ดินแดงแห่งความรุนแรง - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในวันที่สถานการณ์ยังคุกรุ่น ฝุ่นยังตลบฟุ้งจนยากจะแยก ระหว่างโลกที่เราอยากเห็นและโลกที่กำลังเป็น ฝ่าวงล้อมเสียงประทัดและกระสุนยาง ไปยังด่านหน้าแนวปะทะกับตี้ พะเยา ก่อนจะย้อนกลับมาหลังโต๊ะทำงานของศาสตราจารย์ สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการอธิบายปรากฏการณ์ที่ต่างออกไป

เพราะดินแดงไม่ใช่สถานที่แต่คือ ผู้คน ความคิด ชีวิต จิตใจ

เพื่อทำความเข้าใจแนวคิด ชีวิต จิตใจ ของผู้คนระหว่างที่เส้นสันติวิธีกำลังเคลื่อนไหว เราพูดคุยกับตี้ พะเยา ตัวแทนของกลุ่มการ์ด DEMO ที่คอยดูแลเยาวชนที่มาชุมนุมที่ดินแดง เบื้องหลังของการออกมาชุมนุมที่ดินแดง ส่วนหนึ่งเพราะ “ผมอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้” เดิมพันแลก ‘อนาคต’ ของวัยรุ่นแนวปะทะดินแดง และต่อจากนี้คือเสียงของเธอ

“เราอยู่ด่านหน้า คฝ.ยิงปืนสาดโดยไม่มีทิศทาง เอากระบองไล่ทุบ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นขี่รถเข้ามาไล่ชนเลย

— ปัง ปัง ปัง — เสียงประทัดดังขึ้นระหว่างสัมภาษณ์เป็นระยะ มีบ้างที่ต้องหยุดพูดคุยกัน มองรอบตัวเพื่อหาต้นตอ และคอยดูเด็ก ๆ ที่วิ่งรายล้อมพวกเราอยู่

“ประทัดมีแค่เสียง เป็นการเตือนคฝ.ว่าอย่าเข้ามาแนวนี้ เด็ก ๆ รู้ระยะ รู้ว่าอีกฝ่ายมีเครื่องป้องกันถึงปา คฝ.บาดเจ็บก็จริงแต่ผู้ชุมนุมมีทั้งกระดูกหัก จนถึงเข้าห้องไอซียูเลยก็มี

“การที่เขาสู้ในทางหนังสือ กฎหมาย สันติไม่ได้ เขาก็เลือกที่จะสู้ในแบบของเขา ถ้าประยุทธ์ จันทร์โอชายังนั่งอยู่ในตำแหน่ง ยังบอกว่าตัวเองเป็นคนดีอยู่ในสภา พวกเขาก็เลือกตอบโต้ด้วยการมาบอกถึงหน้าบ้านว่า เราไม่ชอบคุณ มาปาระเบิดให้เห็นว่า การที่คุณบอกว่าตัวเองเป็นคนดี มันไม่จริง

“ถ้าสังคมถามเขาว่าทำไมมาอยู่ในจุดนี้ เขาจะตอบได้ทันทีว่า เขามาที่นี่เพราะเขาถูกกระทำมาตลอด ถ้าเราเห็นตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ เรามีแค่ร่ม ปากกา กระดาษ แต่ก็ยังมีคฝ.เข้ามากระทืบไล่ตี เขาก็ไม่ได้อยากทำร้ายพวกคุณ เขาก็รู้ว่าคุณก็ต้องทำตามคำสั่งนายมาเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่เด็กรับรู้ เด็กเรียนรู้แล้วว่า ไม่มีวี่แววที่ความรุนแรงเหล่านั้นจะลดลง เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เขาทนไม่ได้ เขาจึงลุกขึ้นมาตอบโต้

“เราต้องบอกก่อนว่าต้นทุนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน น้องกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ ถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ต่อไป พวกเขาต้องอดตายจริง ๆ การที่เขาลุกขึ้นมาสู้แบบนี้ มันกำลังบอกว่าเขาพร้อมที่จะทำยังไงก็ได้ ให้เศรษฐกิจมันไปต่อ ให้พลเอกประยุทธ์ลงจากตำแหน่งเพราะนั่นหมายความว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะดีขึ้น จะไม่มีคำว่าอดตายสำหรับพวกเขา

“เมื่อก่อนยังพอมีงาน มีเงิน ตอนนี้ไม่มีอะไรเลย มาม็อบยังพอได้กินข้าว จากที่คนในม็อบมาแจกกันเอง บางคนมีโอกาสได้เรียนถึงแค่ม.3 ได้ค่าแรงวันละ 300 แต่ตอนนี้วุฒิป.ตรี จบไปยังไม่มีงานเลย อย่าว่าแต่มีงาน ในยุคนี้มีงานอยู่แล้วยังตกงาน พวกเขารู้ว่าปัญหามันอยู่ที่การบริหาร การจัดการ พวกเขารู้ว่าถ้ามีคนมาจัดการตรงนี้ดีกว่านี้ ชีวิตเขาจะดีกว่านี้

“เรามาเจอกับสังคมที่ค่าเช่าห้อง 1800 ก็ยังไม่มี เงิน 20 บาทของเขามีค่ามาก น้อง ๆ ตรงนี้ถ้าเขาสู้ แต่ประยุทธ์ยังไม่ลง เขาไม่มีทางอยู่ได้เกินปีนี้แน่นอน”

นอกจากเสียงของตี้ พะเยาแล้ว หากจะหาคำอธิบายให้กับปรากฏการณ์นี้ De/code ได้มีโอกาสพูดคุยกับศาสตราจารย์สรวิศ ชัยนาม เจ้าของงานเขียน ‘ทำไมต้องตกหลุมรัก’ หนังสือที่อธิบายความรักได้สอดคล้องกับความรุนแรงที่สุดเล่มหนึ่ง ผ่านคำถามต่อไปนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นคือความรุนแรงหรือไม่

“ผมขอชวนมองอีกมุมแบบนี้ ชวนตั้งคำถามกลับว่า ทำไมเราให้สันติวิธีเป็นตัวชี้ขาดเพียงอย่างเดียว สันติวิธีเองก็คือ ‘Tactic’ หนึ่ง สันติวิธีก็คือส่วนหนึ่งของการเมืองรึเปล่า และสันติวิธีเหล่านั้นนำไปสู่การปลดปล่อยจริงๆ หรือไม่ ? คำถามวันนี้ จึงไม่ใช่ว่าเป็นความรุนแรงหรือไม่ แต่คือรุนแรงแค่ไหนที่เราจะยอมรับกันได้มากกว่า”

ความรุนแรงจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

“เราไม่ควรมองว่าสันติวิธีคือขั้นบันไดสุดท้ายของการเคลื่อนไหว ไม่อย่างนั้นเราจะไปไกลกว่านี้ไม่ได้ ก่อนอื่นเราต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมก่อนว่า ประทัด ลูกแก้ว พลุที่ใช้ในพื้นที่ดินแดง มันไม่ใช่อาวุธโดยสภาพของมันและระบบนิเวศน์ของการเคลื่อนไหวควรเกื้อหนุนกันและกัน ไม่ใช่กำหนดกรอบให้ไปในทิศทางเดียว ไม่ควรบีบบังคับให้ใครเลือกเพียงทางใดทางหนึ่งเท่านั้น อย่าลืมว่าสิทธิต่าง ๆ เช่น CIVIL RIGHTS ก็ไม่ได้มาจากการร้องขออย่างสันติเพียงอย่างเดียว”

ถ้าการเคลื่อนไหวเริ่มใช้ความรุนแรงจะเป็นข้ออ้างทำให้รัฐยกระดับความรุนแรงด้วยรึเปล่า

“คือรัฐนี้เป็นรัฐที่ Zero Torlerance มาก ๆ เขาปฏิเสธเสรีภาพของประชาชนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว รัฐเองก็จำกัดทางเลือกที่จะเคลื่อนไหวในแนวทางที่สันติมาก ๆ รัฐปฏิบัติราวกับว่าสิทธิในการชุมนุมเป็นอาชญากรรมด้วยการออกกฎหมายต่าง ๆ มาควบคุมจัดการ ประชาชนสันติไป เขาก็ไม่รับฟังอยู่ดี การต่อสู้อย่างสันติวิธีอาจไม่ใช่การยกระดับเพดานการต่อสู้ มันมีน้ำเสียงที่สื่อสารว่า จงรักกู กูเป็นเด็กดี กูปลอดภัย เหมือนเราต้องการความรักจากศัตรูอยู่ไม่น้อย แม้แต่เหตุการณ์อย่างอาหรับสปริง เขาเผาป้อมตำรวจไปเยอะมาก กว่าคนจำนวนมหาศาลจะมารวมตัวกันที่จัตุรัสได้เช่นกัน”

หากการเมืองคือการหาพวก ยิ่งเคลื่อนไหวแล้วมีความรุนแรง มวลชนยิ่งน้อยลง แล้วจะชนะได้อย่างไร

“ไม่มีการเคลื่อนไหวไหนมีสูตรสำเร็จ เวลาที่เราเลือกหยิบตัวอย่างมา เราต้องระวังการเลือกด้วย มันไม่ได้น้อยลงเสมอไป อย่างในอียิปต์เมื่อประชาชนเปลี่ยนท่าที จำนวนผู้เข้าร่วมก็มากขึ้นตามไปด้วย”

จะเรียกว่าชนะได้อย่างไร หากชัยชนะนั้นได้มาบนกองซากศพของเพื่อน

“เสรีภาพ ประชาธิปไตย ไม่เคยได้มาด้วยความสงบเรียบร้อยหรือการประนีประนอม ไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาส เลิกระบบจักรวรรดิ การได้มาซึ่งสิทธิแรงงาน สิทธิลาคลอด สิทธิสตรี สิทธิเลือกตั้ง ล้วนมาจากการต่อสู้และการใช้ความรุนแรงต่อผู้กดขี่ ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อการปลดปล่อยทั้งสิ้น

“การบอกว่าคนในบริบทหนึ่งควรเลือกวิธีต่อสู้แบบไหน อย่างไร ต้องบอกตรง ๆ ว่าเป็นพฤติกรรมที่ ‘กร่าง’ มาก ๆ อะไรทำให้คุณคิดว่าคุณกำหนดคนอื่นได้ คุณสูงส่งกว่าหรืออย่างไร ทำตัวเหมือนเป็นผู้ยึดกุมประวัติศาสตร์ เหมือนความรู้วิ่งผ่านกูคนเดียว ถ้าไม่เห็นด้วยกับกูจะตกขบวนประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เป็นวาทกรรมมหาลัยมาก ๆ อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสู้ภายใต้บริบทแบบนี้ได้ ไม่ใช่ทุกคนจะมีประสบการณ์ชีวิตเหมือนคุณ

“ยกตัวอย่างเช่นการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม tactic ต่าง ๆ เป็นวิธีแบบชนชั้นกลางมาก ๆ คุณไปประท้วง ติดคุก มีทนายประกัน กลับบ้าน แล้วค่อยมาประท้วงใหม่ ขณะที่ชนชั้นล่างขึ้นลงโรงพักเล่นอยู่แล้วทุกวัน ไม่มีทนายประกัน ตำรวจบางคนไม่ได้ปฏิบัติต่อเขาเหมือนที่ปฏิบัติต่อชนชั้นกลาง ทนายบางคนไม่ได้รู้สึกกับเขาเหมือนที่รู้สึกกับปัญญาชน ประสบการณ์ตรงนี้ก็แตกต่างกันมากแล้ว จะเรียกร้องให้เขาสู้แบบคุณวิธีเดียวไม่ได้”

สู้แบบดินแดง ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีหลักการ ?

“มันไม่ผิดที่จะเป็นแบบนั้น และไม่จริงที่ไม่มีการสื่อสาร มันขึ้นอยู่กับว่าสังคมเข้าใจสารที่เขาพยายามจะสื่อรึเปล่า มันเหมือนจังหวะเทสต์ไมค์ ยังไม่มีใครเสนออะไรที่โดนใจเขา พื้นฐานสุดคือไม่พอใจผู้นำ อยากปฏิรูป ไม่อยากเรียนออนไลน์ ครอบครัวโดนกลั่นแกล้งมาทั้งชีวิต จะเรียกว่าไม่มีประเด็นก็คงไม่ได้ เขาแค่ไม่ได้เป็นบางอย่างแบบที่สังคมอยากให้พวกเขาเป็น”

สังคมควรรับมือกับปรากฏการณ์แบบนี้อย่างไร

“นี่ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้น นี่คือสิ่งสะท้อนความขัดแย้งของสังคม ขัดแย้งทางชนชั้น ขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงาน ระหว่างเมืองกับชุมชน นี่คือภาพสะท้อนของปัญหาประชากรล้นเกิน ถ้าไม่มีเรื่องนี้ คนกรุงเทพแทบไม่สังเกตเห็นว่าเรามีชุมชนแออัดเยอะฉิบหายและไม่เคยมีตำแหน่งแห่งที่ให้คนพวกนี้มาก่อนเลย ถ้านี่คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ แล้วทำยังไงพวกเขาถึงจะชนะ

“เราต้องพยายามอย่ากลบปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในสังคม ฉายภาพมันให้กระจ่าง อย่าเปลี่ยนภาพ อย่าลดทอน อย่าทำให้มันเป็นปัญหาของปัจเจก อย่าใช้วาทกรรมสงครามแบบที่รัฐใช้ กำจัดศัตรูไม่เท่ากับได้ชัยชนะ นี่คือความขัดแย้งระดับโครงสร้าง มันจึงไม่ใช่การกำจัดคนหนึ่งคนออกไป แล้วทุกอย่างจะกลับมาเป็นปรกติ เราต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง การกำจัดตัวบุคคลคนหนึ่งออกไปทำให้ไม่เห็นปัญหาทั้งระบบ นี่เป็นวิธีที่เลี่ยงความขัดแย้งรึเปล่า ?

“หากเราต้องการชัยชนะ ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย เราต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ ทุกมิติของสังคม ทั้งบนท้องถนน สื่อ วิชาการ ราชการ ศิลปิน สภา มันต้องระส่ำระสายทั้งสังคม เราจึงต้องยังรักษาความไม่พอใจนี้ไว้และทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนที่กว้างขึ้นเพราะตราบใดที่ยังเป็นการเคลื่อนไหวบนท้องถนน แต่ไม่กระเพื่อมไปถึงกลุ่มสังคมอื่นย่อมไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

“เราจะคาดหวังกับพรรคการเมืองที่ซ้ายกลาง กั๊กขวาไม่ได้ มีพรรคที่ซ้ายหน่อยก็ถูกกลั่นแกล้ง ดังนั้นการเลือกตั้งจึงอาจไม่ใช่ความหวัง มันคือเกมที่เขาถนัด เราไม่ได้เคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ เพื่อรอการรัฐประหารแบบเสื้อเหลือง”

มาถึงจุดนี้ เวลายังอยู่ข้างเราไหม

“ต้องมองว่าเราไม่มีเวลาแล้ว หายนะมาเยือนแล้วแต่ไม่ควรสิ้นหวัง อนุรักษนิยมจะบอกให้เราใจเย็น ๆ ค่อย ๆ แก้ ยังไงก็ชนะ เราอาจกำลังถูกหลอกล่อว่าเรามีเสรีภาพมากกว่าที่เรามีอยู่ จริง ๆ ความหวังที่เราจะมีได้ จึงไม่ใช่การมองโลกในแง่ดี แต่ให้มองว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดแล้ว แต่เราจะไม่ยอมแพ้ มันอาจจะจบแบบดิสโทเปียก็ได้ แต่เราต้องยังมีความหวัง เรายังต้องหวังกันต่อไป”