จาก Feminism เบ่งบาน ถึงสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ผ้าอนามัยเป็นความเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างหนึ่ง เพศชายเกิดมาไม่มีประจำเดือนจึงไม่มีค่าใช้จ่ายนี้ ต่างจากเพศหญิงที่ต้องเสียเงินซื้อเป็นประจำและยังเป็นสินค้าที่ถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7” บุ๊ค หัวหน้ากลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ มธ. [1]

“ผ้าอนามัยควรเป็นสวัสดิการเพราะมันจำเป็น มันต้องใช้จ่ายทุกเดือน ทำไมสิ่งที่จำเป็นขนาดนี้จึงไม่ใช่สวัสดิการ” รุ้ง-วรางทิพย์ CEO แบรนด์ผ้าอนามัย Ira Concept [2]

นี่คือส่วนหนึ่งของเสียงเรียกร้องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และหากพิจารณา #saveผ้าอนามัย ซึ่งทะยานติดหนึ่งในร้อยอันดับ #save ในไทย ปี 2563 จำนวนถึง 181,025 ข้อความด้วยแล้ว ก็คงพอสะท้อนได้ว่าวันนี้มีความพยายามผลักดันผ้าอนามัยฟรีจากประเด็นปัจเจกให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะ

แต่แรงบันดาลใจหรือแรงหนุนให้เรื่องนี้ถูกจุดประกายขึ้นเป็นมาอย่างไร ทำไมต้องเป็นสวัสดิการ และถ้าจะสำเร็จอย่างแท้จริงควรออกมาหน้าตาประมาณไหน Decode ชวนหาคำตอบกับอาจารย์มลิวัลย์ เสนาวงษ์ ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุณมัจฉา พรอินทร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ ผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน


Feminism เบ่งบาน

ต้องยอมรับว่าเสียงเรียกร้องเพื่อสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีเป็นผลมาจากวิธีคิดแบบ Feminism หรือ สตรีนิยม การจะเข้าใจว่าทำไมผ้าอนามัยฟรีเท่ากับความเป็นธรรมทางเพศจึงอาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจต้นธารและพัฒนาการทางความคิดเสียก่อน

อาจารย์มลิวัลย์ตั้งต้นว่า Feminism คือวิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องประสบการณ์ของผู้หญิงผ่านความพยายามทำความเข้าใจการถูกกดขี่หรือถูกกดทับของผู้หญิงจากสังคมชายเป็นใหญ่


“เพราะไม่ว่าไปฟังประสบการณ์ของผู้หญิงที่ไหน ผู้หญิงจะมีประสบการณ์การถูกกดขี่และจำกัดสิทธิเเละโอกาสในมิติต่าง ๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงาน การแต่งงาน หรือการเมือง ในสังคมไทยเช่นกัน ประสบการณ์การถูกกดขี่ของผู้หญิงเป็นสิ่งที่มีมาก่อนการเข้ามาของแนวคิดสตรีนิยมจากตะวันตก”

“ต่อมาในบ้านเรากระแสแนวคิดสตรีนิยมก็รับเข้ามาจากตะวันตกเพราะช่วยอธิบายประสบการณ์ของผู้หญิงในสังคมเราได้เหมือนกัน ซึ่งช่วงเวลานั้นเองที่เริ่มมีอาจารย์ซึ่งเรียนจบจากประเทศตะวันตกกลับมาสอนในไทย มีการนำความคิดเรื่องสตรีนิยมกลับมาพูดในวงวิชาการ อาทิ รองศาสตราจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ ซึ่งจบกฎหมายจาก Cornell University ก็นำวิธีคิดเรื่องนี้กลับมาขับเคลื่อนจนเกิดเป็นศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

ด้านคุณมัจฉาเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า “อันที่จริงแล้วแนวคิดสตรีนิยมเบ่งบานขึ้นมากหลังจากการประชุม Third World Forum ปี 2528 ที่ไนโรบี ประเทศเคนย่า เพราะเป็นพื้นที่กลางที่ทำให้นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีทั่วโลกได้เจอกัน ต่อมาปี 2538 ขบวนการเพื่อผู้หญิงก็มาประชุมกันอีกครั้งในการประชุม Beijing +25 และเกิดเป็น Beijing Declaration ที่นำมาสู่การส่งเสริมสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิอื่น ๆ ของผู้หญิง แต่ระหว่างปี 2528 – 2538 นี้ จริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเรื่องสตรีนิยมก็ว่าได้ เพราะในปี 2538 ถือเป็นปีที่ไทยเป็นร่มให้กับขบวนการเคลื่อนไหวในเอเชียแปซิฟิกเพื่อเชื่อมโยงกับระดับโลก”

“และการก่อตั้งศูนย์สตรีศึกษาขึ้นมาก็ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อผู้หญิงในไทยเพราะเดิมเป็นการเคลื่อนไหวของนักวิชาการที่ทำงานวิจัย ผลักดันเชิงนโยบาย หรือให้องค์ความรู้แก่สังคมไทย แต่ไม่ค่อยเชื่อมโยงกับชุมชน การริเริ่มของอาจารย์วิระดาจึงเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงชายขอบ อาทิ ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง ผู้หญิงที่เผชิญปัญหาเรื่องปากท้อง เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”

อย่างไรก็ดีเมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่ง วิธีคิดสตรีนิยมก็ลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงไป ต่อประเด็นนี้อาจารย์มลิวัลย์ชี้ให้เห็นว่า “ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา เกิดกระแสวิพากษ์สตรีนิยมตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงนอกสังคมตะวันตก ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา เริ่มมองว่ามีปัญหาอื่นที่นอกเหนือจากการกดทับจากผู้ชายซึ่งซ้อนทับอยู่หลายระดับ อาทิ เชื้อชาติ ชนชั้น ศาสนา อย่างสตรีนิยมในโลกที่ 3 หรือสายหลังอาณานิคม ก็ขยับมาให้ความสำคัญกับประสบการณ์เฉพาะที่คำนึงบริบทสังคม วัฒนธรรม อาทิเช่นผู้หญิงชนเผ่าไม่ได้ถูกกดทับจากวัฒนธรรมชนเผ่าอย่างเดียว แต่ถูกกดทับด้วยความเป็นชนเผ่าและชนชั้นด้วย”


อุดมการณ์ออกผล

แนวคิดสตรีนิยมซึ่งลงหลักปักฐานในสังคมไทยค่อย ๆ เบ่งบานจนออกผลเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีที่เป็นรูปธรรมตามมา อาจารย์มลิวัลย์เล่าย้อนไปในอดีตว่า “ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในไทย จะเห็นภาพมาตั้งแต่ขบวนการนักศึกษาและแรงงานในช่วงปี 2514 – 2516 ช่วงนั้นนอกจากพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางชนชั้นแล้ว ยังพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย โดยขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ที่มีความเข้มแข็งก็คือขบวนการแรงงาน จะเห็นว่านโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับสิทธิผู้หญิง โดยเฉพาะที่เป็นแรงงาน หลายอย่างสำเร็จเพราะขบวนการแรงงานช่วยผลักดัน อย่างเช่นสิทธิการลาคลอดเก้าสิบวันของแรงงาน หรือการผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นตัวแทนในทางการเมือง”

“เฉพาะเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ประเด็นหลัก ๆ ที่เรียกร้องคือให้มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ซึ่งในปี 2556 มีความพยายามร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายหลังการจัดเวทีทั่วประเทศเพื่อรับฟังความเห็นของภาคประชาชนและเอ็นจีโอซึ่งทำงานในประเด็นนี้ แล้วนำความเห็นนั้นมาร่างเป็น พ.ร.บ. แต่ร่าง พ.ร.บ นี้ไม่ผ่าน และถูกลดทอนเหลือเพียงแค่เรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นซึ่งเนื้อหาก็มีขอบเขตที่ค่อนข้างแคบ ผู้ได้รับคุ้มครองจำกัดอายุแค่ 10 – 20 ปี”

“และถ้ามองในเรื่องความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวก็คิดว่าสำเร็จในระดับหนึ่ง คืออย่างน้อยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายบ้าง แต่อย่างที่บอกว่ายังไปไม่ถึงเป้าหมายจริง ๆ สิ่งที่ต้องการจริง ๆ คือสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศในทุกด้าน แต่เรายังไม่มีกฎหมายที่พูดถึงเรื่องนี้ในบ้านเราเลย

อุปสรรคประการหนึ่งที่ทำให้กฎหมายเรื่องสิทธิสตรีไม่ค่อยก้าวหน้าก็เพราะเรื่องวิธีคิดทางวัฒนธรรม

อาทิ การทำแท้งปลอดภัยสำหรับผู้หญิงทุกกลุ่ม สำหรับคนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมและวางอยู่บนฐานศาสนาพุทธแบบไทยนั้นต่อต้าน ด้วยเหตุว่าเราเป็นเมืองพุทธ เรายอมไม่ได้ที่จะมีกฎหมายแบบนั้นแต่กลุ่มเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ก็ไม่ยอมเเพ้ จนสุดท้ายปีนี้เองที่อย่างน้อย ๆ มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 301 และ 305 ให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการการทำแท้งได้ จากเดิมที่กำหนดเงื่อนไขไว้เฉพาะเรื่องการข่มขืนหรือส่งผลต่อสุขภาพทารกและแม่”


สู่เสียงร้องเพื่อผ้าอนามัยฟรี

เช่นที่กล่าวไปแล้วว่ากระแสเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การหันทิศทางของขบวนการมาให้ความสำคัญกับสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีนับเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยประมาณ 2 – 3 ปีให้หลังมานี้เอง

ปัจจัยสำคัญที่จุดประกายเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการเคลื่อนไหวมีอย่างน้อย 3 ปัจจัย ปัจจัยแรกคืออิทธิพลจากการเบ่งบานของแนวคิดสตรีนิยมถ้วนทั่วสังคม เช่นที่อาจารย์มลิวัลย์ระบุว่า “ความคิด ความอ่านมีส่วนอย่างมาก กลุ่มคนที่เข้ามาร่วมรณรงค์ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรืออย่างกรณีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาที่ทำงานในสโมสรนักศึกษาก็รับรู้และตื่นตัวเรื่องนี้ผ่านการศึกษาในวิชาเกี่ยวกับเพศภาวะและสังคม แล้วพวกเขาก็ใช้ใจความนี้ไปขยับให้เกิดนโยบายสาธารณะที่สร้างความเท่าเทียมทางเพศแก่ผู้หญิง ซึ่งออกมาในรูปแบบสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี”

“ต่อมาคือผลจากการตื่นตัวเรื่องรัฐสวัสดิการในภาคประชาสังคม เพราะสวัสดิการทางสังคมถูกละเลยไปหลายประเด็น โดยกลุ่มที่ขับเคลื่อนเพื่อคนต่าง ๆ ได้เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อเสนอสวัสดิการในส่วนที่ตนเกี่ยวข้อง อย่างเช่นกลุ่มที่ทำงานเพื่อผู้สูงอายุก็เสนอสวัสดิการบำนาญถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น หรือกลุ่มที่ทำงานกับเด็กก็เรียกร้องเงินช่วยเหลือเด็กถ้วนหน้า ส่วนกลุ่มที่ทำงานเพื่อสตรี ก็มาคิดว่าประเด็นไหนที่จะครอบคลุมผู้หญิงทุกกลุ่ม ก่อนจะได้ข้อสรุปเป็นเรื่องประจำเดือนเพราะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญ”


สุดท้ายคือผลจากวิกฤติสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ซึ่งกระทบต่อผู้หญิง คุณมัจฉาให้ความเห็นว่า “เมื่อเกิดวิกฤติบางคนบอกว่าทุกคนได้รับผลกระทบเหมือน ๆ กันหมด ความจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย อย่างโควิด – 19 ถ้ามองลึกลงไปจะพบว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งจากที่ทำงานวิจัยอยู่ตอนนี้เราพบว่าในภาวะที่ทุกคนหิวเท่ากัน ผู้หญิงสามารถอดข้าวหนึ่งมื้อเพื่อให้คนอื่น ๆ ได้กินอิ่ม คนที่ดูแลงานบ้านคือผู้หญิง เป็นผู้แบกรับปากท้อง รวมถึงเป็นทุกข์แทนคนอื่น ๆ สูง จึงสะท้อนว่าในภาวะวิกฤติ ผู้หญิงเสี่ยงเสียชีวิต หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาได้มากกว่าผู้ชาย”

การกล่าวเช่นนี้ชวนให้คิดต่อได้ว่าปัจจุบันขบวนการเพื่อสิทธิสตรีขยายกว้างจากมิติทางสังคมเเละวัฒนธรรมมาสู่มิติทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะภายใต้ภาวะที่คนอดยากปากเเห้งเเละเจ็บไข้ได้ป่วยกันถ้วนทั่ว ทำให้ความไม่เป็นธรรมที่เคยรู้สึกว่าเป็นเรื่องปัจเจกขยายมาเป็นประเด็นสาธารณะ เเละด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เเนวร่วมซึ่งเพิ่มขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในเเง่อาชีพ เพศ เเละอายุ เช่นที่คุณมัจฉาเองขยายความเพิ่มเติมว่า

“ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่จากทุกเพศ เกิดขบวนการ Feminist ปลดแอก และอื่น ๆ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้คนตั้งคำถามกับระบอบประชาธิปไตยพร้อมกับ ๆ ข้อถกเถียงว่าถ้าร่างกายของเราไม่เป็นอิสระ ถูกควบคุมก็แปลว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราจึงเห็น Sex Worker เห็นนักเรียน ที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องทำแท้งปลอดภัย และเห็นการพูดถึงเรื่องจิ๋ม เรื่องประจำเดือน นำมาสู่คำถามว่าจะปลดล็อกเรื่องนี้อย่างไร”

“นอกจากปัจจัยภายในแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียกร้องเรื่องนี้ซึ่งเติบโตในพรมแดนอื่น ๆ ก็เป็นแรงบันดาลใจ ข้อมูลที่ส่งผ่านโซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นการตั้งคำถามเรื่องผ้าอนามัยฟรีจากอินเดีย ในอินเดียคนเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย ก็มีความพยายามของนักเคลื่อนไหวที่จะทำให้มันปลอดภาษี แจกผ้าอนามัย หลังจากนั้นการขับเคลื่อนในอินเดียก็สร้างแรงบันดาลใจแก่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ดำเนินตาม อย่างสก็อตแลนด์ที่ทำให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการฟรีเป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะเขามีนักการเมืองที่เป็นนักสิทธิแรงงาน หรือในอังกฤษก็มี ส.ส.ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเริ่มจากการแจกฟรีในโรงพยาบาลก่อนผ่านการระดมทุน หลังจากนั้นก็ขยับไปแจกฟรีในโรงเรียนของรัฐทั้งหมด”


เพราะเกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก

เมื่อถามถึงความจำเป็นที่ผ้าอนามัยต้องฟรี อาจารย์มลิวัลย์ก็ให้เหตุผลว่า “ปัจจุบันผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่เราต้องซื้อหา จึงทำให้เกิดค่าใช้จ่ายจำเป็นของผู้หญิงในวัยที่มีประจำเดือนทุกคน ที่สำคัญคือกระทบผู้หญิงกลุ่มที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะจากประสบการณ์ตัวเองเดือนนึงก็ใช้ผ้าอนามัยประมาณ 20 แผ่น บวกกับแผ่นรองอนามัยอีกจำนวนหนึ่ง นี่ขนาดเป็นคนที่เลือดประจำเดือนไม่ได้เยอะนะ รวม ๆ แล้วตกเดือนละ 200 บาท แล้วคิดดูว่าหากครอบครัวหนึ่งมีเด็กผู้หญิงหลายคน ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะเพิ่มไปอีกหลายเท่า แล้วถ้าเป็นครอบครัวที่รับจ้างรายวัน ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็อาจทำให้ครอบครัวแบกรับเยอะขึ้น”

“มากไปกว่านั้นในบางรายที่ปวดรุนแรง อาจไม่สามารถไปทำงานหารายได้ เงินที่จะใช้ซื้อผ้าอนามัยเลยอาจต้องมาจากเงินเก็บหรือไปติดเชื่อไว้กับร้านค้าแถวบ้าน หรือกรณีของเด็กบางคนก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ตรงนี้สะท้อนว่า

การเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยส่งผลต่อการจำกัดโอกาสของผู้หญิงในเกือบทุกมิติ โดยเฉพาะการศึกษา การทำงาน หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา”

เฉกเช่นที่คุณมัจฉาแบ่งปันประสบการณ์อันขมขื่นของตนให้ฟังว่า “ดิฉันเป็นเด็กที่เกือบไม่ได้เรียนหนังสือเพราะไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ติดใจตัวเองมาก เลยก็พยายามคุยกับเพื่อนว่าถ้าผ้าอนามัยฟรีนี่คุณคิดยังไง คำตอบคือไม่มีผู้ชายคนไหนเลยที่จะบอกว่าไม่เห็นด้วย”


กับดักชายเป็นใหญ่

แม้จะจำเป็นเพียงใด แต่ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ การผลักดันให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าก็ดูจะยากเย็นแสนเข็ญไม่น้อย

“ทำไมนโยบายกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้หญิงมันไม่ขยับไปไหน ก็เพราะรากฐานปัญหาอย่างหนึ่งคือวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่เข้ามากำหนดบทบาทและสถานภาพของผู้หญิงให้ด้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงถูกมองเป็นเพศที่อ่อนไหว ใช้อารมณ์ ไม่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำ สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาจึงถูกมองเป็นประเด็นส่วนตัวของผู้หญิง ไม่ได้ถูกมองเป็นประเด็นทางสังคมหรือสาธารณะ”

คือความเห็นของคุณมัจฉาซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์มลิวัลย์ที่ระบุว่า “ถ้าพูดถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง สิทธิการเลือกตั้ง สังคมแบบชายเป็นใหญ่อาจเปิดให้มีตำแหน่งแห่งที่อยู่เพราะเป็นประเด็นสาธารณะ แต่เรื่องผ้าอนามัยกลับถูกลอดทอนความสำคัญให้เป็นประเด็นระดับปัจเจก ให้ผู้หญิงจัดการตัวเอง ไม่ต้องมีนโยบายสาธารณะ หรือแม้แต่การคุมกำเนิด ถ้าไม่ส่งผลกับเรื่องประชากรของรัฐ รัฐก็คงผลักให้เป็นเรื่องส่วนตัวเหมือนกัน”

“นโยบายที่เกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงมักถูกกำหนดโดยเพศชาย ถ้าไปดูกรมอนามัยการเจริญพันธุ์ ผู้บริหารสำนักทั้งหมดก็จะเป็นผู้ชาย เราจึงยังไม่มีนโยบายสวัสดิการผู้หญิงที่มาจากความต้องการผู้หญิงจริง ๆ คนที่ควรจะมีอำนาจตัดสินใจเรื่องนี้ควรเป็นของผู้หญิงเพราะถ้าเราฟังเสียงผู้หญิงและให้อำนาจตัดสินใจแก่ผู้หญิง เราจะเห็นว่าผู้หญิงสนับสนุนให้มีสวัสดิการผ้าอนามัยเพราะรู้ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เข้าถึงสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐานได้”

อาจารย์มลิวัลย์ยังระบุอีกว่าเรื่องทุนก็เป็นอีกหนึ่งกับดักที่ทำให้ขยับประเด็นนี้ยาก “แน่นอนว่าตอนนี้ผ้าอนามัยเป็นสินค้า การแข่งขันในตลาดผ้าอนามัยคือการแข่งขันจากนายทุนภายนอกเพราะยี่ห้อผ้าอนามัยในบ้านเราเป็นยี่ห้อต่างประเทศทั้งนั้น ตรงนี้กลายเป็นพื้นที่การแข่งขันทางการตลาดของนายทุนขนาดใหญ่ที่สร้างกำไรมหาศาล จะเห็นว่าปัจจุบันราคาผ้าอนามัยพุ่งสูงขึ้นเยอะ ถ้าเทียบกับสิบปีที่แล้ว เพราะอะไร เพราะมันมีการแข่งขันทางการตลาดสูง

แม้รัฐจะจัดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุม แต่สุดท้ายมันก็เอื้อแก่กลุ่มทุนมากกว่าผู้หญิงอยู่ดี”


ทางออกของความหวัง

แม้จะมีอุปสรรคไม่น้อยบนเส้นทางของการต่อสู้เรียกร้อง แต่อาจารย์มลิวัลย์ก็บอกว่าตนยังมีความหวังว่าจะไปถึงเป้าหมายที่สังคมไทยมีกฎหมายซึ่งส่งเสริมสิทธิผู้หญิงในทุกมิติได้ พร้อมระบุว่าปัจจัยแรกคือระบบที่เป็นประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ส่วนกฎหมายก็ควรมีระบบที่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมหรือเจ้าของปัญหาเข้ามาร่วมคิด รวมถึงมีระบบยุติธรรมที่เอื้อให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ ถ้าทำได้ การเรียกร้องสิทธิสุขภาพทางเพศก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น

“อีกปัจจัยคือการสร้างวัฒนธรรมที่เน้นการเคารพสิทธิของคนทุกกลุ่ม ส่วนตัวคิดว่าหากคนในสังคมเข้าใจเรื่องความไม่เทียมทางเพศว่ามีอยู่จริง เปิดใจยอมรับประสบการณ์ที่แตกต่างของคนอื่น มองเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคมที่ควรได้รับสิทธิและสวัสดิการที่เหมือนกับคนอื่น ๆ และเข้าใจเงื่อนไขของคนที่ถูกกระทำหรือได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เราก็จะไม่มีคำถามว่ากลุ่มผู้หญิงเรียกร้อง สร้างความเดือดร้อน หรือขอมากเกินไป”

ด้านคุณมัจฉาเสนอว่าอย่างแรกเลยคือต้องปลดล็อกผ้าอนามัยไม่ให้มีภาษี เพื่อให้ราคาถูกมากที่สุด โดยต้องเอื้อให้กับคนที่เข้าไม่ถึงด้วย ดังนั้นในโรงเรียนจึงควรมีตู้แจกผ้าอนามัยฟรี เพื่อไม่ให้เด็กต้องเสียเงินเดือนละ 50 – 100 บาท  หรือแจกในพื้นที่ ๆ คนชายขอบได้ใช้ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับไปทำให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าที่แจกฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์

ถึงตรงนี้อาจสรุปได้ว่าระยะเวลาอย่างน้อย 40 ปี จากหมุดหมายที่เเนวคิดสตรีนิยมลงหลักปักฐานเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในทศวรรษที่ 2520 ภายใต้การริเริ่มโครงการสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนถึงขบวนการเรียกร้องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีในปัจจุบัน  ระหว่างนั้นเเนวคิดสตรีนิยมเเละการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเบ่งบานเเละเหี่ยวเฉาสลับกันไปมา ซึ่งความเห็นของทั้งอาจารย์มลิวัลย์เเละคุณมัจฉาต่างสะท้อนว่าวิธีคิดชายเป็นใหญ่เเละสังคมขาดพร่องประชาธิปไตยคืออุปสรรคขัดขวางที่ทำให้ขบวนการเพื่อสิทธิสตรีไปไม่ถึงฝั่งฝันเสียที เช่นที่คุณมัจฉาทิ้งท้ายว่า

“ความเป็นธรรมทางเพศจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่เป็นประชาธิปไตย ว่ากันตามตรงคือเราควรมี ส.ส. ที่เข้าใจประเด็นเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง แล้วก็เข้าไปรณรงค์ในการเมืองในสภา เข้าไปถกเถียงเพื่อผลักดันกฎหมายเรื่องนี้ให้ก้าวหน้าเพราะ ส.ส.ที่มีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่จะไม่มีทางเห็นด้วยกับเรื่องเนื้อตัวผู้หญิง เเละควรจะต้องมีสัดส่วนของผู้หญิง หรือ LGBTQI+ ที่สะท้อนว่าสถาบันนิติบัญญัติมีความแตกต่างหลากหลาย เพราะตอนนี้ ส.ส. ของเราเจ็ดสิบเปอร์เซ็นคือผู้ชาย”

น่าสนใจว่าหากฉวยใช้ช่วงเวลาที่ขบวนการเพื่อสิทธิสตรีเบ่งบานครั้งใหม่ในขณะนี้เพื่อเเก้จุดบอดเช่นที่คุณมัจฉาเสนอได้ ก็มีหวังว่าจะช่วยกรุยทางนำพาขบวนการให้หลุดพ้นจากกับดักที่ติดมาเเต่อดีต ไปสู่ชัยชนะเเห่งความเท่าเทียมเเละเป็นธรรมทางเพศอย่างไม่ต้องล้มเหลวอีก


ข้อมูลอ้างอิง
[1] https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_2843800
[2] https://adaymagazine.com/ira-concept?fbclid=IwAR2Ae9RRky6d36POrhe0EXkz4MHcz7DUsmC2ibOWTlSO5UflaByzNxgQ3Ds