โอบอุ้มคนรุ่นใหม่ไว้ในระบบอาวุโส ซื้อใจด้วยความมั่นคงในงานราชการ ที่ทางและเส้นบาง ๆ ระหว่างเจน - Decode
Reading Time: 2 minutes

 

เรียนจบ สอบข้าราชการ ชีวิตมั่นคง คือความหวังที่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยในรัฐไร้สวัสดิการแห่งนี้ปรารถนาให้ลูกหลานตัวเองไปถึง แต่ท่ามกลางสังคมที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์งานสายนี้ดังมากขึ้น ตั้งแต่ว่าเป็นงานที่เติบโตช้า ระบบอุปถัมภ์ ไปจนถึงความแข็งทื่อของระเบียบ ล้วนก่อผลกวนใจคนรุ่นใหม่ไม่น้อยว่าจะเอายังไงกับอนาคตของตัวเองต่อ ใจหนึ่งก็อยากเข้าไปเป็นกำลังในการรับใช้สังคมโดยตรง อยากได้สวัสดิการดี ๆ ที่มั่นคง อีกมุมก็กลัวใจว่าเข้าไปแล้วจะถูกระบบกลืน หมดไฟ และไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริง ๆ 

เพื่อขยายพรมแดนของข้อถกเถียงดังกล่าวและมองที่ทางอันเป็นไปได้ในงานข้าราชการของคนรุ่นใหม่มากขึ้น De/code ชวนคุยกับอร-ณัฐวรรณ ติรกิจพานิชกร นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ และ มด (นามสมมติ) เด็กจบใหม่ที่ตัดสินใจลาออกหลังจากทำงานราชการได้เพียงสามสัปดาห์ 


ความหวังในวันที่เลือกเดินสายนี้

มีเหตุผลมากมายที่คน ๆ หนึ่งเลือกก้าวออกมาเดินบนเส้นทางสายราชการ สำหรับอรแล้ว เธอเปิดเผยว่า “เหตุผลหลักที่เลือกรับราชการคือแม่ ท่านอยู่ต่างจังหวัด เราหวังอยากกลับไปอยู่กับท่าน แต่เราเรียนจบนิเทศศาสตร์ ซึ่งงานที่ตรงสายในต่างจังหวัดแทบไม่มี หรือถ้ามีบ้างเงินเดือนก็น้อยมาก เราก็เลยเลือกสมัครเข้ากรมประชาสัมพันธ์ คือมั่นใจว่าเป็นงานที่ตรงสายและเติบโตได้แน่ ๆ  เป็นการวางแผนด้วยโจทย์ว่าทำยังไงถึงจะได้กลับบ้านพร้อมมีเงินที่มั่นคง เราเป็นคนเดียวในบ้านที่รับราชการ ก็คิดว่าถ้าแม่ไม่สบาย ตรวจพบโรคนั่นนี่ขึ้นมาจะทำยังไง จึงเลือกซื้อความมั่นคงในจิตใจตัวเองด้วยการรับราชการ

ด้านมด เล่าว่า “เรียนจบมาช่วงโควิด ก็หางานทำ แล้วเห็นตำแหน่งนั้นเปิดรับซึ่งดูเป็นตำแหน่งที่น่าจะได้ทำงานกับสังคมโดยตรง ก็รู้นะว่าตัวเองไม่ได้มีพลังจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก

แต่คิดว่าการที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบแล้วเราสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในงานนั้น ๆ ได้ หรือหาวิธีใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อให้ระบบดีขึ้น ซึ่งประชาชนที่มาใช้บริการก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย

อีกอย่างก็มีเรื่องอยากอยู่ใกล้บ้าน ส่วนเรื่องสวัสดิการไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก เพราะ ณ ตอนที่เราสมัคร ครอบครัวตัวเองสามารถจัดการความพร้อมเรื่องนี้ได้แล้ว”


ความจริงของเหรียญสองด้าน

 “คนมักตั้งแง่กับข้าราชการว่าเป็นภาพลบอยู่แล้ว จึงอาจไม่ใจกว้างพอที่จะเปิดรับว่าภาพลบนั้นมีเหตุผลอะไรบ้าง”

“เรื่องแรกคือระบบอุปถัมภ์ เราก็เคยคิดว่ามันต้องมีแน่ ๆ แต่ตั้งแต่สอบเข้าจนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่เจออย่างเรื่องใช้เส้นสายใด ๆ นะ ส่วนเรื่องการเติบโตอันนี้ก็ยอมรับว่าอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถเป็นหลัก เพราะการเลื่อนระดับแต่ละครั้งจะมีช่วงเวลาที่ชัดเจนว่าจะต้องอยู่ในตำแหน่งนานเท่าไหร่ ซึ่งไม่เหมือนเอกชนที่เลื่อนตามความสามารถ แต่ละที่อาจมีการเลื่อนตำแหน่งไม่เหมือนกัน แต่ที่เจอมาคือโปร่งใสนะ”

“เรื่องเสรีภาพทางความคิด แต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน เราเปลี่ยนหน่วยงานมาสามที่แล้วก็มีที่ ๆ รับฟังมาก รับฟังน้อย และก็มีบางที่ ๆ หัวหน้าไม่รับฟังความเห็นเลย จนคนร่วมงานต้องลาออก ส่วนตัวคิดว่าอุปสรรคในงานสายนี้คือการทำงานกับคนที่มีอายุที่ต่างกันเยอะ เพราะหลาย ๆ อย่างเขาอาจไม่คุ้นเคย เราต้องคอยชี้แจง เช่นใช้ Google Sheet ให้เขาช่วยกันกรอกข้อมูล ซึ่งบางทีเราอาจวางมาตรฐานว่าทุกคนทำได้ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ มันมีทั้งคนที่ทำได้และไม่ได้ และบางคนที่อายุมากกว่าแต่อยู่ในระดับเดียวกับเรา เราก็ไม่สามารถสั่งเขาได้โดยตรง ต้องหาวิธีสื่อสารกัน”

คือความเห็นที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ทำงานราชการในปีที่ 6 ของอร  ขณะที่มดซึ่งเข้าสู่แวดวงราชการภายใต้โครงการพนักงานราชการเฉพาะกิจ ดูจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป เธอเผยว่า “อย่างที่บอกว่าเข้ามาเพราะส่วนหนึ่งอยากทำงานบริการสังคม ช่วยเหลือประชาชน แต่เหมือนว่าตำแหน่งงานที่ระบุกับสิ่งที่ต้องทำนั้นไม่ตรงกันเท่าไรนัก ตรงนี้เราเองก็ผิดหวัง ผิดหวังที่เพราะรู้สึกเขาไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นลำดับเเรกจริง ๆ”

“อีกเรื่องที่ทำให้อึดอัดคือเรื่องลำดับชั้น ด้วยความที่เราเติบโตมาในสังคมที่ไม่ได้จัดลำดับชั้นมากนัก ตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยเรารู้สึกเท่าเทียมกันกับเพื่อน ๆ สามารถพูดคุยกับอาจารย์ได้อย่างเสรี และถึงแม้จะรู้มาบ้างแล้วว่าข้าราชการมีลำดับชั้น แต่ก็ไม่คิดว่าคนจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มากถึงขนาดนี้ เราไม่คิดว่าเขาจะเอาลำดับชั้นมาปิดกั้นการสนทนาที่ควรเป็นการโต้เถียงอย่างอิสระ

บางเรื่องที่เกี่ยวกับการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น  เราก็อยากเสนอวิธีการเเก้ปัญหาออกไป แต่มันไม่มีพื้นที่แบบนี้ให้เรา ผลกระทบที่ตามมาคือทำให้คนเลือกที่จะไม่พูดถึงปัญหา ก้มหน้าก้มตาทำงานกันต่อไป”

“เรื่องสุดท้ายคือเสรีภาพในการคิด พูด แต่งกาย และอื่น ๆ ที่ค่อนข้างถูกจำกัด กลายเป็นสิ่งที่คนร่วมงานหยิบยกขึ้นมาพูดติ และก็มีเรื่องทัศนคติการให้คุณค่าที่บอกว่าคนทำงานหนัก กลับช้า วันหยุดไม่หยุด คือคนที่ทุ่มเท เป็นคนเก่ง คำถามคือในเมื่อทำงานเสร็จภายในชั่วโมงที่กำหนดก็ไม่ได้แปลว่าไม่ทุ่มเทงานไหม เพราะเราเชื่อ สมดุลของการทำงาน การกลับมาพักผ่อนกับครอบครัว แต่เรื่องที่เหมือนจะเป็นฟางสุดท้ายให้เราตัดสินใจอยากจะออกมาคือความไม่เห็นใจ ไม่แน่ใจว่าเพราะธรรมชาติงานราชการที่ทำให้คนกลายเป็นหุ่นยนต์หรือเพราะการขาดความเห็นใจส่วนตัวของหัวหน้างาน เหตุการณ์วันนั้นคือเรานั่งประชุมงานกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นทุกคนทำงานอย่างอื่นมาก่อนแล้วการประชุมก็ยาวนาน ประเด็นที่ประชุมก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แล้วมีพี่คนหนึ่งเขาไม่สบาย เขาก็ดูโทรม แต่ก็ต้องประชุมต่อ ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปพัก ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ จนเมื่อโอกาสอื่นเข้ามาในชีวิต เราจึงเลือกเดินออกมาอย่างไม่ลังเล”

จะเห็นได้ว่าประสบการณ์ต่องานราชการของอรและมดนั้นค่อนข้างแตกต่างกัน ซึ่งพอสรุปได้ว่าหน่วยงานหรือสภาพแวดล้อมแต่ละที่ก็มีผลต่อความแตกต่างนั้น อย่างไรก็ดีเมื่อไม่ได้เป็นเหรียญด้านเดียว จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเรื่องราวอย่างที่มดพบเจอนั้นมีอยู่ในงานข้าราชการ คำถามที่ควรถามต่อไปคือจะลดทอนประเด็นปัญหาเหล่านั้นเพื่อตระเตรียมพื้นที่การทำงานที่สอดรับกับลักษณะของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไรบ้าง


HiPPS ทางเลือกที่ท้าทาย

แม้ไม่อาจแก้ปัญหาของงานข้าราชการได้ทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาสำนักงานข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เองก็พยายามดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาสู่แวดวงวิชาการและสร้างที่ทางที่ค่อนข้างจะประกันความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเติบโตได้ โครงการข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า HiPPS เป็นหนึ่งในความพยายามดังกล่าว โดยหลักคือต้องการดึงดูด รักษา และจูงใจคนเก่ง คนดี มีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้อยู่ในงานราชการ

อร ซึ่งเข้าสู่งานราชการด้วยช่องทางนี้ กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นความพยายามจูงใจให้คนอยู่ในระบบราชการต่อไป ใครที่คิดว่าอิ่มตัวหรือเบื่องานเดิมไว โครงการนี้ก็เป็นทางเลือก เพราะได้เรียนรู้งานใหม่ ๆ สังคมใหม่ ๆ โดยไม่มีข้อจำกัด เมื่อเข้าไปแล้วก็จะถูกให้เวียนงาน ไม่ได้ทำที่เดิมตลอด ซึ่งตั้งแต่ตอนเข้าไปแรก ๆ ก็ต้องสร้างเป้าหมายของตัวเองว่าอยากเป็นข้าราชการระดับ C9 ตำแหน่งไหน ที่ไหน อย่างเราวางเป้าว่าจะเป็น ผอ.สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ก็ช่วยทำให้มองเห็นว่าจะไปถึงจุดนั้นอย่างไร ตัวเองจะไปเวียนทำงานที่ไหนบ้าง”

“และด้วยความที่โครงการบังคับให้ย้ายหน่วยงานบ่อย ก็ถือเป็นความท้าทายสำหรับใครหลาย ๆ คนเพราะต้องออกจาก Comfort Zone  ทุก ๆ สองปี เหตุผลที่ต้องเวียนคือเรื่องประสบการณ์ เขาอยากให้เราได้ทำงานหลายที่ ๆ เพราะเอื้อให้เติบโตไปเป็นผู้บริหารระดับสำนักได้ดีกว่า ได้รู้ ได้เข้าใจหลายส่วน”

เมื่อค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานข้าราชการพลเรือนพบว่าโครงการ HiPPS มีมาเเล้วถึง 16 รุ่น มีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการไปประจำในกระทรวงทุกกระทรวงเเล้วถึง  1,350 คน เเละปัจจุบันกำลังดำเนินการในรุ่นที่ 17  

นอกจากโครงการ HiPPS แล้ว อรยังแนะนำอีกว่าเมื่อเข้าไปทำงานราชการครบ 1 ปี แล้วอยากไปสร้างสมประสบการณ์เรียนต่อที่ต่างประเทศ ก็มีทุนพัฒนาข้าราชการสนับสนุน ซึ่งทุนนี้จะตัดคู่แข่งจากภายนอกออกไป และแม้ต้องกลับมาชดใช้ทุน แต่ถ้าลองคำนวณเวลาดูก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่พ้นเลขสามไป ถ้าใช้ทุนครบตามเวลาแล้วคิดว่าไม่อยากไปต่อในสายข้าราชการอีก ก็ยังพร้อมที่จะเริ่มต้นงานที่ใหม่ ทั้งยังมีวุฒิปริญญาโท จากต่างประเทศติดไว้ในมืออีกด้วย

ขณะที่มดมองว่าโครงการต่าง ๆ ที่ริเริ่มมาก็นับเป็นเรื่องน่ายินดี แต่สิ่งสำคัญในการจะโอบอุ้มคนรุ่นใหม่ไว้ในระบบควรเริ่มจากความพยายามที่จะเข้าใจคนรุ่นใหม่

“ขั้นแรกอยากให้ทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างช่วงวัยก่อน อยากให้ตระหนักว่าคนรุ่นใหม่ ๆ ก็ตั้งใจอยากจะทำให้สังคมดีเหมือนคนรุ่นก่อน เพราะเราจะอยู่ในสังคมนี้ไปอีกนาน เพราะฉะนั้นได้โปรดอย่าตกใจ ว่าเราเข้ามาแล้วจะไปทำลายระบบ

เราเพียงแค่อยากเสนอเครื่องมือใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ที่คนรุ่นเรามองว่ามันจะช่วยให้งานไปถึงเป้าหมายได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนเรื่องลำดับชั้น เรามองว่าหากค่อย ๆ ทลายลงได้ก็จะเป็นประโยชน์ เป็นพื้นที่ ๆ คนรุ่นใหม่รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น” 


ทิ้งท้ายถึงคนที่ดูแลงานข้าราชการ

ความพยายามที่จะดึงคนรุ่นใหม่ให้อยู่ในระบบราชการมองผิวเผินอาจดูเป็นเรื่องของการรักษาคนเก่ง ๆ เอาไว้เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วประเด็นยังข้องเกี่ยวไปถึงโครงสร้างของงานข้าราชการเองที่ต้องการอุดช่องว่างระหว่างวัย

อรพูดถึงเรื่องนี้ว่า “มีช่วงหนึ่งที่รัฐบาลขยายกรม แล้วการสอบคัดเลือกคนเข้าระบบเว้นช่วงไปนานมาก ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดช่องว่างอายุ เหมือนมีคนที่อายุ 40-50 น้อย แต่คนอายุ 50 ขึ้นไปติดอยู่ในระบบมาก คนในสายงานเราก็บอกว่าอีกไม่กี่ปีก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนคน ยิ่งตอนนี้เรื่องโควิดด้วย ถ้าจัดสอบไม่ได้ก็อาจจะเกิดช่องว่างอีกรอบ ซึ่งการมีช่องว่างเช่นนี้ส่งผลต่อองค์กร อย่างเมื่อถึงเวลาที่ต้องเปิดรับจำนวนเยอะ แล้วเปิดกว้างรับคนจากทุกวุฒิ ทำให้คนที่เข้ามาในองค์กรบางส่วนไม่ได้มีความรู้ตรงสายงาน ซึ่งต้องเทรนด์งานให้ใหม่หมด พูดถึงเรื่องของความคุ้มค่าเรื่องเวลาแล้วก็ถือว่าเสียเวลาไม่น้อยเหมือนกัน”

ถึงที่สุดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานข้าราชการก็มีทั้งส่วนดีส่วนเสีย และเป็นพื้นที่ ๆ ต้องการคนรุ่นใหม่มารับไม้ต่อ เพราะงานราชการเป็นงานที่เกี่ยวกับการจัดการเรื่องบ้านเมือง ถ้าขาดคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ในอนาคตก็อาจเป็นได้ว่ากิจการบ้านเมืองจะชะงักงันและติดหล่มวิธีคิดวิธีการที่ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก 

อย่างไรก็ดี หากดูจากจำนวนผู้สมัครสอบภาค ก. ในปี 2563  ซึ่งเป็นการสอบด่านเเรกเพื่อเข้ารับราชการ นั้นมีมากถึง 617,333 คน เเละมีผู้ที่ไม่สามารถชำระเงินเนื่องจากที่นั่งสอบเต็มอีกกว่า  95,610 คน สะท้อนว่าเส้นทางสายข้าราชการยังคงเป็นที่นิยม ไม่ว่าจะนิยมเพราะความจำเป็นบังคับ หรือเพราะความปรารถนาที่จะทำงานบริการสังคมจริง ๆ ก็ตาม

เช่นนั้นโจทย์สำคัญสำหรับคนที่นั่งดูแลเรื่องระบบข้าราชการจึงคือจะทำให้พื้นที่ของงานข้าราชการเป็นพื้นที่ของการทำงานที่สบายใจ ปลอดภัย ไม่รู้สึกถูกกดทับด้วยลำดับชั้นหรือวัฒนธรรมองค์กรที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาเหมือนในอดีตได้หรือไม่

จะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นที่กำลังจะเข้ามาไม่กระอักกระอ่วนเเละผิดหวังกับระบบจนต้องวิ่งออกมา