เดินทางไปในโลกของผีเสื้อหลากสี - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ถ้าวันหนึ่งวันใดที่ใจเหนื่อยล้า และสิ้นหวังจนแทบไม่อยากลุกขึ้นมาสู้ต่อ หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นตัวแทนของผู้เขียนที่จะอยู่เคียงข้างและปลอบใจในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้หวังดี” หน้า 5

ในวันอากาศร้อนหลังประเทศคลายล็อกดาวน์  ฉันนั่งเครื่องบินข้ามทะเลจากกรุงเทพฯ อันแออัดกลับสู่บ้านเกิดทางตอนใต้ของประเทศ พร้อมกับเด็กชายเฮนรี่ เด็กหญิงเอมี่ เด็กชายออตโต้ เด็กหญิงลอร่า เด็กชายฮิวโก้ เด็กหญิงแมดดิสัน เด็กชายโทมัส เด็กชายแกเรท เด็กหญิงเจ็มส์ เด็กชายไบร์ท เด็กชายทิมโมธี  และเด็กหญิงลิลลี่ เหล่าตัวละครที่เดินทางอยู่ในหนังสือ “Becoming A Butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี” เขียนโดยเมริษา ยอดมณฑป หรือ ครูเม แห่งเพจ “ตามใจนักจิตวิทยา” และเพจ “ห้องเรียนครอบครัว” 

มีเหตุผลหลัก ๆ อยู่ 2 ข้อที่ฉันเลือกหยิบวรรณกรรมเยาวชนแปลกหน้าเล่มนี้มาเป็นเพื่อนร่วมทาง หนึ่งคือเพราะเป็นหนังสือที่ถูกยกยอว่าดีจากการได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติ โดยสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกข้อคือเพราะความสนใจใคร่รู้ส่วนตัวเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก 


เด็ก ๆ ทั้ง 12 คน ที่เอ่ยให้รู้จักชื่อไปแล้ว ล้วนมีเรื่องราวอันแสนเจ็บปวดเป็นของตัวเอง ในหน้าแรก ๆ ตรงส่วน “คุยกับผู้อ่าน” ครูเมระบุว่าเขียนเด็กเหล่านี้ขึ้นมาจากประสบการณ์ฝึกงานและการทำงานในฐานะนักจิตวิทยาฝึกหัด เรื่องทั้ง 12 เรื่องจึงไม่ใช่อื่นใดเลยเว้นแต่คือโลกจิตวิทยาเด็กที่แต่งขึ้นจากโลกจริง ๆ ซึ่งบนหน้ากระดาษยาวเหยียด 200 กว่าหน้า ต้องชื่นชมผู้เขียนว่าใช้ภาษาที่เรียบง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก และในทุก ๆ เรื่องก็นำลักษณะของโรคภายในจิตใจของเด็กมาร้อยเรียงไว้อย่างน่าสนใจ เรียกว่าช่วยเผยเปิดให้คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจโลกของเด็ก ๆ เหล่านั้นมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็พอทราบว่าคนที่เป็นโรคจิตเวชบางคน เพราะโรคติดตัวมาโดยกำเนิด บางคนเป็นเพราะถูกสภาพแวดล้อมรายรอบกระทำ บางคนเป็นเพราะทั้งตัวเขามีแนวโน้มจะเป็นอยู่แล้วบวกกับสภาพแวดล้อมที่เข้าไปกระตุ้นพอดี และบางคนอาจยังไม่เป็นโรคจิตเวชด้วยซ้ำ เพียงแค่แสดงอาการทางใจเท่านั้น

และด้วยเหตุที่เป็นเรื่องสั้นซึ่งร้อยรวมกันเป็นเรื่องเดียว เมื่อเริ่มอ่านจึงรู้สึกเหมือนกำลังฟังใครสักคนเล่าเรื่อง ตัวละครหลักอย่าง “ลิซ่า” (คาดว่าคงแทนตัวครูเมเอง) ค่อย ๆ นำพาเราย่ำไปในโลกแห่งจิตวิทยาที่กว้างใหญ่และต้องเปิดใจกว้างเพื่อทำความเข้าใจ ความตื่นเต้นอยู่ที่การลุ้นว่านักศึกษาฝึกงานอย่าง “ลิซ่า” จะต้องเจอกับเด็กที่มีอาการหรือเป็นโรคอะไรบ้าง และเธอจะมีวิธีช่วยเหลือเด็ก ๆ เหล่านั้นอย่างไร แม้บางวิธีอาจดูแสนธรรมดาแต่นั่นก็เป็นความธรรมดาที่คนทั่วไปอย่างเรา ๆ อาจละเลย


ไม่มีผีเสื้อตัวใด “เป็นอื่น” 

“อย่าเหมารวมทุกคนที่มีอาการทางใจว่าเป็นคนบ้า และอย่าตีตราบุคคลที่มาพบจิตแพทย์ว่าเป็นบุคคลอ่อนแอ เพราะทุก ๆ คน มีวันที่เลวร้ายด้วยกันได้ทั้งนั้น บางคนผ่านไปได้ บางคนยังผ่านไม่ได้ การพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ถือเป็นการเผชิญปัญหาที่ดี ไม่ใช่การหนีปัญหา” หน้า 5

นี่คงเป็นใจความสำคัญที่ครูเมอยากยกเพดานความเข้าใจเกี่ยวกับโลกจิตวิทยาแก่ผู้อ่านอย่างเรา ๆ เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องนี้สำหรับสังคมไทยยังก้าวไปไม่ถึงไหน คนที่เป็นโรคทางจิตยังคงถูกตีตราว่าอ่อนแอ ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิด ๆ ที่มองความต่างเป็นอื่นและกีดกันออกไปจากความปกติ ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ปรารถนาที่จะเป็นอื่นของสังคมเลยสักนิด

ฮิวโก้ เด็กชายวัย 7 ขวบ ซึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติกที่มีความสามารถสูง (High-function Autism) โดยปกติเขาจะไม่สบตาใคร ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อ มักพูดด้วยคำที่ไม่มีความหมายหรือมีความหมายเฉพาะตัว ซึ่งตัวฮิวโก้จะพูดเป็นภาษาต่างด้าว เพราะสนใจอวกาศเป็นพิเศษ

เฉกเช่นเด็กชายโทมัส วัย 5 ขวบ ที่ถูกวินิจฉัยด้วยโรคสมาธิสั้น (Attention-deficit Hyperactivity Disorder) เขาไม่สามารถรอคอย หรืออยู่นิ่งได้เป็นเวลานานเกิน 5 นาที หุนหันพลันแล่น มีปัญหาด้านอารมณ์ และมักทำร้ายผู้อื่นเมื่อถูกขัดใจ 

ทั้งฮิวโก้และโทมัส คือตัวแทนของเด็กที่เกิดมาพร้อมกับโรคทางความคิด/จิตใจ ซึ่งแน่นอนว่าอาการที่แปลกต่างจากคนทั่วไป ไม่ว่าจะพูดคำที่ไม่มีความหมาย อยู่นิ่งได้ไม่นาน หรือทำร้ายผู้อื่น ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือแสร้งทำ แต่คืออาการของโรคที่หลายครั้งก็ยากจะควบคุม ความต่างที่ไม่ได้ตั้งใจจึงไม่ใช่เครื่องแบ่งแยกหรือลดทอน “ความเป็นคน” ในตัวพวกเขาให้ลดน้อยลง สำคัญที่สุดคือต้องเปิดใจยอมรับว่านั่นคือโรคชนิดหนึ่งที่สามารถดีขึ้นหรือหายได้ด้วยการรักษา จึงไม่ควรถือโทษโกรธเคืองใด ๆ พวกเขานัก เช่นที่หมอสตีฟ หนึ่งในตัวละครกล่าวว่า

“ถ้าหากมองข้ามการกระทำอันแปลกประหลาดของเด็ก ๆ กลุ่มนี้แล้ว จะพบว่าพวกเขาไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด ความจริงแล้วเด็กกลุ่มนี้ซื่อตรงต่อความรู้สึก จริงใจต่อตนเองและผู้อื่น โกหกไม่เป็น จึงทำให้บางอย่างที่เขาพูดและทำออกไปทำให้คนทั่วไปไม่พอใจ” หน้า 69

 
บ้าน” ความเจ็บปวดของบางผีเสื้อ

บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน บ้านบางหลังคือจุดเริ่มต้นของความเจ็บปวดในจิตใจที่ติดตัวเด็กไปจนโต เฉพาะสังคมไทย สถิติความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2559-ถึงเมษายน 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี หรือ 118 ราย/เดือน เฉลี่ย 4 ราย/วัน สะท้อนถึงความรุนแรงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในสถาบันที่เป็นหน่วยเริ่มต้นของสังคม

เด็กชายเฮนรี่ อายุ 12 ปี ซึ่งถูกวินิจฉัยเป็นโรคหลายบุคลิกคือหนึ่งในเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว โดยพ่อของเฮนรี่ที่เมื่อดื่มจนเมา ก็จะใช้เฮนรี่เป็นที่ระบายอารมณ์ ทั้งตะคอกเสียงดังด้วยคำด่าหยาบคาย และฟาดเขาด้วยเข็มขัดหนังวัว ผลคือทำให้เฮนรี่รู้สึกกลัวเมื่อได้ยินเสียงดัง เห็นเข็มขัด เเละได้กลิ่นเครื่องหนังและเบียร์

หรือเด็กชายออตโต้ ซึ่งถูกวินิจฉัยเป็นโรค Tics โดยมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกซ้ำ ๆ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และมักจะร้องเสียงดังออกมา ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาครอบครัว แม้จะไม่ใช่ความรุนแรงโดยตรงแต่การหย่าร้างระหว่างพ่อและแม่ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจและการเติบโตของเขาไม่น้อย นอกจากนี้การถูกเพื่อนในโรงเรียนกลั่นแกล้งก็ยังเป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลต่อโรคของเขาเช่นกัน

ความรุนแรงในครอบครัวจึงเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดโรคทางจิตในเด็ก การเผยเปิดต้นสายปลายเหตุให้เห็นว่าปัญหายึดโยงอยู่กับสถานบันที่เล็กที่สุดของสังคม จึงนับว่าเป็นการทำหน้าที่ในการบอกกล่าวความจริงอันถูกละเลยแก่ผู้อ่านได้อย่างแยบยล 


โปรดโอบกอดผีเสื้อด้วยความรัก

หากลูก หลาน หรือเด็ก ๆ ในบ้านของเราเองมีโรคทางจิตเฉกเช่นเด็ก ๆ ที่อยู่ในหนังสือ จะช่วยพวกเขาได้อย่างไรบ้าง?

ความดีงามอีกประการของหนังสือเล่มนี้ คือครูเมไม่ได้ทิ้งให้ผู้อ่านค้างเติ่งกับคำถามข้างต้นอย่างไม่รู้ว่าจะคลำทางออกอย่างไร หากแต่ละเรื่องแต่ละโรคที่เขียนขึ้นล้วนแต่มีคำแนะนำสั้น ๆ ไว้ทั้งสิ้น 

ในฐานะคนในครอบครัว ผู้ปกครอง หรือคนรายรอบ ครูเมบอกว่าเราสามารถช่วยเด็ก ๆ เหล่านั้นได้ด้วยการรับฟัง เคียงข้างเขา ให้การสัมผัสที่อ่อนโยน อาทิ กอด จับมือ ให้เวลาคุณภาพแก่เขา ผ่านการเล่น อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมร่วมกัน และที่สำคัญคืออย่าได้หวาดกลัวต่อบุคลิกหรือสิ่งซึ่งเขาแสดงออกมา แต่ควรเปิดใจยอมรับและตั้งรับอย่างถูกวิธี


วิธีการดูแลและรักษาพวกเขานั้นจึงมีตั้งแต่กิจกรรมบำบัด การพูดคุยบำบัด การเล่นบำบัด อรรถบำบัด การปรับพฤติกรรม ไปจนถึงการให้รับประทานยาซึมเศร้าในบางราย

ว่ากันตามตรงหนังสือเล่มนี้มีความดีเด่นทั้งเนื้อหาและกลวิธีในการเรียบเรียง แม้จะนิยามตนเองว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่คุณค่าดูจะเหมาะแก่ผู้อ่านทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องเลี้ยงดูและใกล้ชิดกับเด็ก หากได้อ่านก็จะเข้าใจโลกของเด็กและโลกของคนที่เป็นโรคทางจิตมากขึ้น 

สำหรับฉันแล้ว นับว่าครูเมประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้เคียงข้างและปลอบใจฉันในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้หวังดีได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว

หนังสือ: Becoming A Butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี
ผู้เขียน: เมริษา ยอดมณฑป
สำนักพิมพ์:  Mangmoom Book