Thailand Talks กล้าคุยกับคนเห็นต่าง จากบทสนทนาที่เริ่มจากการ “ฟัง” - Decode
Reading Time: 3 minutes

ช่องว่างระหว่างคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองในสังคมไทย ดูเหมือนจะห่างไกลกันมากขึ้นทุกที เมื่อฝ่ายหนึ่งดันเพดานข้อเรียกร้องแบบทะลุฟ้า แต่อีกฝ่ายต้องการรักษาสภาพสังคมให้คงเดิม คนหนึ่งมองขึ้นไปบนฟ้า อีกคนหนึ่งก้มหน้าสู่ผืนดิน และคนทั้ง 2 จะคุยกันได้อย่างไร

ความแตกต่างทางความคิดไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในเมืองไทย แต่ในฟากฝั่งยุโรป ก็ประสบปัญหาดังกล่าวนี้เช่นกัน เมื่อปี 2017 สื่อออนไลน์เจ้าหนึ่งในเยอรมนี ได้ริเริ่มโครงการ My Country Talks ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม และเขาอยากรู้ว่าคนที่เห็นต่างกัน จะมาคุยกันได้ไหม 

My Country Talks ในเยอรมัน จึงเปิดลงทะเบียนให้คนเข้าร่วมกิจกรรมตอบคำถามสั้น ๆ เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและการเมือง จากนั้นระบบจะจับคู่ คนที่มีความคิดเห็นต่างกัน ได้มาคุยกัน โดยเป็นการพูดคุยที่ไม่มีพิธีรีตอง แต่ให้ต่างฝ่ายต่างเริ่มบทสนทนาด้วยกันและกันเอง

ปรากฏว่ามีคนสมัครเข้ามาหลักพัน หลังจากกิจกรรมครั้งแรกประสบความสำเร็จ สื่ออีก 15 สำนักในยุโรป ก็เลยชวนกันไปจัด Europe Talks บนความเชื่อที่ว่า สังคมไหนที่มีความแตกต่าง การเปิดพื้นที่ให้ได้มาพูดคุยกัน จะสามารถทำให้คนกลับมาเชื่อมกันได้อีกครั้ง

และกิจกรรมดังกล่าวนี้กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Thailand Talks โดยมี ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดิชเนามัน ประเทศไทย เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันระหว่างสังคมในยุโรปและประเทศไทย ต้นแบบโครงการดังกล่าวที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 นี้ จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทยได้จริงหรือ 

“เราแค่ต้องการให้คนคุยกัน” ดร.พิมพ์รภัชกล่าว ก่อนที่เราจะนั่งลงคุยกับเธอเพื่อทำความรู้จัก Thailand Talks

เชื่อว่าคนไทยยัง Talks เรื่องการเมือง ที่เห็นต่างกันได้อีกหรือ

ตั้งแต่เริ่มทำ Thailand Talks ทุกครั้งเวลาไปคุยกับใคร ทุกคนมักจะบอกว่า ‘พูดอะไรเนี้ย  ตอนนี้มันเกินเยียวยาที่จะคุยกันแล้ว’ เราไม่แปลกใจ และเข้าใจทุกคนที่พูด ว่าวันนี้คนไม่คุยกันแล้ว แต่สุดท้ายแล้วเรื่องนี้มันจะจบลงอย่างไร เราจะแยกกันอยู่อย่างนี้เหรอ 

เราไม่เคยกลัวว่าคนที่เห็นต่างมาคุยกันและจะทะเลาะกัน หัวใจของ Thailand Talks คือเราต้องการให้คนออกจาก Echo Chamber (สถานการณ์ที่คนจะได้ยินแต่ความคิดเห็นแบบเดียวกัน) เพื่อไปเจอคนกลุ่มอื่น ๆ โลกความจริงของเรากับโลกความจริงของอีกคน มันจะมีจุดตรงกลางบางอย่าง คือเราไม่ต้องเปลี่ยนจุดยืน ไม่ต้องให้อีกคนคิดเหมือนเรา Thailand Talks แค่ต้องการให้คนได้ฟังกัน และเห็นว่าอีกคนหนึ่งก็มีความคิดแบบนี้ได้

การออกมาคุยกัน คนทั้ง 2 ฝั่ง ต้องใช้ความกล้าเผชิญหน้ากับคนที่เห็นต่าง เห็นอะไรจากกรณีศึกษาของต่างประเทศในเรื่องนี้บ้าง

ต้องเกริ่นก่อนว่ามูลนิธิฟรีดิชเนามัน เป็นมูลนิธิจากเยอรมัน ให้ความสำคัญเรื่องประชาธิปไตย เจ้านายของเราที่เป็นนักข่าวคนเยอรมัน เขาก็บอกว่าที่เยอรมันมี My Country Talks ที่จัดแล้วประสบความสำเร็จ  สนใจอยากนำไปจัดที่ประเทศไทยไหม เพราะทางฝั่งเอเชียยังไม่มีประเทศไหนจัด เราสนใจเลยเขียนโครงการ Thailand Talks ขึ้นมา

แต่ต้องยอมรับก่อนว่าในสังคมไทย มันยังไม่มีวัฒนธรรมของการพูดคุยกับคนแปลกหน้า เรามักจะพูดกับคนที่เรารู้สึกสบายใจ แต่เราไม่กล้าพอที่จะแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา

ฝั่งตะวันตกเขาสนุกกับการได้เถียงกัน แต่สังคมเราแค่ใช้คำว่า ‘ถกเถียง’ ยังไม่ได้เลย เราไม่เคยถูกปลูกฝังว่ามันถกเถียงได้ เด็กก็เถียงผู้ใหญ่ได้ โดยไม่ต้องกลัวถูกผิด แต่เรามักจะกลัวตลอดว่าเราจะถูกตัดสิน จากความคิดเห็นที่เราแสดงออกไป

ดังนั้นด้วยบริบทของสังคมไทย แค่เรากล้าที่จะออกมาร่วมกิจกรรม Thailand Talks ออกมาเจอกับคนที่เราไม่รู้จัก ก็เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมแล้ว

หลายคนมีความเชื่อว่า ปัญหาในประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มันไม่ใช่ปัญหารายบุคคลที่จะมาใช้ การพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหา

โครงสร้างมันเปลี่ยนยาก คนที่อยากเปลี่ยนเขาก็ต้องสู้เพื่อที่จะให้ได้มา…(หยุดคิด) หรือจริง ๆ แล้ว การต่อสู้เพื่อให้ได้มา มันก็คือการพูดคุยกัน เราไม่จำเป็นต้องต่อสู้กันก็ได้ไม่ใช่เหรอ ทำไมเราต้องไปถึงจุดนั้นเพื่อที่จะได้มา และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เปลี่ยนได้เร็ว มันอาจถูกใจคนกลุ่มหนึ่ง แต่มันก็ไม่ได้ถูกใจคนทั้งหมด เราอยู่กันทั้งหมด 70 ล้านคน เราอาจคิดว่าเรากำลังพูดแทนคนอื่น แต่เราพูดแทนคนอื่นจริงหรือเปล่า คิดว่าเราต้องตั้งคำถามให้กันและกันดี ๆ 

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง แต่ถ้าเราปฏิวัติเรื่องการพูดคุยกันได้ ถ้าคนพูดคุยกันได้มันคงดีกว่านี้ แต่วันนี้คือเราไม่มีพื้นที่ให้คุยกันต่างหาก คนรุ่นใหม่เลยต้องออกมาทำให้เสียงมันดัง เพราะมันไม่มีผู้ใหญ่ฟังเขาเลย เขาตะโกนแค่ไหนก็ไม่มีใครได้ยิน ดังนั้นเราคิดว่า อยากให้มันมีพื้นที่พูดคุย ให้เหมือนเป็นสิ่งปกติในสังคม 

ตอนนี้สังคมเหมือนถูกควบคุมไปหมด เราแสดงออกในความคิดอะไรออกไป ก็มักถูกตัดสิน เราอยากให้สังคมมันพลิกไปอีกฝั่ง ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญในการที่จะคุยกับคนอื่น แต่มันควรจะเป็นเรื่องปกติ ที่คนจะพูดคุยในประเด็นที่เห็นต่างกัน 

แต่การพูดคุยกัน มันก็ไม่สามารถใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม และยิ่งกับคนที่คิดต่างกัน มันควรมีคนกลางช่วยประคองบทสนทนาด้วยไหม

มันก็เป็นไปได้ที่การพูดคุยไม่สามารถใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม และจากข้อมูลหลังบ้าน เราก็เห็นคนหนึ่งที่ตอบคำถามเหล่านี้ใช่ทั้งหมด 

ตัวอย่างคำถามจาก Thailand Talks
1. ทหารควรมีบทบาททางการเมือง ใช่หรือไม่?
2. ศาสนายังจำเป็นกับโลกสมัยใหม่ ใช่หรือไม่?
3. รัฐควรแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช่หรือไม่?

กับอีกคนที่ตอบไม่ใช่ทั้งหมด ต่างฝ่ายต่างสุดโต่งในอีกทาง ก็ยังคิดอยู่ว่าถ้าคนทั้ง 2 คนมาคุยกัน มันจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เราก็ยังเชื่อในเรื่องของความเป็นมนุษย์ สุดท้ายพอเขาได้มาเจอกัน มันไม่รุนแรงหรอก

ในส่วนของกิจกรรม Thailand Talks นั้น เราไม่มีกระบวนกรหรือคนที่ต้องมาคอยควบคุมบทสนทนา  เราคิดว่ามันไม่จำเป็น เราต้องเชื่อกันและกันในการคุย ทำไมเราต้องไปเชื่อกับอีกคนหนึ่ง ให้เขามาบอกว่า เราต้องคุยเรื่องอะไร เคยเอาประเด็นนี้ไปสอบถามที่ My country talk มันมีหลักการหนึ่งของ  Romy Jaster & David Lanius เป็น  10 วิธี ที่จะทำให้คนเห็นต่างคุยกันได้

สิ่งหนึ่งที่เห็นและเราชอบของ My country talk  ในประเทศเยอรมัน คือผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขาไปนัดเจอกันอีก เขาไม่ได้จบเพียงแค่วันที่มีกิจกรรม แต่เขาได้เพื่อนใหม่ ที่ยังนัด Hangout ดื่มเบียร์ด้วยกันต่อได้

ความคาดหวังจาก  Thailand Talks

คาดหวังให้คนไทยออกมาคุยกัน คาดหวังให้คนกล้าออกมาคุยกับคนอื่น เห็นต่างก็คุยกันได้ โดยที่ไม่ต้องกลัวกัน เพราะบางครั้งการที่เราสู้หรือเชื่ออะไรสุดตัว มันก็ทำให้เราไม่เห็นความหวัง 

Thailand Talks เป็นแค่พื้นที่เล็กๆ พื้นที่หนึ่ง ให้คนได้ออกมาส่งเสียงของตัวเอง ที่ผ่านมาสังคมเรามักจะให้พื้นที่สื่อสารเฉพาะกับคนที่มีความสำคัญ คนที่เสียงดัง คนที่มีอำนาจ คนที่เราคิดว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ Thailand Talks เราเปิดพื้นที่ให้กับคนตัวเล็ก ๆ คนที่ไม่ได้มีเสียง แต่มีความขัดแย้งและเห็นต่างกับคนอื่น ๆ

สุดท้ายเราก็อยากเห็นการพลิกวัฒนธรรม ซึ่งในตอนนี้ในเมืองไทยก็เห็นความพยายามในเรื่องนี้กันมาอยู่ตลอด เพดานที่เคยต่ำมาก ๆ ก็ถูกดันขึ้นไปสูงมาก จนเราคาดไม่ถึง เรามีความหวังได้ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลง และเราก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจนถึงที่สุด

ส่วนถ้ากิจกรรมวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ มันไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เราก็ยิ่งจะต้องมาถอดบทเรียน ว่าเราทำอะไรพลาดไป และมันคงยิ่งอยากให้เราทำต่อ การคุยกันอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด แต่มันก็เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด อย่างน้อย ๆ มันก็ไม่ได้ไปทำร้ายใคร คนที่คุยกันไม่ได้คือคนที่ยิ่งห่างกัน ไม่ได้เชื่อมโยงกัน มันก็ทำร้ายกันได้ง่าย แต่ตราบใดที่คนยังคุยกันได้ มันก็จะไม่ทำร้ายกัน

เราไม่จำเป็นต้องคุยกันเพื่อเปลี่ยนความเชื่อใคร แค่รับฟังอีกคนหนึ่งที่อยู่ตรงหน้า ดึงตัวเองออกมาจากสิ่งที่เราเห็นทุกวัน เพราะสิ่งที่เราเห็นมันก็จะอยู่ในมุมมองของเรา แต่จริง ๆ แล้วมันมีอย่างอื่นที่เกิดขึ้นเหมือนกัน เราอาจมองเห็นได้ไม่รอบด้าน แต่เราควรได้ยินสิ่งที่มันต่างจากเราบ้าง

สำหรับใครที่อยากได้ยินเสียงที่แตกต่างไปจากเสียงที่เคยได้ยิน ได้ฟังในทุกวัน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม Thailand Talks ในวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ได้ที่ thailandtalks.org