วิ่งไปไม่ถึงฝัน ในดินแดนแสนล้านการเลือกปฏิบัติ มันฆ่าความฝันเธอ - Decode
Reading Time: 2 minutes

“เรื่องมันมีอยู่ว่า หนูชอบในการวิ่งมากชอบมาตั้งแต่เด็ก ช่วง ม.2 – ม.3 หนูตั้งใจฝึกซ้อมในระยะเวลา 1 ปี เพื่อที่จะได้ไปแข่ง ตั้งใจฝึกซ้อมในทุกวันตื่นเช้ามาตี 4…เพื่อวิ่ง เลิกเรียน 5 โมงเย็น…เพื่อมาวิ่ง หนูตั้งใจมากเพื่อที่อยากจะไปแข่ง และทำผลงานออกมาให้ดี”

อะเลมิ อายุ 20 ปี เธอเป็นคนชนเผ่าลีซอ เกิดและเติบโตอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เธอเริ่มต้นเล่าเรื่องราวความฝันในการวิ่งของเธอ ในวันนี้ที่เธอล้มเลิกและเกลียดการวิ่งไปเสียแล้ว การล้มเลิกที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ แต่เกิดจากความบกพร่องของการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในสังคมนี้

“จนถึงวันแข่งหนูชนะระดับโรงเรียน ได้มาแข่งระดับจังหวัดก็ชนะอีก จนได้ไปแข่งระดับภูมิภาค แต่หนูไม่ได้ไปต่อ เพราะเขาบอกว่าหนูไม่มีบัตรประชาชน หนูไม่เคยเข้าใจ ทั้ง ๆ ที่หนูวิ่งเก่ง มีความสามารถ แต่ทำไมแค่การที่หนูไม่มีบัตรประชาชน หนูถึงไปต่อไม่ได้ มันน้อยใจ ต่อจากนั้นหนูเลยไม่วิ่งอีกต่อไปเลย”

อะเลมิกล่าวกับเราว่า เธอมีความฝันอยากติดทีมชาติกรีฑา ความฝันของเธอเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยประถม เธอบอกว่าเห็นนักกีฬาวิ่งทีมชาติในทีวี

“เขาวิ่งเก่งมาก ฉันอยากเป็นแบบคนนั้น” อะเลมิย้อนความหลังให้เราฟัง พร้อมบอกว่า เธอชอบดูรายการแข่งวิ่งทั้งประเภท 4 x 100 / 4 x 500 และจะคอยศึกษาดูกติกาว่าในการแข่งขันนั้นต้องทำอย่างไร เธอเลือกจะตัดความสนใจอื่น ๆ ออกไปในชีวิต เพื่อทุ่มเทให้กับการวิ่ง

แต่เมื่อถึงวันที่เธอรู้ตัวว่า ต่อให้เธอจะเก่งเพียงใด แต่การที่เธอไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีบัตรประชาชน เธอก็ออกวิ่งไปได้ไกลสุดเพียงแค่ในหมู่บ้านของเธอ

“สำหรับหนูมันไปต่อไม่ได้ ร้องไห้อยู่เป็นเดือน ถ้าในวันนั้นหนูได้วิ่ง เส้นทางการวิ่งของหนูคงไปได้ไกลกว่านี้ สิ่งที่เขาทำมันตัดโอกาส ทำให้หนูเกลียดการวิ่งไปเลย”

หลังจากที่อะเลมิเลิกวิ่ง เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่เธอกำลังขึ้นระดับชั้นเรียนมัธยมปลาย  เธอเลือกเรียนคหกรรม และเหมือนภาพเดิมกลับมาฉายซ้ำ เมื่อเธอได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันการทำอาหารของโรงเรียน 

“ไปแข่งทำอาหารหนูก็ไปชนะในระดับจังหวัดอีก และเหมือนเดิมหนูไม่ได้ไปแข่งระดับภูมิภาค เคยคิดว่าตอนนั้นกฎระเบียบมันคงมีการเปลี่ยนแปลงจากที่เราเคยแข่งวิ่งแล้ว แต่มันไม่เคยเปลี่ยน มันเจ็บใจที่สังคมนี้ปิดกั้นโอกาสในชีวิตขนาดนี้”

นอกจาก 2 เหตุการณ์นี้ที่เกิดการเลือกปฏิบัติกับอะเลมิแล้ว แม้แต่เรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างการรักษาพยาบาล อะเลมิก็เล่าให้เราฟังว่า ครอบครัวของเธอเคยถูกปฏิเสธการรักษาพยาบาลเพียงเพราะใส่ชุดชนเผ่า และทาง รพ. ต้องการให้จ่ายเงินก่อนเพื่อความมั่นใจว่าพวกเธอจะมีเงินจ่าค่ารักษาพยาบาล ถึงจะได้รับการรักษา

“หนูรู้สึกว่ามันโคตรไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรมเลย แต่มันก็อยู่ในจุดที่ว่าเราตัวเล็กเกินไป ที่จะไปต่อสู้ หรือทำอะไรได้”

ความหวังสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างอะเลมิ คืออยากให้การเลือกปฏิบัติแบบนี้หมดไปจากสังคม “มีความหวังน้อย แต่อย่างน้อย 1% ก็ขอให้ได้หวัง สำหรับมดตัวเล็ก ๆ ในสังคมขนาดใหญ่อย่างเราที่แทบไม่มีสิทธิจะมาออกเสียงว่าอะไรยุติธรรม ไม่ยุติธรรมกับคนดอย” อะเลมิบอกกับเราผ่านทางโทรศัพท์ ก่อนที่เธอจะกล่าวต่อว่า

“ถ้ามีกฎหมายที่สามารถแก้ไขเรื่องเหล่านี้ได้ หนูคิดว่ามันไม่ได้ช่วยแค่ชีวิตหนูนะ แต่ชีวิตคนดอยที่อยู่ในประเทศไทยทุกคนมันคงจะดีขึ้น คนทุกคนควรจะมีโอกาสได้โชว์ความสามารถอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้เอาคำว่าเชื้อชาติมาแบ่งแยก ความรู้ความสามารถมันไม่ได้เทียบจาก เธอเป็นคนดอยเธอต้องโง่นะ เป็นคนในเมืองเธอต้องฉลาด มันไม่ใช่เหตุผลที่จะมาตัดสิน” หรือเลือกปฏิบัติต่อกัน

หยุดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ผ่าน พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ

“ถ้าสังคมไหนเป็นประชาธิปไตย ปัญหาการเลือกปฏิบัติจะน้อยกว่าประเทศที่เป็นเผด็จการ ง่าย ๆ ในสังคมเราตอนนี้ คนออกมารวมตัวกันไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เขาก็จะถูกจับข้อหารวมตัวกันขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้าคนออกมารวมตัวกันเชียร์รัฐบาล ทำไมอันนี้กลับไม่เป็นอะไร นี่คือการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้มันจะรับรองสิทธิของคนทุกคนว่าเขาจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเขาจะมีความแตกต่างใด ๆ ก็ตาม”

ต้อม สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลกล่าวกับเราถึงความสำคัญของพ.ร.บ. ฉบับนี้ที่จะช่วยให้สังคมไทยเกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น

“ถามว่าใครได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ คำตอบคือคนทุกคนเพราะว่ามันเป็นสิทธิของเราทุกคนที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ”

แต่เมื่อมีคนหนึ่งได้ประโยชน์ก็ย่อมต้องมีคนหรืออีกฝ่ายหนึ่งที่เสียประโยชน์จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ สุภัทรากล่าวกับเราว่ามันเรื่องธรรมดา

“ในวงการทหารอย่างไรมันต้องมีการเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นผมเป็นทหารเรือ ผมไม่สามารถจะให้ผู้หญิงขึ้นไปบนเรือได้หรอก”

เธอยกตัวอย่างในที่ประชุมกรรมาธิการสภาผู้แทนและวุฒิสภา ที่มีนายทหารเรือคนหนึ่งบอกเธอ ก่อนที่สุภัทราจะขยายความเรื่องนี้ต่อว่า

“การเลือกปฏิบัติยังเป็นเรื่องที่ปกติอยู่ของสังคมไทย มีคนที่พยายามจะพูดว่าคนมันไม่เท่ากันหรอก นิ้วห้านิ้วยังไม่เท่ากันเลยเพราะว่าเขาไม่เชื่อในความเท่ากันของคน”

ดังนั้นคนที่อยู่ในอำนาจ ที่มักใช้ระบบชนชั้นในการเอาเปรียบคนอื่น มักไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้เพราะมันจะไปลิดรอนอำนาจของพวกเขา

ในทางกลับกันสำหรับคนที่ถูกการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะกับ 9 กลุ่มเปราะบางทางสังคมคือ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี, ผู้ใช้ยาเสพติด, กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ, เด็กและเยาวชน, ผู้หญิง, คนพิการ, ผู้สูงอายุ, กลุ่มชาติพันธุ์, แรงงานนอกระบบ และรวมถึงคนทุกคน จากเดิมที่หากเราถูกเลือกปฏิบัติ กระบวนการในการขอความเป็นธรรม และวินิจฉัยสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้ถูกกระทำมักต้องลุกขึ้นมาดำเนินการเองต่อสู้เอง

แต่หากในอนาคตมี พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกิดขึ้น สุภัทรากล่าวกับเราถึงกระบวนการทำงานของ ร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชนฉบับดังกล่าวว่า 

“ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ มันมีกลไกกึ่งตุลาการ แทนที่คนถูกเลือกปฏิบัติจะไปศาล เสียเวลาเสียค่าใช้จ่าย ก็ให้มีกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติขึ้นมา เมื่อมีคำวินิจฉัยก็อาจจะออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือองค์กรที่มีการเลือกปฏิบัติต้องหยุดการกระทำและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ซึ่งถ้าเขาไม่กระทำตาม มันก็มีขั้นตอนในการเอาผิดต่อไปตามกระบวนการของกฎหมาย ในขณะเดียวกันทางฝั่งที่ถูกเอาผิดก็สามารถโต้แย้งกลับมาตามกระบวนการศาลได้”

ฟังดูแล้วเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติมากขึ้น แต่สิ่งที่สุภัทรากล่าวตอนนี้ ก็ยังคงเป็นเพียงแค่ร่างกฎหมายภาคประชาชนที่ได้ทำการรวบรวมรายชื่อได้ 12,200 รายชื่อ และเตรียมยื่นต่อประธานรัฐสภาในการเปิดสมัยประชุมเดือนพ.ย. 64 ที่จะถึงนี้

ดังนั้นกว่าที่กฎหมายนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน ยังคงมีโอกาสถูกแก้ไข ปรับแต่ง เพิ่มข้อยกเว้น ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพการบังคับใช้ลดลงจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เมื่อเราอยู่ในดินแดนแสนล้านการเลือกปฏิบัติแห่งนี้ กฎหมายเช่นนี้ย่อมมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ในเวลาเดียวกัน

“การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งสังคมที่มีการใช้อำนาจเป็นเรื่องปกติ เรากลับรู้สึกชิน ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา”

สิ่งที่สุภัทรากล่าว เมื่อย้อนกลับมามองที่บริบทของสังคมไทย เราพบว่ามีการใช้อำนาจ อันนำมาสู่การเลือกปฏิบัติที่คนทุกคน ล้วนมีโอกาสพบเจอตั้งแต่เล็กจนโต การเลือกปฏิบัติในครอบครัวจากผู้ปกครอง ในโรงเรียนจากเพื่อนหรือคุณครู ในสถานที่ทำงานจากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งการไปติดต่อหน่วยงานราชการหรือเอกชน การเลือกปฏิบัติแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย

“ทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติไม่มากก็น้อย และในขณะเดียวกันหลายครั้ง เราก็ไปเลือกปฏิบัติต่อคนอื่นเพราะว่าเราได้ประโยชน์จากตรงนั้น ทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่การมีกฎหมายอาจจะไม่ใช่เครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ที่ออกมาแล้ว ปัญหาต่างๆ จะหมดไป”

เพราะการเลือกปฏิบัติจะหมดไปหรือหลงเหลืออยู่น้อยที่สุด ก็ต่อเมื่อคนในสังคมตระหนักและมองว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติที่เราจะไปเลือกปฏิบัติ หรือถูกเลือกปฏิบัติจากใครสักคนได้ และร่างพ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่กำลังออกมา อย่างน้อยจะช่วยปรามและบอกให้รู้ว่า มีหลักประกันให้กับผู้คนที่กำลังถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ คือสิ่งที่สุภัทรากล่าวทิ้งท้าย ก่อนจบการสนทนากับเรา