ระวัง! สิ้นสุดทางสันติวิธี Please mind the gap between people and government - Decode
Reading Time: 2 minutes

การเคลื่อนไหวภาคประชาชน ตั้งแต่ #ม็อบ18กรกฎา เรื่อยมาถึงการเคลื่อนไหวตรงแยกดินแดง คำค้นหาลำดับต้น ๆ ที่ถูกกล่าวถึงคงหนีไม่พ้น “เส้นสันติวิธี” ที่ถูกประกาศดันเพดานสูงสุดในทุกระดับท่าที

De/code พาไปฟังการตีความ “สันติวิธี” ในมุมของตำรวจที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ประชิดผู้ชุมนุมที่ได้อยู่ร่วมการดูแลควบคุมการชุมนุมตลอดปี 2563

เมื่อคำสั่งสลายการชุมนุมขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ

ที่ผ่านมานั้น พบว่าคำสั่งในการสลายการชุมนุมไม่ได้มีแบบแผนปฏิบัติตายตัว ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้บังคับบัญชาแต่ละคนว่าจะมีมุมมองต่อผู้ชุมนุม หรือผู้จัดงานในม็อบนั้นอย่างไร หากผู้บังคับบัญชามองว่าผู้ชุมนุมแค่มาเรียกร้อง มาแสดงออกทางความคิดที่แตกต่าง คำสั่งในการใช้ปืนฉีดน้ำไปจนถึงใช้กระสุนยางก็อาจจะไม่มี แต่ถ้าหากผู้บังคับบัญชามีทัศนคติว่าผู้ชุมนุมเป็นอันตราย มีศักยภาพพอในการล้มรัฐบาล และถ้าหากรัฐบาลชุดนี้ล้มลง ตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเองจะไม่มั่นคงตามไปด้วย แนวโน้มที่จะใช้กำลังเข้าสลายควบคุมปราบปรามจะมีสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

สุ่มกาชาปอง ตำรวจจะเจอใครบ้างมา “ดูแล” ม็อบ 

กองกำลังตำรวจที่มาดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม และตู้คอนเทนเนอร์ของเขานั้น มีตั้งแต่ตำรวจจากสภ.ห่างไกล ตั้งแต่อีสานไปจนถึงสามจังหวัด เป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้ปฏิบัติงานว่าตำรวจตามโรงพักนั้นมีความ “ดื้อแพ่ง” “หัวหมอ” สูงกว่าในส่วนของตชด. ซึ่งจะมีวินัยสูงกว่า ถูกฝึกมากึ่ง ๆ ทหาร ด้วยความหลากหลายของแหล่งที่มานี้เอง ชั่วโมงและขั้นตอนในการฝึกย่อมแตกต่างกันไปด้วย

นั่นหมายถึง ผู้ชุมนุมอาจต้องไปเสี่ยงดวงเอาข้างหน้าว่าจะได้รับการปฏิบัติแบบไหนจากตำรวจ จะรุกรบเต็มที่ หรือจะดื้อแพ่ง ตีมึน ขึ้นอยู่กับวันนั้นคุณจะไปเจอเข้ากับชุดที่มาจากไหน ไม่ต่างอะไรจากการสุ่มกาชาปองเสี่ยงโชคเลยแม้แต่น้อย

‘ไม่ได้ตั้งใจ (เล็ง)’ เมื่ออยู่ในม็อบ ผู้ชุมนุม หรือสื่อมวลชน ล้วนเป็นเป้าอย่างเท่าเทียม

คำว่าคนเท่ากัน ในที่นี้อาจหมายถึงการมีโอกาสที่จะถูกกระสุนยางยิงเหนือเอวขึ้นมาพอ ๆ กัน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชุมนุม หรือนักข่าวที่มีปลอกแขนแจ้งสังกัดชัดเจน เหตุผลหนึ่งคือในสถานการณ์ตรงหน้าเป็นสิ่งที่ยากมากที่การยิงกระสุนยางจะเล็งให้ถูกเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง อุบัติเหตุและความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้เสมอ แม้แต่การยิงปืนในสถานการณ์ที่ไม่กดดัน เรายังมีพลาดเป้ากันบ่อยครั้ง ไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ที่แหลมคมเช่นนี้เลย

เมื่อพูดคุยถึงจุดนี้ ทีมงานของเราเริ่มมองเห็นปัญหาในเรื่องของการใช้วิจารณญาณโดยปัจเจกและความเข้มข้นของการฝึกที่มีหลายระดับ และมีความชำนาญในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่เท่ากัน

นอกเหนือจากมุมมอง ‘เจ้าหน้าตำรวจควบคุมฝูงชน’ เรายังมีมุมมองจากฝ่ายความมั่นคง (ไม่ประสงค์ออกนาม) มาร่วมแลกเปลี่ยนอีกด้วย

“ภาพที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้วิจารณญาณหน้างานเป็นหลัก แต่พอประกอบกับความกดดันของผู้ปฏิบัติงาน แถมไม่มีหลักชัดเจนทำให้เกิดภาพการใช้ความรุนแรงแบบนั้นออกมา และที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือเราไม่สามารถเอาหลักการใด ๆ มาอธิบายการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้ หรือแม้แต่การสอบสวนเจ้าหน้าที่เอง พอขาดความชัดเจน feedback ในทุก ๆ ด้านจึงบอดสนิท ถ้าว่ากันตามสถานการณ์ปัจจุบัน เท่ากับว่าการสั่งการมาผิดเต็ม ๆ

“ความเลวร้ายต่อมาคือ ไม่มีการรับผิดชอบจากระดับสั่งการเพื่อลดแรงเสียดทานจากประชาชน โดยมีแต่แถลงการณ์ว่าทำตาม ‘หลักสากล’ ซึ่งไม่ได้อธิบายด้วยว่าข้อไหน หลักไหน มันจึงทำให้คฝ.ในครั้งนี้เกิดปัญหามากกว่าที่ควรจะเป็น

“การใช้วิจารณญาณมาจากใคร และการพิจารณาการตัดสินใจมาจากใคร…ถ้าให้หน้างานทำตามแบบที่ฝึกกันมันก็จบ แต่นี่ไม่ใช่ รอนายคิด นายประมวลผล นายสั่ง ดังนั้นสถานการณ์มันไปไหนต่อไหนแล้ว ไม่ทันท่วงทีของหน้างานแน่นอน”

“ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันชูความสำคัญของหลักการขึ้นมาเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งจากการปฏิบัติงาน จากคำสั่งที่ผิดหลักเกณฑ์ เจ้าหน้าที่จะได้ทำงานได้ง่ายขึ้นและปลอดภัยต่อชีวิตเจ้าหน้าที่มากขึ้น”

เมื่อเรื่องราวมาถึงจุดนี้ หลายคนคงสงสัยว่ามันจะไม่มีมาตรฐานเลยหรือ แม้แต่สิ่งพื้นฐานอย่าง ‘สามัญสำนึก’ ในการกำหนดบทบาทของคนหน้างาน พ.ต.ท. ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล สารวัตร ฝ่ายอำนวยการกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ได้ให้ข้อมูลไว้ใน Clubhouse ของ Nitihub ในหัวข้อการจัดการความรุนแรงในม็อบไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

“คฝ.ไม่ต่างอะไรจากเบี้ยให้เดิน แน่นอนว่ามุมมองของพวกเขามีหลากหลายมาก ทั้งเห็นใจไปจนถึงไม่ชอบ ในส่วนของการฝึกแบ่งเป็นสองส่วน คือผู้บังคับบัญชาและระดับผู้ปฏิบัติ ตำรวจทุกคนที่จะเป็นคฝ.ได้ ต้องโดนแก๊สน้ำตามาหมดแล้ว แน่นอนว่ามันมีขั้นตอนอยู่ 10 ระดับ ปรับใช้ตามสถานการณ์หน้างาน แต่จะต้องมีประกาศแจ้งเสมอก่อนจะยกระดับความรุนแรงขึ้น เราจะเห็นได้ว่ากว่าจะไปถึงขั้นใช้กระสุนยาง มันคือระดับ 9 แล้ว และต้องเป็นการใช้เฉพาะบุคคลที่กำลังใช้ความรุนแรงด้วย ไม่ใช่กับผู้ชุมนุมทุกคน กับนักข่าว ระดับความรุนแรงที่สูงกว่านั้นก็คือกระสุนจริงแล้วนะครับ”

การปฏิบัติตามหลักสากล มีคำสั่งมาตรฐานเดียวกันชัดเจน จึงไม่เพียงแต่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม แต่ยังเป็นโล่ป้องกันและเบาะรองรับให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในภาคสนามอีกด้วย ก่อนเส้นสันติวิธีจะเลือนราง ก่อนช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน จะถูกถ่างห่างออกจากกันมากไปกว่านี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันทบทวนวิธีปฏิบัติงานควบคุมฝูงชนของตำรวจ ให้เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ผู้ชุมนุม และคนกลางที่เป็นหูเป็นตาให้กับทุกฝั่งอย่างสื่อมวลชน

เพื่อให้ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม นี่คือโจทย์ที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทั้งสังคมจะต้องช่วยกันจับตา และร่วมกำหนดทิศทางของคำตอบร่วมกัน