลังจากนั้น

เมื่อถามถึงข้อเสนอที่อยากให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แอดมินเพจทะลุแก๊ซตอบว่า ต้องยุบขบวนการเคลื่อนไหวทั้งหมด แล้วนำประชาธิปไตยทางตรงมาจัดตั้งขบวนการปฏิวัติประชาชน และร่วมกันสู้กับเผด็จการอำนาจนิยมด้วยการทำสงครามชนชั้นและต่อต้านทุนนิยม รวมถึงจับมือกับขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อจัดตั้งสหภาพประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ต่อให้พวก-ึงเด็ดดอกไม้จนหมดป่า เหยียบย่ำประชาชนให้จมดินแค่ไหน สุดท้ายแล้วฤดูใบไม้ผลิก็จะมาถึงอยู่ดี… ต่อให้มันเป็นการปฏิวัติชั่วชีวิต แต่สักวันจะเกิดขึ้นแน่นอน ขอให้พวก-ึงอย่าชิงตาย-่าไปก่อนดูความล่มสลายของตัวเองแล้วกัน ด้วยความศรัทธาในประชาชน การปฏิวัติจงเจริญ” – แอดมินเพจทะลุแก๊ซกล่าวทิ้งท้ายถึงผู้มีอำนาจรัฐ

ปลายทางของสมรภูมิดินแดงจะจบอย่างไร ยังที่ยากจะคาดเดา แต่สิ่งที่ทราบแน่ชัดจากการชุมนุมอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2 เดือน คือ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีสัญญาณที่จะประนีประนอมกับรัฐ ซึ่งพวกเขามองว่าได้สร้างความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่พวกเขามาเป็นเวลานาน ทีนี้ รัฐจะเลือกวิธีในการรับมืออย่างไร ระหว่างราดน้ำเพื่อดับไฟกับราดน้ำมันลงกองเพลิงให้ไฟลุกลาม

สภาวะกึ่งอนาธิปไตยยามเกิดม็อบที่ดินแดง ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามกันต่อไป…